ข่าวร้าย ของสยามโอเชี่ยน เวิลด์

พบปะพูดคุยเรื่องราวต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการดำน้ำและไม่ดำน้ำ
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
ปักเป้า
Advanced Member
โพสต์: 1275
meble kuchenne - tworzymyatmosfere.pl
ลงทะเบียนเมื่อ: อังคาร พ.ค. 24, 2005 10:44 pm

โพสต์ โดย ปักเป้า »

สลดโลกใต้น้ำ สะกดทั้งเมือง ปลาตายอนาถ
สลดโลกใต้น้ำในห้างใหญ่ใจกลางเมืองสะกดความตายไม่อยู่ปลาทะเลลอยฟ่อง ดร.ธรณ์บอกตายอย่างน่าอนาถเห็นตั้งแต่ก่อนเปิดห้างอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อว่าเร่งเปิดเกินไปไม่ได้ทดลองระบบทำให้ปลาทยอยตาย อาจารย์จาก ม.บูรพา เห็นแล้วรู้ว่าปลามีอาการบอบช้ำมาก

หลังจากเปิดโลกใต้น้ำ สยาม โอเชี่ยน เวิลด์ บนห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีผู้ที่เข้าชมแจ้งว่าพบการเสียชีวิตของปลาสวยงามในอุโมงค์น้ำจำนวนหลายตัว แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะคอยทำความสะอาดก็ตาม

หลังสอบถามไปยัง น.ส.ทิพย์สุดา สุวรรณมงคล มาร์เก็ตติ้งเอ็กเซ็กคลูทีฟ บ.สยาม โอเชี่ยน เวิลด์ จำกัด กล่าวชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะไม่มีการรายงาน และทางสยาม โอเชี่ยน เวิลด์ ได้ว่าจ้าง บ.เจ วอลเตอร์ ทอมสัน ดูแลงานประชาสัมพันธ์ ทุกอย่างเป็นขั้นตอนขอให้สอบถามไปยังบริษัทดูแลงานประชาสัมพันธ์ ขณะเดียวกันตัวแทน บ.เจ วอลเตอร์ ทอมสัน ออกมากล่าวว่าขอเวลาตรวจสอบข้อมูล ถ้าพร้อมจะติดต่อกลับ

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาทะเลของไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่สอบถามเรื่องการตายของปลาว่า รู้เรื่องปลาตายมาตั้งแต่มีโอกาสลงไปชมสยาม โอเชี่ยน เวิลด์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าจะเปิดให้บริการ พร้อมกล่าวว่าภาพที่เห็นเรียกว่าตายอย่างอนาถจะถูกกว่า เพราะมีจำนวนมากจนน่าเป็นห่วง ส่วนตัวคาดว่าสาเหตุมาจากระบบที่ยังไม่ลงตัว และทางผู้ประกอบการเร่งเปิดเร็วเกินไป ปกติอควาเรียมแม้จะมีการเปิดบริการหลายประเทศ แต่เป็นเรื่องยากมากต้องศึกษาละเอียดถึงขั้นการเคลื่อนไหวของน้ำ ผู้ประกอบการถึงจะมีประสบการณ์ทำธุรกิจอควาเรียมในออสเตรเลียและเกาหลีใต้ แต่ก็ไม่ควรรีบเปิดโดยไม่มีการทดลองระบบอย่างต่ำ 3 เดือน

ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลยังกล่าวอีกว่า โชคดีที่ปลาในสยาม โอเชี่ยน เวิลด์ ไม่มีสัตว์ประเภทอนุรักษ์ และประสานงานกับกรมประมงมาตลอด ในส่วนปลามังกรใบไม้ที่หายาก นำเข้าจากออสเตรเลีย ผู้ประกอบการได้ทำเรื่องขออนุญาตมาถูกต้อง แต่เมื่อปลาล้มตายย่อมเกิดความเสียหาย บางตัวมีราคาหลักแสนบาท โดยนิสัยคนไทยอ่อนไหวขี้สงสาร การที่เสียเงิน เกือบห้าร้อยไปดูปลาตายเป็นเบือ มันย่อมรู้สึกหดหู่ ทางออกที่ดีผู้ประกอบการควรรีบปรับปรุงเร่งด่วน ให้ระบบทุกอย่างมันพร้อม ซึ่งเคยกล่าวกับทางสยาม โอเชี่ยน เวิลด์ มาแล้ว

