กู้ภัยในการดำน้ำ

หากมีสิ่งผิดพลาดในการดำน้ำครั้งต่อไป

คุณจะเป็นวีรบุรุษ/วีรสตรี หรือผู้เฝ้าดูอยู่เฉยๆ

สถิติจากผู้อ่าน

คำถาม: ท่านเคยจำเป็นต้องกู้ภัยให้กับนักดำน้ำคนอื่นหรือไม่

คำตอบ: เคย 57 % ไม่เคย 43%

แหล่งข้อมูล: Diver-to-Diver Message Board at www.scubadiving.com (11/15-11/16/00).

พวกเราโชคดีที่ได้เล่นกีฬาซึ่งมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด แต่เราต้องยอมรับความจริงถึงความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในการดำน้ำ ซึ่งทำให้อุบัติเหตุหากเกิดขึ้นแล้วมักจะรุนแรง และเมื่อเหตุการณ์แย่ลง มันจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว การตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็ว เยือกเย็น และมีประสิทธิภาพ มักจะทำให้เกิดข้อแตกต่างระหว่างการรอดพ้นอย่างฉิวเฉียดกับการบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือแย่ยิ่งไปกว่านั้น

ก็จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาข้อหนึ่งว่า จะเตรียมตัวรับมือกับปัญหาในการดำน้ำอย่างไร และสำหรับบัดดี้คืออะไร มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูปเพราะสถานการณ์แต่ละอย่างจะแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือ การดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่สำคัญยิ่งกว่า คือการสามารถคิดอย่างชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการอย่างไรลงไป ต่อไปนี้คือขั้นตอนเบื้องต้นห้าขั้นตอนที่นักดำน้ำควรทราบ

Get Rescue-Certified

ทั้งทางนิตยสาร รวมทั้งสถาบันดำน้ำหลักๆ เกือบทุกแห่งแนะนำว่า การเรียนจบชั้น Rescue เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับนักดำน้ำที่ดำน้ำอย่างจริงจังทุกท่าน เพราะว่าการเรียนเท่านั้นที่จะทำให้นักดำน้ำมีความพร้อมที่จะสังเกต ป้องกัน และจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุได้

จะได้เรียนอะไรบ้าง

คอร์สจะรวมไปถึงเทคนิคการกู้ภัยต่างๆ บางส่วนจะได้กล่าวถึงในที่นี้ รวมถึงหัวข้อเกี่ยวกับการให้ออกซิเจนและการจัดการอุบัติเหตุ สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ มันจะให้การฝึกฝนการกู้ภัยในน้ำโดยใช้ “เหยื่อ” สมมติ คุณจะได้มีโอกาสเริ่มการฝึกในเหตุการณ์ฉุกเฉินจริง คุณมักจะจำได้ในสิ่งที่คุณเคยทำมากกว่าสิ่งที่คุณเคยอ่าน

อะไรที่ต้องมีก่อน

คำแนะนำนี้แตกต่างกันไประหว่างองค์กร แต่ส่วนมากคุณจะต้องเรียนวิธีการผายปอด ปั๊มหัวใจ และการปฐมพยาบาลก่อนหรือพร้อมๆ กับคอร์สเรียนวิชากู้ภัย ในบางองค์กร ให้นักเรียนจบขั้น Advanced ก่อน บางองค์กรก็ไม่จำเป็น

มีคุณค่าอย่างไร

นอกจากการเรียนเทคนิคการกู้ภัยโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว คุณจะมีความคุ้นเคยกับสัญญาณของความเครียดที่นักดำน้ำท่านอื่นๆ มี และคุณจะมีความเชื่อมั่นในความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นและการช่วยเหลือตนเองด้วย

ขั้นตอนที่ 1: Get Air

คุณต้องแน่ใจว่าเหยื่อมีอากาศที่จะหายใจ หากเหยื่อไม่มีอากาศหายใจ สมองจะถูกทำลายภายใน 6-10 นาที นอกจากนั้นยังต้องป้องกันการ panic ผู้อำนวยการฝึกขององค์กร SSI Mr. Dennis Pulley กล่าวไว้ว่า “ไม่สำคัญว่า คุณดำน้ำมานานแค่ไหน หากคุณไม่มีอากาศที่จะหายใจ การ panic จะเกิดขึ้น มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์” เมื่อเหยื่อมีอากาศหายใจแล้ว ทั้งสองคนจะต้องใช้เวลาสักนาทีหนึ่งในการหายใจและผ่อนคลายตัวเอง

