เรือจมสุทธาทิพย์ (Hardeep)

เรือจมสุทธาทิพย์ เป็นเรือกลไฟเหล็กของบริษัท Siam Steam Navigation ซึ่งมีเรือคู่แฝด ชื่อเรือ “วไล” ต่อออกมาพร้อมกัน เรือทั้งสองลำนี้ได้รับการตั้งชื่อตามพระนามของพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร) และ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ (สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร) ตามลำดับ เมื่อครั้งที่บริษัทนำเรือลงน้ำ ได้สร้างหุ่นจำลองทำด้วยเงินของเรือทั้งสองลำ นำไปถวายแด่พระองค์หญิงทั้งสองด้วย ปัจจุบันเรือ “วไล” จมอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเรือ “สุทธาทิพย์” จมอยู่ระหว่างเกาะโรงโขนกับเกาะจวง

เรือสุทธาทิพย์จมลงเมื่อเวลาประมาณ 1240 ของวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2488 โดยถูกระเบิด จากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร และจมลงในลักษณะตะแคงเอากราบขวาลง ที่ความลึกประมาณ 25 เมตร กราบซ้ายสูงที่ความลึกประมาณ 16 เมตร ตัวเรือมีความยาว 68 เมตร กว้าง 11 เมตร หัวเรือหันค่อนไปทางทิศใต้ (SSW) ท้ายเรือหันค่อนไปทางทิศเหนือ (NNE)

สภาพของเรือสุทธาทิพย์ในปัจจุบัน ยังทรงรูปตัวเรืออยู่อย่างสง่างาม อุปกรณ์และสิ่งต่างๆ สูญหายไปเกือบหมดสิ้นแล้ว มีการพังทลายของเรือทางด้านท้ายเรือ อันเนื่องจากการที่เรือบางลำนำสมอไปเกี่ยวกับเรือโดยตรง ปัจจุบันปัญหานี้ไม่มี เนื่องจากผู้ประกอบการดำน้ำได้นำสายทุ่นถาวรผูกติดกับเรือจมโดยตรง โดยสายทุ่นจะผูกไว้บริเวณกลางลำเรือ เสากระโดงคู่หัวเรือยังอยู่ในสภาพหักกลางตรงพื้นทราย ในห้องน้ำหัวเรือยังมีกระเบื้องดั้งเดิมอยู่ บริเวณห้องเครื่องยังมีเพลาข้อเหวี่ยง (Crank Shaft) และ Boiler จำนวน 3 ลูกให้เห็นอยู่ แต่ตัวเครื่องยนต์สูญหายไปแล้ว นอกลำเรือยังมีปากปล่องไอน้ำเป็นรูปวงกลมบริเวณพื้นทราย มีอ่างล้างหน้าเก่าแก่ตกอยู่ใกล้เคียง ห่างจากตัวเรือไปทางทิศตะวันตกไม่เกิน 100 เมตรจะพบลูกระเบิดขนาดใหญ่ คาดว่าเป็นลูกระเบิดชนิดเดียวกันกับที่จมเรือลำนี้เมื่อหกสิบปีที่แล้ว

การดำน้ำที่เรือสุทธาทิพย์เป็นประสบการณ์ที่งดงามสำหรับนักดำน้ำทุกคน เราจะสามารถสัมผัสกับความสวยงามของตัวเรือและสัตว์ทะเลที่มาอาศัยอยู่ในบริเวณ เช่น ทากพู่ เต่า กระเบน และปลาสาก ที่มีอยู่ชุกชุม วันดีคืนดี จะเห็นกระเบนนกมาว่ายล้อกันเล่นบริเวณหัวเรือบ่อยๆ และนอกเหนือจากความสวยงามและความตื่นเต้นผจญภัยที่เราจะได้รับแล้ว ยังมีความรู้สึกของการใกล้ชิดกับอดีต การได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ยากจะได้รับสำหรับผู้ไม่มีโอกาสไปเยือน

นักดำน้ำที่จะไปดำเรือลำนี้ ควรจะมีประสบการณ์หรือไปกับผู้ดูแลที่เชี่ยวชาญ เนื่องจากเรือจมลงในร่องน้ำแคบ มักมีกระแสน้ำไหลแรงเป็นประจำ เรือมีอายุการจมนาน อาจจะมีบางส่วนพังทลายลงมาโดยไม่มีการตักเตือนล่วงหน้า สัตว์ทะเลที่อันตรายเช่น ปลาหิน ก็มีอยู่ชุกชุม ในขณะเดียวกัน ความลึกของเรือก็เป็นสิ่งที่นักดำน้ำต้องคำนึงถึงและทำการวางแผนการดำน้ำอย่างรอบคอบด้วย

ที่มาของชื่อเรือ (เพิ่มเติมจาก facebook.com 9 ก.พ. 2559)

เรือจมลำนี้เป็นเรือครูของนักดำน้ำไทยหลายคน ฝรั่งนิยมมาดำกันนานกว่าคนไทยเสียอีก และเรียกชื่อเรือจมลำนี้ว่า ฮาร์ดีฟ (Hardeep) ส่วนคนไทยเรียกว่าเรือจมสุทธาทิพย์

หลายปีที่แล้ว ผมดำลงไปพบสมุดบันทึกประจำเรือ ไม่น่าเชื่อว่ายังเห็นสิ่งที่พิมพ์หลังจากจมมาหกสิบกว่าปี อาจเป็นเพราะสมุดนี้อยู่ในตู้ที่ถล่มลงมาเพราะตัวเรือผุพังลง ทำให้เห็นวิธีการเขียนชื่อเรือซึ่งไขปริศนาว่าทำไมฝรั่งถึงเรียกกันว่า ฮาร์ดีฟ

ไม่ใช่มาจากคำว่า Hard & Deep อย่างที่ฝรั่งส่วนมากเข้าใจ แต่มาจากวิธีการเขียนพระนามของเจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินธ์ ที่เขียนว่า Suddhadib ฝรั่งออกเสียงยากเลยกลายเป็น Hadib และเพี้ยนเป็น ฮาร์ด ดีฟ ในที่สุด

Suddhadib Log Book spelling S-U-D-D-H-A-D-I-B

 
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
ภาพจาก อัลบั้มภาพ ของเก่าใต้ทะเล โดย Pichit Muangnapoe
นำเสนอ 25 พ.ค. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 09 ก.พ. 2559