ท่อหายใจ (Snorkel) ใครคิดว่าไม่สำคัญ

เห็นเป็นท่ออากาศเปล่า ๆ แถมใช้แค่บนผิวน้ำเท่านั้น หลายคนอาจจะคิดว่าไม่มีรายละเอียดอะไรให้ต้องเลือกมากนัก ...เกือบถูกครับ ส่วนประกอบหลักของท่อหายใจหรือท่อสนอร์เคิลแบบมาตรฐาน ไม่มีอะไรมากครับ

ท่ออากาศ (Pipe)

ท่อสนอร์เคิลแบบม้วนเก็บได้

ทำจากพลาสติก แข็งแรง เหนียว ดัดงอได้พอสมควร ไม่แตกหักง่าย บางรุ่นถึงขั้นม้วนผูกเหมือนเชือกได้เลย เห็นแล้ว อึ้ง ทึ่ง เสียว แต่น่าสนใจ

เมาท์พีซ (Mouth Piece)

ขอทับศัพท์เลยแล้วกัน มีให้เลือกสองแบบคือ แบบที่ทำจากยางธรรมดา กับยางซิลิโคน ซึ่งแน่นอนว่า ยางซิลิโคนย่อมให้สัมผัสที่นุ่มนวลกับปากและฟันของคุณมากกว่า และราคาก็แพงกว่าแต่ไม่มาก และคุ้มค่ากว่าแน่นอน ที่ใช้กันเกือบทั้งหมดก็เป็นแบบซิลิโคนนี่แหละ

ที่ยึดกับหน้ากาก

ตัวยึดกับหน้ากาก มีความสำคัญอยู่มากทีเดียว เพราะถ้าใช้วัสดุไม่ดี อาจแตกหรือฉีกขาดได้ เปลืองเงินกับอะไหล่เปลี่ยนชิ้นเล็ก ๆ ที่สำคัญคือ ถ้ายึดไม่แน่น อ่อนนิ่มเกินไป หากเจอกระแสน้ำแรง อาจหลุดลอยไปกับสายน้ำได้

แต่สำหรับนักดำน้ำที่นิยมทั้งการดำน้ำลึกและดำผิวน้ำ ท่อสนอร์เคิล คืออุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดเลยทีเดียว และในปัจจุบัน อุปกรณ์ชิ้นนี้ก็ได้รับการออกแบบให้มีส่วนประกอบพิเศษ และเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นมามากมาย ได้แก่

วาล์วไล่น้ำทางเดียว (One-Way Purge Valve)

เป็นวาล์วสำหรับไล่น้ำออก ขณะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ หลังการดำน้ำไม่ว่าลึกหรือตื้น หรือเมื่อมีน้ำกระเด็นเข้าในท่อขณะลอยอยู่บนผิวน้ำ ใช้งานโดยการพ่นลมที่มีอยู่ในปาก (หากเหลือน้อยอาจลำบากนิดหน่อย) รวบรวมพลังดี ๆ แล้วดันออกไปอย่างแรง น้ำในท่อจะไหลออกไปจนหมด ช่วยให้สามารถหายใจต่อไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วกว่าการต้องปลดออกจากปากแล้วยกเทออกทางปลายท่อมากมายนัก มีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะ กับนักดำน้ำแบบ snorkel และ free dive

ผู้ผลิตหลายรายออกแบบวาล์วไล่น้ำหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบท่อตรง หักมุม และอีกมากมาย แต่ยังไม่เคยได้ยินการเปรียบเทียบผลของแต่ละแบบอย่างชัดเจนครับ เอาเป็นว่า แค่มีก็ช่วยได้มาแล้ว

ท่อย่น (Flex Pipe)

ท่อสนอร์เคิลแบบดั้งเดิมที่ดัดโค้งมาอย่างสวยงามและยืดหยุ่นไม่ได้นั้น สร้างความเจ็บปวดแก่ปากและฟันของนักดำน้ำอย่างมากมาย จึงมีการออกแบบใหม่เป็นท่อ 2 ท่อน เชื่อมมุมโค้งด้วยข้อต่อซิลิโคนที่ให้ความยืดหยุ่น สอดรับกับกระพุ้งแก้มของนักดำน้ำแต่ละคนได้ดีขึ้น แม้ไม่เต็มร้อย แต่ก็ดีกว่าแบบปกติมาก ราคาก็ไม่ได้แพงเกินกว่าจะซื้อหามาใช้ด้วย

ปลายท่อ (Top)

บริเวณปลายสุดของท่อสนอร์เคิล ซึ่งโดยปกติ ก็เป็นเพียงท่อเปิดให้อากาศเข้า-ออกได้เท่านั้น แต่นักออกแบบหัวใส ได้ดัดแปลงตรงปลายท่อให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยการเติมลิ้นเล็ก 2 ชิ้นวางเฉียงไขว้ไว้ภายในท่อ กันเศษวัสดุ และลดโอกาสที่น้ำจะเข้ามาในท่อได้บ้าง (เรียกว่า Semi-Dry) หรือออกแบบใหม่ เป็นปลายปิดเกือบสนิท (เรียกว่า Full-Dry) เพื่อกันน้ำและเศษวัสดุได้ดีขึ้น เหลือรูเล็ก ๆ ไว้เพียงพอให้อากาศเข้าได้สะดวกเท่านั้น นอกจากนี้ก็ยังมีแบบแปลกๆ อีกมากมาย แต่รับรองว่าเมื่อลงไปใต้น้ำแล้ว ทุกแบบน้ำเข้าได้หมดครับ

รู้อย่างนี้แล้ว หากจะเลือกซื้อท่อสนอร์เคิลคู่ใจ ลองพิจารณา option เหล่านี้ดูบ้าง ก็คงจะช่วยให้คุณได้ท่อสนอร์เคิลที่คุ้มค่าคุ้มราคาอย่างที่ตั้งใจ

 
เขียนโดย ศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล
นำเสนอ 23 เม.ย. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 23 เม.ย. 2548