สารพันปัญหากับการเลือกซื้อฟิน (Fin)

ตีนกบ หรือ ฟิน (fin) เป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ที่นักดำน้ำทุกคนให้ความสำคัญในการเลือกซื้อเป็นอย่างมาก เหตุเพราะความสามารถในการแหวกว่ายไปยังที่ต่างๆ ภายใต้ท้องน้ำสีคราม ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทุกวินาทีของการดำน้ำนั้น ล้วนต้องอาศัยเจ้าพลาสติกสังเคราะห์แผ่นแบนๆ นี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และโดยเฉพาะ อายุการใช้งานของฟินก็ยาวนานนับสิบปี ดังนั้น เมื่อจะเลือกซื้อเป็นของส่วนตัวกันซักครั้ง ก็คงต้องเลือกให้ถูกใจ คุ้มค่าที่สุดทีเดียว

รูปแบบของฟิน อาจแบ่งได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ ลักษณะใบพาย (มี 2 แบบคือ paddle กับ split) และ ลักษณะการสวมใส่ (มี 2 แบบคือ full-foot กับ open-heel) ซึ่งเป็นข้อพิจารณาหลักของการเลือกซื้อฟิน อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของฟิน ยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นอีกมากมาย อาทิ เช่น น้ำหนัก ความอ่อนแข็งของใบพาย รูปทรง ความรับกับเท้าของนักดำน้ำ และการออกแบบพิเศษอื่นๆ ด้วย ในเบื้องต้น เรามาลองพิจาณาประเด็นหลัก 2 เรื่องดังกล่าวกันก่อนดีกว่า

Paddle หรือ Split

ฟินแบบ Paddle

ฟินแบบ paddle ก็คือ ฟินที่มีใบพายแผ่นเดียว เป็นแบบดั้งเดิม ที่ใช้กันมานมนานกาเล แต่มีการพัฒนาส่วนประกอบย่อยๆ ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานดีขึ้น เช่น จากแผ่นแบนราบเรียบ ก็ปรับให้มีความโค้งงุ้ม เพื่อให้ทำมุมที่เหมาะสมกับกระแสน้ำ ทำให้ได้ความเร็วมากขึ้นจากการออกแรงตีฟินเท่ากัน หรืออย่าง ฟินของ Mares รุ่น Avanti ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความเร็ว และประสิทธิภาพการใช้งาน จากการเพิ่มร่องเข้าไปในใบพาย 2 - 4 ร่อง

ฟินแบบ Split

ส่วนฟินอีกแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักดำน้ำเป็นอย่างมาก ก็คือฟินที่มีการแบ่งพื้นที่ใบพายออกเป็น 2 ใบ ที่เรียกว่า split fin นั่นเอง ... เป็นที่รู้กันว่า ฟินแบบนี้ให้น้ำหนักในการตีขาที่เบาสบายมาก แต่การจะตีฟินให้ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ ยังมีเทคนิคที่แตกต่างกันระหว่าง paddle fin กับ split fin ด้วย ปัจจุบัน ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า split fin จะกินน้ำน้อย และให้ประสิทธิภาพด้อยกว่าแบบ paddle หรือไม่ อย่างไร

ผมขออ้างอิงการทดสอบโดย ScubaLab และ DiverNet (ดูต้นฉบับได้จากเว็บไซต์ด้านล่าง) ซึ่งมีการทดสอบฟินหลายรุ่นต่อเนื่องหลายปี ทำให้ได้ผลการทดสอบที่น่าเชื่อถือ สรุปใจความสำคัญได้ว่า

"Split fin คือจ้าวแห่งท้องทะเลตัวจริง ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเร็ว ประสิทธิภาพ การทรงตัว และความสามารถในการควบคุม ทั้งความเร็วและทิศทาง" นอกจากนี้ split fin ยังดูดีมีราศีกว่า paddle fin อีกด้วย (ในบางรุ่น และในสายตานักดำน้ำหลายคน) ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับรุ่นและแบบที่คุณเลือกด้วยนะครับ


Full-Foot หรือ Open-Heel (Adjustable)

ฟินแบบ full-foot คือฟินที่มีช่องสำหรับสอดเท้าเข้าไปได้พอดี โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ใดเพิ่ม ส่วนฟินแบบ open-heel(หรืออีกชื่อหนึ่งคือ adjustable) คือฟินที่มีช่องสอดเท้าเพียงครึ่งเดียว และมีสายรัดข้อเท้า สามารถปรับระยะเท้าได้อย่างสะดวก ถอดเข้าออกได้ง่าย แต่ก็ต้องสวมบูท (boot) ก่อนใส่ฟินด้วย

ฟินแบบ Full-Foot

ฟินแบบ Open-Heel และ บูท

Full-Foot หรือ Open-Heel (Adjustable)

จากผลการทดสอบโดย ScubaLab และ DiverNet เช่นเดียวกัน ระบุออกมาอย่างชัดเจนว่า สำหรับใบพายแบบเดียวกัน ฟินแบบ full-foot ให้ประสิทธิภาพเหนือกว่า open-heel อย่างชัดเจน และแม้ไม่อาจอธิบายสาเหตุได้อย่างชัดจน แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่า เป็นเพราะ