การรักษาแหล่งอากาศหายใจของเหยื่อเป็นขั้นตอนสำคัญตลอดการกู้ภัย อย่ากังวลกับขั้นตอนต่อๆ ไปมากเกินไป เช่น สนใจกับการให้สัญญาณขอความช่วยเหลือหรือการลาก จนกระทั่งลืมป้องกันทางเดินหายใจจากการสาดน้ำและจมน้ำ

เทคนิคที่มีประสิทธิภาพ

  • ใต้น้ำ ให้หาแหล่งอากาศสำรองของคุณขณะที่เข้าหาเหยื่อ และเตรียมพร้อมที่จะให้กับเหยื่อ หากเรื่องอากาศไม่ใช่ปัญหา คุณสามารถไปสู่ขั้นตอนที่สองได้เลย คือการป้องกันการ panic
  • บนผิวน้ำ ให้หมุนตัวเหยื่อให้นอนหงาย โดยศีรษะแหงนไปด้านหลังเพื่อเปิดทางเดินหายใจ

ปัญหา

  • คุณพบกับนักดำน้ำนอนอยู่ที่พื้นทะเล เห็นได้ชัดว่าไม่หายใจ คุณจะทำอย่างไร หากเร็กกุเลเตอร์ยังอยู่ในปาก ให้จับไว้ด้วยมือ หากไม่อยู่ในปาก อย่าเสียเวลาพยายามเอาใส่ปาก สิ่งสำคัญอยู่ที่การนำเหยื่อขึ้นสู่ผิวน้ำโดยเร็ว
  • หากเห็นนักดำน้ำที่มีอากาศหายใจและกำลัง panic ข่าวดีก็คือ เขายังมีสติและยังสามารถหายใจได้ อันตรายก็คือ เขาอาจจะคว้าท่อหายใจของคุณ ให้เข้าหาเหยื่อโดยถือแหล่งอากาศสำรองที่ตั้งใจจะให้ เอาไว้ด้านหน้าของคุณ เพราะมันจะเป็นสิ่งแรกที่เขาจะคว้า หากเขาไม่สนใจสิ่งที่เสนอให้ และยังจะคว้าท่อหายใจในปากของคุณ ท่อหายใจสำรองก็ยังอยู่ในมือของคุณพร้อมที่จะให้ใช้ได้อยู่ดี

ขั้นตอนที่ 2 Get to the surface

ให้พาเหยื่อขึ้นสู่ผิวน้ำทันที แต่อย่าลืมเรื่องการขึ้นเร็วเกินไป คุณคงไม่ต้องการที่จะทำให้เกิดปัญหาปอดขยายตัวมากเกินไปทั้งสองคนเพิ่มขึ้นมาจากปัญหาการจมน้ำ

ความเร็วในการขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในสถานการณ์อากาศเหลือน้อย ให้ขึ้นด้วยความเร็วปกติ เพียงแต่ให้แน่ใจว่า มีอากาศพอที่จะหายใจสำหรับทั้งสองคน แต่หากเหยื่อหมดสติแล้ว คงต้องขึ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่คุณกล้าจะทำขณะที่ให้เปิดทางเดินหายใจเอาไว้

วิธีการที่มีประสิทธิภาพ

  • ให้เหยื่อมีการลอยตัวเป็นกลางหรือลอยนิดหน่อย ตัวคุณเองให้เป็นกลาง จากนั้นให้ใช้ BCD ของเหยื่อ ยกตัวคุณทั้งสอง ด้วยวิธีนี้ หากคุณต้องปล่อยเหยื่อ เหยื่อก็จะขึ้นสู่ผิวน้ำได้ ให้สงวนพลังงานของคุณ โดยใช้การลอยตัวในการขึ้น แทนที่จะใช้ฟิน
  • ให้จับเหยื่อที่ BCD หรือที่รักแร้ มองดูว่าเหยื่อหายใจต่อหรือเปล่า หากเหยื่อ panic ให้จับจากทางด้านหลังด้านถังอากาศ โดยที่คุณสามารถเติมหรือปล่อยลมของเขาได้ และหากจำเป็นให้จับเร็กกุเลเตอร์ไว้ในปากเขา
  • จับศีรษะของเหยื่อให้ตั้ง จะช่วยให้อากาศที่ขยายตัวออกมาโดยธรรมชาติได้หากเหยื่อหมดสติ
  • ปลดเข็มขัดตะกั่วหากจำเป็น เช่นในกรณีที่เหยื่อหนักมากเกินไปหรือ BCD ไม่ทำงาน นอกจากนั้น หากปลดตะกั่ว อาจทำให้เกิดผลร้าย เพราะจะควบคุมอัตราความเร็วในการขึ้นไม่ได้
  • อย่าปลดตะกั่วของตัวคุณเอง เพราะคุณจะได้จมลงใต้เหยื่อ หากเขาพยายามจะจับคุณจากอาการ panic และหากหลุดจากการควบคุม คุณก็ยังสามารถเป็นกลางได้

