การขึ้นบันไดเรืออย่างปลอดภัย

การลงน้ำจากบันไดเรือ เช่น เรือประเภท Liveaboard นั้น อาจไม่ใช่เรื่องยากเย็น และอันตรายมากเกินไปนัก แต่การขึ้นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่มีคลื่นลม เรือโยกขึ้นลงตามแรงคลื่น หรือแกว่งไปมาตามแรงลม อาจเป็นเรื่องท้าทาย ความสามารถ ของเราสักหน่อย ในการขึ้นดังกล่าว เรื่องของความปลอดภัย และขั้นตอนที่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องคำนึงถึง เป็นอันดับต้นๆ

ขั้นตอนต่อไปที่จะนำเสนอนี้ เป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้น อาจจะมีวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมอีกหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับความถนัด และสถานการณ์เฉพาะหน้านะครับ

ขั้นแรก

เริ่มจากการทำ Safety Stop เพราะเวลานั้น เราสามารถประเมิน สถานการณ์บนผิวน้ำ ได้เป็นอย่างดี เราสามารถสังเกต อาการของเรือ ในขณะที่มีคลื่นลม ได้ว่า มีการขึ้น ลง หรือแกว่งไปมาขนาดไหน เมื่อครบเวลาของการทำ Safety Stop ให้ดูให้ดีว่ามีสิ่งกีดขวางท้ายเรือ เช่น นักดำน้ำคนอื่น ว่ายเข้าหาบันไดเรือ หรือไม่ ให้รอจนกระทั่ง บริเวณรอบๆ บันไดเรือว่าง แล้วจึงขึ้น ให้ขึ้นห่างจากบันไดเรือ พอประมาณ ไม่ควรขึ้นใกล้เกินไป เนื่องจากอาจจะมีคลื่น เกิดขึ้นมากะทันหัน โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ และอาจจะทำให้บันไดเรือ หรือ platform ของเรือ ฟาดเราบาดเจ็บได้ หากมีนักดำน้ำคนอื่น ขึ้นก่อนหน้าเรา ให้รออยู่ห่างๆ อย่าเข้าไปรอใต้บันได เนื่องจาก นักดำน้ำที่กำลังขึ้น อาจจะตกลงมาทับได้โดยง่าย เมื่อบันได้ว่างแล้ว ให้ว่ายเข้าหาบันได

สำหรับการว่ายเข้าหาบันได ในวันที่มีคลื่นลมนั้น ให้สังเกตอาการของคลื่น ที่กระทำกับเรือ ก่อนที่จะว่ายเข้าหาบันได โดยปกติแล้ว เรือจะโยกขึ้นลงเป็นชุด โดยมีการโยกอย่างรุนแรง สักครั้งหรือสองครั้ง ตามด้วยการโยกเบาๆ อีกครั้งหรือสองครั้ง ควรว่ายเข้าหาบันได ในขณะที่มีการโยกน้อยที่สุด

หากเรือมีการแกว่งเนื่องจากแรงลม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่า ในเรือประเภท Liveaboard เนื่องจากเรือลำใหญ่ จะมีพื้นที่ต้านลมได้มากกว่าเรือลำเล็ก ในกรณีดังกล่าวนี้ ให้ขึ้นมารอที่ผิวน้ำ ห่างจากวงการแกว่งของเรือ สักเล็กน้อย พอที่จะคว้าเชือก หรือบันไดเรือได้ เมื่อเรือแกว่งผ่านหน้า ในกรณีที่คว้าหรือจับพลาด ไม่ต้องว่ายตามเรือไป เพราะจะเหนื่อยเสียเปล่าๆ ให้รอจนกระทั่ง เรือแกว่งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง จะดีกว่าครับ

ขั้นต่อมา

เมื่อเราเห็นว่าบันไดว่างและสามารถขึ้นได้แล้ว ให้จับบันไดด้วยมือข้างหนึ่ง โดยจับใกล้ๆ กับบันได้ขั้นล่างสุด งอแขนเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะรับแรง อันเกิดจากการแกว่ง หรือโยกขึ้นลงของเรือ ให้ระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ตัวเรา หลุดเข้าไปใต้บันได หรือ platform โดยเด็ดขาด เนื่องจาก อาจจะทำให้เกิด การบาดเจ็บได้

การเคลื่อนไหวของเรือในขั้นนี้ หากไม่สามารถขึ้นได้ พร้อมกับตะกั่วถ่วง ให้ใช้มือข้างหนึ่ง (โดยมากมักเป็นข้างซ้าย) จับบันไดไว้ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่ง ถอดเข็มขัด หรือตะกั่วถ่วง ด้วยมือเดียว ส่งให้คนที่รอรับบนเรือต่อไป และให้ใช้มือข้างที่ถอดตะกั่ว ถอดฟินออก ซึ่งท่าทางการถอด ที่น่าจะง่ายที่สุด ก็คือการนั่งไขว่ห้าง และใช้มือตรงกันข้าม ถอดฟินออก อาจจะส่งฟิน ให้กับคนบนเรือ ที่รออยู่ หรือคล้องสายรัดเท้า ไว้ในข้อมือก็ได้ จากนั้นให้เปลี่ยนมือที่จับบันได และถอดฟินอีกข้างหนึ่งออก ในลักษณะเช่นเดิม สำหรับคนที่ถนัด อาจจะไม่เปลี่ยนมือ แต่ใช้มือข้างเดียว ถอดฟินทั้งสองข้างออก ก็ได้

