การดำน้ำลึก

ความเสี่ยงต่อ DCS อากาศหมดและการเมาไนโตรเจนจะเพิ่มขึ้น เมื่อเราดำน้ำลึกขึ้น หากท่านตัดสินใจจะดำน้ำลึก และอยากรู้ว่าท่านพร้อมหรือไม่แล้ว ลองคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้

  • ประสบการณ์การดำน้ำของท่าน ท่านเคยดำน้ำมาจำนวนเท่าใด หลังจากจบการเรียนดำน้ำขั้นต้น นักดำน้ำมือใหม่มักจะถูกแนะนำให้ดำน้ำไม่ลึกเกิน 18 เมตร โดยมีเหตุผลว่า พวกเขาควรให้เวลาแก่ตัวเอง ในการทำความคุ้นเคยกับทักษะและกระบวนการดำน้ำที่เรียนมา ในความลึกที่กำลังสบาย ท่านควรรู้สึกสบายกับการดำน้ำในที่ตื้นก่อนที่จะลงไปในที่ลึกครับ
  • ความลึกสูงสุดที่ท่านเคยดำน้ำมา รวมถึงความบ่อยครั้งที่ท่านเคยดำลึก และระยะเวลาตั้งแต่การดำน้ำลึกครั้งล่าสุดจนถึงวันที่ท่านจะดำน้ำลึกอีกครั้ง วิธีการที่ดีที่สุดคือ ค่อยๆ เพิ่มความลึกในการดำน้ำของท่านทีละน้อย ดำน้ำลึก 20 เมตรสักสองสามไดฟ์เสียก่อนที่จะเริ่มดำที่ความลึก 30 เมตร รวมทั้งเวลาจากการดำลึกครั้งล่าสุดนั้น ไม่ควรนานเกินหนึ่งปีกับการดำครั้งต่อไป เนื่องจากการเรียนรู้ที่ผ่านมาอาจจะลบเลือนได้ นอกจากนั้น ความรู้สึกเมื่อการดำน้ำลึกครั้งล่าสุดก็เป็นตัวแปรสำคัญเช่นกัน หากเรามีปัญหาเมื่อดำลึกครั้งก่อนนั้น ไม่ควรเพิ่มความลึกมากขึ้นกว่าเดิมในการดำครั้งต่อไป อย่าคิดว่าการดำน้ำลึกกว่าเดิมจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นได้
  • อุปกรณ์ของท่าน แน่นอนที่สุด ท่านจะต้องมีอุปกรณ์ที่ดีและเหมาะสมในการดำน้ำลึก ควรระวังอย่าใช้อุปกรณ์ที่ไม่เคยใช้มาก่อนในการดำน้ำลึก เพราะว่าในการที่เราจะดำน้ำอย่างสบายและสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ เราจะต้องพยายามไม่ให้มีงานที่ต้องทำมากเกินไป ที่ความลึก 30 เมตรนั้นไม่ใช่สถานที่ที่จะลืมว่าปุ่มไหนเป็นปุ่ม สำหรับเติมลมใน BCD ของเรา หรือที่ที่รู้สึกว่าหน้ากากเป็นฝ้าเสียแล้ว ท่านควรมีความเชื่อมั่นในอุปกรณ์ของท่านก่อนที่จะดำน้ำลึก
  • ประสบการณ์ และอุปกรณ์ของบัดดี้ของท่าน จะเป็นสิ่งที่ตัดสินใจเรื่องข้อจำกัดของการดำน้ำครั้งนั้น อย่าตามความปรารถนาที่จะดำน้ำเกินขีดจำกัดของบัดดี้หรือของตัวเอง เวลาที่เรารู้สึกไม่สบายใจกับการดำน้ำนั้น ความภาคภูมิใจในตัวเองและการกลัวที่จะยอมรับว่ากลัวนั้นจะทำให้เราเผชิญหน้ากับความจริงได้ยาก
  • สภาพของการดำน้ำ ความลึกนั้นเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่สิ่งแวดล้อมด้วย การดำน้ำที่ 30 เมตร ในที่น้ำใส อุ่น ไม่มีกระแสน้ำ อาจจะไม่ท้าทายเท่ากับการดำน้ำ 20 เมตร ในที่น้ำแรง เย็นจัด และขุ่น สิ่งที่สำคัญคือ ความเครียดในการดำน้ำ ความลึกเป็นสิ่งที่ทำให้เครียดได้ แต่ความเย็น กระแสน้ำ ความขุ่น คลื่นใต้น้ำ อุปกรณ์ใหม่ ความกังวล ความเมื่อยล้า ก็เป็นความเครียดด้วยเช่นกัน
  • การสนับสนุนจากผิวน้ำ ควรมีคนอยู่บนเรือ เพื่อให้แน่ใจว่าสมอไม่เกา และคอยช่วยเหลือหากจำเป็น ควรมีออกซิเจนฉุกเฉินบนเรือ วิทยุ สายนำดำน้ำ จะให้ดีควรสามารถเดินทางไปยัง Recompression Chamber ได้ภายในเวลาสองสามชั่วโมง ไดฟ์มาสเตอร์ กัปตัน และบริษัทดำน้ำควรจะสามารถเชื่อถือได้
  • แรงจูงใจของเรา ถามตัวเองว่าควรจะดำน้ำลึกหรือเปล่า มีเหตุผลที่เหมาะสมหรือไม่ หากอยากดำลึกเพราะต้องการไปเห็นเรือจม หรือเพื่อพัฒนาตัวเองให้พร้อมที่จะดำน้ำในสถานที่ในฝันของเรา ก็ถือได้ว่าเป็นเหตุผลที่เหมาะสม แต่หากจะดำลึกเพราะรู้สึกว่าทุกคนเขาทำกันและเราไม่อยากดูเหมือนเป็นคนขลาดแล้วละก็ นับว่าไม่ใช่เหตุผลที่ดีครับ