ปัญหาที่เกิด

  • คุณช่วยเหยื่อในการขึ้นขณะที่เขาหยุดเป่าฟองอากาศ ชี้ให้เห็นว่าเขาหยุดหายใจ คุณจะทำอย่างไร
    คุณจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างปัญหาปอดขยายมากเกินไปกับการขาดออกซิเจน เหยื่อหยุดหายใจเพราะ panic หรือหมดสติ สิ่งที่จะบ่งชี้ได้อย่างหนึ่ง คือการดูว่าเขาดิ้นรนอยู่หรือตัวอ่อนลงไป หากเขา panic ให้พยายามหยุดการขึ้น โดยการกางมือเท้าออกขณะที่จับเขา ทำอย่างนี้ไม่นานเขาจะต้องหายใจ แต่หากเขาหมดสติ สิ่งสำคัญคือต้องพาขึ้นโดยเร็ว ในกรณีนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ ปลดตะกั่วของเขาทิ้งเสีย เติมลมให้เขา และปล่อยให้ขึ้นไป โดยมีคุณตามไปในอัตราปกติ
  • บัดดี้ของคุณพุ่งขึ้นกะทันหัน คุณจะทำอย่างไร
    หากคุณสามารถคว้าเขาได้ที่ขาหรือ BCD คุณอาจจะกางแขนกางขาขณะจับ และทำให้เขาขึ้นช้าพอที่จะป้องกันปอดขยายมากไป หรือการเป็น DCS นอกจากนั้นแล้ว คุณคงต้องปล่อยเขาไป และตามขึ้นด้วยอัตราปกติ หน้าที่แรกของคุณ คือรักษาสุขภาพของตัวเองเอาไว้ก่อน เพื่อสามารถช่วยเขาได้ที่ผิวน้ำ

ขั้นตอนที่ 3 Get Buoyant

เมื่อคุณมาถึงผิวน้ำ ให้จัดการให้เกิดการลอยตัวสำหรับเหยื่อ ควรพร้อมที่จะช่วยเติมลมและปลดตะกั่วออก และที่แน่นอน เวลานี้ก็เป็นเวลาเหมาะสมที่จะปลดถุงใส่ของและ brass porthole ด้วยเสียเลย

วิธีการที่ถูกต้อง

ให้จับเหยื่อหมุนนอนหงาย โดยให้ศีรษะเงยไปด้วยหลัง ทำให้ใบหน้าของเหยื่อสูงที่สุด และน้ำจะสาดเข้าไปในทางเดินหายใจได้ยากกว่า และทำให้เหยื่อพักโดยไม่ต้องว่ายน้ำ

ปัญหาที่จะเกิด

  • นักดำน้ำที่ panic บนผิวน้ำทำการตะกุยน้ำด้วยแขน และพยายามปีนขึ้นจากน้ำ คุณควรทำอย่างไร
    เหยื่อนั้นอาจจะปีนขึ้นบนตัวคุณเพื่อให้ตัวพ้นจากน้ำ ให้รักษาระยะห่างและใช้เสียงทำการกล่อมให้เหยื่อสงบลง พยายามพูดช้าๆ อย่างเยือกเย็น “ไม่เป็นไร ผมจะช่วยคุณ เติมลม ปลดตะกั่วทิ้ง” พยายามบอกให้เหยื่อหายใจจากเร็กกุเลเตอร์ หากเหยื่อไม่ตอบสนองและกลืนน้ำเข้าไป คุณต้องปลดตะกั่วให้เขา ให้ดำน้ำลงไปและเข้าหาจากข้างใต้ เหยื่อจะไม่สนใจ
  • นักดำน้ำที่ผิวน้ำไม่หายใจ คุณจะทำอย่างไร
    การผายปอดแบบปากต่อปากนั้น ยากมากที่จะทำในน้ำ คุณจะทำมันหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าคุณเคยฝึกฝนมาหรือเปล่า และนานแค่ไหนกว่าคุณจะพาเหยื่อขึ้นจากน้ำได้ หากเรือหรือฝั่งอยู่ไกลกว่าที่จะถึงได้ภายในสองสามนาที อย่างน้อยควรพยายามเป่าปาก rescue breaths สองครั้ง หมุนศีรษะของเหยื่อเข้าหาคุณ แทนที่จะปีนขึ้นไปด้านบนของเหยื่อ ปล่อยลมออกจาก BCD สักเล็กน้อย อากาศที่มากเกินไป จะทำให้ยาก ต่อการที่จะเป่าปาก ได้อย่างถูกต้อง

