น้ำแรง - ไม่แรง รู้ได้อย่างไร?

การดูว่าวันที่เราจะไปดำน้ำนั้น น้ำแรงช่วงไหน หรือน้ำตายช่วงไหน เราสามารถรู้ได้จากการดู "ตารางน้ำ" หรือ Tide Table

ตารางน้ำ คือ ข้อมูลระดับความสูงของน้ำในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับคนที่ชอบท่องเที่ยวทางทะเล

การดูตารางน้ำ

เมื่อเราทราบความสูงของระดับน้ำในแต่ละช่วงเวลาของวันแล้ว เราก็จะทราบต่อไปว่า วันนั้นกระแสน้ำจะเป็นอย่างไร น้ำจะแรงมากมั้ย หรือว่าเวลาไหนจะเป็นช่วงน้ำตาย (หมายถึงช่วงเวลาที่น้ำนิ่ง ไม่มีกระแส) ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักดำน้ำ

การอ่านตารางน้ำอ่านได้ไม่ยากครับ ลองมาดูตัวอย่างจากตารางน้ำด้านล่างกัน ตารางนี้เป็นตารางน้ำปี 48 บริเวณอ่าวสัตหีบ จ.ชลบุรี ข้อมูลนี้สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของทหารเรือ ที่ http://www.navy.mi.th/hydro/services.htm ครับ

จากตารางตัวอย่าง จะเห็นว่ามีทั้งหมด 3 คอลัมน์ที่สำคัญ คือ

  • คอลัมน์แรก คือ วันที่
  • คอลัมน์ที่ 2 คือ เวลา
  • คอลัมน์ที่ 3 คือ ความสูงระดับน้ำ

ลองมาดูตัวอย่างที่ผมได้ทำแถบสีเหลืองไว้ จากตัวอย่างเป็นระดับน้ำของวันที่ 16 มกราคม 2548 (คอลัมน์ที่1) เวลา 01:44 น. หมายถึงเวลาที่ระดับน้ำอยู่ในจุดต่ำสุดของวัน คือที่ระดับความสูง 1.33 ม. และเวลา 09:55 น. คือเวลาที่ระดับอยู่ในจุดสูงสุดของวัน ที่ระดับ 3.01 ม. เมื่อเราทราบข้อมูลนี้แล้ว สิ่งที่เราจะดูกันต่อไปก็คือ แล้วในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสน้ำแรงขนาดไหน ถ้าเราดูแบบง่ายๆ เราก็ใช้ค่าเฉลี่ยของระดับความสูงของน้ำและระยะเวลาที่น้ำขึ้นมาเป็นตัวคำนวณ จากตัวอย่าง น้ำขึ้นจาก 1.33 ม. เป็น 3.01 เมตร ในเวลา 8 ชั่วโมง 10 นาที (01:44 น. - 09:55 น.) ค่าเฉลี่ยที่ได้คือระดับน้ำจะสูงขึ้นมาประมาณชั่วโมงละ 21 ซม.

ความแตกต่างของกระแสน้ำในระดับ 10 - 20 ซม. ยังพอให้เราดำน้ำได้ครับ แต่ถ้าหากมากถึงขนาด 30 - 50 ซม. คงจะไม่ไหวล่ะครับ

อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำตามตารางน้ำที่ดาวน์โหลดมานี้ เป็นเพียงตารางน้ำอย่างหยาบเท่านั้น เพราะจะบอกเพียงเวลา และจุดสูงสุด/ต่ำสุด เท่านั้น แต่ตารางน้ำที่ละเอียด จะบอกระดับความสูงทุกๆ ชั่วโมง เพราะในแต่ละชั่วโมง ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำก็ไม่เท่ากัน ซึ่งการดูรายชั่วโมงจะทำให้ทราบว่าชั่วโมงไหนที่น้ำจะแรงที่สุด หรือชั่วโมงไหนที่น้ำจะนิ่งที่สุด

เทคนิค: ช่วงเวลาที่น้ำอยู่ในระดับสูงหรือต่ำสุด (ตามตารางข้างบน) บวกลบประมาณครึ่งชั่วโมง จะเป็นช่วงที่กระแสน้ำอ่อนที่สุด ยิ่งเลยเวลาที่สูงสุด/ต่ำสุดออกไปมากเท่าไหร่ กระแสน้ำก็จะยิ่งแรงมากขึ้น

 
เขียนโดย ศุภเศรษฐ์ อารีประเสริฐกุล
นำเสนอ 13 เม.ย. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 20 ส.ค. 2555