การเตรียมตัวเอง

หากท่านและบัดดี้ของท่านตัดสินใจจะดำน้ำลึก ให้ใช้การดำน้ำระหว่างปัจจุบันถึงเวลาที่จะดำลึกเพื่อการเตรียมตัวเรื่อง

  • ปรับน้ำหนักตะกั่วโดยละเอียด ท่านต้องการน้ำหนักถ่วงให้น้อยที่สุดที่จะทำให้ท่านสามารถลอยตัวนิ่งๆ ที่ความลึก 5 เมตรขณะที่อากาศในถังใกล้จะหมด น้ำหนักที่มากเกินไปจะทำให้ท่านต้องใส่ลมเข้าในบีซีดีมากเกินไป และจะถูกกดดันเมื่อลงไปในที่ลึกทำให้การจมลอยของท่านควบคุมได้ยากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงมากจากอากาศที่ถูกกดดันนั่นเอง
  • เปรียบเทียบอัตราการบริโภคอากาศ ว่าใครใช้อากาศเร็วกว่ากันระหว่างตัวท่านกับบัดดี้ แล้วจึงวางแผนการดำน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของคนที่ใช้อากาศเร็วกว่า
  • แก้ไขปัญหาเรื่องอุปกรณ์ เวลาที่ดำน้ำในที่ตื้นจะเป็นโอกาสที่จะทดลองว่าอุปกรณ์ทำงานได้เป็นปกติและได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสม

วันที่ดำน้ำ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ เช้านอนแต่หัวค่ำในคืนก่อนที่จะดำน้ำ ความเมื่อยล้าจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงกับ DCS การเมาไนโตรเจน และที่สำคัญเสี่ยงต่อการขาดความระมัดระวัง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ การขาดน้ำ เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อ DCS และทำให้เมื่อยล้าเร็วขึ้น ควรจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในคืนก่อนจะดำน้ำ เพราะทั้งสองสิ่งก่อให้เกิดการขาดน้ำของร่างกายเป็นเวลานาน หลังจากบริโภคเข้าไป นอกจากนั้นควรดื่มน้ำมากๆ กว่าที่เคยดื่มตามปกติ
  • อย่าดำจนใกล้จะติดดีคอม ควรจะดำน้ำลึกเป็นไดฟ์แรกของวัน เนื่องจากเราจะมีไนโตรเจนสะสมในร่างกายน้อย
  • วางแผนการดำน้ำ เมื่อดำน้ำลึก เวลานั้นเป็นเวลาที่เหมาะสมในการที่จะวางแผนการดำน้ำให้สมบูรณ์และเป็นทางการมากกว่าปกติ จำไว้ว่าต้องวางแผนให้สอดคล้องกับข้อจำกัดของนักดำน้ำในกลุ่มที่มีความสามารถและประสบการณ์น้อยที่สุด สิ่งสำคัญพอๆ กับเวลาที่จะต้องตัดสินใจเมื่อวางแผนการดำน้ำก็คือ ความลึกและเส้นทางการดำน้ำ ในการวางแผน นักดำน้ำจะต้องสังเกตว่ารู้สึกอย่างไร หากมีข้อสงสัยก็ควรยกเลิกการดำน้ำครั้งนั้นไปเสียก่อน
  • ตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนลงน้ำ โดยเฉพาะเวลาที่จะต้องดำลึก นักดำน้ำจะมีความเครียดมากกว่าปกติและอาจจะตรวจสอบผิดพลาดหรือลืมรายละเอียดต่างๆ ไปได้ ให้แน่ใจว่าเรารู้ที่ของอุปกรณ์ และสามารถใช้อุปกรณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น แหล่งอากาศสำรองของตนเองและบัดดี้ ปุ่มเติมและปล่อยลม รวมถึงที่ปลดน้ำหนัก
  • ตัดสินใจครั้งสุดท้ายก่อนลงน้ำ มองตาบัดดี้และสังเกตดูว่าทั้งคู่ยังรู้สึกดีหรือไม่ อันที่จริงเวลานี้ก็ยังไม่ใช่การตัดสินใจครั้งสุดท้ายอยู่ดี เพราะนักดำน้ำทุกคนสามารถยกเลิกการดำน้ำได้ทุกเวลา และไม่ควรจะลังเลที่จะยกเลิกการดำน้ำไม่ว่าจะมีเหตุผลอะไร