ดร.ธรณ์ยังให้ความเห็นในฐานะนักอนุรักษ์ว่า ช่องว่างธุรกิจอควาเรียมระหว่างความบันเทิงกับการศึกษาหาความรู้ในโลกใต้ทะเลมันคาบเกี่ยวกันเพียงนิดเดียว ด้วยนิสัยคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ และมีโอกาสน้อยที่จะได้ดำน้ำไปชม ธุรกิจอควาเรียมมีส่วนช่วยป้อนข้อมูลความรู้ แต่ในเมืองไทยก็ใช่ว่าจะมีอควาเรียมแห่งเดียว พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่บางแสนราคาแสนถูกพร้อมด้วยข้อมูล แต่เรามองเอียงไปทางการศึกษา ขณะที่บางแห่งมองเน้นความบันเทิงก็สามารถเปิดเป็นธุรกิจได้

ดร.สุพรรณี ลีโทชวลิต หน.ฝ่ายสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา ให้ความเห็นว่า เคยไปดูมาเหมือนกันตอนเปิดใหม่ ยังเคยพูดกับเพื่อนไว้ว่าอีกไม่เกิน 2 อาทิตย์จะต้องมีปลาตาย ทั้งนี้ เพราะดูปลาแต่ละตัวรู้สึกว่าบอบช้ำมาก และน้ำบางตู้ก็รู้สึกว่ายังขุ่นอยู่ บางทีการรีบเร่งไปก็อาจส่งผลเสียได้

"การนำสัตว์ทะเลมาเลี้ยงโชว์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีหลายองค์ประกอบมาก อย่างกรณีนี้ต้องดูระบบกรองน้ำ ต้องเปิดน้ำหมุนเวียนก่อน สร้างแบคทีเรียเพื่อความสมดุลของน้ำ ไม่ใช่มีน้ำ มีปลา คำนวณน้ำหนัก ออกซิเจน แล้วจะเลี้ยงได้เลย อีกอย่างที่สำคัญ เราได้สัตว์ทะเลมาด้วยวิธีไหน ถ้าซื้อมา ได้มาจากชาวประมง มีระยะเวลาการกักกันโรคไหม ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันโรคเข้าไปอยู่ในตู้ ที่เห็นง่ายๆ คือพวกพยาธิ นอกจากนี้ยังมีพวกปลาที่บอบช้ำจากการขนส่งอีก และเท่าที่ได้ข่าวมา ที่นี่สั่งปลาเยอะ ไม่รู้มีพื้นที่สำรองกักปลามากน้อยแค่ไหน เพราะจะปล่อยทีเดียวหมดเลยไม่ได้ ต้องค่อยๆ ปล่อย เพื่อกันการไล่กัดกัน ต้องมีการสร้างความคุ้นเคย จากข่าวที่พูดกันว่าปลาตายมาก ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมาจากเวลาที่จำกัด รีบเร่งเคลื่อนย้าย และการเตรียมระบบต่างๆ" ดร.สุพรรณีกล่าว

จาก www.sanook.com วันที่ 27 ธ.ค. 2548
http://talk.sanook.com/hot/hot_04429.php' target='_blank'>http://talk.sanook.com/hot/hot_04429.php>
"อิสระ" จะทำให้ "โอกาส" อยู่กับเราเสมอ
-- พี่ป๊อด พูดไว้ในโฆษณา 1-2-call :mrgreen:
ตอบกลับโพส