เทคนิคการใช้ถุงยก (Lift Bag)

การใช้ถุงยก (Lift Bag) อย่างปลอดภัย

ในระยะหลังนี้ มีกิจกรรมการดำน้ำ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำงาน เช่น งานอนุรักษ์ธรรมชาติ เก็บขยะใต้ทะเล ตัดอวน ฯลฯ โดยเพื่อนนักดำน้ำกันมากขึ้น งานบางงานก็สามารถกระทำได้โดยง่าย ไม่มีการเสี่ยงแต่อย่างใด แต่ก็ยังมีงานบางงานที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้หากไม่ได้รับการฝึกฝนการใช้งานอย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่นเรื่องของการใช้ถุงยก ที่จะกล่าวในบทความนี้แหละครับ

ถุงยกนี้อาจจะมีการยกขึ้นด้วยความรวดเร็ว ชนิดที่เรียกว่าไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว นักดำน้ำอาจจะติดไปกับถุงยกหรือเผลอเกาะไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจากการที่ปอดขยายตัวมากเกินไปหรือเกิดโรคจากแรงกดดัน และการใช้ถุงยกบางครั้ง หากขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ อาจจะทำให้สิ่งของที่ยก เสียหลักตกกลับลงมา ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงเช่นกัน

บทความนี้จะกล่าวถึง การใช้ถุงยกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็อย่าลืมว่า มันยังมีเรื่องราวอีกหลายอย่าง เช่นการผูกเงื่อน ตำแหน่งการวางจุดผูก ขนาดของถุงยก วิธีการค้นหา ชนิดของถุงยก ฯลฯ ที่ผู้สนใจอาจจะเรียนได้ในหลักสูตร Search and Recovery ทั้งในระดับ Adventure Diver หรือในระดับ Specialty ครับ บทความนี้ไม่สามารถทดแทนหลักสูตรการเรียนภายใต้การดูแลของผู้สอนมืออาชีพ แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เบื้องต้นในการใช้ถุงยกเท่านั้นเอง นะครับ

