เจอเม่นทะเลไม่ต้องกลัว แค่ระวังตัวนิดนึง

ถ้าจัดอันดับสัตว์ทะเลอันตรายที่นักเรียนดำน้ำใหม่จะเป็นกังวลมากที่สุดตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ลงดำน้ำในทะเลจริงๆ เชื่อได้ว่า เม่นทะเล (Sea urchin) หรือ "หอยเม่น" ต้องอยู่ในอันดับต้นๆ แน่นอน จนกระทั่งว่าสิ่งที่ครูหรือผู้ช่วยสอนดำน้ำจะต้องทำเป็นอย่างแรกเมื่อพานักเรียนลงไปฝึกทักษะที่พื้นทรายใต้น้ำก็คือการเขี่ยหอยเม่นทั้งหลายให้ไปพ้นจากพื้นที่นั้นนั่นเอง

รู้จักกับเม่นทะเล

เม่นทะเล เป็นญาติใกล้กันกับปลิงทะเลและดาวทะเล แต่ไม่ใช่สัตว์ในกลุ่มหอยแม้เราจะเรียกเขาว่า "หอยเม่น" ก็ตาม เค้าอาศัยอยู่ในน้ำตื้นตามพื้นทราย ก้อนหิน หรือแนวปะการัง เม่นทะเลมีหลายชนิด ทั้งที่มีสีดำหนามยาวมากซึ่งเป็นพันธุ์ที่พบมากที่สุดในบ้านเรา และที่มีสีสัน หรือมีหนามสั้นมาก มีทั้งแบบลำตัวกลมและแบน มีปากอยู่ด้านล่าง กินสาหร่ายทะเลหรือซากสัตว์ที่ตายแล้ว

เม่นทะเลเป็นสัตว์ที่ไม่ดุร้าย เรียกได้ว่าโดยสภาพร่างกายของเค้าก็ไม่มีความสามารถจะไปรุกรานใครที่ไหนได้เลย เค้ามีเพียงหนามแหลมไว้ป้องกันตัวเท่านั้น และก็พอจะขยับหนามไปมาได้นิดหน่อย ส่วนใหญ่ก็ใช้เพียงเพื่อเคลื่อนที่เท่านั้น แม้บางครั้งอาจเบนหนามเข้าหากันในทิศทางที่มีสิ่งรบกวนเข้ามา ส่วนใหญ่คนที่โดนหนามเม่นตำตัวตำเท้าก็เพราะเคลื่อนตัวไปโดนเขาเอง เคยได้ยินบางคนบอกว่าเม่นทะเลสามารถกระโจนเข้าใส่เราหรือสลัดหนามมาใส่เราได้ ... ต้องขอแย้งไว้ที่นี้เลยว่าเม่นทะเลไม่มีความสามารถขนาดนั้นแน่นอน

อันตรายจากเม่นทะเล

เม่นทะเลมีหลายชนิด ส่วนใหญ่ไม่มีพิษ แต่มีบางชนิดจะมีเข็มพิษอยู่บริเวณหนามสั้นๆ ใกล้ผิวลำตัว ในกรณีที่ไม่มีเข็มพิษ อาการจากการโดนหนามเม่นทะเลตำผิวหนังอาจมีตั้งแต่เจ็บเล็กน้อยไปจนถึงเจ็บปวดมาก บวมแดง หรือปวดแสบปวดร้อน และอาการจะหายไปภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงโดยเฉพาะเมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม บ่อยครั้งที่ผู้ที่โดนหนามเม่นทะเลตำระหว่างดำน้ำพอขึ้นจากน้ำแล้วกลับมองหาแผลหรือจุดดำๆ ของหนามที่ฝังอยู่ไม่เจอและไม่มีอาการเจ็บชัดเจนแล้ว

แต่ถ้าโดนเม่นทะเลที่มีพิษ อาจมีอาการรุนแรงได้ เช่น ปวด ชา หมดความรู้สึก หายใจลำบาก หมดสติ และในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิต (ยังไม่เคยได้ยินกรณีแบบนี้ในประเทศไทย)

อาการเจ็บป่วยอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือการติดเชื้อจากบาดแผล เช่น มีหนอง ตัวร้อนเป็นไข้

