เพื่อนๆ ที่เป็นนักดำน้ำ หลายท่านอาจจะสูบบุหรี่ ซึ่งก็คงมีหลายคนนึกสงสัยว่า ขณะที่บุหรี่ทำร้ายร่างกายของเรา โดยรวมๆ นั้น นิโคตินและสารอื่นๆ ในบุหรี่ มีผลร้ายกับร่างกาย และจิตใจของเรา ขณะที่หรือระหว่างช่วงเวลา ที่เรากำลังมีความสุขกับการดำน้ำ อยู่หรือเปล่า ในฐานะผู้สอนดำน้ำ เกือบทุกครั้งที่สอนมาถึงบท ที่มีเรื่องสุขภาพกับการดำน้ำ พอกล่าวถึงเรื่องของการสูบบุหรี่ ก็จะมีนักเรียนสนใจสอบถามเรื่องนี้ ว่ามีผลอะไรที่นอกเหนือไปจาก ผลของการสูบบุหรี่บนบกที่รู้ๆ กันอยู่แล้วบ้างไหม
ภาพจาก http://dusithost.dusit.ac.th/~sci_instrument/sci1/drug14.htm
ก่อนที่เราจะมาดูผลกระทบของบุหรี่ ที่มีต่อนักดำน้ำ ลองมาทบทวนเรื่อง ผลของบุหรี่ทำกับคนทั่วๆ ไปกันก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า เราเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง เสียก่อนนะครับ

บุหรี่ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งมีหลักฐานยืนยันอยู่ อย่างแน่นหนาอยู่แล้ว ส่วนมาก ก็เกิดจากสารตัวหนึ่ง ที่เรียกกันว่า ทาร์ (Tar) หรือน้ำมันดิน ที่ผู้สูบบุหรี่สูบเข้าปอดไป ทาร์จะไปทำให้เกิดการระคายเคือง ในหลอดลมของผู้สูบ และทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ของหลอดลมได้ นอกจากนั้น ทาร์ยังเข้าไปทำลายซีเลีย (Cilia) ซึ่งเป็นขนเล็กๆ ในท่อทางเดินหายใจของเราอีกด้วย ซีเลียนี้มีความสำคัญ เพราะมันเป็นตัวที่ทำให้เมือกทั้งหลายจากปอด ถูกขับออกมา ที่ทางเดินหายใจด้านนอกได้ แต่หากมันไม่ทำงาน เนื่องมาจากทาร์ ได้เข้าไปทำลายเสียแล้ว ก็จะทำให้เกิดการสะสมของเมือก และมีการอุดตันเป็นบางส่วนของทางเดินหายใจ และนั่นก็คือสาเหตุของการไอ ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ของนักสูบบุหรี่ทั้งหลาย นั้นเองครับ
สารเคมีบางอย่างในบุหรี่ จะไม่อยู่แค่ในปอด แต่จะถูกส่งผ่านไปยัง กระแสโลหิตของเรา และทำให้เกิดการหดเกร็ง และการทำลายหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหลอดเลือด ที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจ นี่คือสาเหตุว่าทำไม นักสูบบุหรี่ทั้งหลาย จึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ ได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่
นั่นก็เป็นเรื่องของคนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักดำน้ำหรือไม่นะครับ คราวนี้เราลองมาดู เรื่องผลของการสูบบุหรี่ ที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำบ้าง ก็จะพบว่า เมื่อเราสูบบุหรี่ ก่อนจะลงดำน้ำแล้ว จะเป็นการลดปริมาณก๊าซออกซิเจน ที่อยู่ในเนื้อเยื่อเราได้ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ที่เกาะติดกับสารฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดเรานั้น จะแย่งพื้นที่ ในการแลกเปลี่ยน ก๊าซออกซิเจนไป ทำให้ร่างกาย หรือเนื้อเยื่อในร่างกายของเรา ได้รับก๊าซออกซิเจนน้อยลงไปในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้น นักดำน้ำที่สูบบุหรี่ ก็จำเป็นต้องทำงานหนักขึ้น กว่าปกติ เพื่อจะทำกิจกรรมธรรมดาๆ เวลาดำน้ำ สรุปตอนนี้ว่า นักดำน้ำที่สูบบุหรี่ ก็จงใจลดสมรรถภาพ ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ของตัวเองลงไป ซึ่งเวลาก่อนที่จะลงไปดำน้ำนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเวลา ที่ไม่น่าจะพยายามลดความสามารถ ในการทำงานสูงสุดของตัวเอง เลยนะครับ
สำหรับการเสี่ยงต่อ DCS หรือเบนด์นั้น ในปัจจุบัน ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใด ว่านักดำน้ำที่สูบบุหรี่ จะมีโอกาสเสี่ยง กับเบนด์มากขึ้น หรือไม่นะครับ แต่หากเราลองคิดดูให้ดีแล้ว ปัจจัยในการเสี่ยงต่อเบนด์ข้ออื่นๆ มักจะเกี่ยวข้องกับระบบ การไหลเวียนโลหิตทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน บุหรี่ก็เป็นสิ่งที่รบกวนความสามารถ ของระบบการไหลเวียนโลหิตอย่างรุนแรง หากคิดตามเหตุตามผล ถึงแม้ยังไม่มีหลักฐาน ทางวิชาการมารองรับ ก็น่าจะคิดได้นะครับ ว่าการสูบบุหรี่น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นเบนด์ได้
อย่างไรก็ดีนะครับ ผลที่รุนแรงที่สุด ของการสูบบุหรี่ ที่มีต่อการดำน้ำนั้น ก็คือ การรบกวนการไหลของอากาศ ในปอดของเรา การลดความยืดหยุ่นของถุงลมปอด และการสะสมเมือกในปอดของเรา ทำให้เกิดการเก็บกักเอาลมไว้ในปอดเรา ถึงแม้เราคิดว่า เราหายใจออกหมดแล้ว ได้โดยง่าย สิ่งที่เกิดขึ้น และเกิดขึ้นมาแล้วในนักดำน้ำจริงๆ ก็คือ การบาดเจ็บของปอด และทางเดินหายใจ ในนักดำน้ำ ทั้งๆ ที่หายใจเข้าออกตามปกติ ไม่ได้กลั้นหายใจแต่อย่างใด กฎข้อสำคัญที่สุดของนักดำน้ำ ว่า “ หายใจเข้าออก อย่างสม่ำเสมอ และไม่กลั้นหายใจ โดยเด็ดขาด ” จะทำให้เราไม่เกิดอาการปอดฉีกนั้น ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ กับนักดำน้ำ ที่สูบบุหรี่ได้ เพราะถึงแม้จะปฏิบัติตามกฎ อย่างเคร่งครัดแล้ว ก็ยังมีโอกาส เกิดการฉีกขาดของปอด อันเนื่องจากอากาศ ที่ถูกเก็บกักไว้ จากการสูบบุหรี่อยู่ดีครับ