ติดเกาะตาชัย และการจากไปของเรือ"เจ้าหญิงน้อย" - 16 เมษา 2556

หลายคนคงได้ยินข่าวเรื่องการจากไปของเรือเจ้าหญิงน้อยหรือ MV Little Princess กันบ้างแล้ว

เป็นประสบการณ์ของการร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตื่นเต้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกคือตอนที่ครูดำน้ำหายไปที่แสมสาร
ได้เห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็รู้สึกว่าเขียนข้อมูลคลาดเคลื่อนไปบ้าง เช่น ตอนเช้ายังอากาศดี แต่พอตอนบ่ายอยู่ดีๆ ลมก็มา อะไรแบบนี้ ซึ่งพอดีได้อยู่ฟังขณะนักข่าวสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวก็เลยรู้ว่านักข่าวจับประเด็นผิด หรือเรื่องอื่นๆ อีก ก็เลยอยากจะมาเล่าเอาไว้ในนี้ ในฐานะของผู้เห็นเหตุการณ์ แต่อาจจะไม่ได้รู้ทุกแง่มุมของเหตุการณ์นี้ บางคำอาจจะไม่ใช่คำสากลที่เราใช้กัน แต่เป็นคำที่คนเรือเรียกกันนะครับ

ทริปนี้ดำน้ำวันที่ 13-16 เม.ย. ผมไปดำน้ำด้วยเรือ ScubaNet ออกเรือคืนวันที่ 12 เม.ย.
13 เม.ย. ตอนเช้าเป็นลม ตอ./ต. มีคลื่นนิดหน่อย ช่วยบ่ายลมสงบ
14 เม.ย. ตอนเช้าเป็นลม ตอ./ต. เหมือนเมื่อวาน มีคลื่นนิดหน่อย แต่ได้ข่าวว่า 15 เม.ย. จะมีลมตต./ต. ประมาณ 20 Knots เลยคิดว่าจะอยู่ที่สิมิลัน เพื่อดูให้แน่อีกที
ช่วงบ่ายลมสงบเหมือนเมื่อวาน ตัดสินใจขึ้นเกาะบอน เพื่อไปดูแมนต้า และลงมา Stand by ที่เกาะแปด ระหว่างนั้นทางคุณกอล์ฟส่งข่าวมาว่าลมวันที่ 15 เบาลงเหลือ 12 Knots เลยเปลี่ยนแผนขึ้นไปดำไนท์ไดฟ์ที่เกาะตาชัย และไปจอดนอนที่เกาะสุรินทร์ใต้ เผื่ออากาศเปลี่ยนแปลงก็ยังมีที่หลบสบายๆ
15 เม.ย. ตอนเช้ายังคงเป็นลม ตอ./ต. เหมือนเดิม คลื่นประมาณเมตรกว่า เลยดำที่เกาะตอรินลา จบไดฟ์หนึ่ง ทะเลสงบ เลยไปดำที่ริเชลิว 2 ไดฟ์ และเดินทางเข้าเกาะตาชัย จอดนอนที่หน้าหาด
16 เม.ย. ลมตต./ต. มาแล้ว ไม่สามารถออกไปดำที่กองหินตาชัยได้เพราะคลื่นสูง ต้องดำที่หน้าหาดตาชัยทั้ง 3 ไดฟ์

ระหว่างที่รอลงไดฟ์ 3 เวลาประมาณบ่ายโมงกว่า เรือสปีดโบทที่พานักท่องเที่ยวมาเกาะตาชัย ก็ได้พานักท่องเที่ยวออกจากเกาะกลับฝั่ง เหลืออยู่เพียงลำเดียวที่จอดอยู่ สปีดโบทไม่แน่ใจว่าออกไปทั้งหมดกี่ลำ วิ่งออกไปได้ไม่นานยังไม่ทันพ้นสายตาที่มองจากเรือผ่านสายฝนออกไป ก็เห็นเรือ 6 ลำ ก็วิ่งกลับมายังเกาะ ไม่สามารถฝ่าคลื่นลมออกไปได้เพราะคลื่นด้านนอกสูงถึง 3 เมตร (โดยประมาณ) ในเวลาเดียวกันเรือเจ้าหญิงน้อยซึ่งอยู่ห่างจากเกาะตาชัยประมาณ 2 ไมล์ กำลังขอความช่วยเหลือเรื่องเครื่องสูบน้ำซึ่งไม่เพียงพอเพราะน้ำไหลเข้าท้องเรือค่อนข้างมาก ไดโว่ที่มีอยู่ตัวเดียวสูบไม่ทัน เนื่องจากเรือลำนี้มีช่องระบายอากาศอยู่ทั้งหัวเรือและท้ายเรือทำให้น้ำเข้าได้ง่าย ผมได้ยินจากกัปตันบอกว่าเห็นดิงกี้ของ จนท.อุทยานวิ่งออกไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเอาไดโว่ออกไปหรือเปล่า ระหว่างนั้นก็มีวิทยุขอความช่วยเหลือจากกัปตันเรือเจ้าหญิงน้อย บอกว่า "ศรีพังงาช่วยด้วย" และแจ้งพิกัดดาวว่า "20 50 ... อุ๊บ...." แล้วก็เงียบหายไปไม่สามารถติดต่อได้อีก ซึ่งตัวเลขที่บอกมานั้นยังขาดอีก 2 ตัวถึงจะครบถ้วน เห็นในเว็บพันธ์ทิพย์ มีคนบอกว่าเรือได้ยิงพลุสัญญาณ 2 นัด แต่ในวันนั้น ผมและนักดำน้ำบนเรือไม่มีใครเห็นพลุสัญญาณ รวมทั้งไม่มีลูกเรือพูดถึงเรื่องนี้เลย

