ไปอ่านพบเรื่องของการประกอบและการถอดประกอบเร็กกุเลเตอร์ ใน Scubadiving.com เห็นว่าน่าสนใจ แต่เวลาไปดำน้ำก็เห็นมีวิธีการถอดประกอบที่หลากหลายไปกว่านี้ เพื่อนๆ มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับ ใครมีเทคนิคหรือวิธีการที่จะมาแบ่งปันกันบ้างไหมครับ
ขั้นตอนที่ 1 ประกอบเข้าด้วยกัน
ตรวจสอบวาล์วถังอากาศ โดยการเปิดอากาศออกเล็กน้อย เพื่อเป่าเอาความชื้นออกจากด้านในของวาล์ว ตรวจสอบ O-ring ว่าอยู่ในที่และสภาพดีหรือเปล่า ควรตรวจดูรอยแตกหรือฉีกขาดของโอริง ให้ใส่เร็กกุเลเตอร์เข้าไปและขันเข้าด้วยมือ แต่อย่าให้แน่นจนเกินไป เพราะจะเอาออกยากเวลาถอดหลังจากดำน้ำแล้ว
ขั้นตอนที่ 2 เปิดอากาศ
ก่อนจะเปิด ควรกด purge valve ที่ second stage เล็กน้อย เพื่อจะปล่อยแรงดันออกมา ขณะเปิดวาล์ว กลไกภายใน first stage จะได้ไม่กระแทกกัน และสามารถหลีกเลี่ยงการเสียหายก่อนเวลาอันควรได้ เมื่อเปิดวาล์วจนสุดแล้ว ให้หมุนกลับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในการป้องกันไม่ให้วาล์วติด ไม่ควรปิดวาล์วกลับไปหนึ่งในสี่ หรือครึ่งรอบอย่างที่เรียนมา การหมุนวาล์วกลับไปมากเกินไป จะขัดขวางการลื่นไหลของอากาศ และถูกศึกษามาว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุในการดำน้ำอันหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบ
หายใจจาก second stage ขณะที่ตรวจดูแรงดันจากเกจ เข็มวัดแรงดันอากาศไม่ควรจะขยับ จากนั้นให้ตรวจสอบปุ่มเติมลมและปล่อยลมจาก BCD ไม่จำเป็นที่จะต้องหันหน้าปัทม์มาตรวัดอากาศไปทางอื่นขณะที่เปิดอากาศ (ในอดีต เมื่อหน้าปัทม์อาจจะระเบิดใส่หน้าเราได้ การหันหน้าปัทม์ไปทางอื่นเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในปัจจุบัน มีการออกแบบปลั๊กระบายแรงดันด้านหลังเกจ์วัดแรงดันมา หากมันจะระเบิดออกมา ก็จะออกมาทางปลั๊กดังกล่าว) จากนั้นให้ตรวจสอบการรั่วของอากาศ และสามารถไปดำน้ำได้
ขั้นตอนที่ 4 การถอด
ทางที่ดี ควรล้างอุปกรณ์ทั้งหมดขณะที่ยังติดอยู่กับถังอากาศ และยังไม่ปล่อยลมออก แต่หากทำไม่ได้ ให้ปิดวาล์วอากาศ และกดปุ่ม purge valve จนอากาศไม่มีติดค้างในท่อ จากนั้นให้ถอดออก และทำความสะอาด dust cap ให้แห้ง อาจจะโดยการเช็ด หรือใช้ลมจากถังอากาศเป่าจนแห้งก็ได้ หากใช้ลมเป่า ไม่ควรเป่าลมเข้าไปในช่องแรงดันสูงของ first stage เพราะจะทำให้ฝุ่น ทราย หรือเกลือ เข้าไปในเร็กกุเลเตอร์ได้ เมื่อปิด dust cap แล้ว ก็พร้อมที่จะทำความสะอาดต่อไป