4 สาเหตุหลัก ที่ทำให้นักดำน้ำเสียชีวิต (DAN)

ข่าวร้าย: รายงานอุบัติเหตุจากการดำน้ำประจำปีของ DAN เผยให้ทราบถึง 4 สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักดำน้ำเสียชีวิต

ข่าวดี: สาเหตุเหล่านี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ (เขียนโดย Eric Douglas)

คำถาม : นักดำน้ำรายหนึ่งซึ่งมีน้ำหนักตัวสูงกว่าเกณฑ์พร้อมกับสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ เขาได้ตัดสินใจที่จะกลับมาดำน้ำหลังจากที่หยุดไปหลายปี เขาดึงอุปกรณ์ดำน้ำชุดเก่าลงมาจากชั้นเก็บของในโรงรถ กระโดดขึ้นเรือ และพยายามลงดำน้ำในแนวปะการังที่มีกระแสน้ำพัดไปมา ที่ระดับความลึก 80 ฟุต เขาดำน้ำด้วยความวิตกกังวลและยากลำบากตลอดทั้งไดฟ์ ทำให้เขาใช้อากาศที่มีอยู่หมดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อพบว่าอากาศในถังใกล้จะหมด ด้วยความตกใจ เขารีบพาตัวเองขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็วโดยปราศจากการควบคุม ทำให้ฟองอากาศเข้าสู่กระแสเลือดและเสียชีวิต อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ ?

คุณจะได้ A ถ้าคุณตอบว่า ทั้งหมดข้างต้น คือสาเหตุจากเหตุการณ์นี้ องค์ประกอบของอุบัติเหตุที่ได้รายงานไว้ใน "รายงานอุบัติเหตุประจำปีของ Divers Alert Network (DAN) ฉบับล่าสุด" ซึ่งได้ระบุว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้งมักเกิดจากหลายๆ สาเหตุที่ประกอบกัน

Dr. Petar Denoble ผู้อำนวยการด้านงานวิจัยของ DAN กล่าวว่า อุบัติเหตุแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น มีความแตกต่างกัน และบางเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อุบัติเหตุส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นถึงห่วงโซ่ของเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันแล้วนำไปสู่ผลลัพธ์คือการเสียชีวิต ถ้าตัดการเชื่อมโยงที่จุดใดจุดหนึ่งในห่วงโซ่ออกไป ผลลัพธ์ก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน

สุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำน้ำ

ปัจจัยด้านสุขภาพมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของนักดำน้ำ ตัวอย่างเช่น การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ (แบบชั่วคราว หรือเรื้อรัง) ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาการบาดเจ็บก่อนมาดำน้ำ และการที่ร่างกายสูญเสียน้ำ เป็นต้น

จากการศึกษา สาเหตุของการเสียชีวิตที่มากที่สุด พบว่า 74% เกี่ยวข้องกับการที่นักดำน้ำมีดัชนีมวลร่างกายสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อ้วนเกินไป หรือมีการเจ็บป่วยเนื่องจากความอ้วน และอีก 15% เกี่ยวข้องกับนักดำน้ำที่มีความดันโลหิตสูงหรือเป็นโรคหัวใจ

ปัจจุบันการดำน้ำเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่เคยถูกห้ามไม่ให้ดำน้ำเมื่อหลายปีก่อนสามารถทำการดำน้ำได้ อย่างไรก็ตามถ้าคุณเป็นผู้ที่มีอาการป่วยเหล่านี้ คุณจะต้องหมั่นตรวจเช็คอาการ และมั่นใจว่าคุณสามารถจัดการกับอาการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีความดันโลหิตสูง การได้รับการรักษาที่ดีและการพยายามควบคุมระดับความดันโลหิต จะทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่ไม่ได้มีการควบคุม

การเจ็บป่วยชั่วคราวเช่น เป็นไข้ หนาวสั่น หรือเป็นภูมิแพ้อย่างรุนแรง สามารถก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการป่วยถาวรหรือชั่วคราว ล้วนมีผลต่อการตื่นตัว การจดจำ และการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของคุณ หรือไม่เช่นนั้นคุณควรวางแผนการดำน้ำอย่างระมัดระวัง เพื่อให้การดำน้ำจบลงด้วยความปลอดภัย

แม้แต่เวลาที่คุณเพิ่งหายจากการเจ็บป่วยหรือโรคเรื้อรังต่างๆ นั้น ได้รับการรักษาแล้วก็ตาม แต่ร่างกายของคุณก็ยังคงต้องการเวลาในการพักฟื้น เช่น เมื่ออาการไอของคุณหายไป คุณอาจจะยังมีอาการแน่นหน้าอกหลงเหลืออยู่ การรีบเร่งลงไปดำน้ำจะทำให้คุณไม่สามารถหายใจได้เต็มที่และรู้สึกขาดอากาศ ซึ่งจะนำไปสู่ความตื่นตระหนกได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น คุณควรพยายามหายใจเข้าออกลึกๆ เมื่อไรก็ตามที่ร่างกายรู้สึกเหมือนไม่ได้รับอากาศเข้าไปอย่างเพียงพอ มันจะนำไปสู่ภาวะความกดดัน ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือ ทำให้เกิดการตื่นตระหนกอย่างรุนแรง

