Sheck Exley กับการดำน้ำในถ้ำ



นอกเหนือจากการมีสัตว์ทะเลจำนวนมากมายแล้ว เมือง Jacksonville ก็ยังมีชื่อเสียงในโลกของการดำน้ำอีกด้วย ว่าเป็นบ้านเกิดของ Sheck Exley และ Octopus อุปกรณ์ดำน้ำชิ้นสำคัญที่ได้รับการออกแบบโดย Exley เอง อันที่จริง หากท่านไม่ได้อยู่ในแวดวงดำน้ำ ท่านคงไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของ Exley แต่ในแวดวงการดำน้ำในถ้ำ และ Technical Diving แล้ว มีบุคคลน้อยมากที่ได้รับการยอมรับนับถือมากกว่าเขา

Exley ได้เขียนตำราว่าด้วยการดำน้ำในถ้ำขึ้นมาในปี 1979 เป็นตำราเล่มเล็กๆ แต่สำคัญในเรื่องความรู้เกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดจากการดำน้ำในถ้ำ ในตำราชื่อ Basic Cave Diving, A Blueprint for Survival ของเขานั้น เขาได้กล่าวถึงหลักสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบีบตัวเองเข้าไปในถ้ำใต้น้ำ ที่มีทั้งปล่อง ทางแยกต่างๆ ที่มีหินอันหนาหนักขวางทางระหว่างตัวคุณกับอากาศที่ผิวน้ำ ก่อนที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา Exley ได้ดำน้ำในถ้ำของรัฐฟลอริด้าตั้งแต่ปี 1965 เมื่อเขาผ่านการเรียนดำน้ำขั้นต้นขณะอายุ 16 ปี ในการดำน้ำครั้งแรกของเขา หลังจากเรียนดำน้ำจบนั้น เขาได้ดำใกล้แม่น้ำคริสตัลที่ฟลอริด้า และไปพบกับปากทางเข้าถ้ำตื้นๆ แต่ซับซ้อน ซึ่งเป็นต้นทางของน้ำพุหลายแห่งในบริเวณนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นชะตากรรมชักนำไปก็ได้

เช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ ก่อนหน้าเขา Exley ไม่สามารถต้านทานต่อแรงปรารถนาที่จะเข้าไปในถ้ำทั้งๆ ที่ไม่มีการเรียนรู้ ฝึกฝน หรือประสบการณ์ในการดำน้ำในถ้ำมาก่อนเลย ในเวลานั้นก็ไม่มีการฝึกฝนดำน้ำในถ้ำอย่างเป็นทางการอยู่ดี และหากท่านไม่รู้จักคนที่มีความรู้เรื่องนี้ ก็นับว่าท่านโชคไม่ดีเอง การดำน้ำในถ้ำยุคนั้น นักดำต้องสร้างประสบการณ์จากการดำน้ำในถ้ำจริงด้วยตนเอง ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อเรียนรู้เองอันเป็นกระบวนการที่โหดหินมาก ยิ่งประกอบกับถ้ำที่ดำยากๆ ด้วยแล้ว นักดำน้ำหลายคนต้องสังเวยด้วยชีวิตของพวกเขาเอง เนื่องจากนักดำน้ำทั่วไปที่ดำน้ำในทะเลเปิดนั้น เคยชินกับการที่สามารถขึ้นสู่ผิวน้ำไปหาความปลอดภัยได้โดยตรง พวกเขาก็จะไม่มีความพร้อมทั้งด้านเทคนิคและจิตใจที่จะดำในสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งกีดขวางเหนือศีรษะ เช่น ในถ้ำ ซึ่งการที่จะกลับไปสู่ผิวน้ำได้นั้น นักดำน้ำจะต้องดำย้อนทางกลับไปในทางที่มา ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นักดำน้ำจะต้องมีความมั่นคงในจิตใจมากสำหรับการดำน้ำยาวนานไปหาทางออกที่เข้ามา ซึ่งมักจะอยู่ท่ามกลางน้ำขุ่น มีทางแยกต่างๆ มากมายหลายหลาก การตัดสินใจจะไปทางซ้ายหรือขวาจะถูกนับว่าเป็นการตัดสินใจที่สำคัญต่อชีวิตของนักดำน้ำเอง ในระยะเวลาสั้นๆ ที่เริ่มการดำน้ำในถ้ำกันนั้น อัตราการเสียชีวิตพุ่งขึ้นสูงจนน่าตกใจ

