FreedomDIVE.com ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุด ต่อความสูญเสีย จากโศกนาฏกรรมอันน่าสลดใจ ที่เกิดขึ้นใน 6 จังหวัด ริมฝั่งทะเลอันดามัน ของเรา รวมถึง 9 ประเทศ ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันอาทย์ที่ผ่านมานี้ (26 ธันวาคม 2547) อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า 1 ในภัยธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด จะเกิดขึ้นในบ้านเรา... ใกล้ตัวเรา... กับคนที่เรารู้จัก... กับคนที่เรารัก... เช่นนี้
ในฐานะที่เรามีความตั้งใจ จะใช้พื้นที่เว็บไซต์แห่งนี้ เป็นที่เผยแพร่ข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเล มหาสมุทร และธรรมชาติใต้ทะเล อันเป็นที่รักและหวงแหนของทุน อยู่แล้ว เราจึงขอใช้โอกาสนี้ นำเสนอเรื่องราวของคลื่นยักษ์ สึนามิ (Tsunami) เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ เข้าใจ อย่างถูกต้อง รอบด้าน... และพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาตินี้ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรได้... ในอนาคต

สึนามิ (Tsunami) เป็นคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นจาก ความเปลี่ยนแปลง ของมวลน้ำปริมาณมาก ๆ อย่างฉับพลัน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจเกิดได้ จากหลายเหตุการณ์ ต่อไปนี้
- แผ่นดินไหวใต้พื้นมหาสมุทร ทำให้เกิดการยก หรือยุบตัวของพื้นทะเล
- ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด
- พื้นมหาสมุทรถล่ม ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผลสืบเนื่อง จากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่
- แผ่นดินหรือหินขนาดใหญ่ ถล่มลงในทะเล
- อุกกาบาตหรือวัตถุขนาดใหญ่ ตกลงในมหาสมุทร
เมื่อเกิดคลื่นสึนามิขึ้น คลื่นจะเคลื่อนออกจากจุดกำเนิด ไปรอบทิศทาง อาจเป็นคลื่นเพียงลูกเดียว หรือเป็นชุดคลื่นต่อเนื่องก็ได้ สึนามิ เป็นคลื่นน้ำที่มีความยาวคลื่นสูง คือ ตั้งแต่หลายกิโลเมตรไปจนเกินกว่า 100 ก.ม. ทำให้สามารถเดินทางได้ไกล เพราะสูญเสียพลังงานไปน้อยมาก ในทะเลลึก สึนามิจะเคลื่อนที่ได้เร็วมาก อาจสูงกว่า 800 กม./ชม. แต่ด้วยความสูงของคลื่นเพียง 10 - 20 นิ้วและระยะคลื่นหลายกิโลเมตร ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะสังเกตเห็นคลื่นสึนามิในบริเวณน้ำลึก เรือที่ลอยลำอยู่กลางทะเล จะเห็นเป็นเพียงน้ำกระเพื่อมเล็กๆ เท่านั้น

แต่เมื่อคลื่นเริ่มเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งมากขึ้น คลื่นจะยกตัวขึ้นตามแนวลาดของชายฝั่ง และเคลื่อนที่ช้าลง เหลือเพียงประมาณ 50 - 300 ก.ม./ชม. ความสูงของคลื่นมากขึ้น เป็นเมตรหรือหลายสบเมตร ในขณะที่ความยาวคลื่นลดลง เหลือเพียงไม่กี่กิโลเมตร ระยะเวลาระหว่างระลอกคลื่นติด ๆ กัน อาจยาวนานหลายนาที หรือเป็นชั่วโมง และสำหรับสึนามิลูกเล็ก ๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ชายฝั่งทะเล อาจเป็นเพียงน้ำขึ้นน้ำลง ที่เปลี่ยนแปลงระดับน้ำอย่างรวดเร็ว กว่าน้ำขึ้นน้ำลงประจำวัน เท่านั้น