  1. ฟินแบบ open-heel หนักกว่า full-foot มาก เนื่องจากมีส่วนที่หุ้มเท้า buckle ที่ใช้ล็อคสายรัด และแถม boot อีกชิ้น ทำให้ต้องใช้แรงมากกว่า
  2. สายรัดและ buckle ฟินแบบ open-heel ทำให้เกิดการต้านน้ำมากกว่าแบบ full-foot ที่ค่อนข้างลู่น้ำ
  3. ฟินแบบ full-foot จะกระชับกับเท้ามากกว่า open-heel ทำให้การถ่ายเทแรงจากเท้าสู่ฟิน มีประสิทธิภาพกว่า ประหยัดแรงกว่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับการทดสอบล่าสุด ฟินแบบ open-heel เริ่มตีตื้นขึ้นมาจนอาจชนะฟินแบบ full-foot แล้ว ด้วยการออกแบบให้ใบพายมีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือใช้ใบพายแบบ split ก็ทำให้ open-heel มีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก คราวนี้คงต้องมาวิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยประเด็นอื่นๆ ของฟินทั้ง 2 แบบนี้กันอีกหน่อย

ข้อดีของ Full-Foot

  • ลู่น้ำ และไม่มี buckle และ สายรัด (strap) มาเกะกะ ทำให้ลดแรงต้าน (drag) ของน้ำ
  • กระชับกับเท้า มีประสิทธิภาพในการถ่ายเทแรงจากเท้าสู่ฟินสูง ทำให้ประหยัดแรง
  • น้ำหนักเบา ขนาดเล็ก แพ็คกระเป๋าไปดำน้ำได้ง่าย
  • ราคาถูก และไม่ต้องซื้อบูทเพิ่ม ประหยัดค่าใช้จ่ายอีกมาก

ข้อดีของ Open-Heel

  • ใส่เข้า ถอดออกง่าย เพียงดึงสายรัดให้แน่น หรือปลดล็อคตรง buckle
  • การใส่บูท ช่วยให้ความอบอุ่นแก่เท้าในขณะดำน้ำด้วย โดยเฉพาะหากต้องดำน้ำในทะเลที่ค่อนข้างเย็น
  • การใส่บูท ช่วยให้สามารถเดินไปมาบนพื้นเรือ และไต่จากน้ำขึ้นบันไดเรือได้อย่างสะดวก
  • การใส่บูท ช่วยให้สามารถเดินลงจากชายหาดที่มีก้อนหินหรือซากปะการังได้โดยไม่เจ็บเท้า กรณีดำน้ำแบบ shore dive

ส่วนผสมที่ลงตัว

จากรูปแบบฟินทั้ง 2 เรื่องข้างต้น คำแนะนำสำหรับการเลือกซื้อฟินแบบต่างๆ อาจสรุปได้ดังนี้

  • ถ้าชอบ split fin เลือก split fin
  • ถ้าชอบ open-heel แนะนำให้เลือกใช้ open-heel split fin จะได้ประสิทธิภาพ ความเร็ว และความสบายในการตีฟิน
  • ถ้าชอบ full-foot ให้ทดลองหลายๆ รุ่นที่คุณชอบ ทั้ง split และ paddle เพราะ ผลการทดสอบกลับปรากฏว่า ฟินแบบ full-foot paddle ทำคะแนนได้ดีกว่า full-foot split ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะน้ำหนักของฟินแบบ split ที่หนักกว่าแบบ paddle นั่นเอง รวมทั้ง paddle fin รุ่นใหม่ๆ ก็มีการออกแบบให้มีประสิทธิภาพสูงทัดเทียม split fin เช่นกัน
  • ถ้าชอบ full-foot แต่ต้องการข้อดีจากการใช้บูทด้วย อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือ ใช้ sock ที่ทำจากนีโอพรีน 2 - 3 มม. ร่วมกับฟิน full-foot ที่ขนาดใหญ่พอจะใส่ร่วมกับ sock ได้ด้วย ก็จะได้สมดังที่คุณต้องการ

Fin Buckle

และหากคุณเลือกใช้ฟินแบบ open-heel อย่าลืม พิจารณา buckle ของฟินรุ่นนั้นๆ ให้ดี ว่า สามารถล็อคและปลดล็อคได้สะดวก ทนทานต่อการใช้งาน ไม่แตกหักง่าย เพราะอะไหล่อุปกรณ์ดำน้ำส่วนใหญ่ มีราคาค่อนข้างสูงทีเดียว

นอกจากฟิน 2 กลุ่มใหญ่ๆ นี้แล้ว ยังมีฟินบางรุ่น บางยี่ห้อ ที่ออกแบบมาไม่เหมือนใคร ไม่อาจจัดกลุ่มได้ และไม่ครอบคลุมอยู่ในคำแนะนำนี้ รวมทั้งสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณต้องการจากฟิน อาจไม่ได้อยู่ที่ความเร็ว ประสิทธิภาพ การบังคับทิศทาง เป็นหลัก แต่อาจเป็นเรื่องของสีสัน รูปแบบ สไตล์ ความกระชับรับกับเท้า ก็ได้ ดังนั้น ผมขอแนะนำให้คุณได้มีโอกาสทดลองใช้ฟินรุ่นที่คุณชอบดูซักครั้งก่อนตัดสินใจ ประกอบกับคำแนะนำทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่า น่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกฟินที่ถูกใจได้ง่ายขึ้นมากทีเดียว

หากคุณมีความเห็นอื่นใด หรือมีข้อสงสัยคาใจ ต้องการแลกเปลี่ยน เสนอความเห็นกัน ลองตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดไว้ได้เลยครับ แล้วรอรับความเห็นจากนักดำน้ำอื่นๆ มากมาย

เขียนโดย ศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล
แหล่งข้อมูล DiverNet.com และ ScubaDiving.com
นำเสนอ 04 ธ.ค. 2548