โดยปกตินักดำน้ำมักใช้วิธีดันลมเบาๆ ขณะที่เอามือปิดจมูกไว้ เพื่อให้ลมดันเข้าไปในช่องหู วิธีนี้เรียกว่า Valsalva Maneuver แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเป่าเบาๆ นะครับ เพราะการเป่าแรงๆ อาจทำให้เกิดอันตรายกับหูส่วนกลางและหูส่วนในได้ หากเป่าเบาๆ ไม่ได้ผล ควรจะขึ้นมาสักเมตรหนึ่งและลองดูอีกที "เบาๆ" นะครับ มีอีกวิธีหนึ่งที่ให้ผลดีเช่นกันคือ กดลิ้นเข้ากับเพดานปากแล้วทำท่าเหมือนการกลืน แต่ละอย่างนี้ ต้องไปทดลองดูเองครับว่าแบบไหนจะเหมาะกับตัวเรา อย่างไรก็ดี เวลามีประสบการณ์มากๆ แล้ว นักดำน้ำส่วนใหญ่ก็จะหลีกเลี่ยงการปรับความดันแบบ Valsalva ครับ
ข้อปฏิบัติของการปรับความดัน
- ปรับความดันทันทีตั้งแต่เริ่มดำน้ำ และปรับความดันบ่อยๆ
- อย่ารอจนกระทั่งรู้สึกไม่สบายในหูแล้วค่อยปรับ ให้ปรับความดันก่อนจะรู้สึกไม่สบายในหู
- หากมีปัญหาในการปรับ ให้ลอยตัวขึ้นมาเล็กน้อยและลองใหม่ หากยังปรับไม่ได้ให้ยกเลิกการดำน้ำครั้งนั้น
- รักษาตำแหน่งของร่างกายให้อยู่ในท่าเอาขาลง เพราะจะทำให้ท่อ Eustachian เปิดง่าย
- อย่าพยายามทำการปรับแบบ Valsalva Maneuver อย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง เพราะจะทำอันตรายกับแก้วหู และไม่ควรเพิ่มแรงกดดันวิธีนี้นานเกินห้าวินาทีด้วย
ในทางทฤษฎีนั้น กลไกที่ช่วยควบคุมความดันในช่องหูก็คือ การเปิดปิดท่อ Eustachian ซึ่งโดยปกติมักจะปิดอยู่ โดยท่อแต่ละอันจะมีวาล์วซึ่งมีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อจากจมูกไปสู่หูชั้นกลาง การเปิดท่อดังกล่าวจะทำให้อากาศที่มีแรงดันสูงจากคอไหลเข้าสู่หูชั้นกลางได้โดยง่าย สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการเปิดปิดท่อ Eustachian คือ การกลืน กล้ามเนื้อเพดานปากจะดึงท่อ Eustachian ให้เปิดและปล่อยอากาศจากคอเข้าไปในหูทำให้เกิดการปรับแรงดัน เวลาเรากลืนน้ำลายเราจึงได้ยินเสียง"คลิก"ทุกครั้งนั้นเอง
หลากหลายวิธีการปรับความดันในหู
- Valsalva Maneuver คือวิธีการปิดจมูกแล้วดันลมเข้าไป ซึ่งเป็นวิธีที่นักดำน้ำมือใหม่ใช้กันมาก ข้อเสียของวิธีนี้คือ วิธีนี้ไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อที่มีหน้าที่เปิดท่อ Eustachian ทำงานเอง แต่ป็นการดันลมเข้าไปเปิดท่อ ดังนั้น การเป่าลมแรงเกินไปทำให้เกิดการบาดเจ็บในหูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจทำให้แก้วหูเกิดการฉีกขาดได้
- Toynbee Maneuver คือการปิดจมูกเอาไว้แล้วกลืนน้ำลาย การกลืนจะดึงให้ท่อ Eustachian และลิ้นจะอัดอากาศเข้าไปในช่องหู
- Lowry Technique คือการทำทั้งวิธี Valsalva และ Toynbee พร้อมกัน ขณะที่ปิดจมูก เป่าและกลืนในเวลาเดียวกัน
- Edmonds Technique ขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและคอ ให้ทำการดึงกรามลงมาด้านหน้าและด้านล่าง ขณะที่ทำ Valsalva Maneuver
- Voluntary Tubal Opening คือ การเกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและกล้ามเนื้อคอขณะที่ดันกรามไปด้านหน้าและด้านล่างคล้ายๆ กับการเริ่มต้นหาว กล้ามเนื้อดังกล่าวจะดึงท่อ Eustachian ให้เปิด วิธีนี้ต้องใช้การฝึกฝนมาก แต่เมื่อควบคุมได้แล้วจะสามารถเปิดท่อ Eustachian ไว้ได้เป็นเวลานานสำหรับการปรับแรงดันอย่างต่อเนื่อง
เมื่อไหร่ที่ควรปรับความดันในหู
ปรับเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี และควรปรับบ่อยกว่าที่คุณคิดไว้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ปวดหู ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ยิ่งลงลึกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งปรับแรงดันน้อยลงเท่าน้น และความแตกต่างของแรงกดดันยิ่งน้อยลง
นักดำน้ำสามารถฝึกทักษะเหล่านี้ได้ตลอดเวลา และควรทำบ่อยๆ จะทำให้สามารถปรับแรงดันในหูได้ดียิ่งขึ้น
เทคนิคการปรับแรงดัน มีดังนี้
- ควรฟังเสียง "คลิก" ในหูเมื่อกลืนน้ำลาย หากเราได้ยิน หมายความว่าท่อ Eustachian ของเราเปิดอยู่
- ควรเริ่มการปรับแรงดันในหู (บนบก) ก่อนที่จะดำน้ำสักพักหนึ่ง จะทำให้การปรับแรงดันเวลาดำจริงง่ายขึ้น
- ควรดำน้ำด้วยท่าเอาขาลงก่อน จะทำให้การปรับแรงดันง่ายขึ้น เพราะจะยกท่อ Eustachian ไว้และของเหลวต่างๆ ในหูจะไหลลงด้านล่าง
- ควรมองขึ้นด้านบน จะช่วยดึงท่อ Eustachian ขึ้นได้
- ควรใช้เชือกในการดำลง เพื่อทำให้อัตราการดำลงไม่เร็วเกินไป และช่วยให้หยุดได้โดยง่ายหากมีปัญหา
- ควรปรับแรงดันก่อนที่จะรู้สึกถึงแรงกดดันในหู
- ควรหยุดหากรู้สึกเจ็บ ไม่ควรทนต่อความเจ็บเพราะท่อ Eustachian อาจจะถูกแรงกดดันภายนอกปิดไว้ หากรู้สึกเจ็บ ให้ขึ้นมาสักสองสามฟิต และพยายามปรับแรงดันใหม่อีกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการดื่มนม แอลกอฮอล์ และยาสูบ เนื่องจากจะทำให้เพิ่มการผลิตเมือก รบกวนเนื้อเยื่อที่ผลิตเมือก และมีผลต่อการปรับแรงดัน
- อย่าปล่อยให้มีน้ำในหน้ากาก เนื่องจากน้ำในจมูกอาจรบกวนเยื่อเมือก และทำให้เกิดการผลิตเมือกมากขึ้น