แต่สำหรับสึนามิขนาดใหญ่ จะกลายเป็นความหายนะทันที เมื่อมันเคลื่อนที่ถึงชายฝั่ง ที่ซึ่งผู้คนตั้งบ้านเรือน ทำกิจกรรมต่าง ๆ กันอย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน ด้วยพลังงานมหาศาล ที่แมจะถูกต้านทาน และกระจายไปบ้าง จากการปะทะกับพื้นชายฝั่งที่สูงขึ้น ก็ยังคงเหลือพลังอยู่อีกมาก คลื่นจะยกตัวสูงขึ้น เป็นกำแพงน้ำขนาดมหึมา สูงตั้งแต่ 10 - 30 เมตร ถาโถมเข้าใส่อาคาร ร้านค้และสรรพชีวิตที่อยู่ริมทะเล ก่อนจะไหลย้อนกลับลงสู่ทะเล และหอบเอาเศษซากที่ถูกทำลาย ลงไปด้วย ในขณะที่มวลน้ำบางส่วน ไหลบ่าท่วมเข้าไปลึกเป็นร้อย ๆ เมตรในแผ่นดิน เกิดเป็นอุทกภัยขนาดย่อม ๆ
โดยทั่วไป สึนามิที่เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็วก่อนที่จะเคลื่อนที่ถึงชายฝั่ง นอกจากสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหว ที่สามารถเคลื่อนที่ข้ามมหาสมุทรนับพันไมล์ได้

ชื่อสึนามินี้มาจากคำในภาษาญี่ปุ่นว่า สึ (Tsu) ที่แปลว่า ท่าเรือ และ นามิ (Nami) ที่แปลว่า คลื่น บางครั้งถูกสื่อมวลชนอ้างถึงในชื่อ Tidal Wave ซึ่งไม่ตรงความเป็นจริงนัก เพราะ Tidal Wave หมายถึง ปรากการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ที่มีผลมาจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ในขณะที่ สึนามิ ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น
สึนามิ เป็นภัยธรรมชาติ ที่รู้จักกันมานานนับร้อยปีแล้ว และเกิดขึ้นทั่วโลกแทบทุกปี ปีละหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่ เกิดขึ้นใน มหาสมุทรแปซิฟิก และไม่รุนแรงนัก สถิติการเกิดสึนามิล่าสุด ทีรุนแรง และมีความสูญเสียมากพอสมควร มีดังนี้

17 ก.ค. 1998 | ที่ชายฝั่งด้านเหนือของปาปัวนิวกินี คลื่นสูง 7 - 10 เมตร และบางแห่งสูงถึง 15 เมตร มีผู้เสียชีวิตและสูญหายราว 3,000 คน |
---|---|
21 ก.พ. 1996 | ที่เปรู เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริคเตอร์ |
15 พ.ย. 1994 | ที่เกาะมินโดโร ฟิลิปปินส์ เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ริคเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 62 คน |
พ.ย. 1994 | ที่อลาสก้า เกิดจากแผ่นดินถล่ม ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิสูงถึง 10 เมตร |
3 มิ.ย. 1994 | ที่เกาะชวาตะวันออก อินโดนีเซีย เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริคเตอร์ ทางใต้ของเกาะ มีผู้เสียชีวิตกว่า 230 คน |
ก.ค. 1993 | ที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ริคเตอร์ |
ธ.ค. 1992 | ที่อินโดนีเซีย เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริคเตอร์ ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สูงถึง 26 เมตร คร่าชีวิตผู้คนกว่า 1 พันคน |


ปัจจุบัน มีศูนย์เตือนภัยสึนามิ (Tsunami Warning Center) อยู่ 2 แห่งคือที่ ฮาวาย และที่ อลาสก้า ซึ่งจะมีระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว รวมถึงความดันน้ำที่พื้นมหาสมุทร สามารถแจ้งเตือน ผู้ที่อยู่ตามแนวชยฝั่ง ให้อพยพได้ทันท่วงที หากมีคลื่นสึนามิเกิดขึ้น ศูนย์ฯ ดังกล่าว ดำเนินงานโดย National Oceanic and Atmospheric Administration (หรือ NOAA) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเราสามารถค้นคว้าเรื่อง สึนามิ ได้อีกมากมาย จากเว็บไซต์ http://www.noaa.gov/