ปะการังแข็งที่หมู่เกาะสุรินทร์

กว่าจะหาจุดดำน้ำที่นี่ได้ ก็ต้องใช้ความพยายามหลายรอบเหมือนกัน ... เนื่องจากจุดดำน้ำจุดนี้ ผมเคยมาดำเพียงสองครั้งเท่านั้นเอง เดิมทีก็ได้รับรู้ถึงสถานที่แห่งนี้จากผู้ที่ทำการสำรวจเกาะสุรินทร์จนหมดสิ้น แทบจะไม่มีที่ไหนในเกาะนี้ที่ท่านไม่เคยไปสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ใต้น้ำ ผมยังจำความรู้สึกของการที่ได้ไปดำน้ำที่นี่ครั้งแรกเมื่อสี่ปีที่แล้วได้เลยว่า พอลงไปถึงพื้นแล้วเริ่มปรับตัวปรับสายตาเข้ากับสถานที่ได้ ก็รู้สึกตกตะลึง เพราะไม่เคยไปดำน้ำที่ไหนที่มีความอุดมสมบูรณ์แบบนี้มาก่อน

สายๆ ในวันแรกของเดือนมีนาคม ผมได้มีโอกาสพาพรรคพวกมาดำน้ำ ณ จุดนี้อีกครั้ง อันที่จริงผมก็รอคอยอย่างตื่นเต้นและกระวนกระวายพอสมควรในคืนก่อนหน้านั้นหลังจากดำน้ำกลางคืนที่เกาะตอรินลา เนื่องจากเกิดรู้สึกสงสัยว่าที่นี่จะเหมือนเดิมหรือไม่ และสงสัยว่าจะพาคนกลับมาถูกที่ที่เป็นสถานที่ดำน้ำหรือเปล่า เนื่องจากจุดดำน้ำจุดนี้ จากการสังเกตของผมเอง รู้สึกว่าทางอุทยานฯ จะไม่วางทุ่นไว้ให้นักดำน้ำเข้ามาดำ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ถึงจุดนี้เลยไม่ว่าจะเป็นแหล่งไหน ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นสุดยอดแห่งดงปะการังแข็งของเมืองไทยก็เห็นจะว่าได้

เราไปดำน้ำกันที่ “ทักษิณหรรษา” แหล่งดำน้ำที่ท่าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ตั้งชื่อเอาไว้นานแล้ว ในช่วงเช้า หลังจากพักบนเรือกันได้ประมาณสองชั่วโมง เราก็ย้ายเรือไปยังจุดดำน้ำแห่งนี้ ในบริเวณเกาะสุรินทร์ ผมเองก็จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า จะอยู่ตรงแหลมใดแหลมหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจชัดเจน จำได้ว่าครั้งที่สองที่พาคนมาดำน้ำที่นี่ ก็ต้องใช้เครื่องซาวน์เดอร์ค้นหาหมายอยู่นาน

วันนี้ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่แน่ใจและไม่มีหมายเป็นทุ่นที่แน่นอน ก็เลยต้องดูเอาจากแผนที่ที่วาดไว้ และให้กัปตันเรือใช้เครื่องซาวน์เดอร์หาเช่นเคย หากันอยู่นาน บางทีก็สับสนกับไหล่แนวปะการังใกล้เกาะจนเกือบจะหมดหวัง เราก็ได้พบแนวปะการังห่างจากเกาะสักสองร้อยเมตร เป็นที่ลึกประมาณสามสิบเมตรและมีแนวปะการังเป็นคันขึ้นมา ยอดสูงถึงห้าเมตรจากผิวน้ำ แนวปะการังที่ว่านี้ มีความกว้างประมาณถนนมอเตอร์เวย์ ที่วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปชลบุรีเห็นจะได้ ยาวหลายร้อยเมตร ผมเองก็ยังไม่ทราบถึงความยาวที่แน่นอน เพราะไม่เคยสำรวจได้จนสุดแนวปะการังแห่งนี้สักครั้ง

