สาเหตุการเสียชีวิตของนักดำน้ำ

สวัสดีครับ บทความนี้อาจจะเป็นเรื่องไม่รื่นรมย์เท่าไรนักนะครับ ถึงแม้จะเป็นเรื่องไม่น่าฟัง แต่ก็เชื่อว่า น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ นักดำน้ำนะครับ

ก็เอาข้อมูลมาจาก Divers Alert Network (DAN) นั่นแหละครับ เขากล่าวไว้ว่า สาเหตุการตายของนักดำน้ำนั้น มีอยู่เจ็ดอันดับด้วยกัน อ่านแล้วก็มาคิดดูว่า เราน่าจะหาทางป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้นะครับ เพื่อนๆ มีความคิดเห็นอย่างไรก็มาคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันดีไหมครับ ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นไว้ก่อนแล้วกันนะครับ

อันดับแรก

อันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตของนักดำน้ำก็คือ หัวใจวาย ซึ่งส่วนมากอาการหัวใจวายของนักดำน้ำนั้น ถูกกระตุ้นให้มีอาการรุนแรงจนจมน้ำตายได้ จากความเครียดและความเหนื่อย ซึ่งนักดำน้ำสามารถป้องกันได้ ตามความคิดของผมนะครับ ผมคิดว่าเราควรรักษาสุขภาพและหมั่นตรวจตราเป็นประจำก็น่าจะดีนะครับ การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และการพักผ่อนที่เพียงพอ ก็น่าจะเป็นวิถีชีวิตที่เหมาะสมสำหรับนักดำน้ำที่อยากจะห่างจากการเป็นโรคหัวใจนะครับ หากเราออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละอย่างน้อยยี่สิบนาที สัปดาห์ละสามวัน ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการดำน้ำอย่างปลอดภัย นะครับ

อันดับสอง

ความเหนื่อย เป็นสิ่งที่ทำให้เสียชีวิตอันดับสองของนักดำน้ำครับ นั่นคือนักดำน้ำที่เสียชีวิตมักจะออกแรงมากเกินกำลังของตัวเอง จนกระทั่งหมดกำลังที่จะช่วยเหลือตัวเองและจมน้ำในที่สุด

การป้องกันปัญหานี้ ก็คงต้องให้นักดำน้ำตระหนักถึงผลของการเหนื่อยเกินไปใต้น้ำ อันที่จริงก็มีเรียนกันตั้งแต่ในคอร์ส Open Water แล้วนะครับ นั่นก็คือหากเหนื่อย ให้หยุดนิ่งๆ หายใจยาวๆ สักพัก หากหาอะไรเกาะได้อย่างปลอดภัย ก็ให้เกาะเอาไว้ก่อน แล้วจะหายเหนื่อยเป็นปกติภายในเวลาสั้นๆ แค่นั้นเอง เพียงแต่นักดำน้ำอาจจะลืม และขณะเดียวกัน การวางแผนการดำน้ำที่ดี ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยครับ

อันดับสาม

สาเหตุการตายอันดับสามก็คือ การที่มีอากาศเหลือน้อยหรืออากาศหมดนั่นเองครับ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ปัญหานี้ร้ายแรงมากขึ้นก็คือ การเหนื่อยและใช้อากาศมากขึ้น การดำน้ำลึกมากเกินไปและเร็วฯ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

การป้องกันในความคิดของผม ก็น่าจะให้นักดำน้ำทบทวนถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขสถานการณ์อากาศหมดหรืออากาศน้อยไว้เสมอว่า หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น สิ่งแรกที่น่าจะเลือกทำก็คือ ให้ขึ้นตามปกติ (หากทำได้) เสียก่อน หากขึ้นตามปกติไม่ได้ ก็ให้ใช้เร็กฯ สำรองของบัดดี้ หากไม่มีบัดดี้และน้ำไม่ลึกเกินไป ก็ให้ทำ Free Ascend หรือการ CESA อย่างที่เรียนมา หากฝึกฝนและทบทวนอยู่เสมอ ก็น่าจะป้องกันเหตุร้ายได้บ้างครับ

อันดับสี่

สาเหตุอันดับสี่คือ การเกี่ยวติด หรือการติดกับใต้น้ำ อันนี้ก็มักเกิดจากการติดสายเบ็ด และการหลงติดในถ้ำ และซากเรือครับ หากติดสายเบ็ด สิ่งที่น่าทำและคงได้เรียนกันมาแล้วก็คือ หยุด คิด และค่อยๆ หาทางแก้ไข สถานการณ์การถูกเกี่ยวติดจะแย่มากขึ้น หากเราทำตามสัญชาตญาณ คือการหมุนตัวไปมานะครับ