ทุกคนบน ScubaNet ต่างลุ้นว่าเครื่องวิทยุเสียเพราะน้ำเข้าโดนเบตเตอรี่รึเปล่า หรือว่า........ แต่ไม่มีใครขอให้เป็นอย่างหลัง
สักพักนึง เรืออวนดำ "ชื่อ....." (ถ่ายรูปมาแล้ว แต่ระยะซูมยังไม่พอ มองไม่ชัด) ได้ถอนสมอและมุ่งหน้าไปยังตำแหน่งดาว ที่ได้ยินจากว. ซึ่งกัปตันบอกว่าเป็นเรือที่มีศักยภาพมากที่สุดแล้วในบรรดาเรือที่จอดอยู่ทั้งหมด เพราะบริเวณนั้นเรือที่จอดหลบลมอยู่ เป็นเรือ Liveaboard 4 ลำ สปีดโบท 7 ลำ และเรือไดหมึกนับสิบ ซึ่งขนาดเล็กกว่า

เวลาประมาณบ่ายสามโมง เรืออวนไปถึงตำแหน่งที่บอกไว้ เป็นตำแหน่งเรือจางๆ ด้านซ้ายมือที่อยู่ในรูปข้างบน ก็ได้วิทยุมาว่า "พบคนลอยน้ำแล้ว....." ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ทันที โดยไม่ต้องพูดกัน สิ่งที่ลุ้นและเอาใจช่วยกันต่อไปก็คือ ขอให้อยู่ครบทุกคน ระหว่างนั้น ไม่สามารถติดต่อเรืออวนได้ชั่วคราว คงเพราะกำลังช่วยเหลือนักดำน้ำอยู่ โดยระหว่างนั้น ทุกคนบนเรือสามารถมองเห็นเรืออวนจางๆ ในม่านสายฝน ห่างออกไปประมาณ 2 ไมล์ทะเล

ดิงกี้เรือ ScubaNet วิ่งออกไปช่วยรับนักดำน้ำจากเรือประมง

เวลา 16.10 น. เรืออวนดำวิ่งกลับมาถึงเกาะตาชัย และดิงกี้จากเรือ ScubaNet และเรือ Liveaboard แถวนั้นก็มาช่วยกันย้ายนักดำน้ำและกัปตันเรือเจ้าหญิงน้อยไปขึ้นเรือ MantaQueen1 (ศรีพังงา) ซึ่งเป็นเรือของบริษัทเดียวกัน ส่วนลูกเรือให้มาขึ้นที่เรือ ScubaNet เพื่ออาบน้ำล้างตัว ทำแผล และปลอบขวัญกันตามประสาพี่น้องลูกเรือที่รู้จักและคุ้นเคยกัน คำแรกที่ผมได้ยินจากช่างเครื่องของเรือเจ้าหญิงน้อยเมื่อขึ้นเรือ Scubanet คือ "ผมทำดีที่สุดแล้วครับ" และร้องไห้กอดกับลูกเรือ Scubanet เป็นภาพที่สุดจะบรรยายจริงๆ ครับ
คลื่นที่เกาะตาชัย
ขนย้ายจากเรือประมง ไปเรือ Liveaboard ศรีพังงา

