ดำดิ่งสำรวจปะการังภูเก็ต มรดกธรรมชาติที่ยังเหลือรอดแห่งอันดามัน

การสำรวจเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๔๗ โดยคณะทำงานใช้เรือเร็วลงตระเวนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หลังการสำรวจ นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมง ๘ ว. เปิดเผยว่า แนวปะการังน้ำลึกหน้าหาดด้านทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ตอย่าง ป่าตอง กมลา บางเทา ในยาง เกาะแวว ยังมีสภาพปกติ ไม่มีความเสียหายเนื่องจากคลื่นสึนามิ

ท่อนซุงและซากสิ่งก่อสร้างที่น้ำพัดพามาก็มีผลต่อแนวปะการังน้ำตื้น รวมทั้งผลกระทบด้านทัศนียภาพบริเวณชายหาดยังเต็มไปด้วยขยะและซากปรักหักพังซึ่งใช้เวลาเก็บกวาดไม่นานก็สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ไม่ยากนัก

ในขณะที่ ธิพามาศ อุปน้อย นักวิชาการประมง ๕ ลงพื้นที่สำรวจ
เกาะเฮ เกาะราชา เกาะแอล เกาะตะเภาใหญ่ และเกาะโหลน พบว่า
แนวปะการังน้ำลึกทั้งห้าเกาะไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับที่ อุกฤต สตภูมินทร์ นักวิชาการประมง ๘ ว.
ก็ยืนยันหนักแน่นว่า แนวปะการังน้ำลึก และแนวหญ้าทะเล
ไม่ได้รับความเสียหายอย่างที่หวั่นวิตกกัน พร้อมทั้งโชว์
รูปถ่ายใต้น้ำเป็นเครื่องยืนยัน

แต่ก็ยอมรับว่าปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ ความเสียหายของ
การกัดเซาะของชายฝั่งทะเลที่ทำให้หน้าหาดบางแห่งพังทลาย
และยุบตัวลงไป ส่วนเรื่องความใสของน้ำทะเล
ยังไม่ใสเหมือนเดิม แต่สภาพที่เห็นก็ไม่เลวร้ายมากนัก

ทั้งนี้เพราะตะกอนใต้น้ำและโคลนจากป่าชายเลน
พัดขึ้นมามาก อย่างไรก็ตาม โดยรวมอยู่ในสภาพปกติ
จนแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ที่นี่ได้มีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น

ในช่วงนี้หากนักท่องเที่ยวลงไปดำน้ำ อาจเจอปัญหา
คันตามตัว เนื่องจากความเข้มข้นของอนุภาคในน้ำฟุ้ง
ขึ้นมามาก ธาตุอาหารในน้ำทำให้แพลงตอนบางตัว
เจริญอย่างรวดเร็ว จึงก่อให้เกิดอาการคัน


(ตัดตอนจาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๘)

อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๘ หน้า ๓
อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9480000000477
นำเสนอ 03 ม.ค. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 03 ม.ค. 2548