การรักษาอาการบาดเจ็บจากเม่นทะเล

หนามของเม่นทะเลมักจะเปราะและมีผิวหยาบ ดึงออกจากผิวหนังที่ถูกตำได้ยาก ส่วนใหญ่จะมีเศษเหลือหักคาอยู่ภายใน เราอาจทำได้อย่างมากคือดึงเอาส่วนที่คาอยู่ภายนอกออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนที่เหลืออยู่อาจเห็นเป็นจุดดำๆ อยู่ใต้ผิวหนัง ถ้าเป็นหนามที่ไม่มีพิษส่วนใหญ่จะสลายไปภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน ทั้งนี้อาจใช้น้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาวชุบผ้าโปะทับบาดแผลเพื่อให้สลายตัวได้เร็วขึ้น (เนื่องจากหนามเม่นทะเลมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ) และประคบน้ำอุ่นเป็นระยะ (ครั้งละ 10-15 นาที 2-3 ครั้ง) ด้วยเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวด ถ้าปวดมากอาจใช้ยา Ibuprofen ช่วยด้วยก็ได้

สำหรับผู้ที่แพ้หนามเม่นทะเลหรือโดนพิษเม่นทะเลปริมาณมากจนเกิดอาการอย่างรุนแรง ให้ปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุดพร้อมสังเกตการขยายตัวของอาการอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนใครที่มีอาการแบบติดเชื้อที่บาดแผล อาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะเพิ่มเติมได้ และเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากบาดแผล จึงควรล้างบาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด สามารถถูเบาๆ เพื่อกำจัดสิ่งตกค้างที่บาดแผลได้ (ไม่เหมือนแผลจากพิษแมงกะพรุนซึ่งไม่ควรขัดถูที่แผลเด็ดขาด)

การป้องกันอันตรายจากเม่นทะเล

  1. สำหรับนักดำน้ำใหม่ หรือผู้ที่ต้องลงจอดบนพื้นทรายบ่อยๆ (เช่น ช่างภาพใต้น้ำ) ต้องดูพื้นที่ก่อนลงจอดให้ดี เขี่ยเอาหอยเม่น (ถ้าไม่มี pointer ไว้เขี่ย ก็ใช้นิ้วจับที่หนามยกไปวางไว้ไกลๆ ก็ได้ ระวังอย่าไปจิ้มเอาปลายหนามเขาตรงๆ นะ)
  2. นักดำน้ำควรฝึกการลอยตัวให้ดี สามารถประคองตัวในการลงสู่ความลึก หรือระหว่างดำน้ำใกล้พื้นหรือแนวปะการังได้ดี
  3. ฝึกการเคลื่อนไหวใต้น้ำให้ทำอย่างช้าๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยับตัว ปัดมือ เหวี่ยงแขน เตะขา ไปทางใดก็ตาม และควรมองไปรอบตัวก่อน แค่นี้ก็แทบจะไม่มีโอกาสโดนเม่นทะเลตำเอาได้เลย
  4. ระมัดระวังการสัมผัสกับสิ่งมีชีวิตหรือแม้แต่ (สิ่งที่คิดว่าเป็น) ก้อนหินหรือซากปะการังให้มาก เพราะเม่นทะเลโดยเฉพาะเม่นหนามสั้นๆ (ซึ่งเสี่ยงที่จะมีต่อมพิษ) อาจซ่อนตัวอยู่ในบริเวณนั้นได้ ... แม้เม่นทะเลส่วนใหญ่จะไม่มีพิษ แต่ป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด
  5. เว็ทสูท (wetsuit) รองเท้าเดินชายหาด หรือรองเท้าบู๊ตดำน้ำ ไม่สามารถป้องกันหนามเม่นทะเลแทงทะลุผิวหนังของคุณได้นะ (แม้พื้นยางของรองเท้าบู๊ตอาจช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง)

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Dive Medicine: Sea Urchin Puncture Wound; Barbara J. Drobina, DO
  2. เม่นทะเล (Sea Urchin) - คลีนิกพิษจากสัตว์ (Animal Toxic Clinic); จุลสารเสาวภา
ปรับปรุงล่าสุด 11 ต.ค. 2566