เมื่อลงไปในน้ำ

  • ตรวจสอบการจมลอย เพราะตัวเราจะมีการเปลี่ยนการจมลอยอยู่เรื่อยๆ เช่น ตัวจะเป็นลบเมื่อเราดำลงไปลึกขึ้น เพราะว่าอากาศในบีซีดีและฟองอากาศในเวทสูทของเราจะลดขนาดลง อัตราความเร็วในการจมของเราจะเพิ่มขึ้นมากจนกระทั่งอาจจะยากที่จะหยุดให้พอดีกับความลึกที่เราวางแผนไว้หากเราไม่หยุดตัวเองก่อนล่วงหน้า นอกจากนั้น เราอาจจะต้องเปลืองอากาศจำนวนมากเพื่อหาอัตราการจมลอยที่เป็นกลางด้วยนะครับ วิธีที่ดีที่สุดคือค่อยๆ ปรับการจมลอยตลอดเวลาที่ดำลง อย่าให้ตัวจมลงโดยเร็วเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานที่ที่มีความลึกมากเกินกว่าความลึกที่เราวางแผนเอาไว้ นอกจากนั้นเวลาที่ดำขึ้นต้องคอยปล่อยลมออกจากบีซีดีตลอดเวลาด้วยครับ ไม่เช่นนั้นตัวจะลอยเกินไป ทำให้ควบคุมความเร็วในการขึ้นได้ยากกว่าเดิมครับ
  • ระวังอัตราการหายใจ หายใจให้ลึก ช้า และผ่อนคลาย เป็นเรื่องสำคัญเป็นพิเศษเวลาดำน้ำลึก เพราะว่าอากาศที่เราหายใจนั้นจะมีความหนาแน่นสูง ซึ่งเมื่อผ่านอุปกรณ์ต่างๆ จากถังอากาศมาสู่ปอดของเรา จะทำให้เกิดการหมุนวนที่ทำให้การไหลของอากาศถูกจำกัด และนำไปสู่ความเหนื่อยให้กับตัวเราในที่สุด ฉะนั้น เมื่ออากาศที่หนาแน่นกับความเร็ว ของการไหลของอากาศบวกกันทำให้เกิดการหมุนวน เมื่ออากาศมีความหนาแน่นอันเกิดจากการดำน้ำลึก เราจึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมความเร็วในการไหลของอากาศ เพื่อไม่ให้เกิดการหมุนวนและความเหนื่อยนั่นเอง สรุปว่าต้องหายใจช้าๆ นั่นเอง การหายใจตื้นซึ่งจะมีแนวโน้มว่าจะทำให้หายใจเร็ว จะนำไปสู่การสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบร่างกาย เนื่องจากมีการสะสมก๊าซนี้ในช่องอากาศตายที่อยู่ในเร็กฯ ปาก คอ ของเรา การที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เยอะในร่างกายนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการอยากหายใจเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการหายใจเร็วขึ้นและตื้นกว่าเดิมอีก จะเห็นได้ว่าการหายใจตื้นนั้นจะทำให้เราตกอยู่ในวงจรหายใจตื้นขึ้นเรื่อยๆ และเหนื่อยขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งได้อากาศดีๆ น้อยลงเรื่อยๆ ด้วย สุดท้าย การหายใจตื้นนั้นเป็นสัญญาญเบื้องต้นของความวิตกกังวล เมื่อหายใจได้ยากขึ้น ความวิตกกังวลอาจจะกลายเป็นการ Panic ได้โดยง่าย เมื่อเกิดอาการนี้ ทางที่ดีที่สุดคือ หยุดตีฟิน หาอะไรเกาะไว้ เช่น สายสมอ หากทำได้ หายใจลึกๆ ยาวๆ พยายามเติมอากาศให้เต็มปอด จากนั้นให้หายใจออกช้าๆ พยายามให้อากาศออกไปให้หมดปอด ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกผ่อนคลาย
  • เฝ้าดูเกจ์ทั้งหลาย ทั้งความลึก ปริมาณอากาศ รวมทั้งเวลาในการดำน้ำ เกจ์ทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วมากในความลึก ในขณะเดียวกัน ช่องว่างสำหรับความผิดพลาดจะน้อยลง รวมถึงผลที่เกิดขึ้นก็รุนแรงกว่าในที่ตื้น นักดำน้ำจำเป็นต้องตรวจสอบเกจ์ทั้งหลายบ่อยขึ้นกว่าเดิมที่เคยดำในที่ตื้นครับ
  • เฝ้าดูบัดดี้ของท่านให้บ่อยกว่าเดิมกว่าที่เคยทำ เช่น บัดดี้บางคู่ตกลงกันว่า จะมีการสบสายตากันทุกสามหรือห้าลมหายใจ ให้มองหาสัญญาณของความวิตกกังวล เช่น การหายใจที่เร็ว การเคลื่อนไหวที่กระตุกหรือตาที่เบิกกว้าง การตอบสัญญาณ OK อย่างรวดเร็วและเยือกเย็น ตรวจสอบเกจ์ของบัดดี้เป็นระยะและคาดหมายว่าบัดดี้จะตรวจสอบเกจ์ของเราด้วย
  • ดำน้ำตามแผน ให้ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะความลึกสูงสุดและเวลาในการดำน้ำ รวมถึงเวลาหรือปริมาณอากาศที่เหลือก่อนจะขึ้นจากความลึก มีข้อยกเว้นอยู่ข้อหนึ่งคือ ต้องไม่ลังเลที่จะขึ้นก่อนเวลาที่วางแผนไว้หากมีความจำเป็นต้องขึ้นก่อนเวลา เช่น ใช้อากาศหมดเร็วกว่าปกติหรือรู้สึกไม่สบายอกสบายใจขณะดำน้ำ ก็สามารถขึ้นก่อนเวลาที่วางแผนได้ครับ
  • ขึ้นจากที่ลึกก่อนเวลา และช้าๆ อันตรายที่ร้ายแรงที่สุด ในการดำน้ำลึกก็น่าจะเป็นการขึ้น เนื่องจากการจมลอยของเราจะเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เราคุ้นเคย เป็นการง่ายที่จะสูญเสีย การควบคุมอัตราความเร็วในการขึ้นและเลยจุดที่จะทำ Safety Stop ได้ นอกจากนั้น เนื่องจากเราจะใช้อากาศเปลืองกว่าปกติในที่ลึก เราอาจจะลืมดูเกจ์จนกระทั่งอากาศเหลือน้อย และจำเป็นต้องขึ้นมาโดยเร็วก็ได้

