เทคนิคการเคลียร์หู

โดยปกตินักดำน้ำมักใช้วิธีดันลมเบาๆ ขณะที่เอามือปิดจมูกไว้ เพื่อให้ลมดันเข้าไปในช่องหู วิธีนี้เรียกว่า Valsalva Maneuver แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเป่าเบาๆ นะครับ เพราะการเป่าแรงๆ อาจทำให้เกิดอันตรายกับหูส่วนกลางและหูส่วนในได้ หากเป่าเบาๆ ไม่ได้ผล ควรจะขึ้นมาสักเมตรหนึ่งและลองดูอีกที "เบาๆ" นะครับ มีอีกวิธีหนึ่งที่ให้ผลดีเช่นกันคือ กดลิ้นเข้ากับเพดานปากแล้วทำท่าเหมือนการกลืน แต่ละอย่างนี้ ต้องไปทดลองดูเองครับว่าแบบไหนจะเหมาะกับตัวเรา อย่างไรก็ดี เวลามีประสบการณ์มากๆ แล้ว นักดำน้ำส่วนใหญ่ก็จะหลีกเลี่ยงการปรับความดันแบบ Valsalva ครับ

ข้อปฏิบัติของการปรับความดัน

  • ปรับความดันทันทีตั้งแต่เริ่มดำน้ำ และปรับความดันบ่อยๆ
  • อย่ารอจนกระทั่งรู้สึกไม่สบายในหูแล้วค่อยปรับ ให้ปรับความดันก่อนจะรู้สึกไม่สบายในหู
  • หากมีปัญหาในการปรับ ให้ลอยตัวขึ้นมาเล็กน้อยและลองใหม่ หากยังปรับไม่ได้ให้ยกเลิกการดำน้ำครั้งนั้น
  • รักษาตำแหน่งของร่างกายให้อยู่ในท่าเอาขาลง เพราะจะทำให้ท่อ Eustachian เปิดง่าย
  • อย่าพยายามทำการปรับแบบ Valsalva Maneuver อย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง เพราะจะทำอันตรายกับแก้วหู และไม่ควรเพิ่มแรงกดดันวิธีนี้นานเกินห้าวินาทีด้วย

ในทางทฤษฎีนั้น กลไกที่ช่วยควบคุมความดันในช่องหูก็คือ การเปิดปิดท่อ Eustachian ซึ่งโดยปกติมักจะปิดอยู่ โดยท่อแต่ละอันจะมีวาล์วซึ่งมีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อจากจมูกไปสู่หูชั้นกลาง การเปิดท่อดังกล่าวจะทำให้อากาศที่มีแรงดันสูงจากคอไหลเข้าสู่หูชั้นกลางได้โดยง่าย สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการเปิดปิดท่อ Eustachian คือ การกลืน กล้ามเนื้อเพดานปากจะดึงท่อ Eustachian ให้เปิดและปล่อยอากาศจากคอเข้าไปในหูทำให้เกิดการปรับแรงดัน เวลาเรากลืนน้ำลายเราจึงได้ยินเสียง"คลิก"ทุกครั้งนั้นเอง

หลากหลายวิธีการปรับความดันในหู

  1. Valsalva Maneuver คือวิธีการปิดจมูกแล้วดันลมเข้าไป ซึ่งเป็นวิธีที่นักดำน้ำมือใหม่ใช้กันมาก ข้อเสียของวิธีนี้คือ วิธีนี้ไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อที่มีหน้าที่เปิดท่อ Eustachian ทำงานเอง แต่ป็นการดันลมเข้าไปเปิดท่อ ดังนั้น การเป่าลมแรงเกินไปทำให้เกิดการบาดเจ็บในหูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจทำให้แก้วหูเกิดการฉีกขาดได้
  2. Toynbee Maneuver คือการปิดจมูกเอาไว้แล้วกลืนน้ำลาย การกลืนจะดึงให้ท่อ Eustachian และลิ้นจะอัดอากาศเข้าไปในช่องหู
  3. Lowry Technique คือการทำทั้งวิธี Valsalva และ Toynbee พร้อมกัน ขณะที่ปิดจมูก เป่าและกลืนในเวลาเดียวกัน
  4. Edmonds Technique ขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและคอ ให้ทำการดึงกรามลงมาด้านหน้าและด้านล่าง ขณะที่ทำ Valsalva Maneuver
  5. Voluntary Tubal Opening คือ การเกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและกล้ามเนื้อคอขณะที่ดันกรามไปด้านหน้าและด้านล่างคล้ายๆ กับการเริ่มต้นหาว กล้ามเนื้อดังกล่าวจะดึงท่อ Eustachian ให้เปิด วิธีนี้ต้องใช้การฝึกฝนมาก แต่เมื่อควบคุมได้แล้วจะสามารถเปิดท่อ Eustachian ไว้ได้เป็นเวลานานสำหรับการปรับแรงดันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อไหร่ที่ควรปรับความดันในหู

ปรับเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี และควรปรับบ่อยกว่าที่คุณคิดไว้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ปวดหู ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ยิ่งลงลึกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งปรับแรงดันน้อยลงเท่าน้น และความแตกต่างของแรงกดดันยิ่งน้อยลง

นักดำน้ำสามารถฝึกทักษะเหล่านี้ได้ตลอดเวลา และควรทำบ่อยๆ จะทำให้สามารถปรับแรงดันในหูได้ดียิ่งขึ้น

เทคนิคการปรับแรงดัน มีดังนี้

  1. ควรฟังเสียง "คลิก" ในหูเมื่อกลืนน้ำลาย หากเราได้ยิน หมายความว่าท่อ Eustachian ของเราเปิดอยู่
  2. ควรเริ่มการปรับแรงดันในหู (บนบก) ก่อนที่จะดำน้ำสักพักหนึ่ง จะทำให้การปรับแรงดันเวลาดำจริงง่ายขึ้น
  3. ควรดำน้ำด้วยท่าเอาขาลงก่อน จะทำให้การปรับแรงดันง่ายขึ้น เพราะจะยกท่อ Eustachian ไว้และของเหลวต่างๆ ในหูจะไหลลงด้านล่าง
  4. ควรมองขึ้นด้านบน จะช่วยดึงท่อ Eustachian ขึ้นได้
  5. ควรใช้เชือกในการดำลง เพื่อทำให้อัตราการดำลงไม่เร็วเกินไป และช่วยให้หยุดได้โดยง่ายหากมีปัญหา
  6. ควรปรับแรงดันก่อนที่จะรู้สึกถึงแรงกดดันในหู
  7. ควรหยุดหากรู้สึกเจ็บ ไม่ควรทนต่อความเจ็บเพราะท่อ Eustachian อาจจะถูกแรงกดดันภายนอกปิดไว้ หากรู้สึกเจ็บ ให้ขึ้นมาสักสองสามฟิต และพยายามปรับแรงดันใหม่อีกครั้ง
  8. หลีกเลี่ยงการดื่มนม แอลกอฮอล์ และยาสูบ เนื่องจากจะทำให้เพิ่มการผลิตเมือก รบกวนเนื้อเยื่อที่ผลิตเมือก และมีผลต่อการปรับแรงดัน
  9. อย่าปล่อยให้มีน้ำในหน้ากาก เนื่องจากน้ำในจมูกอาจรบกวนเยื่อเมือก และทำให้เกิดการผลิตเมือกมากขึ้น
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
เรียบเรียงโดย ศุภเศรษฐ์ อารีประเสริฐกุล
นำเสนอ 06 ม.ค. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 02 ส.ค. 2560