หลีกเลี่ยงการ Panic กันดีกว่า

เรื่องของการ PANIC

เพื่อนๆ นักดำน้ำคงเคยมีประสบการณ์ที่หวาดเสียวกันมาบ้างไม่มากก็น้อยใช่ไหมครับ บางคนคงเคยผ่านเหตุการณ์เฉียดฉิว บางคนอาจเคยผ่านเหตุการณ์แค่ตกอกตกใจเล็กๆ น้อยๆ อาจมีเพื่อนๆ หลายคนที่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกกันว่า “near panic” หรือแม้กระทั่ง “panic” กันมาบ้าง คงมีคนสงสัยอยู่เหมือนกันนะครับ ว่าคนที่ผ่านเหตุการณ์หวาดเสียวหรือน่ากลัวเวลาดำน้ำน่ะ จะ panic เหมือนกันหมดทุกคนหรือไม่

ในความเห็นของผมนะครับ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากตำราทางจิตวิทยาการกีฬาที่ผมต้องอ่านมากมายเนื่องจากเป็นวิชาชีพ ผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนหรอกครับที่เจอเหตุการณ์น่ากลัวแล้วจะ panic (เหตุการณ์ที่ไม่น่ากลัวมากเกินไปนะครับ หากน่ากลัวสุดๆ เช่น ไม่มีอากาศจะหายใจ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนคง panic ทั้งนั้น) เนื่องจากว่าพฤติกรรมของมนุษย์ ในเรื่องของกิจกรรมทางกายนี้ จะต้องมีพื้นฐานมาจากนิสัย (Trait) และสถานการณ์ที่เขาเผชิญ (State) ประกอบกัน เช่น คนที่มีนิสัยตื่นเต้นตกใจหรือวิตกกังวลง่าย ก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะ panic มากกว่าคนที่มีนิสัยตื่นเต้นตกใจวิตกกังวลยากภายใต้สถานการณ์กดดันเดียวกัน

การวัดนิสัย ว่าเป็นคนวิตกกังวลง่ายหรือวิตกกังวลยากนั้น ผมเคยแต่เห็นแบบวัดสำหรับสถานการณ์ในชีวิตทั่วไป และแบบวัดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการกีฬา แต่ยังไม่เคยเห็นแบบทดสอบสำหรับนักดำน้ำเลยครับ น่าสนใจที่จะสร้างแบบทดสอบนี้เหมือนกันนะครับ เพราะว่าหากสามารถวัดได้ว่านักดำน้ำคนไหนมีแนวโน้มที่จะ panic มากกว่าคนทั่วไป ก็อาจจะหาวิธีฝึกทักษะทางจิตใจ (Psychological Skill Training) ให้กับเขา หรือไม่ก็เน้นการฝึกแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในการดำน้ำให้มากกว่านักดำน้ำทั่วไปให้กับบุคคลนั้นได้ แบบเดียวกับที่เราทำกับนักกีฬาที่ต้องเผชิญหน้ากับความกดดันในการแข่งขัน และบางทีก็ panic ขณะหรือก่อนแข่งขันนั่นแหละครับ

อย่างไรก็ดี มันก็มีสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เกิดการ panic ได้กับนักดำน้ำทุกคน ไม่ว่ามีลักษณะบุคลิกภาพเป็นอย่างไรนะครับ อย่างการไปหลงอยู่ในถ้ำมืดตึ๊ดตื๋อ แล้วอากาศก็ใกล้จะหมด หาทางออกก็ไม่ได้ เป็นต้น ผมเคยอ่านหนังสือบางเล่ม แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงที่จะพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นว่าต้องทำอย่างนี้ครับ

  • ไม่ดำน้ำเกินความสามารถของตัวเอง ต้องแน่ใจว่าเรามีประสบการณ์เพียงพอที่จะทำการดำน้ำแบบที่วางแผนไว้ครับ นอกจากนั้น ประสบการณ์ของบัดดี้ ต่อให้ดีแค่ไหนก็ไม่นับสำหรับตัวเราด้วยนะครับ และก็เช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ประสบการณ์ของเรา ถึงแม้จะระดับเซียนเหยียบเมฆก็ทดแทนให้บัดดี้ที่มีประสบการณ์น้อยทำการดำน้ำระดับเดียวกับเราไม่ได้ครับ
  • เราต้องหลีกเลี่ยงที่จะไปตกอยู่ในสถานการณ์ที่เราไม่มีอุปกรณ์ในการรับมือกับสถานการณ์นั้นครับ เช่น ไปดำน้ำเวลาโพล้เพล้ กว่าจะดำเสร็จก็กลายเป็น Night Dive ไปซะแล้ว หรือการดำน้ำเข้าไปในซากเรือจมโดยไม่มีอุปกรณ์และการฝึกฝนที่ดีมาก่อน เราอาจจะเข้าไปหลงทางและหาทางออกไม่ได้ครับ
  • เราต้องฝึกฝนทักษะกรณีฉุกเฉินที่เรียนมาในระดับขั้นต้นของเราให้เฉียบคมอยู่เสมอครับ เพื่อนๆ ไม่ได้ฝึกทำ Alternate Air Source หรือการเคลียร์หน้ากาก การปลดตะกั่วด้วยมือเดียวมาเป็นเวลานานแค่ไหนแล้วล่ะครับ? หากเพื่อนๆ เป็นนักดำน้ำโดยเฉลี่ยทั่วไป ก็คงไม่ได้ฝึกทักษะพวกนี้นับแต่เรียนจบขั้น Open Water มาใช่ไหมล่ะครับ เป็นเรื่องสำคัญนะครับที่จะต้องฝึกฝนทักษะเหล่านี้อยู่เสมอ เพราะบางสถานการณ์ ชีวิตและสุขภาพของเราขึ้นอยู่กับทักษะพวกนี้ครับ
  • เราต้องไม่ดำน้ำหากรู้สึกไม่ปกตินะครับ ต่อให้เราดำมากี่พันไดฟ์แล้วก็ตาม มันจะไม่ปลอดภัยครับ หากรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ปกติ ให้ skip ไดฟ์นั้นไปเลยดีกว่าครับ อย่าให้แรงกดดันจากเพื่อนพ้อง (Peer Pressure) หรือแรงกดดันจากอัตตาของเราเอง (Ego Threat) มาทำให้เราดำน้ำทั้งๆ ที่รู้สึกไม่อยากเลยครับ มีชีวิตอยู่ไว้ดำน้ำในวันต่อๆ ไปสนุกกว่าครับ
 
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
ปรับปรุงล่าสุด 20 ต.ค. 2566