เทคนิคการใช้ถุงยก

  1. หากเป็นไปได้ ให้เลือกถุงยกที่มีขนาดเหมาะสมกับน้ำหนักของวัตถุที่จะยกให้มากที่สุด ถุงยกควรจะเกือบเต็มเมื่อเราเริ่มขยับวัตถุพอดี เมื่ออากาศขยายตัวขณะขึ้นก็จะไหลออกทางด้านล่างของถุงยก ทำให้ถุงยกไม่มีแรงในการลอยขึ้นมากเกินน้ำหนักของวัตถุ และหลีกเลี่ยงอันตรายที่กล่าวมาแล้วได้ แต่หากเราใช้ถุงยกที่ใหญ่เกินน้ำหนักของวัตถุที่จะยก เราจำเป็นต้องมีวาล์วปล่อยลมเมื่ออากาศมีมากเกินไปจนทำให้ถุงยกและวัตถุลอยขึ้นรวดเร็วเกินการควบคุม การฝึกปล่อยลมขณะขึ้นกับถุงยกก็เป็นเรื่องไม่ยาก แต่น่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของมืออาชีพนะครับ
  2. เมื่อผูกทุ่นทำเครื่องหมายกับสิ่งของและผูกถุงยกเข้ากับวัตถุที่จะยกแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตรวจสอบเงื่อนที่เราผูกไว้ว่ามีประสิทธิภาพดีพอหรือไม่ ด้วยการเติมลมเข้าถุงยก เพียงนิดหน่อยเท่านั้น เพื่อให้ถุงยกลอยขึ้นและมีแรงตึงในเชือกพอประมาณ จากนั้นก็ทำการตรวจสอบ ว่าการผูกของเรา ทำให้ถุงยกและวัตถุ อยู่ในตำแหน่งที่เราต้องการหรือไม่ก่อน จากนั้นลองดึงขึ้นแรงๆ ด้วยมือของเรา เพื่อตรวจสอบว่า มันแข็งแรงและมั่นคง ไม่ลื่นหลุดหรือเสียสมดุลขณะยกขึ้น
  3. เติมลมเข้าถุงยกทีละนิด (ควรใช้ octopus จะดีกว่าใช้ second stage ที่เราใช้หายใจอยู่) หลังจากเติม ลองยกวัตถุที่จะยกดู ว่าสามารถยกขึ้นโดยง่ายหรือไม่ หากไม่ได้ ก็ค่อยๆ เติมลมเข้าทีละนิด และทดลองยก จนกระทั่งสามารถยกได้โดยง่าย เมื่อปล่อยมือ วัตถุ และถุงยกก็ลอยอยู่นิ่งๆ จุดมุ่งหมายก็คือ ให้ถุงยกและวัตถุมีสภาพเป็นกลาง ไม่จม และไม่ลอยนั่นเองครับ
  4. อย่าเอาตัวเองไปขวางทางการลอยขึ้นของวัตถุ และระมัดระวังเป็นพิเศษ ในกรณียกวัตถุที่จมโคลนหรือมีแรงดูดจากพื้นที่วัตถุวางอยู่
  5. เมื่อวัตถุลอยอยู่นิ่งแล้ว ให้ตรวจสอบสภาพของการผูกเงื่อน ความสมดุล และความมั่นคงของการผูกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเรียบร้อยดีแล้ว นักดำน้ำอาจจะลากวัตถุและถุงยกในแนวนอน ใต้น้ำไปยังจุดที่จะพาขึ้น ดีกว่าที่จะพาขึ้นแล้วลากวัตถุและถุงยกที่ผิวน้ำ
  6. เมื่อพร้อมที่จะพาวัตถุและถุงยกขึ้น อย่าเติมลมเข้าถุงยกอีก แต่ให้ว่ายขึ้นไปเฉยๆ อากาศที่ขยายตัวจะเพิ่มการลอยตัว และถุงยกกับวัตถุก็จะลอยขึ้น เราอาจจะปล่อยให้มันลอยขึ้นไปด้วยตัวมันเอง หรืออาจจะขึ้นไปพร้อมกันก็ได้ การปล่อยให้มันลอยขึ้นเองเป็นทางเลือกที่ดี หากถุงยกมีขนาดเหมาะสมกับวัตถุ แต่หากถุงยกใหญ่เกินไป มันจะลอยขึ้นโดยเร็ว และอาจจะทำให้เกิดการเสียการสมดุล เมื่อตัวถุงยกพุ่งขึ้นเหนือผิวน้ำได้
    *** ระวังอย่าไปอยู่ใต้วัตถุที่กำลังลอยขึ้น อันตรายร้ายแรงอาจเกิดขึ้นได้
  7. นักดำน้ำอาจเลือกที่จะขึ้นพร้อมกับถุงยก และปล่อยอากาศออกจากถุงเป็นระยะ เพื่อให้ถุงยกมีสภาพเป็นกลางอยู่เสมอ ในกรณีนี้ต้องระมัดระวังอัตราความเร็วในการขึ้น และต้องปล่อยลมออกจากทั้งถุงยกและ BCD ของนักดำน้ำเอง หากเกิดการผิดพลาดและถุงยกลอยขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ อย่าตามขึ้นไป แต่ให้ว่ายน้ำในแนวนอนให้ห่างจากจุดที่อยู่ใต้วัตถุและถุงยก เพื่อป้องกันการหล่นทับ
  8. เมื่อถึงผิวน้ำ นักดำน้ำอาจจะต้องเติมลมเข้าถุงยก เพื่อให้เกิดสภาพการลอยตัวให้มากหน่อย ระวังเวลายกของขึ้นเรือ เพราะถุงยกโดยทั่วไป จะสามารถยกของหนักเกินกำลังของคนได้ ควรมีผู้ช่วยในการยก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการออกแรงมากเกินไป
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
นำเสนอ 17 พ.ย. 2546
ปรับปรุงล่าสุด 11 ส.ค. 2550