เรื่องราวของนักดำน้ำในถ้ำมีกล่าวไว้มากมาย มีนักดำน้ำสองคนเข้าถ้ำด้วยถังอากาศใบเดียว ซึ่งนักดำน้ำอีกคนจะหายใจด้วยเร็กฯ สำรอง พวกเขาไม่มีประสบการณ์และสายเชือกนำทาง จึงหลงทางในที่สุด พวกเขาถูกค้นพบภายหลังจากเสียชีวิตแล้ว และมีร่องรอยของการ Panic อย่างชัดเจน เช่น มีรอยฟินบนฝุ่นที่พื้นกระจุยกระจายไปหมด มีรอยเล็บบนเพดานถ้ำ แสดงให้เห็นว่า มีการพยายามขุดหาทางออกบนผนังหิน อีกรายหนึ่งเป็นนักดำน้ำที่ไม่ได้รับการฝึกดำในถ้ำมาก่อนและเข้าไปในถ้ำคนเดียว ไม่มีสายนำทางและหลงทางในที่สุด เมื่อรับรู้ชัดเจนว่าหลงทางจนไม่มีทางหาเจอแล้ว เขาได้ใช้มีด (และอากาศที่เหลืออยู่) เขียนลงบนถังอากาศของเขา เพื่อให้คนที่มาพบร่างเขาได้อ่าน ว่า “ผมหลงทาง เสียใจมาก แม่ครับ ผมรักแม่”

Exley รอดชีวิต และเมื่อเขาอายุ 23 ปี เขาได้ดำน้ำในถ้ำมาแล้วถึง 1000 ไดฟ์ จำนวนการดำน้ำเหล่านั้นบวกกับรายงานเรื่องอุบัติเหตุการดำน้ำในถ้ำที่เขาอ่านในเวลาว่าง เป็นต้นกำเนิดของปรัชญาการดำน้ำในถ้ำของเขา ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปในที่สุด เขารู้สึกไม่ชอบใจกับอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากของนักดำน้ำในถ้ำ และคิดว่าการให้การศึกษาจะช่วยให้คนตายน้อยลงได้ หนังสือของเขาก็ถูกมองสองมุม สมาชิกกลุ่มนักดำน้ำในถ้ำหลายคนคิดว่าการออกหนังสือแบบนี้จะทำให้มีคนมาลองดำน้ำในถ้ำมากขึ้น และอัตราการตายก็จะพุ่งสูงกว่าเดิมอีก แต่ในที่สุด ก็ได้มีการพิสูจน์ว่า Exley คิดถูก เพราะอัตราการเสียชีวิตของนักดำน้ำในถ้ำน้อยลงไปมากหลังจากมีการให้การศึกษาเรื่องนี้กับนักดำน้ำในถ้ำหน้าใหม่

อันเนื่องมาจากการแสวงหาความปลอดภัยในระดับสูงขึ้นของเขา ที่ทำให้ Exley คิดค้นอุปกรณ์ชิ้นที่มีอิทธิพลสูงยิ่งสำหรับวงการดำน้ำ นั่นคืออุปกรณ์ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า Octopus นั่นเอง อุปกรณ์ดำน้ำนั้นคือ วาล์วแรงดันสูง (First Stage) ที่ติดอยู่กับถังอากาศ และมีวาล์วตัวที่สอง (Second Stage) ติดกับวาล์วตัวแรกด้วยสายส่งอากาศ วาล์วตัวที่สองนี่เอง ที่นักดำน้ำจะคาบไว้และหายใจผ่านมัน อากาศแรงดันสูงจากถังอากาศก็จะถูกทำให้แรงดันลดลงด้วยวาล์วตัวแรก และถูกส่งมาให้กับวาล์วตัวที่สองที่แรงดันอากาศจะถูกปรับให้เหมาะสมกับการหายใจของนักดำน้ำ ณ ความลึก (หรือแรงดันของน้ำ) ในขณะนั้น ด้วยอุปกรณ์แบบนี้ สิ่งที่นักดำน้ำต้องทำก็เพียงแต่หายใจ เร็กกุเลเตอร์จะจัดการทุกอย่างให้

เทคนิคหนึ่งที่ Exley คิดค้นขึ้นมาคือ การใช้อุปกรณ์แบบใหม่ ใช้ในการแบ่งอากาศหายใจ แทนที่จะใช้การ Buddy Breathing ด้วยเร็กกุเลเตอร์ตัวเดียวกัน โดยปกติแล้วเป็นการยากมากที่เร็กฯ จะเสียหายจนใช้การไม่ได้ สถานการณ์ส่วนมากที่เกิดขึ้นนั้น มักจะเป็นการที่นักดำน้ำคนหนึ่งอากาศหมด และต้องขอแบ่งอากาศจากบัดดี้ของตนเองมากกว่า ในยุคนั้น เมื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นในถ้ำ นักดำจะต้องผลัดกันหายใจด้วยเร็กฯ ตัวเดียว ซึ่งเป็นการยุ่งยากและทุลักทุเลมาก โดยเฉพาะในถ้ำซึ่งต้องการเวลาทุกวินาทีให้เป็นประโยชน์ที่สุด เทคนิคการ Buddy Breathing จึงเป็นวิธีที่ไม่สามารถยอมรับได้ Exley ได้ทำการออกกฎใหม่ออกมาว่า นักดำน้ำในถ้ำทุกคน ภายใต้การดูแลของเขาจะต้องมีเร็กฯ (Second Stage) สำรองติดตัวไปด้วย ด้วยวิธีนี้นักดำน้ำจะสามารถหายใจจากถังอากาศเดียวกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัยกว่าเดิม

