วิธีปฏิบัติตัว ในการดำน้ำเรือจม (Wreck)

เมื่อกล่าวถึงการดำน้ำที่เรือจม นักดำน้ำหลายท่านคงนึกถึงภาพที่มืดๆ ลึกลับ ท้าทาย ตื่นเต้น และรู้สึกผจญภัย แต่สิ่งที่นักดำน้ำทุกท่านต้องระวังไว้เสมอคือ ต้องระวังอันตรายที่แฝงอยู่ เนื่องจากการดำเรือจมนั้น หากเกิดอันตรายขึ้น ก็มักจะเป็นอันตรายที่ร้ายแรง ดังนั้น จึงควรมีการวางแผนการดำน้ำบริเวณเรือจมอย่างรอบครอบ

โดยปกติ เรือที่จมอยู่ใต้ทะเล จะถูกกัดเซาะโดยน้ำเค็ม กระแสน้ำ และฝุ่นทรายที่ลอยไปมา ซึ่งเปรียบเสมือนกับมีดที่ถูกลับให้คมอยู่เสมอ รวมทั้งตัวเรือที่เป็นสนิมและมีสัตว์ทะเลเช่นเพรียง หอยมาอาศัยเกาะอยู่ นักดำน้ำจึงควรระมัดระวังการบาดเจ็บจากสิ่งแหลมคมเหล่านี้ รวมไปถึงการระมัดระวังอุปกรณ์ดำน้ำ มิให้เสียหายจากสิ่งเหล่านี้ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายกับตัวเราที่ต้องอาศัยอุปกณ์เหล่านั้น เพื่อความปลอดภัยและนอกเหนือจากเพรียงหรือหอยที่เกาะอยู่ตามตัวเรือแล้ว ตามตัวเรือก็มักจะมีปลาหินซึ่งเป็นปลาที่มีอันตรายมากแฝงตัวอยู่ เนื่องจากเป็นปลาที่มีพิษ และสามารถพรางตัวกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีทำให้สังเกตได้ยาก จึงควรระมัดระวังการวางมือและเท้า ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ไม่เอามือไปจับต้องตัวเรือหรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ใต้น้ำ

นอกจากสิ่งมีคมเหล่านั้นแล้ว ยังมีสายเบ็ด เศษอวน หรือสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชือก หรือสายไฟระโยงระยาง ทั้งภายนอกและภายในเรือด้วย เนื่องจากเรือจมนั้น ส่วนมากมักจะจมลง ขณะที่กำลังใช้งานอยู่และหลังจากที่เรือจมลงแล้ว ตัวเรือมักจะกลายเป็นแนวปะการังเทียมและมีสัตว์น้ำต่างๆ มาอาศัยอยู่อย่างมากมาย ทำให้เกิดการจับสัตว์ทะเลด้วยสายเบ็ดหรืออวน ดังนั้น นักดำน้ำจึงควรรมัดระวังตัวอยู่เสมอควรมองรอบๆ ตัว และด้านบนอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้กับสิ่งที่เกี่ยวติดได้ อุปกรณ์สำคัญที่ควรจะมีติดตัวไว้ เวลาไปดำเรือจมก็คือ มีด หรืออุปกรณ์ในการตัดอื่นๆ หากจะพกมีดไปในการดำเรือจมควรมีสักสองเล่มจึงจะดี เล่มใหญ่ที่สามารถใช้งัดแงะสิ่งต่างๆ ได้ กับเล่มเล็กที่มีความคมมากๆ สำหรับเป็นมีดสำรองกรณีฉุกเฉิน และเพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ควรพกมีดให้ห่างกัน เช่นเล่มหนึ่งพกไว้ด้านในของน่องอีกเล่มหนึ่งพกไว้กับ BCD เพื่อให้แน่ใจได้ว่า เราจะสามารถเอื้อมมือไปหยิบมีดมาใช้งานได้อย่างน้อยหนึ่งเล่ม หากเกิดการเกี่ยวติดขึ้น

ในการดำน้ำที่เรือจม มักจะเป็นการดำน้ำในที่ที่มีกระแสน้ำไหล และการที่มีน้ำไหลผ่านเรือจมนั้น อาจจะทำให้เกิดการดันและการดูดของน้ำได้ นักดำน้ำควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อว่ายผ่านช่องเปิดบริเวณซากเรือ ควรมองดูสิ่งแขวนลอยในน้ำว่าถูกดูดเข้าไปในช่องหรือถูกดันออกจากช่องหรือไม่ ด้วยการยื่นมือไปข้างหน้าเพื่อสัมผัสถึงการไหลของกระแสน้ำตามช่องต่างๆ ของเรือจม หากพบว่ามีการดูดหรือการดัน ควรหลีกให้ห่างจากบริเวณดังกล่าวเสีย

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว การดำน้ำบริเวณเรือจมจึงควรที่จะระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรดำเข้าไปในตัวเรือ เนื่องจากโครงสร้างของเรือจะมีการผุพังไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาพังทลายลง มักเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยเฉพาะเมื่อมีกระแสน้ำหรือคลื่นลมที่รุนแรง บางครั้งตัวนักดำน้ำเองก็อาจจะทำให้เกิดการพังทลายของโครงสร้างเรือได้เช่นกัน เช่นฟองอากาศจากนักดำน้ำอาจจะไปทำให้เกิดการผุพังหรือเคลื่อนที่ของตัวซากได้โดยง่าย ดังนั้นจึงควรที่จะหลีกเลี่ยงโครงสร้างที่ไม่มั่นคงในการดำน้ำเรือจม หลีกเลี่ยงส่วนที่เป็นผนัง ข้างฝา ที่มีการเคลื่อนไหวจากกระแสน้ำ หรือมองดูแล้วไม่น่าไว้วางใจ เรือจมบางลำที่เป็นเรือรบหรือผ่านการสู้รบมา อาจจะมีวัตถุระเบิดอยู่ในบริเวณซาก บางครั้งอาจจะมีซากหล่นลงมาทับ หรือตัววัตถุระเบิดเองอยู่ในที่ที่สามารถหล่นร่วงลงไปได้ ถึงแม้ะจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานแต่วัตถุระเบิดจำนวนมากอาจจะยังสามารถระเบิด และทำอันตรายต่อนักดำน้ำได้ และเคยมีนักดำน้ำเสียชีวิตเพราะเกิดการระเบิดของวัตถุระเบิดใต้น้ำมาแล้ว

ทั้งนี้ การอ่านบทความนี้ ไม่ได้ทำให้เราสามารถดำน้ำในเรือจมได้อย่างปลอดภัย นักดำน้ำที่ต้องการดำในเรือจม ควรจะเรียน Advanced Open Water ในส่วนของ Wreck Diving หรือ Wreck Specialty เพราะการเรียนเต็มหลักสูตรนั้น ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทฤษฎีและฝึกภาคปฏิบัติ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้สอนและการฝึกภาคปฏิบัตินั้น มีทักษะหลายอย่างที่จำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนที่จะดำน้ำในเรือจมได้อย่างปลอดภัย การดำน้ำในเรือจมโดยไม่ผ่านหลักสูตรมาก่อน ถือว่าเป็นการดำน้ำเกินขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งมักจะนำเอาความผิดพลาดและอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นกับตัวเราได้โดยง่าย

ข้อมูลจาก ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
นำเสนอ 15 มิ.ย. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 01 ต.ค. 2550