เมื่ออาบน้ำล้างตัวและทำแผลกันเสร็จแล้ว ลูกเรือเริ่มมีกำลังใจที่ดีขึ้น ก็เริ่มเล่าถึงเหตุการณ์บนเรือ ซึ่งสรุปโดยคร่าวๆ คือ
  • หลังจบไดฟ์ที่ 2 และได้เจอ Manta ทั้ง 2 ไดฟ์ เรือออกจากเกาะบอนมาได้ไม่นาน ช่างเครื่องเริ่มไม่แน่ใจ เพราะเห็นน้ำกระเด็นเข้าท้องเรือค่อนข้างมาก และถามกัปตันว่าจะไหวเหรอ กัปตันบอกว่าไหว
  • ชั้นล่างของเรือมีช่องระบายอากาศอยู่ทั้งด้านหน้า และด้านท้าย ทำให้น้ำเข้าได้ง่ายขึ้น
  • บนเรือมีเครื่องสูบน้ำตัวเดียวและไม่มีตัวสำรอง ทำให้เมื่อน้ำเข้าเยอะเลยสูบออกไม่ทัน
  • นักดำน้ำบนเรือซึ่งอยู่ชั้นล่างออกมาช่วยกันวิดน้ำ
  • เมื่อใกล้เกาะตาชัย เรือเริ่มหนักขึ้นเพราะมีน้ำอยู่ท้องเรือมากขึ้น จังหวะเดียวกับที่ลมผันผวน เรือเอียงเอาไม่กลับ และน้ำเข้าทางท้ายเรือเป็นจำนวนมาก
  • ลูกเรือเห็นว่าน่าจะไม่ไหว จึงโยน BCD ซึ่งติดกับถังอากาศประมาณ 10 ตัวออกมาด้านนอกเรือ เพื่อให้เป็นทุ่นลอย
  • เมื่อท้ายเรือจม ลูกเรือและนักดำน้ำชั้นล่างเริ่มโดดออกจากเรือ
  • ช่างเครื่องซึ่งตอนนั้นอยู่ในห้องกับกัปตันเรือ วิ่งไปเคาะห้องนอนที่อยู่ชั้นบนโดยไม่รู้ว่ามีคนอยู่หรือเปล่า แต่ก็เรียกไว้ก่อน พร้อมทั้งถีบประตูให้เปิดออก ปรากฎว่ามีนักดำน้ำอยู่ในห้องนอนชั้นบนอีก 4 คน ในณะที่เรือกำลังจะจม
  • มีลูกเรือขึ้นไปปลดแพชูชีพได้ 1 อัน ขณะที่ท้ายเรือเริ่มจม จากนั้นพื้นไม้และดาดฟ้าเรือเริ่มแตก (ฟังแล้วเหมือนว่าเรือจะเริ่มหักกลาง)
  • นักดำน้ำและลูกเรือทั้งหมด โดดออกจากเรือมาลอยคอในทะเลเกาะ BCD ไว้ และเรือจมหายไปในทะเล
  • เรืออวนดำเข้าไปช่วย และพากลับมาขึ้นเรือศรีพังงา

หลังจากนั้นทางเกาะตาชัยได้วิทยุประสานงานไปทางทหารเรือที่ท่าเรือทับละมุ ขอความช่วยเหลือให้นำเรือออกไปรับนักท่องเที่ยวประมาณ 400 คน ซึ่งมากับเรือสปีดโบทที่พานักท่องเที่ยวมาเที่ยวเกาะ และเรือไม่สามารถวิ่งกลับฝั่งได้

ประมาณ 5 โมงเย็น ทหารประจำเรือหลวงปัตตานีซึ่งเพิ่งจะเสร็จภารกิจโจรสลัดโซมาเลีย กลับมาเมืองไทยไม่นานและเพิ่งอ้อมแหลมจากอ่าวไทยมาจอดที่ทับละมุได้เพียงวันเดียว บางส่วนกำลังเล่นฟิตเนสและบางส่วนกำลังเตะฟุตบอลกันอยู่ ก็ถูกเรียกตัวให้มาปฏิบัติภารกิจด่วนทันที

ในตอนนั้นพวกเราบนเรือนั่งตัดสินใจกันอยู่ว่า จะเป็นนักดำน้ำบนเรือ ScubaNet ต่อไป และเดินทางกลับพร้อมเรือในตอนกลางคืนหรืออาจจะวันรุ่งขึ้นดี หรือว่าจะเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ประสบภัยแล้วนั่งเรือทหารกลับดี แต่สุดท้ายเราก็เลือกเป็นผู้ประสบภัยดีกว่า เพราะว่าสามารถคาดการณ์เวลากลับได้ หากอยู่บนเรือต่อไป อากาศไม่ดีขึ้น วันรุ่งขึ้นก็อาจจะยังไม่ได้กลับ ทุกคนบนเรือจึงเริ่มเก็บอุปกรณ์ดำน้ำลงกระเป๋าและเก็บสัมภาระต่างๆ