ในการที่จะควบคุมอัตราความเร็วในการขึ้น ให้เพิ่มความพยายามที่จะหาและใช้เชือกทุ่น สายสมอ ฯลฯ เริ่มปล่อยลมออกจากบีซีดีก่อนเวลา และอย่าใช้แรงยกของบีซีดีในการขึ้น ให้พยายามทำตัวให้เป็นกลางหรือจมเล็กน้อย และใช้ฟินในการขึ้นจะดีกว่า

การเริ่มต้นขึ้นจากที่ลึกในขณะที่มีอากาศเพียงพอ คือ การวางแผนอย่างรอบคอบ นักดำน้ำหลายคนใช้กฎหนึ่งในสาม นั่นคือ ใช้อากาศหนึ่งในสามสำหรับการดำลงและการสำรวจ หนึ่งในสามสำหรับการขึ้น และเหลืออีกหนึ่งในสามสำหรับสำรอง นั่นคือ ต้องขึ้นเมื่ออากาศเหลือ 2000 psi สำหรับถังอากาศธรรมดา

อีกวิธีหนึ่งคือ การวางแผนที่จะมีอากาศเหลือ 100 psi ทุก 10 ฟิต เพิ่มจาก 500 psi ที่มีสำรองไว้ นั่นคือจะต้องเริ่มต้นการขึ้น จาก 110 ฟิต เมื่ออากาศเหลือ 1,600 psi (100 x 11 + 500 = 1,600) ให้จำไว้ว่าการดำน้ำทุกไดฟ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำลึกกว่า 18 เมตรนั้น เป็นการดำน้ำแบบ Decompression ในตัวของมันเอง การขึ้นให้ช้าและการทำ Safety Stop มีหน้าที่เดียวกันกับการทำ Deco Stop ในการดำน้ำแบบ Decompression จึงไม่ควรละเลยสองสิ่งที่สำคัญนี้

หลังจากการดำน้ำ

  • พักให้เพียงพอ ถึงแม้จะไม่ดำน้ำเกินขีดจำกัด เราก็ได้รับเอาก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในร่างกายจำนวนมาก และเกิดความเสี่ยงต่อ DCS ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังหนัก เหนื่อยอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง และให้ดื่มน้ำมากๆ เนื้อเยื่อชื้นที่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้เร็วกว่า และเลือดที่มีน้ำอยู่ในปริมาณมาก จะมีความหนาแน่นน้อย ซึ่งจะทำให้มีการไหลเวียนได้รวดเร็วกว่าด้วย
  • อย่าขึ้นเครื่องบินทันที ปัจจุบันมีมาตรฐานอยู่ที่ 12 หรือบางองค์กรแนะนำว่า 18 ชั่วโมง ก่อนขึ้นเครื่องบิน อย่างไรก็ดี มีคำแนะนำว่ายิ่งรอให้นานกว่านั้นเท่าไร ก็ยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น และก็น่าจะเป็นการปลอดภัยมากที่สุดหากสามารถรอถึง 24 ชั่วโมงได้ นอกจากนั้น การทำการดำน้ำลึกในช่วงกลางของทริปก็จะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากเราได้ทำการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีเวลาในการ Off Gas พอสมควร ก่อนเดินทางกลับด้วยเครื่องบิน

การวางแผนการดำน้ำลึก

ควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • จุดมุ่งหมาย และเส้นทางดำน้ำ
  • เวลา ความลึก และข้อจำกัด เช่น เวลาดำน้ำ อากาศที่เหลือ
  • สิ่งแวดล้อม การมองเห็น กระแสน้ำ คลื่นลม
  • อุปกรณ์ ทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ของบัดดี้ ที่เติมและปล่อยลม BCD ของบัดดี้ แหล่งอากาศสำรอง จุดปลดน้ำหนักถ่วง
  • การสื่อสาร ตกลงกันให้ดีว่าจะใช้สัญญาณอะไร หมายถึงอะไร
  • แนวปฎิบัติกรณีพลัดหลงกัน หากพลัดหลงจะทำอย่างไร ให้บอกกันไว้ให้ดี
  • ทักษะในกรณีฉุกเฉิน ควรฝึกจนชำนาญ เช่น อากาศน้อย อากาศหมด ติดกับ เกี่ยวติด ฯลฯ
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
ปรับปรุงล่าสุด 01 ต.ค. 2550