อาการปวดหัวกับการดำน้ำ หลากหลายสาเหตุที่คุณควรรู้

การปวดหัว เป็นตัวทำลายความสนุกสนานในการท่องเที่ยวและการดำน้ำอย่างหนึ่ง การปวดหัวที่เกิดจากการดำน้ำหรือเกิดระหว่างการดำน้ำ เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งอาจเกิดจากเรื่องง่าย ๆ เช่นหน้ากากดำน้ำ (mask) รัดแน่นเกินไป หรืออาจเกิดจากเรื่องใหญ่โต เช่น ปวดหัวจากการเกิด Decompression Sickness (DCS) ก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว การปวดหัวมักเกิดจากการอาการดังต่อไปนี้

การปวดหัวจากไซนัส

การปวดหัวจากไซนัสเกิดระหว่างดำขึ้นหรือดำลง ทั้งนี้เนื่องมาจากการบีบตัวของโพรงไซนัส (sinus) นั่นเอง การปวดจะอยู่บริเวณหน้าผาก หน้า หรือบริเวณโหนกแก้ม (คือบริเวณโพรงไซนัส) โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้โพรงจมูกบีบตัว เกิดจากการที่นักดำน้ำไม่ได้ปรับหรือไม่สามารถปรับความดันในหน้ากากให้เท่ากับความดันภายนอก อีกสาเหตุหนึ่งคือโพรงจมูกอักเสบ หรือโพรงจมูกบวม เนื่องมาจากหวัด หรือการแพ้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง วิธีแก้ไขคือ ดำขึ้นหรือลงให้ช้าลงกว่าเดิม หรือใช้ยาแก้คัดจมูก (decongestants) การป้องกันที่ดีที่สุดคือ อย่าดำน้ำเมื่อรู้สึกไม่สบาย หากรู้สึกปวดบริเวณโพรงไซนัส อย่าฝืนดำน้ำให้ลึกลงไปอีก เพราะอาจจะทำให้เยื่อในโพรงอักเสบได้

การปวดหัวจากความเครียด

การปวดหัวจากความเครียด จะเกิดที่หัวโดยตรงหรือบริเวณคอด้านหลัง สาเหตุเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งมาจากความวิตกกังวลและการเกร็งกล้ามเนื้อ บางครั้งการกัด mouthpiece หรือการเกร็งขากรรไกร ก็ทำให้เกิดการปวดหัวในลักษณะนี้ได้ วิธีป้องกันคือ ให้ดำน้ำอย่างสบายๆ ผ่อนคลาย อย่าเครียด หรือเกร็งกับการดำน้ำ แต่ทั้งนี้การที่จะดำน้ำในลักษะนี้ จะเกิดขึ้นได้เมื่อนักดำน้ำดำภายในขอบเขตความสามารถของตน หรือมีประสบการณ์ดำน้ำมากขึ้นจนรู้สึกผ่อนคลายได้

อย่าลืมว่าการดำน้ำเป็นการพักผ่อน หากคิดว่าดำน้ำแล้วจะเครียด เช่น บางคนไม่ชอบดำในถ้ำ หรือดำ Night Dive แล้วเครียด ก็ไม่ต้องดำก็ได้ ไม่ต้องกลัวใครว่าครับ

การปวดหัวจากไมเกรน

การปวดหัวจากไมเกรน มักจะเป็นการปวดอย่างรุนแรง บางครั้งเกิดความผิดปกติของการมอง อาการชาตามแขน และคลื่นไส้ร่วมด้วย เมื่อใดก็ตาม ที่เกิดการปวดหัวเช่นนี้ ควรหยุดดำน้ำทันที เพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายหรือบาดเจ็บจะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้แล้ว ตัวยาที่ช่วยลดการปวดจากไมเกรน มักมีตัวยาที่ช่วยเพิ่มโอกาสการเกิดไนโตรเจนเป็นพิษ (nitrogen narcosis) ในกรณีที่ผู้ที่เป็นไมเกรนต้องการดำน้ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรเลือกปรึกษาแพทย์ที่เป็นนักดำน้ำ

การปวดหัวจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นพิษ

การปวดหัวจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นพิษ จะปวดแบบเต้นตุบๆ ที่หัว การปวดหัวลักษณะนี้เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ทั้งนี้เนื่องจากนักดำน้ำนั้น หายใจเข้าน้อยไป หรือหายใจน้อยครั้ง (ช้า) เกินไป เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าน้อยไป ก็จะกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายไม่หมด ก๊าซนี้จะสะสมอยู่ในตัวจนเกิดเป็นพิษ และนำมาซึ่งการปวดหัว วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือหายใจเข้าออกลึกและยาว เพื่อล้างคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมให้หมดไป ยาแก้ปวดช่วยลดการปวดชนิดนี้ได้น้อยมาก

การปวดหัวจาก DCS

การปวดหัวเป็นอาการอย่างหนึ่งของ DCS คือการเกิดฟองอากาศในระหว่างที่ไนโตรเจนละลายออกจากเนื้อเยื่อของร่างกาย DCS เป็นโรคที่อาจทำให้เกิดการพิการหรือถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นในกรณีที่นักดำน้ำปวดหัวและมีอาการอื่น ๆ ของ DCS ร่วมด้วย เช่น ปวดตามข้อ บวม ผื่นแดง คัน เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีเสียงก้องในหู และเหนื่อยอ่อนมากผิดปกติ ควรนำนักดำน้ำนั้นส่งแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที นักดำน้ำมีความเสี่ยงที่จะเกิด DCS สูง เมื่อไม่ได้ทำ Safety Stop อย่างถูกต้องหรือขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป เช่น ในกรณีที่ขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างตื่นตระหนก

จะเห็นได้ว่านักดำน้ำ สามารถป้องกันการปวดหัวได้อย่างง่าย ๆ ดังนี้

  1. ขยายสายรัดหน้ากากให้พอดี ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความดันในหน้ากาก
  2. ดำน้ำแบบผ่อนคลาย หายใจลึก ๆ ยาว ๆ
  3. อย่ากลั้นหายใจ ขณะอยู่ใต้น้ำ
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  5. ทำ Safety Stop ก่อนขึ้นสู่ผิวน้ำ
  6. ใส่ชุดดำน้ำที่ให้ความอบอุ่นอย่างเพียงพอ
ข้อมูลจาก Scuba734 (SiamScubaDiving)
เรียบเรียงโดย ศุภเศรษฐ์ อารีประเสริฐกุล (FreedomDIVE.com)
ปรับปรุงล่าสุด 20 ต.ค. 2566