ขั้นตอนที่ 4: Get Help

ก่อนที่จะเริ่มว่ายน้ำไปยังเรือหรือฝั่ง ให้ใช้เวลาสองสามวินาทีในการเรียกให้คนช่วย เรือหรือเรือยางอาจจะสามารถมารับได้ หรือนักว่ายน้ำคนอื่นอาจจะเข้ามาช่วยลากระหว่างทาง ขณะเดียวกันคนอื่นๆ ก็อาจจะจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลไว้ให้

วิธีการที่ถูกต้อง

เป่านกหวีดหรือแตร ตะโกน เติมลมเข้า sausage โบกฟินไปมา เมื่อได้รับความสนใจแล้ว ให้ไปสู่ขั้นตอนที่ห้าได้เลย

ขั้นตอนที่ 5: Get Out

พยายามนำเหยื่อขึ้นจากน้ำ คุณจะต้องทำเช่นนี้ ก่อนที่จะทำการปฐมพยาบาล CPR ไม่สามารถทำได้ในน้ำ นั่นหมายความว่า คุณจะต้องลากเหยื่อโดยการดึงหรือดัน

วิธีการที่ถูกต้อง

  • บอกเหยื่อว่าคุณจะทำอะไร (ผมจะช่วยคุณว่ายน้ำกลับไปที่เรือ) เริ่มนำเหยื่อกลับโดยใช้วิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ การทำเช่นนี้จะช้าและเหนื่อย เพราะฉะนั้นควรสงวนกำลังไว้ให้ดี หากคุณเหนื่อยมากเกินไปและจำเป็นต้องช่วยตัวเอง อาจจะทำให้เหยื่อเป็นอันตรายได้
  • ระวังแหล่งอากาศของเหยื่อ หากเขาหายใจด้วยเร็กกูเลเตอร์ ให้แน่ใจว่า มันอยู่ในปากของเขาและมีอากาศเพียงพอ หากเขาหายใจโดยไม่ใช้เร็กกูเลเตอร์หรือสนอร์เกิ้ล ให้แน่ใจว่าเขาไม่กลืนน้ำเข้าไป

ปัญหาที่อาจเกิด

  • หากชายหาดอยู่ใกล้กว่าเรือที่ใช้ไปดำน้ำ ชายหาดอาจจะดีกว่า โดยเฉพาะเวลาที่เหยื่อจำเป็นต้องได้รับการทำ CPR คุณอาจเริ่มทำ CPR ขณะที่นักดำน้ำคนอื่นนำอุปกรณ์ปฐมพยาบาลมาจากเรือ แต่หากว่ามีคลื่นรุนแรงหรือมีหิน มันอาจจะยากที่จะนำเหยื่อเข้าสู่ฝั่งได้อย่างปลอดภัย
  • คุณจะยกคนหมดสติขึ้นเรืออย่างไร เรื่องนี้อาจจะยาก ถึงแม้จะมีคนหลายคน มันอาจจะยากที่จะคว้าเมื่อแขนของเหยื่อไม่มีแรง นักดำน้ำมักจะได้รับการบอกให้ปลดอุปกรณ์ของเหยื่อเพื่อทำให้เขาเบาลง แต่วาล์วถังอากาศและ BCD จะทำให้จับได้ง่ายขึ้น หากว่ามีคนช่วยที่แข็งแรงสักสองคนบนเรือ ทางที่ดีควรให้เหยื่อใส่ BCD ไว้ในทุกกรณี ควรระวังทางเดินหายใจของเหยื่อขณะยกขึ้นจากน้ำ

สาเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดำน้ำเจ็ดอย่าง

  • หัวใจวาย จากข้อมูลของ DAN (Divers Alert Network) ปัญหาเรื่องระบบหัวใจ การไหลเวียนโลหิต เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของการจมน้ำในนักดำน้ำ ความเครียด และความเหนื่อย มักเป็นต้นเหตุ
  • เหนื่อย ตามธรรมดานักดำน้ำที่ว่ายต้านกระแสน้ำรุนแรงกว่าที่คิดไว้จะหมดแรง และไม่สามารถช่วยตัวเอง อย่างมีประสิทธิภาพ
  • อากาศน้อย หากนักดำน้ำต้องใช้อากาศมากกว่าที่เร็กกูเลเตอร์จะให้ได้ ปัญหาจะยิ่งแย่ลง จากอากาศในถังที่น้อย อยู่ที่ลึกมากๆ และเร็กกูเลเตอร์ที่ไม่ค่อยดี
  • การถูกมัดและถูกบีบ ถูกมัดในสาหร่าย เกิดขึ้นบ่อยแต่ไม่ค่อยอันตราย สายเอ็นตกปลานั้นยากที่จะมองเห็น และไม่สามารถใช้มือดึงให้ขาดได้ นักดำน้ำบางทีเข้าถ้ำ และหลงทางอยู่ข้างใน
  • ไม่สามารถควบคุมอัตราการลอยขึ้นได้ ปัญหาการควบคุมการจมลอย นำไปสู่การขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ จะทำให้นักดำน้ำปอดขยาย และจมน้ำ
  • การ panic บนผิวน้ำ นักดำน้ำจมน้ำเสียชีวิตที่ผิวน้ำ เพราะขณะที่ panic เขาลืมปลดตะกั่ว เติมลม หรือปล่อยของหนักที่ถือไว้
  • อุปกรณ์เสียหาย ยากที่จะเกิดขึ้น ส่วนมากปัญหาเกิดจากปัญหาเล็กๆ เช่นสายรัดขาด และหน้ากากที่มีน้ำเข้าไปเพิ่มความเครียด นำไปสู่การ panic และสูญเสียการควบคุม

ปัจจัยเรื่องการ Panic

อันตรายร้ายแรงที่สุดของการดำน้ำกู้ภัย คือการ panic กระแสความกลัว จะเปลี่ยนปัญหาเล็กน้อยไปสู่ปัญหาที่ใหญ่และไม่นาน แม้กระทั่งนักดำน้ำที่เก่งมากๆ อาจจะสูญเสียความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล และไม่ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือเขาได้

  • อะไรนำไปสู่การ panic มักเกิดจากความเครียดทางร่างกายและจิตใจ เหนื่อยล้า หนาว งานมากเกินไป ปัญหาจากอุปกรณ์ และการมองไม่ค่อยเห็น อาจจะรวมตัวกันจนนักดำน้ำรับไม่ไหว
  • จะหยุดมันอย่างไร การ panic เหมือนกับม้าที่กำลังวิ่งหนี มันยากที่จะหยุดหากเกิดขึ้นแล้ว ควรป้องกันก่อนดีกว่า ให้มองหาสัญญาณของความเครียด
  • ก่อนการดำน้ำ ตื่นเต้นกระวนกระวาย พูดมากไป เงียบเกินไป อารมณ์ขันที่ไม่เข้าเค้า หงุดหงิด ทำผิดพลาดโง่ๆ บ่อยๆ แกว่งไปมา เป็นสัญญาณของความเครียด
  • ในน้ำ สัญญาณทั่วไปคือการ “รักษาการเกาะติด” ไม่ยอมปล่อยจากสายสมอ ไม่ยอมดำลงไป ไม่ยอมแยกจากบัดดี้ บางคนดูเกจบ่อยมากไป จับปุ่มปล่อยลมเติมลม และอยู่ในท่าศีรษะเงยขึ้น แทนที่จะอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง อากาศปล่อยออกมาตลอดเวลา บ่งชี้ให้เห็นถึงการหายใจตื้น ซึ่งเป็นสัญญาณของความเครียดอีกอย่างหนึ่ง หากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้ ให้ตรวจสอบปริมาณอากาศของเขา หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ หากคุณไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ (เช่นโดยการแก้ไขปัญหาอุปกรณ์) ให้เลิกจากการดำน้ำครั้งนั้น
  • เมื่อเกิด panic ขึ้นแล้ว นักดำน้ำที่อยู่ใต้น้ำจะพยายามพุ่งขึ้นสู่ผิวน้ำ หากคุณไม่สามารถคว้าขาและหยุดให้เขาช้าลงได้ ให้ตามขึ้นในอัตราปกติและพร้อมที่จะช่วยเขาบนผิวน้ำ หากเหยื่อ panic บนผิวน้ำ ให้รักษาระยะเอาไว้จนเขาเหนื่อย หากเหยื่อมุ่งเข้าหาคุณ ให้ถอยหลังไปสู่เรือหรือฝั่ง ทำให้เขาเข้าหาความปลอดภัยมากขึ้น
เขียนโดย John Francis, http://www.scubadiving.com/training/
เรียบเรียงโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
ปรับปรุงล่าสุด 12 ต.ค. 2566