วิธีทำฟิล์มกันฝ้า ให้กับหน้ากากดำน้ำ

นักดำน้ำหลายท่าน คงจะเคยสับสนหรือหลงลืมกับคำแนะนำในการทำฟิล์มกันฝ้าให้กับหน้ากากดำน้ำก่อนการดำน้ำกันมาบ้างแล้ว จึงขอเรียบเรียงวิธีการต่างๆ ที่ได้รับการบอกต่อกันมา เอาเฉพาะที่ผ่านการพิสูจน์โดยทีมงาน FreedomDIVE จนเป็นที่ประจักษ์แล้ว มาให้ทุกท่านได้อ่านทบทวนกันอีกครั้ง

  1. ขั้นตอนที่ 1 ทุกครั้งที่คุณต้องการทำกันฝ้าให้กับหน้ากากดำน้ำ ต้องเริ่มต้นด้วยหน้ากากที่แห้งก่อนเสมอ หากหน้ากากยังเปียกอยู่จากการดำน้ำไดฟ์ก่อน ควรทิ้งไว้ให้แห้ง หรือเช็ดน้ำออกให้แห้งเสียก่อน (อาจแห้งหมาดๆ ก็พอไหวครับ) แล้วค่อยเริ่มต้นการทำฟิล์มกันฝ้า
  2. ขั้นตอนที่ 2 ใช้น้ำยา 1 ใน 3 ทางเลือกต่อไปนี้ ทา หรือ ฉีด ไปบนผิวหน้ากากด้านใน ให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
    - ตัวเลือกที่ประหยัดที่สุด คือใช้น้ำบ่อน้อย หรือน้ำลายของตัวท่านเอง วิธีนี้อาจเรียกได้ว่า ปลอดภัยที่สุด ทั้งต่อตัวท่านเองและสิ่งแวดล้อม เพราะใช้สารที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ อาจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากอาหารอร่อยมื้อล่าสุดติดมา ให้ฟุ้งซ่านไปตลอดทั้งไดฟ์ด้วย
    - ตัวเลือกที่นิยมกันมากที่สุด (เท่าที่ผมทราบ) ก็คือ การใช้แชมพู หรือสบู่เด็ก รุ่นไม่เสียน้ำตา หรือ no-more tears โดยใช้เพียง 2 - 5 หยด ขนาดหยดเท่าหัวเข็มหมุดก็เพียงพอแล้ว ทาให้ทั่ว แต่ไม่ต้องถูแรงหรือนานจนเกิดเป็นฟองนะครับ
    - ตัวเลือกสุดท้าย คือ ใช้น้ำยา anti-fog ซึ่งแต่ละชนิด อาจมีความแตกต่างกันไป คงต้องพึ่งพา คู่มือของน้ำยาที่ท่านใช้ดูเองครับ
  3. ขั้นตอนที่ 3 นำน้ำเปล่ามากรอกลงในหน้ากากที่เคลือบจนแห้งแล้วเบาๆ แกว่งไปมาเบาๆ แล้วเทน้ำออกจากหน้ากากเบาๆ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ใช้วิธีฉีด หรือราดน้ำแรงๆ และไม่ต้องทำซ้ำหลายครั้ง เพราะจะทำให้ฟิล์มที่อุตส่าห์เสียเวลาเคลือบไว้ หลุดออกไป
    บางครั้ง ผมก็ทำขั้นตอนนี้ในทะเลเสียเลย ไม่ต้องเปลืองน้ำจืด โดยทำหลังจากโดดลงน้ำไปแล้ว ก่อนจะ descent สู่ใต้ผิวน้ำ

หลังจากนี้ หน้ากากดำน้ำก็พร้อมที่จะใช้งานได้แล้ว ... แต่ถ้าคุณพบว่า ยังมองเห็นภาพเป็นริ้วๆ ตามแนวคราบน้ำที่ค้างอยู่ในหน้ากาก ไม่ใสปิ๊งเท่าที่ควร ให้ดำน้ำไปเรื่อยๆ สักครู่หนึ่ง เมื่อผิวหน้ากากที่เคลือบไว้เริ่มแห้ง ภาพจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนใสสนิทในที่สุด

วัตถุประสงค์สำคัญของวิธีการที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อสร้างฟิล์มบางๆ ของสารที่จะไม่ยอมให้ละอองน้ำ หรือไอน้ำมาเกาะได้ เคลือบไว้บนผิวเลนส์ด้านในนั่นเอง โดยที่สารดังกล่าว ก็มีให้เลือกตั้งแต่น้ำลาย สบู่เด็ก ไปจนถึงน้ำยา anti-fog ตามแต่ท่านต้องการ

และด้วยเหตุนี้ ฟิล์มดังกล่าวก็จะเสื่อมสภาพได้จากการที่คุณหายใจออกทางจมูก หรือมีน้ำไหลเข้ามาในหน้ากากแล้วละลายเอาฟิล์มออกไปพร้อมๆ กับการเคลียร์หน้ากากนั่นเอง ดังนั้น ฟิล์มที่คุณสร้างขึ้นมา จะอยู่ได้นานเพียงใดก็ขึ้นกับว่า เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวบ่อยหรือนานแค่ไหนกับหน้ากากดำน้ำของคุณนั่นเอง ไม่เว้นแม้แต่การฉีดน้ำใส่ หรือแช่หน้ากากไว้ในน้ำจืดหลังการดำน้ำแต่ละไดฟ์ด้วย...

คำแนะนำที่ดีประการหนึ่งคือ หลังการดำน้ำทุกไดฟ์ อย่าวางหน้ากากหงายไว้ เพราะจะเป็นที่รองรับน้ำที่อาจกระเด็นมาโดยบังเอิญให้ขังไว้ในหน้ากากและละลายเอาฟิล์มออกไปได้ หากไม่สะดวกที่จะแขวนหรือวางหน้ากากไว้ให้ห่างจากบริเวณที่มีน้ำ ก็เพียงแค่แขวนไว้กับ BCD ให้อยู่ในลักษณะคว่ำหน้าก็เพียงพอแล้วเช่นกัน

โดยส่วนตัว ผมเลือกที่จะล้างน้ำจืดครั้งเดียวหลังจากดำน้ำไดฟ์สุดท้ายในทริปเท่านั้น เพราะอยากให้หน้ากากใสปิ๊งตลอดทั้งทริปโดยไม่ต้องคอยเช็คคอยทำฟิล์มกันบ่อยๆ เท่าที่ผ่านมา ผมสามารถใช้หน้ากากดำน้ำได้ถึง 2 วันเต็มจากการทำฟิล์มครั้งเดียว

ลองเลือกใช้วิธีที่คุณถนัด แล้วได้ผลอย่างไร ส่งเมลมาแนะนำกันได้นะครับ

 
เขียนโดย ทีมงาน FreedomDIVE
ปรับปรุงล่าสุด 12 มิ.ย. 2549