เราทิ้งไอ้ใบ้ไว้บนพื้นทราย เลยไปทางด้านทิศเหนือไปนิดหน่อย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกระเทือนกับแนวปะการัง ก่อนจะลงดำน้ำ เมื่อมองลงไปข้างล่าง ผมก็ยังหวั่นใจอยู่ว่าจะใช่สถานที่นี้หรือเปล่า เพราะมองจากผิวน้ำแล้ว มันเหมือนเป็นกองหินโล้นๆ มากกว่าเป็นดงปะการังที่ยิ่งใหญ่อย่างที่เคยมาดำครั้งก่อน เมื่อดำตามสายไอ้ใบ้ลงไปถึงกลางน้ำผมก็เริ่มใจชื้น เพราะเห็นแล้วว่าเป็นแนวปะการังเดิมที่เคยมาเยือนอย่างแน่นอน เพราะความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายของปะการังที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้านั้นยืนยันได้เป็นอย่างดี ผมหันไปให้สัญญาณกับพรรคพวกกลุ่มที่ลงมาด้วยกันให้มุ่งหน้าลงทางทิศใต้ เพราะหากไปทางทิศเหนือแล้ว เราจะลงไปพบกับความลึกอันเวิ้งว้างมากกว่าความสวยสดงดงามที่หมายใจไว้ว่าจะเจอ

เราดำลงผ่านคันปะการังที่หักลงอย่างลาดชันจนถึงพื้นทราย โดยรักษาระดับความลึกไว้ที่ยี่สิบสี่เมตร อันที่จริง หากจะลงให้ถึงพื้นเลย ก็จะมีความลึกถึงสามสิบเมตร ซึ่งอาจจะลงลึกเกินไปโดยไม่จำเป็น เนื่องจากวันนี้เราจะต้องดำน้ำลึกๆ กันต่ออีกที่กองหินริเชลิวในช่วงบ่าย

ทุกคนในกลุ่มของเรา รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้ากันเป็นอย่างมาก ปะการังที่นี่มีทุกชนิดที่เคยเห็น แต่มารวมกันอยู่ในที่เดียวกัน ปะการังเขากวางหลากหลายชนิด ปะการังแผ่น ปะการังโต๊ะ ปะการังแปรงล้างขวด ปะการังลายกลีบดอกไม้ ปะการังช่องหินอ่อน ปะการังรังผึ้ง ปะการังโขด ปะการังผักกาด ปะการังสมอง ฟองน้ำ ฯลฯ มาขึ้นกันอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพิเศษ กว้างไกลไปสุดลูกหูลูกตา สีสันของปะการังแข็งที่นี่อาจจะน้อย แต่หากเทียบกับความยิ่งใหญ่และหลากหลายแล้ว ดูจะเป็นที่น่าอัศจรรย์ไปเสียยิ่งกว่าแหล่งดำน้ำบางที่ที่มีปะการังอ่อนสีสันสวยสดงดงามเสียอีก เราดำเลาะขอบด้านล่างของแนวปะการังนี้ไป จนถึงเวลาที่จะต้องขึ้นสู่ความลึกสิบหกเมตรตามแผนการดำน้ำ ซึ่งทำให้เราอยู่ในช่วงความลึกตรงกลางของแนวปะการัง หากมองทางดิ่ง สัตว์ทะเลที่นี่มีหลากหลายเช่นเดียวกับปะการัง ช่วงนี้ปะการังเขากวางจะมีปริมาณมากกว่าปะการังชนิดอื่นๆ แซมด้วยปะการังโขด และปะการังสมอง เต่าทะเลตัวหนึ่ง ว่ายมาดูพวกเราอย่างสงสัย เมื่อเราหันไปหา เขาก็ว่ายหนีไปอย่างรวดเร็ว มองไปทางด้านข้างก็จะเห็นฝูงปลาใหญ่น้อยว่ายกันมากมาย ปลากะพงเป็นฝูงๆ มีอยู่ให้เห็นอย่างดาษดื่น

