การทำหมาย สำหรับกลับมาหาสิ่งของที่ตกลงไปในน้ำ

หากเราทำของตกลงไปในน้ำ เช่น จากเรือ เราอาจจะต้องทำหมายจุดที่สิ่งของนั้นตกลงไปเสียก่อน เพราะเราคงต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวที่จะไปดำน้ำหาสิ่งของนั้นภายหลัง หรือเราอาจจำเป็นต้องกลับมาในครั้งต่อไป วิธีการทำหมายเพื่อจะจดจำว่า สิ่งของที่ตกลงไปอยู่จุดใดนั้น ก็คล้ายคลึงกับวิธีการทำหมายบนบก เพียงแต่กลับกันครับ คราวนี้เราอยู่ในน้ำ (หรือบนเรือ)

ก่อนอื่น หากอยู่บนเรือ ให้แน่ใจว่าเรือไม่เหวี่ยงไปมา หากเป็นไปได้ ให้ทิ้งทุ่นสมอลงไปที่จุดของตกเสียก่อนก็จะยิ่งดีครับ แต่หากไม่มีทุ่นสมอ ก็ต้องสังเกตให้ดี ว่าเรืออยู่กับที่หรือเหวี่ยงตัวไปมา และคอยดูให้ดีว่า จุดที่ของตกลงไปนั้นอยู่บริเวณไหนของเรือ

เมื่อจะทำหมาย ให้พยายามอยู่กับจุดที่ของตกลงให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นให้หาหมายหรือจุดสังเกตบนบก (landmark) ถาวรที่เรียงตัวกัน เวลาที่เรามองไป หมายทั้งสองนี้จะซ้อนหรืออยู่บน-ล่างของกันและกันครับ หมายบนบก (landmark) ควรจะมีอันหนึ่งใกล้กับน้ำมากที่สุด และอีกอันหนึ่งไกลออกไปมากที่สุด จะทำให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้นครับ

จากนั้น ให้หาหมายแบบเดิม อีกสักคู่หนึ่ง โดยให้ห่างจากหมายคู่แรกที่เราทำ ระหว่าง 60-120 องศา สำหรับกรณีที่เราไม่สามารถหาหมายได้เป็นคู่เรียงซ้อนกัน เราอาจใช้การล๊อคตำแหน่งโดยใช้เข็มทิศก็ได้ครับ หากเราเห็นหมายบนบก (landmark) อันแรกแต่ไม่มีหมายที่สองที่จะเรียงตัวกัน ให้เล็งเข็มทิศจากจุดที่ของตกไปยังจุดที่เป็นหมาย ก็สามารถใช้แทนได้ และหากจะให้ดีกว่านั้นอีก ก็ให้ใช้ทั้งสองวิธี คือ ทั้งการตั้งเข็มทิศและการใช้หมายเรียงซ้อนกันครับ

เวลาเราจะกลับมาหาของที่ตกอยู่ใต้น้ำ เราก็ลงไปในน้ำในบริเวณที่ของตก จากนั้นก็เล็งให้หมายบนบก (landmark) คู่แรกตรงกันเสียก่อน จากนั้นก็เคลื่อนตัวไป ตามเส้นสมมติของหมายคู่แรก จนกระทั่ง สามารถเล็งหมายคู่ที่สองตรงกัน เราก็จะอยู่ตรงบริเวณที่ของตกพอดีครับ

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
ปรับปรุงล่าสุด 22 ส.ค. 2550