อีกอย่างหนึ่ง มีดดำน้ำ ก็เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ควรจะมี ส่วนใหญ่เราจะไม่ได้ใช้หรอกครับ แต่หากเกิดสถานการณ์จำเป็นขึ้นมาแล้วไม่มี อาจหมายถึงชีวิตทีเดียวครับ

ส่วนเรื่องการหลงซากหลงถ้ำนั้น ก็คงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง และไม่เข้าไปในที่เหล่านั้นโดยไม่มีทักษะและอุปกรณ์เพียงพอนั่นเองครับ หากผ่านคอร์สการเรียนและมีอุปกรณ์เพียงพอ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาจนถึงขั้นร้ายแรงครับ

อันดับห้า

อันดับที่ห้าก็คือ การขึ้นเร็วเกินไปจนควบคุมไม่ได้ ปัญหานี้จะนำไปสู่การเป็นโรคเบนด์ และปอดขยายตัวมากเกินไป การป้องกันปัญหานี้ก็คงจะอยู่ที่การฝึกนิสัยในการขึ้นให้ดี และการดูแลอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในภาพดีอยู่เสมอครับ

อันดับหก

การ panic บนผิวน้ำ แล้วก็ลืมปลดตะกั่ว ลืมเติมลมเข้า BCD ซึ่งน่าจะป้องกันได้ด้วยการฝึกและทบทวน การแก้ปัญหาบนผิวน้ำอย่างสม่ำเสมอครับ

อันดับเจ็ด

อันดับสุดท้าย สาเหตุการเสียชีวิตของนักดำน้ำก็คือ อุปกรณ์เสียหาย และการเสียหายใหญ่ๆ ก็เกิดขึ้นได้ยากมากนะครับ ส่วนมากปัญหาจะเกิดจากอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ เสียหายและนำไปสู่ความเครียด และควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ในที่สุดครับ การป้องกันปัญหานี้ก็น่าจะอยู่ที่การตรวจสอบอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอครับ

แนวทางป้องกันและแก้ไข

นักดำน้ำทุกท่านควรจะระลึกถึงกฎ กติกา มารยาทของการดำน้ำ และควรปฎิบัติตนตามกฎของการดำน้ำ อย่างเคร่งครัด ไม่ควรละเลยหรือเพิกเฉย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักดำน้ำที่จัดอยู่ในขั้นอาวุโส ด้วยประสบการณ์ และกลุ่มที่มีการเรียนรู้ในระดับสูง มักจะมีความประมาทมากกว่านักดำน้ำในระดับ Open Water ทั้งนี้ เนื่องมาจากความคุ้นเคยและเคยชินกับประโยคที่ว่า... "เออน่า...ไม่เป็นไรหรอก" เมื่อคิดว่าตัวเองน่าจะ...ทำได้ , น่าจะ..อย่างโน้น..น่าจะอย่างนี้

อีกข้อหนึ่งคือ ระบบเพื่อนดำน้ำ (Buddy System) ซึ่งพวกเราก็ได้เรียนกันไปตั้งแต่ตอนเรียน Open Water กันแล้วว่า การดำน้ำไม่ควรดำคนเดียว ควรจะมีเพื่อนไปดำด้วยทุกครั้ง แต่หลายๆ คนก็คงเคยเจอปัญหาว่า ลงไปแล้วบัดดี้หาย หาบัดดี้ไม่เจอ เลยหลงไปกับกลุ่มอื่น (ทำให้เราไม่มีบัดดี้ของตัวเอง) ถ้าคุณเคยเจอปัญหานี้ คราวหน้าลองจดจำลักษณะเด่นของชุดที่บัดดี้สวมใส่ก่อนลงน้ำ อาจจะสังเกต ฟิน หน้ากาก หรือสีของท่อ Snorkel หรืออะไรก็ได้ที่สามารถจำได้ง่าย จะได้ไม่เกิดการพลัดหลงกัน และในขณะที่ดำอยู่ก็ช่วยๆ มองกันและกันบ่อยๆ หน่อย เพราะจะช่วยให้เราเห็นว่าบัดดี้ยังอยู่กับเราหรือเปล่า หรือมัวแต่ก้มๆ เงยๆ คุ้ยเขี่ยอะไรเล่นอยู่ จะได้ไม่พัดหลงจากกลุ่มด้วย

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
นำเสนอ 26 มี.ค. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 20 ต.ค. 2566