เลือดกำเดาไหล ปัญหาที่นักดำน้ำหลายคนยังแก้ไม่ตก

หลายๆ คนคงเคยประสบปัญหาเลือดกำเดาไหลขณะดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่กำลังดำอยู่ใต้น้ำเพลินๆ ก็มีเลือดอยู่ในหน้ากาก หรือบางคนอาจจะเป็นตอนที่ขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วปรากฎว่ามีเลือดกำเดาไหลมากบ้างน้อยบ้าง จนเป็นที่สงสัยว่ามันเกิดจากอะไร

เพื่อให้เข้าใจองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง รู้ว่าที่มาของเลือดที่เราเห็นนั้น มาได้จากที่ใดได้บ้าง จึงอยากให้พวกเราทำความรู้จักกับโพรงอากาศภายในที่เกี่ยวข้องกันก่อนซักเล็กน้อย

โพรงจมูก (Nasal Passage) และอวัยวะที่เกี่ยวข้อง

ตามปกติ เลือดที่ไหลออกจากจมูกซึ่งเราเรียกว่า "เลือดกำเดา" นั้น มักเกิดจากการที่เส้นเลือดฝอยภายในโพรงจมูกมีการแตกทำลายอันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน

แต่สำหรับนักดำน้ำแล้ว อาการเลือดกำเดาออกที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำนั้น มีสาเหตุมากกว่าสาเหตุของเลือดกำเดาออกตามปกติ ซึ่งเบื้องต้น ก่อนที่รู้จักกับสาเหตุเหล่านั้น เราต้องมาทำความรู้จักกับโพรงจมูก และอวัยวะที่เกี่ยวข้องกันสักนิดก่อน

ถ้าไล่ตามทางเดินอากาศนับจากรูจมูกเข้าไปก็จะพบกับ "โพรงจมูก" เป็นอันดับแรก ตำแหน่งที่อยู่ก็คือ เหนือเพดานปากของเรานั่นเอง ณ ที่นี้ อากาศจะสามารถไหลต่อไปได้หลายช่องทางด้วยกัน

  • ทางหลักก็คือ ไหลผ่านด้านหลังช่องปากลงสู่ทางเดินอากาศ สู่ปอดต่อไป โดยปกติ อากาศสามารถถ่ายเทระหว่างช่องปากและโพรงจมูกได้ง่ายอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยพบปัญหาอะไร (และถ้าพบปัญหา คงไม่ต้องคิดไปเที่ยวไหนแต่แรกแล้ว)
  • ทางที่สอง ไหลเข้าสู่ช่องหูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียน (Eustachian) เพื่อปรับความดันในช่องหูให้เท่ากับภายนอก ซึ่งต้องทำเมื่อมีการเปลี่ยนความสูง (ขึ้นเขาขึ้นดอย ขึ้นเครื่องบิน) หรือเปลี่ยนความลึก (นักดำน้ำทุกคนทราบดี)
  • ทางที่สาม ไหลเข้าสู่โพรงอากาศภายในกะโหลกที่เรียกว่า โพรงไซนัส (Sinus) ซึ่งมีอยู่ 4 คู่ ซ้าย-ขวา ข้างละ 4 โพรง กระจายอยู่รอบๆ โพรงจมูก ไล่ตั้งแต่ เหนือคิ้ว โหนกแก้ม และหลังสันจมูก (ห่างตา) 2 โพรง ปกติโพรงไซนัสจะเชื่อมต่อกับโพรงจมูกโดยไม่มีลิ้นปิดเปิด (ไม่เหมือนช่องหูชั้นกลาง) เพื่อให้ระบายน้ำมูกที่เยื่อบุโพรงไซนัสขับออกมาดักเชื้อโรคและฝุ่นละอองทิ้งออกทางจมูก ได้ง่าย เมื่อไม่มีลิ้นปิดเปิด อากาศก็สามารถไหลเข้าออกตามความดันอากาศที่เปลี่ยนไปได้ โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรเป็นพิเศษจนลืมทำความรู้จักกับโพรงไซนัสไป

แต่...อาการเลือดกำเดาออกของนักดำน้ำส่วนใหญ่ ก็เกี่ยวข้องกับโพรงไซนัสที่ว่านี้แหละ เพราะเมื่อเกิดความผิดปกติบางประการ (ดังจะกล่าวถึงต่อไป) จนทำให้เส้นเลือดฝอยที่กระจายอยู่ตามเยื่อบุโพรงไซนัสนี้เกิดฉีกขาด นำไปสู่อาการเลือดกำเดาออกในที่สุดนั่นเอง


