หมดสติในน้ำลึก

เพื่อนๆ ที่ดำน้ำเวลาเรียนขั้น Open Water Diver คงจะได้เรียนรู้เรื่อง Shallow Water Blackout จากครูเวลาที่ครูสอน Skin Dive และการทำ Hyperventilation กันมาบ้างแล้วนะครับ ว่าเราอาจหมดสติและจมน้ำได้ เวลาที่เรากลั้นหายใจอยู่ใต้น้ำนานๆ จนกระทั่งปริมาณออกซิเจนในร่างกายเหลือน้อย เมื่อเราขึ้นมาจากความลึก Partial Pressure ของออกซิเจนที่เหลือน้อยอยู่แล้วยิ่งลดลงไปอีก ทำให้ไม่สามารถครองสติไว้อยู่ได้ แต่เรื่องของ Deep Water Blackout นี่ คงยังไม่ค่อยมีใครได้ยินกันสักเท่าไร พอดีเร็วๆ นี้ผมได้ไปอ่านบทความเรื่อง “Going Deep” ของคุณ Jon Hardy ในนิตยสาร Rodale’s Scuba Diving May 2001 มีเรื่องของ Deep Water Blackout อยู่ด้วย เห็นว่าน่าสนใจ (และน่าระมัดระวังในเวลาเดียวกัน) เพื่อนๆ ลองอ่านกันดูเล่นๆ นะครับ

เริ่มเรื่อง

เจอรี่เป็นนักดำน้ำที่ดำน้ำไม่บ่อยนัก และดำน้ำเฉพาะเวลาไปเที่ยวต่างถิ่นเท่านั้น เนื่องจากเขาเป็นคนโสด ส่วนมากแล้วก็จะเดินทางคนเดียว หรืออาจมีเพื่อนเดินทางบ้าง แต่นานครั้งนานหน

ขณะที่ไปพักผ่อนบนเกาะแห่งหนึ่ง เจอรี่พบว่ามีร้านดำน้ำเสนอที่จะพาไปดำน้ำที่กองหินใต้น้ำกลางทะเลแห่งหนึ่งที่มีปะการังดำและปลาที่หายากอยู่มาก ถึงแม้เจอรี่จะไม่ได้ดำน้ำบ่อยๆ ในระยะหลัง แต่เมื่อคนที่ร้านถามถึงประสบการณ์การดำน้ำ เจอรี่ก็บอกไปว่าเขามีประสบการณ์มากกว่าที่เป็นจริง และก็ตกลงใจที่จะไปดำน้ำตามที่ร้านเสนอมา

แผนการดำน้ำคือ จะลงสมอบริเวณทรายใกล้ๆ กับกองหินใต้น้ำ หลังจากการบรรยายสรุปอย่างละเอียดแล้ว ไดฟ์มาสเตอร์ก็จะนำนักดำน้ำลงไปหกคนที่สมอ จากนั้นจะใส่ lift bag ให้กับสมอ เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บในภายหลัง นักดำน้ำก็จะดำน้ำเล่นที่สถานที่แห่งนี้เป็นเวลาสิบนาที ในน้ำที่อุ่น ใส และนิ่ง มีความลึกระหว่าง 135-150 ฟิต กลุ่มนักดำน้ำก็จะกลับมาที่สมอ และทำ Decompression Stop หรือ Safety Stop ก่อนกลับไปที่เรือ จะมีถังอากาศสำรองไว้ที่ความลึก 15 ฟิต ในกรณีที่อากาศของบางคนเหลือน้อยขณะทำ Safety Stop

การดำน้ำ

สัญญาณของปัญหาเริ่มเกิดขึ้น เมื่อเจอรี่มาถึงร้านในเช้าวันที่จะดำน้ำ ไดฟ์มาสเตอร์พบว่าเจอรี่จำเป็นต้องเช่าอุปกรณ์เกือบทั้งหมดและไม่มีไดฟ์คอมพิวเตอร์ และขณะเดินทางไปที่หมายดำน้ำ ไดฟ์มาสเตอร์ก็พบว่าเจอรี่ไม่ได้พูดความจริงเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในคราวแรก แต่ไดฟ์มาสเตอร์ก็คิดว่ามันสายเกินกว่าจะทำอะไรได้ และคงต้องทำการดำน้ำต่อไป

การลงสมอและการบรรยายสรุปเป็นไปตามที่วางแผนไว้ ถึงแม้กระแสน้ำจะแรงกว่าที่ไดฟ์มาสเตอร์คาดคิดไว้ก็ตามที การดำลงไปกับสายสมอก็ต้องใช้กำลังมากกว่าที่คาดหมาย แต่นักดำน้ำทุกคนก็สามารถลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัย ทุกคนให้สัญญาณ OK และเริ่มดำสำรวจพื้นที่บริเวณหินกองด้านใต้กระแสน้ำ ขณะเดียวกันที่ไดฟ์มาสเตอร์ก็จัดการกับสมอ เจอรี่ก็ดำน้ำไปทางด้านลึกของกองหินที่ความลึกประมาณ 145 ฟิต แต่ยังอยู่ในสายตาของไดฟ์มาสเตอร์

