3 รูปแบบการ Service Regulator ที่คุณเลือกได้

สรุป

Regulator สามารถนำมารับการ service ได้ 3 รูปแบบ คือ
  1. ถอดล้างทำความสะอาด (overhaul) และเปลี่ยนอะไหล่ตาม Service Kit ค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบอื่น แต่มั่นใจในการใช้งานได้
  2. ถอดล้างทำความสะอาด (overhaul) และเปลี่ยนอะไหล่เฉพาะชิ้นที่เสื่อมสภาพ แม้อาจจะยังไม่มีปัญหาชัดเจน แต่หากพบว่าเสื่อมสภาพมากแล้วหรือหมดอายุการใช้งานแล้ว ก็จะเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นนั้น ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ความมั่นใจในการใช้งานขึ้นอยู่กับการเลือกศูนย์บริการ
  3. ตรวจเช็คและซ่อมเฉพาะอุปกรณ์ชิ้นที่มีปัญหา ข้อดีคือ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก แต่อะไหล่ชิ้นอื่นที่ยังไม่พบปัญหา ไม่ได้รับการถอดล้างหรือเปลี่ยนอะไหล่ไป ก็อาจมีปัญหาตามมาในภายหลังได้

เราควรนำเร็กกูเลเตอร์ไปเข้าศูนย์บริการเมื่อไร?

คำตอบหรือคำแนะนำที่เรามักจะได้ยินกัน อาจมีหลากหลายแนว เช่น

  • ตามคำแนะนำของผู้ผลิต แนะนำว่าควรนำเร็กกูเลเตอร์มาล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนอะไหล่ เป็นประจำทุกปี
  • ควรส่งศูนย์บริการทุกปี เพื่อล้างทำความสะอาด แต่เปลี่ยนอะไหล่ 2 ปีครั้งก็ได้
  • ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ เคยใช้มาตั้งนานแล้ว ยังไม่เป็นอะไรเลย
  • เมื่อไม่ได้ดำน้ำมาเป็นเวลานาน เช่น 2 ปีขึ้นไป ควรนำเร็กกูเลเตอร์ไปให้ศูนย์บริการตรวจสอบสภาพ และถามความเห็นจากช่างว่าต้องทำอะไรหรือไม่

คำแนะนำเหล่านั้นล้วนมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับเรา วิธีที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ก็คือการนำมาล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ทุกๆ ปี เพราะวิธีนี้ เราจะมั่นใจได้ว่า การออกทริปใน 1 ปีข้างหน้านี้  เราจะไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องของเร็กกูเลเตอร์เลย

ก่อนอื่นขออธิบายความหมายคำต่างๆ เหล่านี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

  • Regulator Service หมายถึง การบริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเร็กกูเลเตอร์ ตั้งแต่การทดสอบการทำงานทั่วไป การปรับตั้งค่าความหนักเบาในการใช้งาน ไปจนถึงการซ่อมบำรุง ถอดล้าง (overhaul) เปลี่ยนอะไหล่ ตั้งค่าใหม่ พูดง่ายๆ ว่า คือการบริการทุกอย่างที่จะทำให้เร็กกูเลเตอร์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
  • Overhaul หมายถึง การถอดชิ้นส่วนทุกชิ้น ออกมาล้างทำความสะอาด เปลี่ยนอะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ และประกอบกลับเหมือนเดิม พร้อมกับตั้งค่าแรงดัน และการตั้งค่าแรงหายใจต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้
  • Service Kit หมายถึง อะไหล่ต่างๆ ที่ผู้ผลิตจัดรวมไว้เป็นชุด เพื่อเปลี่ยนใหม่ไปพร้อมกับการ overhaul
  • เครื่อง Ultrasonic คือ เครื่องสำหรับล้างทำความสะอาดชิ้นส่วนของเร็กกูเลเตอร์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ปกติจะใช้ความถี่ประมาณ 40 KHz)  โดยใช้คู่กับ ultrasonic solution เพื่อให้คราบต่างๆ ที่เกาะอยู่ตามซอกมุมที่ยากจะเข้าถึง หลุดออกทั้งหมด