กรณีที่ 1 เลือดกำเดาไหลขณะดำลงสู่ใต้น้ำ

กรณีนี้ เกิดได้จากสาเหตุดังนี้

  1. เกิดจากการเคลียร์หูที่ไม่ถูกวิธี เช่น อาจบีบจมูกและดันลมแรงเกินไป ซึ่งมักเกิดเมื่อคุณไม่สามารถเคลียร์หูได้และพยายามดันลมให้ได้ ซึ่งมีผลทำให้หูชั้นกลางได้รับความเสียหาย
  2. เกิดจากความดันอากาศภายในโพรงไซนัสไม่เท่ากับความดันภายนอก ซึ่งมีสาเหตุจากการอุดตัน หรือตีบตันของช่องทางเดินอากาศระหว่างโพรงจมูกและโพรงไซนัส ส่งผลให้ไม่สามารถปรับความดันในโพรงไซนัสได้ เมื่อดำลงไปลึกมากขึ้น ความดันในเส้นเลือดก็จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ความดันในโพรงไซนัสไม่เปลี่ยนแปลง มีผลทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้
ภาพจาก http://www.drsinha.com/sinusitis.htm

กรณีที่ 2 เลือดกำเดาไหลขณะขึ้นสู่ผิวน้ำ

  1. เกิดจากการขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป และมีการอุดตันในโพรงไซนัส ทำให้อากาศภายในโพรงไม่สามารถถ่ายเทออกมาสู่ภายนอกได้ (หรือที่เราเรียกว่า Reverse Block) เมื่อเราลอยตัวสูงขึ้น อากาศภายในยิ่งขยายตัวมากขึ้น และเกิดความดันภายในสูงขึ้น เป็นผลให้เส้นเลือดฝอยภายในแตกได้ หรือบางคนอาจได้ยินเสียงเลือดวิ่งอยู่ภายในจมูก แต่ไม่มีออกมาให้เห็น
  2. เกิดจากการขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป ทำให้ความดันภายในเส้นเลือดของคุณสูงกว่าความดันภายนอก ทำให้เส้นเลือดฝอยในจมูกซึ่งค่อนข้างเปราะบางกว่าเส้นเลือดในจุดอื่นแตกได้ เลือดจึงไหลออกมาทางจมูก และหากคุณเป็นคนความดันเลือดค่อนข้างต่ำ (ต่ำกว่า 80/120) แล้วขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยอัตราเร็วเท่าๆ กับคนที่มีความดันปกติ ก็มีโอกาสเกิดเลือดกำเดาไหลสูงกว่า
  3. ประการสุดท้าย อาจเกิดขึ้นตั้งแต่คุณเริ่มดำลง แต่เนื่องจากเกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้เลือดสะสมอยู่ภายใน และเมื่อคุณขึ้นมาสู่ผิวน้ำ และเยื่อบุลดการบวมลง จึงเพิ่งพบปัญหา

กรณีที่ 3 เลือดกำเดาไหลขณะดำน้ำ

  1. การลอยขึ้น-ลง หรือเปลี่ยนระดับความลึกในระหว่างดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากที่ลึกกว่า ไปที่ตื้นกว่า หรือจากที่ตื้นลงที่ลึก ก็นำไปสู่ปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งสาเหตุการเกิด ก็เช่นเดียวกับที่เกิดตอนลงสู่ใต้น้ำและการขึ้นสู่ผิวน้ำ และจะเกิดได้ง่ายขึ้นเมื่อดำในพื้นที่ที่ค่อนข้างตื้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความดันในที่ตื้น จะมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าในที่ลึก
  2. เกิดขึ้นตั้งแต่คุณเริ่มดำลงสู่ใต้น้ำ แต่เลือดไหลออกไม่มาก และค่อยๆ ออก จึงมาปรากฎอาการให้เห็นขณะที่คุณกำลังดำน้ำเพลินๆ แต่ส่วนใหญ่จะออกไม่มากและไม่นาน

โพรงอากาศ "ตัน" ได้อย่างไร

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่เป็นพื้นฐานอันทำให้เลือดกำเดาไหลนั้น ส่วนใหญ่มาจากการอุดตันหรือตีบตันของโพรงจมูก และสาเหตุที่ทำให้โพรงจมูกอุดตัน ส่วนใหญ่ก็มาจากอาการหวัด และอาการของโรคภูมิแพ้ ที่ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม หรือมีน้ำมูกไปอุดตัดทางเดินอากาศ ทำให้เคลียร์หูได้ยาก และอากาศในโพรงจมูก โพรงไซนัส และโพรงในช่องหู ไม่สามารถถ่ายเทถึงกันได้อย่างสะดวก