ความผิดพลาด เกี่ยวกับขั้นตอนในการดำน้ำ

ความผิดพลาดในขั้นตอนการดำน้ำที่พบบ่อยในรายงานอุบัติเหตุของ DAN ประกอบไปด้วย ปัญหาการควบคุมการลอยตัว การขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ทำการหยุดเพื่อปรับแรงดันขณะขึ้นสู่ผิวน้ำ การขาดทักษะทั่วไปในการดำน้ำ ปัญหาเกี่ยวกับการเคลียร์หู และที่สำคัญที่สุด การไม่ตรวจเช็คปริมาณอากาศระหว่างดำน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดสถานการณ์อากาศเหลือน้อยหรืออากาศหมดได้ ในบางกรณี นักดำน้ำขาดการฝึกอบรมที่เหมาะสมในการดำน้ำแบบพิเศษ เช่น การดำน้ำในถ้ำ หรือเรืออับปางใต้น้ำ หรือการดำน้ำลึกกรณีอื่นๆ เช่น นักดำน้ำอยู่ภายใต้ขอบเขตของการฝึกอบรม แต่ทักษะการตอบสนองในขณะเกิดเหตุฉุกเฉินมีไม่เพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้

ในรายงานได้ระบุว่า 26% ของการเสียชีวิต เกิดจากการขึ้นสู่ผิวน้ำเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่มักพบว่ามีความผิดพลาดอย่างอื่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว ประกอบไปด้วย การมีอากาศไม่เพียงพอประมาณ 14% ไม่สามารถรับมือกับคลื่นและกระแสน้ำที่รุนแรง อยู่ในอันดับสอง 10% ตามมาด้วยปัญหาด้านสุขภาพ 9% การเกี่ยวติดและสิ่งกีดขวางใต้น้ำ 9% และปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ดำน้ำ 8%

Mr. Dan Orr ประธานบริหารของ DAN และผู้ร่วมเขียนหนังสือ Scuba Diving Safety กล่าวว่า มีคำ 3 คำที่จะช่วยให้นักดำน้ำมีการเตรียมตัวที่ดีขึ้นในการจัดการกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขณะดำน้ำ คือ การฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน

การขาดประสบการณ์หรือทักษะในการดำน้ำ หรือแม้กระทั่งการใช้อุปกรณ์ดำน้ำที่ไม่คุ้นเคย จะเป็นการเพิ่มความกดดันในการดำน้ำ และนำไปสู่ความยากลำบากในขณะดำน้ำ ผลลัพธ์คือการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ผิดพลาดหรือไม่เหมาะสม

สภาพแหล่งดำน้ำไม่เหมาะสม

สภาวะแวดล้อมของทะเลเปิดมีเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้านักดำน้ำขาดการเตรียมตัว ไม่ได้รับการฝึกฝน หรือร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ อาจเกิดอันตรายต่อนักดำน้ำได้

ก่อนคุณจะทำการดำน้ำ คุณต้องประเมินสภาพอากาศ และอุณหภูมิของน้ำ กระแสน้ำ ลักษณะของคลื่น ความลึก และทัศนวิสัยใต้น้ำ เป็นต้น การดำน้ำทุกครั้งจะไม่เหมือนกันทุกครั้งไป ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเคยดำน้ำอยู่ในเขตน้ำอุ่น และไปดำในน้ำเย็นเป็นครั้งแรก ผลกระทบของอุณหภูมิอาจส่งผลทำให้คุณเกิดอาการช็อกได้เมื่อลงดำน้ำ นักดำน้ำที่เคยดำแต่ในน้ำตื้นๆ จะแปลกใจเป็นอย่างมากเมื่อพบว่าอากาศถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว และจะมีผลกระทบในเรื่องของการเมาก๊าซไนโตรเจน (Narcosis) ในการดำที่ความลึก 100 ฟุตเป็นครั้งแรก การต้องต่อสู้กับกระแสน้ำโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในขณะที่ดำสำรวจซากเรือจมนั้นไม่ใช่เรื่องสนุกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณขาดทักษะการลอยตัวที่ดี ความสามารถในการว่ายน้ำในกระแสน้ำเชี่ยว และประสิทธิภาพของร่างกายที่จะทนทานกับการต่อสู้กับกระแสน้ำ

ความผิดพลาดของอุปกรณ์

ปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของอุปกรณ์ดำน้ำ มีพบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เท่าที่ได้ถูกรวบรวมไว้ในการศึกษาวิจัยของ DAN เป็นหนึ่งในปัญหาที่สามารถคาดเดาได้และง่ายต่อการป้องกัน ผลการศึกษาวิจัยรายงานว่า ปัญหาที่เกิดกับเสื้อดำน้ำ (BCD) มีประมาณ 7.5% ของอุบัติเหตุทั้งหมดที่ทำให้นักดำน้ำเสียชีวิต ประมาณ 6% เป็นผลมาจากอุปกรณ์ที่ใช้หายใจใต้น้ำ (Regulator) อีก 5% มาจากระบบการถ่วงน้ำหนัก ส่วนที่เหลือคือ หน้ากาก ตีนกบ ชุดดำน้ำแบบ Dry Suit และ Dive Computer ส่งผลน้อยกว่า 3% ในแต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าการที่อุปกรณ์บกพร่อง ก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้โดยตรง ปฏิกิริยาของนักดำน้ำเมื่อต้องเจอกับอุปกรณ์ที่มีปัญหาในระหว่างการดำน้ำต่างหาก ที่จะส่งผลลัพธ์ต่อสถานการณ์นั้นๆ อย่างแท้จริง

ความบกพร่องของอุปกรณ์สามารถตรวจพบได้ก่อนลงดำน้ำ นักดำน้ำที่ช่างสังเกต จะสามารถรักษาชีวิตของตนเองได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ก่อนลงน้ำ ข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดคือ ตรวจสอบอุปกรณ์ของคุณอย่างละเอียดก่อนลงเรือ หมั่นบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำในเรื่องการบำรุงรักษาอย่างละเอียด

เขียนโดย Eric Douglas จากนิตยสาร Scuba Diving
แปลและเรียบเรียงโดย วิชชุนี ยั่งยืน
นำเสนอ 22 ก.ค. 2552
ปรับปรุงล่าสุด 20 ต.ค. 2566