ในขณะที่ถอดอุปกรณ์ (ฟินและตะกั่ว) นั้น เราอาจจะยืนอยู่บนบันไดขั้นล่างสุดก็ได้ หรือไม่ยืนก็ได้ หากเรายืน ก็ต้องระวังเรื่องของ น้ำหนักอุปกรณ์ ที่เราแบกอยู่ เมื่อเรือโยกขึ้นตามแรงคลื่นนั้น น้ำหนักของอุปกรณ์ ที่ถูกหนุนไว้ในน้ำ จะเปลี่ยนถ่ายมาที่ตัวเราทันที หากไม่ได้เตรียมพร้อมไว้ อาจจะตกจากบันได้โดยง่าย แต่หากไม่ยืนบนบันได ก็ต้องระวังการฉุดอย่างรุนแรง เวลาเรือยกตัวขึ้นเช่นกัน ในบางกรณี อาจถึงขั้นไหล่หลุดได้ครับ

ขั้นสุดท้าย

เมื่อเราถอดอุปกรณ์ดังที่กล่าวมา เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะขึ้นบันได้ ให้เอามือทั้งสองข้าง จับบันไดไว้ โดยให้ระวัง บันไดของเรือบางลำ อาจจะหนีบมือเอาได้ เราควรกะเวลา ให้การขึ้นง่ายที่สุด โดยการเหยียบบันไดให้มั่นคง งอเข่าเล็กน้อยขณะที่เรือโยกลง และให้เหยียดเข่าให้ตรง พร้อมกับแรงโยกขึ้นของเรือ ในเวลาต่อมา จะช่วยส่งให้ตัวเรา เดินขึ้นบนเรือ ได้อย่างง่ายดาย มากยิ่งขึ้นครับ

ในกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากมีหน้ากาก และเร็กฯ อยู่ในที่ ที่ไม่เป็นอุปสรรคในการขึ้นเรือ ก็น่าจะดีกว่าครับ เพราะเราอาจตกจากเรือได้ ในเวลาที่เราก้าวขึ้นเรือ หากตกลงไป ก็ไม่ต้องตกใจ ให้ว่ายออกจากเรือ แล้วค่อยๆ หาทางจับบันได ตามขั้นตอนแรกใหม่ ในบางครั้ง อาจจะต้องใส่ฟินเข้าไปใหม่ หากมีกระแสน้ำพัดตัวเรา ห่างจากเรือไป

การขึ้นจากน้ำนี้ โดยปกติ ในเวลาที่ทะเลไม่มีคลื่นลมรุนแรงนักนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นแต่อย่างใด แต่เราไม่สามารถคาดเดาได้ ว่าทะเลจะเป็นอย่างเดิม เหมือนตอนที่เราลงน้ำ เสมอไป นี่คือเหตุผลว่า ทำไม เราจึงควรฟัง คำแนะนำของ Divemaster ที่ทำการบรรยายสรุปให้เราก่อนลงน้ำ อย่างตั้งใจ เพราะขั้นตอนในการขึ้น และลงจากน้ำนั้น ของเรือแต่ละลำ และของสถานการณ์ที่แตกต่างกันนั้น อาจจะไม่เหมือนกันเสมอไป

ในกรณีที่มีคลื่นสูงกว่าหนึ่งเมตร และมีกระแสน้ำรุนแรง Divemaster อาจจะให้เราขึ้นบนเรือ โดยไม่ถอดฟินออกก่อนก็ได้ กระบวนการนี้อาจจะลำบากสักนิด สำหรับคนที่ไม่เคย แต่ก็ไม่ยากเกินไป หลังจากผ่านการลองทำ สักครั้งสองครั้งแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ ต้องยืนบนบันได้ให้มั่นคง ด้วยเท้าทั้งสองก่อน และค่อยๆ ก้าวขึ้น โดยให้มั่นใจว่า ได้สอดฟิน และวางส้นเท้า ไว้อย่างมั่นคง บนบันได้ขั้นต่อไป ก่อนที่จะถ่ายน้ำหนักตัวขึ้นไป

อีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมกัน ก็คือให้เข้าแถว โดยการจับเชือกท้ายเรือไว้ เมื่อคนแรกขึ้นไปแล้ว คนต่อมา ก็สาวเชือก เข้าไป ใกล้บันได และทำการขึ้นโดย Divemaster อาจจะให้คนที่จับเชื่อกไว้ถอดฟินออกจากเท้า ในขณะที่จับเชือกรออยู่ ในกรณีนี้ต้องระวัง ไม่ให้มือหลุดจากเชือก มิฉะนั้นจะต้องใส่ฟินเข้าไปใหม่ และว่ายกลับมาที่เชือก ซึ่งอาจจะลำบากมากขึ้น หากมีกระแสน้ำในขณะนั้น

ไม่ว่าวิธีการขึ้นจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงอยู่เสมอคือ ให้ประเมินว่าการขึ้นดังกล่าวนี้ “ปลอดภัย” หรือไม่ สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่เราเผชิญอยู่ครับ

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
นำเสนอ 21 ธ.ค. 2546
ปรับปรุงล่าสุด 11 ส.ค. 2550