เมื่อสิ้นสุดเวลาของความลึกสิบหกเมตร เราก็ขึ้นไปที่ความลึกไม่เกินสิบเมตร บริเวณด้านบนสุดของแนวปะการัง ณ จุดนี้ เมื่อเรามองลงไปด้านล่าง เราก็จะเห็นถึงพื้นทรายที่ลึกลงไปอีกเกือบสามสิบเมตร ความรู้สึกขณะนั้น ยากที่จะบรรยาย มันคล้ายกับเรากำลังปีนเขาหรือกำลังบินอยู่เหนือยอดเขามากกว่ากำลังดำน้ำ บริเวณนี้มีความหลากหลายของปะการังมาก ปริมาณของปะการังก็หนาแน่นเป็นพิเศษ นอกจากนั้น เรายังได้เห็นสีสันของปะการังที่มีสีฟ้าแซมสีน้ำตาลมากขึ้นกว่าเดิม ปะการังบางกอก็มีสีออกเขียวอ่อน และมีปะการังต้นไม้สีเขียวเข้ม สอดแทรกให้เห็นเป็นระยะ เมื่อเรามองไปข้างหน้า ก็ยังเห็นแนวปะการังทอดตัวต่อไปทางทิศใต้จนสุดลูกหูลูกตา ในใจนั้น อยากจะให้มีเวลาอยู่ใต้น้ำให้นานๆ จะได้ไปสำรวจเสียให้ทั่ว แต่จนใจที่เวลาตามแผนการดำน้ำของเรา ได้หมดลงเสียแล้ว เพื่อนสมาชิกในกลุ่มบางคนก็มีอากาศเหลือน้อยเกินกว่าที่จะดำน้ำต่อไปอีกด้วย พวกเราจึงตกลงใจกันว่าจะขึ้นสู่ผิวน้ำ เนื่องจากเราได้ดำน้ำอยู่ในความลึกห้าเมตรเป็นเวลานานพอสมควรก่อนหน้านี้แล้ว เราจึงสามารถขึ้นสู่ผิวน้ำโดยตรงได้โดยไม่ต้องรีรออะไรอีก เพื่อนๆ ในกลุ่มหลายคนทำท่าทางเสียดายที่จะต้องจากโลกใต้น้ำที่เสมือนกับโลกแห่งความฝันอันไม่น่าเชื่อว่าจะมีจริงไปสู่โลกใบเดิมของเราบนผิวน้ำ แต่ถึงอย่างไร ไม่ช้าก็เร็ว เราก็ต้องกลับขึ้นสู่เรือลำหรูที่พาเรามาที่นี่อยู่ดี พวกเราให้สัญญาณโดยการยกนิ้วโป้งขึ้น อันเป็นสัญญาณที่รับรู้กันในหมู่นักดำน้ำว่าเป็นการสิ้นสุดการดำน้ำในครั้งนี้ และปล่อยลมออกจากเสื้อชูชีพพร้อมทั้งเตะตีนกบขึ้นสู่ผิวน้ำ เมื่อมาถึงผิวน้ำ ทุกคนพูดคุยกันไม่หยุดปากถึงความสวยงามที่ไม่มีใครนึกถึงว่าจะมาพบในการดำน้ำคราวนี้ หลายคนบอกว่าตั้งแต่ดำน้ำมา ไม่เคยพบแนวปะการังที่ไหนสวยและอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้เลย หรือว่าสถานที่แห่งนี้ สมควรที่จะเป็นแหล่งดำน้ำลี้ลับที่ไม่มีใครสนใจจะไปเที่ยวชมต่อไป ....

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
นำเสนอ 25 พ.ค. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 01 ต.ค. 2550