หลังจากสองสามนาทีผ่านไป เมื่อเจอรี่ไม่กลับมารวมกับกลุ่ม ไดฟ์มาสเตอร์ก็ดำน้ำไปหา และพบเจอรี่แน่นิ่ง หมดสติและไม่หายใจ ไดฟ์มาสเตอร์คว้าเจอรี่และลากเขาไปยังสายสมอ เริ่มการขึ้นโดยละทิ้งนักดำน้ำคนอื่นไว้ก่อน เนื่องจากกระแสน้ำรุนแรงและเจอรี่ไม่หายใจ ไดฟ์มาสเตอร์ตัดสินใจที่จะไม่ทำ Safety Stop เมื่อพวกเขาขึ้นมาถึงเรือ การทำ CPR ก็ได้เริ่มขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ก็ได้รับความเห็นว่าเจอรี่เสียชีวิตแล้ว

การวิเคราะห์

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นกับเจอรี่คือ อาการ Deep Water Blackout ซึ่งยังไม่เป็นที่เข้าใจในผู้ทำการศึกษาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็ยังนับว่าเป็นโชคดี เพราะเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ดีอาการนี้มักเกิดจากการดำน้ำลึกกว่า 130 ฟิต โดยใช้อากาศธรรมดา และมักเกิดกับนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ในการดำน้ำลึกน้อย มีสมมติฐานกันว่า Deep Water Blackout นี้ อาจจะเกิดจากสมรรถภาพทางกายไม่ดี เมาไนโตรเจน ความหนาแน่นของอากาศที่หายใจ การสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ และความฝืดของการหายใจ แต่ไม่มีอะไรยืนยันและยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้

สิ่งที่ควรจำ

การดำน้ำแบบ Scuba ต้องใช้การฝึกฝนเพื่อจะให้ทักษะเฉียบคมอยู่เสมอ คอร์สสำหรับทบทวน และคอร์สเรียนขั้นสูง เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดในการบรรลุจุดมุ่งหมายนี้

อย่าดำน้ำลึกแบบที่ต้องใช้การทำ Decompression Stop ยกเว้นได้รับการเรียน การฝึก และมีประสบการณ์ในการดำน้ำแบบนี้มาแล้ว องค์กรฝึกหลายแห่งได้มีหลักสูตรการดำน้ำแบบนี้มาให้เรียน

หากคุณต้องการที่จะดำน้ำแบบหนักหน่วง คุณควรมีเร็กกุเลเตอร์ที่มีประสิทธิภาพเยี่ยมยอดเป็นของตัวเอง รวมทั้งไดฟ์คอมพิวเตอร์ เข็มทิศ และ BCD

อย่างนี้เวลาดำลึกๆ น่าจะใส่หน้ากากแบบ Full Face Mask นะครับ Full Face Mask จะทำให้เร็กฯ ไม่หลุดออกไปจากปาก และน้ำก็ไม่สามารถเข้ามาได้หากเราหมดสติไปน่ะครับ แต่ว่าเวลาใส่เข้าไปแล้วหน้าตาคงน่ากลัวพิลึกครับ ผมเองก็ไม่เคยใส่ครับ เคยเห็นและอ่านมาเท่านั้นเอง

ส่วนเรื่องที่ไปดำลึกๆ นั่น ต้องระวังนิดหนึ่งนะครับ เพราะมีหลักฐานงานวิจัยอยู่บ้าง แต่ยังไม่เป็นที่ยืนยัน กำลังพยายามค้นคว้าอยู่น่ะครับ ว่าการดำน้ำลงไปลึกๆ นั้น ทำให้มีการเกิด Brain Damage ขึ้นมาได้เหมือนกันครับ นอกจากนั้น อาจมีการทำลายเส้นเลือดฝอยเส้นเล็กๆ บริเวณหัวกระดูก ทำให้เกิดโรคกระดูกในอนาคตอีกต่างหากครับ การดำน้ำลึกๆ บ่อยๆ จึงเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงครับ

แต่อย่างที่บอกมาแล้วครับว่าหลักฐานยังไม่แน่นอน อาจต้องมีการทดลองมีงานวิจัยออกมาเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ถึงจะได้ข้อสรุปว่าจริงหรือเปล่าครับ

 
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
ปรับปรุงล่าสุด 11 ส.ค. 2550