สิ่งที่คุณต้องรู้ ก่อนซื้อ Regulator แบบ Overbalanced

สรุป

  • นิยามคำว่า Overbalanced ของแต่ละแบรนด์ยังมีความแตกต่างกันอยู่ แต่โดยสรุปคือ First stage แบบ Overbalanced จะจ่ายอากาศออกมามากขึ้นเมื่อลงสู่ความลึกมากขึ้น
  • Second stage ที่ใช้คู่กับ First stage แบบ Overbalanced จะมีโอกาสเกิด free flow มากกว่า First stage แบบ Balanced ดังนั้นจึงมีการเพิ่มปุ่มหมุน +/- เพื่อให้นักดำน้ำสามารถปรับการจ่ายอากาศที่ Second stage เองได้ ในกรณีที่เกิดการ free flow ขณะลงลึกมากขึ้น
  • Overbalanced Regulator เหมาะกับนักดำน้ำ tech dive ที่ต้องลงไปยังที่ลึกมาก ส่วนนักดำน้ำทั่วไป เพียงแค่ Balanced Regulator ก็จ่ายอากาศได้ดีและเกินความต้องการอยู่แล้ว

หลายคนอาจจะกำลังมองหา Scubapro MK25, Aqualung Legend หรือ Apex Tungsten, XTX200 และ XTX100

Regulator เหล่านี้ล้วนทำงานแบบ Overbalanced ทั้งสิ้น งั้นเราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Overbalanced Regulator กันซักนิด ก่อนเลือกซื้อมาใช้งาน

ก่อนจะเข้าเรื่อง ผมขอทบทวนความหมายของเร็กกูเลเตอร์แบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ Unbalanced, Balanced กันก่อนสักนิด และต้องบอกไว้ก่อนว่า เรากำลังพูดถึงคุณสมบัติของส่วน first stage นะครับ

  • Unbalanced Regulator เป็นเร็กกูเลเตอร์ที่จ่ายอากาศได้ช้าลงเมื่ออากาศในถังเหลือน้อย หรือลงสู่ความลึกมากขึ้น ทำให้นักดำน้ำอาจรู้สึกว่าอากาศหนืดขึ้น สูดหายใจได้ยากขึ้น (คนที่ปอดและกระบังลมแข็งแรงอาจไม่รู้สึกอะไร) มีส่วนประกอบไม่ซับซ้อน ทำให้ต้นทุนและราคาขายต่ำกว่าแบบอื่น
  • Balanced Regulator เป็นเร็กกูเลเตอร์ที่จ่ายอากาศได้ด้วยความดันเดียวกัน ตลอดทุกความลึก และทุกปริมาตรอากาศที่เหลืออยู่ในถัง ทำให้นักดำน้ำหายใจได้ด้วยแรงพอๆ กันตลอดเวลา
  • ส่วนนิยามของคำว่า Overbalanced นั้น ที่จริงแล้วแต่ละแบรนด์ยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่โดยสรุปคือเร็กกูเลเตอร์จะจ่ายอากาศออกมามากขึ้นเมื่อลงสู่ความลึกมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับ Intermediate Pressure (IP) หรือความดันอากาศระหว่างถังอากาศกับสายเร็กกูเลเตอร์ (บางแห่งเรียกว่า Inter-stage Pressure หรือ Medium Pressure) ซึ่ง first stage เป็นตัวเปิดปิดและปล่อยออกมาสู่สายเร็กกูเลเตอร์ ว่าจะเปลี่ยนแปรไปตามความดันภายในถังและความดันภายนอก มากน้อยแค่ไหน

ข้อดีของ Overbalanced Regulator

ข้อดีของเร็กกูเลเตอร์แบบ Overbalanced คือ จะช่วยให้ IP ในสายเร็กฯ เพิ่มขึ้นได้เร็วกว่า Balanced Regulator ปกติ ซึ่งปริมาณอากาศที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชดเชยกับผลของความหนาแน่นของอากาศที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก ambient pressure (ปกติอากาศที่หนาแน่นจะทำให้ไหลช้ากว่าหรือหนืดกว่าอากาศที่เบาบาง จึงเอาปริมาณอากาศมาช่วยผลักดันให้ไหลเร็วขึ้น) และทำให้ปริมาณอากาศไหลเข้าสู่ตัวนักดำน้ำมากขึ้นเมื่อลงไปในที่ลึก ทำให้นักดำน้ำรู้สึกหายใจได้ดีขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ความลึกใดก็ตาม

ข้อเสียของ Overbalanced Regulator

จากการเพิ่ม IP ในสายเร็กฯ จึงทำให้ second stage มีโอกาสที่จะเกิด free flow ได้มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงมีการเพิ่มปุ่มหมุนปรับการไหลอากาศ (flow adjustment knob) ที่จะไปปรับแรงกดของสปริงใน second stage เพื่อควบคุมแรงดันในสาย regulator ซึ่งการปรับแรงกดสปริงนี้ จะมีผลต่อความหนักเบาในการจ่ายอากาศของ second stage และสิ่งที่ตามมาก็คือ ทำให้นักดำน้ำต้องใช้แรงในการสูดหายใจมากขึ้น ถ้านักดำน้ำอยากหายใจเบาๆ ก็ต้องปรับปุ่มหมุนนี้ไปทางเบาลง แต่ก็ต้องแลกกับโอกาสที่จะเกิดการ free flow ได้ เร็กกูเลเตอร์ประเภทนี้จึงเหมาะกับนักดำน้ำแบบ technical diving ที่มีความเข้าใจ และสามารถปรับตั้งแรงกดของสปริงได้อย่างถูกต้อง โดยไม่เกิดปัญหา free flow

นักดำน้ำทั่วไป จำเป็นต้องใช้ Overbalanced Regulator มั้ย

ถ้าคุณไม่ได้ดำน้ำที่ความลึกมากๆ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ Overbalanced Regulator เลย เพียงแค่ Balanced Regulator ปกติก็จ่ายอากาศได้อย่างยอดเยี่ยม และเกินความต้องการอยู่แล้ว แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า คุณไม่ควรใช้ Overbalanced Regulator นะครับ

แนะนำเร็กกูเลเตอร์

เร็กกูเลเตอร์รุ่นที่เป็น Overbalanced ได้แก่

  • Apeks: Tungsten, XTX200, XTX100, XTX50, XTX40 and XTX50/DS4
  • Aqua Lung: Legend, Legend LX, Legend LUX, Legend Glacier
  • ScubaPro: MK25 และ MK20 รุ่นหลังๆ ซึ่งแม้ทาง ScubaPro จะไม่ขนานนามเร็กกูเลเตอร์ของตัวเองว่า Overbalanced (เพราะปรับแต่งเพียงเพื่อให้ balanced ได้เต็มร้อยจริงๆ เท่านั้น) แต่วิธีการที่ใช้ ก็ถือได้ว่าเป็นการทำ over-balance เช่นกัน