เรือออกจากทับละมุประมาณ 19.00 น. มาถึงเกาะตาชัย 21.00 น. เนื่องจากเป็นเรือใหญ่และไม่คุ้นเคยพื้นที่จึงใช้เวลาหาที่จอดเรือเกือบครึ่งชั่วโมง นักท่องเที่ยวต้องขึ้นสปีดโบทจากหาดไปลงดิงกี้ และขึ้นเรือทหารอีกที เพราะสปีดโบทไม่สามารถเทียบข้างได้เนื่องจากคลื่นแรงขึ้น ประมาณ 21.45 น. นักท่องเที่ยวขึ้นเรือไปได้ประมาณ 100 คน จนท.อุทยานได้ขับดิงกี้มาแจ้งให้เรือ ScubaNet เข้าไปเทียบข้างเรือหลวง และย้ายพวกเราพร้อมสัมภาระขึ้นไปบนเรือหลวงปัตตานีก่อน เราเลยโชคดีได้ไปอยู่ในห้องชั้นสองของเรือซึ่งมีที่นั่งสบายๆให้นั่ง จากนั้นก็ให้เรือสปีดโบทมาเทียบข้างเรือ ScubaNet อีกที และให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นมาบนดาดฟ้าเรือ ScubaNet และข้ามไปยังเรือหลวงอีกที ช่วยให้การย้ายคนทำได้เร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ขึ้นเรือหลวงปัตตานี 22.08 น. ขึ้นเรือหลวงปัตตานี
บนเรือ จนท.ทหาร เตรียมอาหารและน้ำดื่มไว้ให้เรียบร้อย เป็นข้าวผัด ไข่ดาว และไก่ทอด ไม่รู้เหมือนกันว่าเพียงพอต่อนักท่องเที่ยวรึเปล่า เพราะหลังจากที่ขึ้นไปถ่ายรูปและวิดีโอรอบแรกแล้วก็ไม่สามารถขึ้นไปถ่ายได้อีกเลย เพราะคนแน่นมาก
อาหารที่เตรียมไว้ให้ บนเรือหลวงปัตตานี
การย้ายคนเสร็จ เวลา 0.00 น.พอดี เรือ ScubaNet ถอยออก และเรือหลวงเริ่มถอนสมอ เรือเริ่มออกจากเกาะตาชัย 0.10 น. ระหว่างทางที่วิ่ง มองคลื่นในทะเลไม่ชัดเท่าไหร่ แต่ประมาณคร่าวๆ ว่าคลื่นน่าจะสูงประมาณ 3 เมตร เรือเอียงซ้ายตลอดเวลาที่วิ่งกลับฝั่งเพราะลม ตต./ต. ที่ยังคงพัดแรง เรือหลวงปัตตานีซึ่งกะคร่าวๆ ว่ากว้างประมาณ 10 เมตร ยังมีอาการโยกซ้ายขวาบางจังหวะ ฝนตกลงมาเกือบตลอดทาง ยังคิดถึงคนที่นั่งอยู่บนดาดฟ้าเรือว่าคงจะลำบากกันน่าดู ส่วนคนข้างล่างที่นั่งอยู่ในห้องและตามทางเดินชั้นล่างก็หาที่นอนหลับ เพราะคงเหน็ดเหนื่อยระหว่างที่รอเรือมาช่วย

ความแตกต่างที่ได้เห็นระหว่างนั่งเรือกลับมาก็คือ นักท่องเที่ยวทั่วไปที่เราเรียกว่าฝรั่งและนักดำน้ำฝรั่งที่สูญเสียหมดทุกอย่างไปกับเรือเจ้าหญิงน้อย นั่งร้องเพลงปลอบใจอยู่ชั้นล่าง พูดคุยกัน ยิ้ม หัวเราะกันเกือบตลอดทาง แม้ว่าข้างในอาจจะเศร้าและตกใจอยู่บ้าง ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยนั่งเศร้าและร้องไห้อยู่ชั้นบนตลอดทาง

เรือไปถึงท่าเรือประมาณ 03.06 น. ใช้เวลาประมาณ 20 นาที พวกเราก็ได้ออกมายืนอยู่บนท่าเรือ และรอขนอุปกรณ์ดำน้ำไปยังกองอำนวยการ ที่นั่นมีเครื่องดื่มชากาแฟของทหารเตรียมไว้ให้ทุกคน รวมทั้งมีน้ำดื่มน้ำผลไม้เย็นๆ และข้าวต้มกุ้งร้อนๆ จากบริษัท Love Andaman มาเตรียมไว้ให้กับทุกๆคน ไม่ได้แจกเฉพาะนักท่องเที่ยวของบริษัทตัวเองเท่านั้น

ประมาณตี 4 พวกเราทุกคนก็ได้ขึ้นรถตู้ เดินทางมาพักผ่อนที่โรงแรมในภูเก็ตที่ทางเรือ ScubaNet จัดเตรียมไว้ให้เป็นอย่างดี

ดาดฟ้าเรือ ที่พักสำหรับผู้ประสบภัย

การขนย้ายคนขึ้นเรือหลวงปัตตานี



นำเสนอ 29 เม.ย. 2556
ปรับปรุงล่าสุด 29 ก.ค. 2560