การป้องกัน และการแก้ไข

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอก่อนไปดำน้ำในวันรุ่งขึ้น เพราะการพักผ่อนน้อย จะทำให้เคลียร์หูได้ยากขึ้น และทำให้เราเมาเรือง่ายขึ้นอีกด้วย
  • หาวิธีเคลียร์หูที่เหมาะสมกับตัวคุณให้ได้ โดยสามารถอ่านได้จาก เทคนิคการเคลียร์หู หรือปรึกษานักดำน้ำที่มีประสบการณ์ รวมถึงคิดค้นวิธีใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับตัวคุณ เพราะไม่มีคำว่า "การเคลียร์หูแบบที่ดีที่สุดในการดำน้ำ" มีเพียงคำว่า "วิธีที่เหมาะสมกับแต่ละคน" เท่านั้น
  • หากเยื่อบุโพรงจมูกหรือโพรงไซนัสบวมเนื่องจากอาการหวัดหรือภูมิแพ้เล็กน้อย ให้ทานยาลดการบวมก่อนการดำน้ำ (ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้) นักดำน้ำควรปรึกษา หรือขอคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง ด้าน หู คอ จมูก โดยตรง
  • ขึ้นสู่ผิวน้ำช้าๆ ยิ่งช้าเท่าไหร่ยิ่งดี โดยเฉพาะผู้ที่ความดันเลือดต่ำกว่าปกติไม่ต้องสนใจคนอื่น แต่ก็ควรจะบอก buddy หรือกลุ่มของคุณให้ทราบไว้ด้วย เดี๋ยวใครเข้าใจว่าคุณมีปัญหา ลงไปช่วยดึงคุณขึ้นมา จะยุ่งไปกันใหญ่

อันตรายและการรักษา

หากสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล ไม่ใช่สาเหตุที่รุนแรง เช่น ความดันปกติของคุณค่อนข้างต่ำ ทำให้เลือดกำเดาออกง่าย หรือวันนั้นมีน้ำมูกมาก ทำให้เคลียร์หูได้ลำบาก สาเหตุเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ไม่อันตรายมากนัก และเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น นักดำน้ำอาจแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ ที่แนะนำไว้ข้างต้นได้

แต่หากอาการดังกล่าวเป็นอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ นักดำน้ำควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะผลต่อเนื่องอันเกิดจากอาการเลือดกำเดาไหลแบบนี้ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุโพรงไซนัส นำไปสู่การเป็นโรคโพรงไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังได้

สำหรับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ น้ำมูกออกง่าย เพียงเจอฝุ่นควัน อากาศเย็น หรือน้ำทะล อย่าเพิ่งท้อใจเพราะคิดว่าโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จากประสบการณ์ของคนไข้ภูมิแพ้หลายคนพบว่า เมื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หรือสร้างสุขภาพให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม อาการภูมิแพ้เหล่านี้จะหายไป หลายท่านไม่มีอาการนี้อีกเลย ซึ่งแม้มิได้เป็นการยืนยันว่าหายขาด หากอนาคตอาจจะกลับมาเป็นอีกก็ได้ แต่อย่างไร ขอให้ปัจจุบันเป็นวันที่สุขสดใสไร้โรคภัยกวนใจ ได้ท่องไปใต้ท้องทะเลกว้างอย่างสนุกสนานและปลอดภัยก็พอแล้ว

บทส่งท้าย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ตัวนักดำน้ำเองเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้สังเกตว่า ปัญหานั้นมาจากสาเหตุใด และไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่มีคามชำนาญเฉพาะทาง เพื่อปรึกษาและรับการรักษาที่ถูกต้อง จากนั้นคุณจึงค่อยหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง เพื่อให้การดำน้ำยังคงเป็นการพักผ่อนที่สร้างความสุขให้กับพวกเราทุกคนตลอดไป

ใครมีความคิดเห็นหรือมีข้อมูลเพิ่มเติม เข้ามาที่นี่เลยครับ "แนะนำเพิ่มเติม"

 
เขียนโดย ศุภเศรษฐ์ อารีประเสริฐกุล (FreedomDIVE.com)
ปรับปรุงล่าสุด 23 ต.ค. 2566