ปัญหาก็มีอยู่ที่ว่าในยุคนั้นเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเพียงพอ และไม่มี First Stage ตัวใดที่มีช่องสำหรับใส่สาย Second Stage สำรองเลย ในการแก้ไขปัญหานี้ Exley ได้ไปปรึกษากับ Joseph Califano ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างอุปกรณ์ดำน้ำโดยตรง และ Califano ได้สร้าง First Stage ตัวแรกที่มีช่องใส่สาย Second Stage ถึง 5 ช่อง ให้กับ Exley เมื่อประกอบวาล์วสำรองถึงห้าชุดเรียบร้อยแล้ว นักดำน้ำทุกคนจะนึกถึง “หมึกสาย” และชื่อ Octopus จึงกลายเป็นชื่อใช้เรียกอุปกรณ์นี้มาจนถึงบัดนี้ ซึ่งอุปกรณ์ระบบนี้ กลายเป็นมาตรฐานสำหรับวงการดำน้ำ นักดำน้ำทุกคนในปัจจุบันจะมี Octopus ติดตัวไปเวลาดำน้ำเสมอ

Exley ได้ก้าวต่อไปในการประสบความสำเร็จในการดำน้ำในถ้ำของเขา เขาได้สร้างสถิติความลึกถึง 881 ฟิตในปี 1989 และสถิติการดำในถ้ำยาวถึงสองไมล์คนเดียว โดยใช้เวลาถึง 11 ชั่วโมงครึ่งในปี 1990 เขาได้กลายเป็นผู้บุกเบิกการดำน้ำแบบ Technical โดยเฉพาะการเริ่มใช้อากาศชนิดอื่นๆ ในการดำเพื่อเอาชนะความลึกมากๆ สรุปแล้ว ในระยะเวลา 29 ปีของการดำน้ำในถ้ำของเขานั้น เขาได้ดำไปถึง 4,000 กว่าไดฟ์

เหมือนดังว่าจะเน้นอันตรายที่ยิ่งใหญ่ของการดำน้ำในถ้ำ Exley เสียชีวิตในปี 1994 เมื่ออายุเพียง 45 ปี ขณะที่พยายามจะสร้างสถิติการดำน้ำลึกถึง 1000 ฟิตที่ Mexican Sinkhole อย่างไรก็ดี การเสียชีวิตของเขาไม่เชิงว่าจะเป็นการเสียชีวิตเพราะดำน้ำในถ้ำ เนื่องจากถ้ำดังกล่าวนั้น ไม่ได้ซับซ้อนหรืออันตรายอย่างใด เป็นเพียงหลุมลึกมากๆ เท่านั้น อันตรายแท้จริงที่ปลิดชีวิตเขานั้น คือผลกระทบทางสรีระวิทยาอันเนื่องจากการหายใจภายใต้แรงกดดันของการดำน้ำลึก การวางแผนดำน้ำของเขาส่วนมากจะเป็นการจัดการกับส่วนผสมอากาศที่เขาต้องใช้ ในความลึกมหาศาลที่เขาพยายามสร้างสถิตินั้น การจัดการกับอากาศที่หายใจเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และโอกาสของการใช้อากาศจนหมดก็มีอยู่สูง เนื่องจากภายใต้ความลึกมากมายแบบนั้น อากาศจะหมดลงไปอย่างรวดเร็วมาก ที่ความลึกยี่สิบฟิตนั้น อากาศในถังมาตรฐานจะเพียงพอสำหรับการหายใจถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งอย่างสบายๆ แต่ที่ความลึก 920 ฟิตแล้ว อากาศปริมาณเท่ากันจะหมดลงไปภายในสองหรือสามนาทีเท่านั้นเอง

ไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าอะไรเกิดขึ้นกับ Exley แต่มีการสันนิษฐานกันว่า เขาคงใช้อากาศที่ต้องใช้ ณ ความลึกนั้นหมดเร็วกว่าที่คาด และอาจจะขึ้นมาไม่ได้โดยง่าย เขาจึงดึงตัวเองไว้ด้วยการพันเชือกสายทุ่นที่ใช้ดำลงกับข้อมือของเขาเอง ในช่วงนั้นเขาอาจจะต้องสลับก๊าซที่ใช้หายใจไปใช้ก๊าซที่ไม่เหมาะกับความลึกตอนนั้น และหมดสติไป ร่างของเขาถูกนำขึ้นมาพร้อมกับเชือกเมื่อเจ้าหน้าที่ดึงเชือกสายทุ่นกลับขึ้นมา

ความลึกสูงสุดที่ Dive Computer ของเขา แสดงว่าเขาดำลึกลงไปถึง 879 ฟิต

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
นำเสนอ 02 มิ.ย. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 01 ต.ค. 2550