การสูบบุหรี่กับการดำน้ำ

เพื่อนๆ ที่เป็นนักดำน้ำหลายท่านอาจจะสูบบุหรี่ ซึ่งก็คงมีหลายคนนึกสงสัยว่า ขณะที่บุหรี่ทำร้ายร่างกายของเรา โดยรวมๆ นั้น นิโคตินและสารอื่นๆ ในบุหรี่ มีผลร้ายกับร่างกายและจิตใจของเราขณะที่หรือระหว่างช่วงเวลาที่เรากำลังมีความสุขกับการดำน้ำอยู่หรือเปล่า ในฐานะผู้สอนดำน้ำ เกือบทุกครั้งที่สอนมาถึงบทที่มีเรื่องสุขภาพกับการดำน้ำ พอกล่าวถึงเรื่องของการสูบบุหรี่ ก็จะมีนักเรียนสนใจสอบถามเรื่องนี้ ว่ามีผลอะไรที่นอกเหนือไปจากผลของการสูบบุหรี่บนบกที่รู้ๆ กันอยู่แล้วบ้างไหม

ภาพจาก http://dusithost.dusit.ac.th/~sci_instrument/sci1/drug14.htm

ก่อนที่เราจะมาดูผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อนักดำน้ำ ลองมาทบทวนเรื่องผลของบุหรี่ทำกับคนทั่วๆ ไปกันก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเราเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้องเสียก่อนนะครับ

บุหรี่ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งมีหลักฐานยืนยันอยู่อย่างแน่นหนาอยู่แล้ว ส่วนมากก็เกิดจากสารตัวหนึ่งที่เรียกกันว่า ทาร์ (Tar) หรือน้ำมันดิน ที่ผู้สูบบุหรี่สูบเข้าปอดไป ทาร์จะไปทำให้เกิดการระคายเคืองในหลอดลมของผู้สูบ และทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมได้ นอกจากนั้น ทาร์ยังเข้าไปทำลายซีเลีย (Cilia) ซึ่งเป็นขนเล็กๆ ในท่อทางเดินหายใจของเราอีกด้วย ซีเลียนี้มีความสำคัญ เพราะมันเป็นตัวที่ทำให้เมือกทั้งหลายจากปอดถูกขับออกมาที่ทางเดินหายใจด้านนอกได้ แต่หากมันไม่ทำงานเนื่องมาจากทาร์ได้เข้าไปทำลายเสียแล้ว ก็จะทำให้เกิดการสะสมของเมือกและมีการอุดตันเป็นบางส่วนของทางเดินหายใจ และนั่นก็คือสาเหตุของการไอในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของนักสูบบุหรี่ทั้งหลายนั้นเองครับ

สารเคมีบางอย่างในบุหรี่จะไม่อยู่แค่ในปอด แต่จะถูกส่งผ่านไปยังกระแสโลหิตของเรา และทำให้เกิดการหดเกร็งและการทำลายหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจ นี่คือสาเหตุว่าทำไมนักสูบบุหรี่ทั้งหลายจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่

นั่นก็เป็นเรื่องของคนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักดำน้ำหรือไม่นะครับ คราวนี้เราลองมาดูเรื่องผลของการสูบบุหรี่ที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำบ้าง ก็จะพบว่า เมื่อเราสูบบุหรี่ก่อนจะลงดำน้ำแล้ว จะเป็นการลดปริมาณก๊าซออกซิเจนที่อยู่ในเนื้อเยื่อเราได้ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่เกาะติดกับสารฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดเรานั้น จะแย่งพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนไป ทำให้ร่างกายหรือเนื้อเยื่อในร่างกายของเรา ได้รับก๊าซออกซิเจนน้อยลงไปในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้น นักดำน้ำที่สูบบุหรี่ก็จำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นกว่าปกติเพื่อจะทำกิจกรรมธรรมดาๆ เวลาดำน้ำ สรุปตอนนี้ว่า นักดำน้ำที่สูบบุหรี่ก็จงใจลดสมรรถภาพในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของตัวเองลงไป ซึ่งเวลาก่อนที่จะลงไปดำน้ำนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเวลาที่ไม่น่าจะพยายามลดความสามารถในการทำงานสูงสุดของตัวเองเลยนะครับ

สำหรับการเสี่ยงต่อ DCS หรือเบนด์นั้น ในปัจจุบัน ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใดว่านักดำน้ำที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเสี่ยงกับเบนด์มากขึ้นหรือไม่นะครับ แต่หากเราลองคิดดูให้ดีแล้ว ปัจจัยในการเสี่ยงต่อเบนด์ข้ออื่นๆ มักจะเกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิตทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน บุหรี่ก็เป็นสิ่งที่รบกวนความสามารถของระบบการไหลเวียนโลหิตอย่างรุนแรง หากคิดตามเหตุตามผล ถึงแม้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับ ก็น่าจะคิดได้นะครับ ว่าการสูบบุหรี่น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นเบนด์ได้

อย่างไรก็ดีนะครับ ผลที่รุนแรงที่สุดของการสูบบุหรี่ที่มีต่อการดำน้ำนั้น ก็คือ การรบกวนการไหลของอากาศในปอดของเรา การลดความยืดหยุ่นของถุงลมปอดและการสะสมเมือกในปอดของเรา ทำให้เกิดการเก็บกักเอาลมไว้ในปอดเรา ถึงแม้เราคิดว่าเราหายใจออกหมดแล้วได้โดยง่าย สิ่งที่เกิดขึ้นและเกิดขึ้นมาแล้วในนักดำน้ำจริงๆ ก็คือ การบาดเจ็บของปอดและทางเดินหายใจในนักดำน้ำ ทั้งๆ ที่หายใจเข้าออกตามปกติ ไม่ได้กลั้นหายใจแต่อย่างใด กฎข้อสำคัญที่สุดของนักดำน้ำ ว่า “ หายใจเข้าออก อย่างสม่ำเสมอ และไม่กลั้นหายใจโดยเด็ดขาด ” จะทำให้เราไม่เกิดอาการปอดฉีกนั้น ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับนักดำน้ำที่สูบบุหรี่ได้ เพราะถึงแม้จะปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดการฉีกขาดของปอด อันเนื่องจากอากาศที่ถูกเก็บกักไว้จากการสูบบุหรี่อยู่ดีครับ

 
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
เรียบเรียงโดย ทีมงาน FreedomDIVE
ปรับปรุงล่าสุด 20 ต.ค. 2566