คาร์บอนไดออกไซด์กับการดำน้ำ

เร็วๆ นี้ เราได้คุยกันถึงเรื่อง Shallow Water Blackout และเรื่องอุบัติเหตุในการดำน้ำ ทั้ง Skin Dive และ SCUBA กันมาพอสมควรนะครับ ทำให้เกิดความสนใจ ไปค้นคว้าเพิ่มเติมเจอบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความสำคัญกับการดำน้ำ ก็เลยมาเล่าสู่กันฟังครับ

เนื่องจากนักดำน้ำทั้งสองแบบจำเป็นต้องหายใจผ่านอุปกรณ์ที่ทำให้เกิด Dead Air Space หรือช่องอากาศตาย (อันที่จริงเป็นอากาศเหลือใช้ที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง) การหายใจที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการสะสมและเพิ่มขึ้นของก๊าซดังกล่าวนี้ และนำไปสู่สถานการณ์ที่อันตรายได้ครับ

เช่นในกรณีที่เราหายใจด้วยเร็กฯ ที่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ และไม่จ่ายอากาศให้เพียงพอต่อความต้องการ หรือมีความฝืดมากเกินไป ทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายของเรา และทำให้ร่างกายของเรา เพิ่มความถี่ในการหายใจขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันกับที่เราหายใจมากขึ้น เร็กฯ ไม่สามารถจ่ายอากาศให้เพียงพอ และหากเราออกแรงมากหรืออยู่ใต้ความลึกมากๆ ก็จะเกิดอาการขาดอากาศ (หรือรู้สึกเหมือนอากาศไม่เพียงพอต่อการหายใจ) และนำไปสู่การ panic ได้อย่างง่ายดาย

เร็กกูเลเตอร์ส่วนมากมักจะไม่มีปัญหาอะไรเลยนะครับ หากเราดำน้ำสบายๆ ภายใต้ความลึกไม่เกิน 18 เมตร (60 ฟุต) แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนไป เช่น เหนื่อย หรืออยู่ลึกเกินความลึกดังกล่าว เร็กฯ ที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ที่จะทำให้เราปลอดภัยจากการจ่ายอากาศไม่เพียงพอได้ครับ

สรุปแล้ว สำหรับการดำน้ำแบบ SCUBA เราคงต้องหัดหายใจให้มีประสิทธิภาพ คือหายใจลึกๆ ยาวๆ ในขณะเดียวกัน เราต้องใช้เร็กกูเลเตอร์ที่มีประสิทธิภาพและได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นนะครับ จึงจะปลอดภัยจากการเพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ (Hypercapnia) ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และหายใจถี่กระชั้น และอาจก่อให้เกิดการหมดสติและจมน้ำได้ในที่สุดครับ

ส่วนการดำน้ำแบบ Snorkelling หรือการ Skin Dive นั้น ปริมาณคาร์บอนได้ออกไซด์อาจเพิ่มขึ้นจากระดับปกติเพียง 3-5% กลายเป็น 25% ได้อย่างรวดเร็วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราไม่หายใจลึกๆ ยาวๆ นี่แหละครับ คือสาเหตุว่าทำไมนักดำน้ำแบบนี้จึงรู้สึกหายใจไม่พอ และต้องเอา Snorkel ออกจากปากหลังจากหายใจด้วย Snorkel ได้สักพักหนึ่ง

เทคนิคที่ผู้รู้เขาแนะนำไว้ก็คือ ให้หายใจเข้าทางปากและหายใจออกทางจมูกครับ วิธีนี้จะทำให้อากาศใน Snorkel เป็นอากาศใหม่ 100% ง่ายจังเลยนะครับ แต่ก็เป็นวิธีการที่มีคุณค่ามากนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาเราต้องเหนื่อยขณะใช้ Snorkel เช่น เวลาไปช่วยกู้ภัยบนผิวน้ำไงล่ะครับ

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
ปรับปรุงล่าสุด 18 ต.ค. 2566