เราเลือกวิธีการ Service Regulator ได้กี่แบบ

โดยกว้างๆ เราสามารถเลือกใช้บริการได้ 3 แบบ ซึ่งแต่ละแบบ ก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
  1. Overhaul และเปลี่ยนอะไหล่ตาม Service Kit ทั้งชุด เป็นการถอดชิ้นส่วนออกมาล้างทำความสะอาดด้วยเครื่อง ultrasonic และเปลี่ยนอะไหล่ตาม annual service kit ของแบรนด์นั้นๆ ข้อดีคือ สามารถมั่นใจได้ค่อนข้างมาก ว่าในระยะประมาณ 1 ปีข้างหน้า จะไม่มีปัญหาอะไรในการใช้งาน แต่ก็มีข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 3,500-5,500 บาท แล้วแต่ราคา service kit ของเร็กกูเลเตอร์รุ่นและแบรนด์นั้นๆ  Service Kit Apeks Aqualung Scubapro
  2. Overhaul และเปลี่ยนอะไหล่เฉพาะชิ้นส่วนที่เสื่อมสภาพ เป็นการถอดชิ้นส่วนออกมาล้างทำความสะอาดด้วยเครื่อง ultrasonic โดยช่างจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจเลือกว่าอะไหล่ชิ้นไหนที่ควรจะต้องเปลี่ยน
    ข้อดีคือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก ประมาณ 1,500-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพของเร็กกูเลเตอร์ตัวนั้นๆ แต่ข้อเสียคือ ไม่สามารถรับประกันได้ว่า เมื่อนำไปใช้งานแล้วจะไม่มีปัญหา เพราะอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ ก็อาจเสื่อมสภาพจนถึงจุดที่มีปัญหาหลังจากที่นำกลับไปใช้ไม่นาน
  3. ตรวจเช็คสภาพ และหากพบปัญหาที่ชิ้นส่วนใด ก็ซ่อมเฉพาะชิ้นนั้นๆ เป็นการนำเร็กกูเลเตอร์มาให้ช่างตรวจเช็คการทำงานพื้นฐาน เพื่อดูว่าสามารถใช้งานได้ปกติหรือไม่ โดยไม่ได้ถอดชิ้นส่วนออกมาทำความสะอาด (ไม่มีการ overhaul)
    ช่างจะทำการตรวจสภาพโดยรวมให้ก่อน และหากพบปัญหาหรือพิจารณาแล้วเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในระยะเวลาอันใกล้ ก็จะซ่อมหรือเปลี่ยนเฉพาะชิ้นนั้นๆ เช่น เร็กกูเลเตอร์เริ่มไม่สามารถควบคุมแรงดันขั้นกลางได้, มีเสียงลมรั่วจาก second stage, มีลมรั่วจาก pressure gauge หรือ สภาพสายต่างๆ เริ่มมีการแตกร้าว เป็นต้น
    ข้อดีคือ ค่าใช้จ่ายน้อย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 200 บาท เป็นค่าบริการในการตรวจเช็คสภาพ นอกจากนั้นก็เป็นค่าอะไหล่ตามชิ้นที่เปลี่ยน ข้อเสียคือ อุปกรณ์ส่วนที่ไม่มีอาการเสียปรากฏและช่างพิจารณาแล้วว่า ยังไม่จำเป็นต้องซ่อม ก็อาจมีการเสื่อมสภาพลงไปจนมีปัญหาในการใช้งานได้ ทำให้การรับประกันงานซ่อม จำกัดแค่เฉพาะชิ้นที่ซ่อมเท่านั้น ไม่สามารถรับประกันเร็กกูเลเตอร์ทั้งชุดได้

สายอากาศ ชิ้นส่วนที่เราอาจคาดไม่ถึง

นอกจาก first stage และ second stage ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ทำงานกับแรงดันอากาศโดยตรงแล้ว อีกชิ้นส่วนหนึ่งที่เรามักจะไม่ทันนึกถึงว่ามีผลต่อการทำงานของชุดเร็กกูเลเตอร์ด้วยเช่นกัน ก็คือสายอากาศ (hose) ที่พาอากาศจาก first stage ไปยังจุดที่ใช้อากาศจริงๆ

ปกติสายอากาศเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานยาวนานอย่างน้อยก็ 2-3 ปี ข้อควรระวัง คือ ไม่ว่าจะเลือกรับบริการเร็กกูเลเตอร์แบบใด ก็ไม่รวมถึงตัวสายอากาศซึ่งจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเริ่มเห็นว่ามีสภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้น หากช่างไม่พบสภาพผิดปกติที่ตัวสายอากาศ และไม่ได้เปลี่ยนให้ แล้วไปแสดงอาการในทริปพอดี ก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากสายอากาศเหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ (เช่น มีอากาศรั่วออกจากสายเล็กน้อยระหว่างดำน้ำ เป็นต้น) และมักจะมีอาการให้เรารับรู้ล่วงหน้าเสมอ

ข้อเสียของการไม่ Service Regulator

  1. อาจพบปัญหาของเร็กกูเลเตอร์ในระหว่างทริปดำน้ำ ทำให้ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ของตัวเอง หรือแย่สุดคือไม่ได้ลงดำน้ำ หากไม่มีอุปกรณ์สำรองให้ใช้แทน
  2. คราบเกลือเกาะติดที่ชิ้นส่วนต่างๆ จะกัดกร่อนผิวของเร็กกูเลเตอร์ หรือสะสมมากในบางจุด เมื่อเกาะติดเป็นเวลานานจะทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ติดกันแน่นเกินไป เมื่อมีความจำเป็นต้องถอดซ่อม เช่นมีอากาศรั่ว ต้องเปลี่ยนโอริง หรืออื่นๆ อาจจะต้องใช้แรงมากในการถอด และทำให้อุปกรณ์ชิ้นนั้นแตก หัก เสียหาย ถึงขั้นที่อาจจะไม่สามารถใช้งานได้อีกเลย

คำแนะนำเพิ่มเติม

  • หากเร็กกูเลเตอร์มีคราบเกลือเกาะเป็นจำนวนมาก และคุณมีแผนว่าจะพักการดำน้ำเป็นเวลานาน ควรส่งมา overhaul ก่อนเก็บ เพราะการเก็บไว้นานๆ จะทำให้คราบเกลือยิ่งแข็งและเกาะแน่น ทำให้ไม่สามารถถอดชิ้นส่วนนั้นๆ ออกมาในภายหลังได้
  • หากไม่ได้ใช้เร็กกูเลเตอร์นานกว่า 1 ปี ควรนำมาตรวจสอบสภาพ ก่อนการใช้งานครั้งต่อไป
  • หากซื้อเร็กกูเลเตอร์มือสองมาใช้งาน และไม่ทราบประวัติการเปลี่ยนอะไหล่ ควรส่ง overhaul + เปลี่ยนอะไหล่ด้วย service kit ครบชุด เหมือนเป็นการนับหนึ่ง เริ่มต้นการใช้งานใหม่

สรุปข้อดีข้อเสียของการ Service Regulator แต่ละแบบ

Choice of Service Regulator
 
เขียนโดย ศุภเศรษฐ์ อารีประเสริฐกุล
นำเสนอ 27 มิ.ย. 2566
ปรับปรุงล่าสุด 02 ก.ค. 2566