การนำทางใต้น้ำ (Underwater Navigation)

สวัสดีครับ วันก่อนนี้นึกขึ้นมา ถึงเรื่องการนำทางใต้น้ำ แล้วก็คิดอยู่ว่าเพื่อนๆ น่าจะมาแบ่งปันความรู้กัน เกี่ยวกับเทคนิควิธีการปลีกย่อยที่แต่ละคนใช้ๆ กันอยู่ จะได้เสริมความรู้สร้างประสบการณ์เพื่อการดำน้ำอย่างสนุกและปลอดภัยสำหรับพวกเราครับ เนื่องจากการดำน้ำนั้น หากเราสามารถนำทาง (navigate) ได้อย่างแม่นยำมากเท่าไร เราก็จะดำน้ำได้สนุก ปลอดภัย ไม่กังวล แล้วประหยัดเวลาและอากาศ ได้มากขึ้นเท่านั้นนะครับ

ก่อนลงน้ำ

สำหรับตัวผม เวลาดำน้ำ ผมจะเริ่มสังเกตก่อนที่จะลงน้ำเลยละครับ ตั้งแต่อยู่บนเรือหรืออยู่บนฝั่ง ก่อนจะลงน้ำจะมองดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวก่อนอื่นเลย อันที่จริงการทำแบบนี้มันก็อยู่ในขั้นตอนห้าขั้นก่อนการลงดำ (5 Point Descent) อยู่แล้วนะครับ ทุกคนก็ได้เรียนกันมาจนคล่องแคล่วชำนาญตั้งแต่เริ่มเรียนระดับ Open Water Diver มากันหมดแล้ว เอามากล่าวในที่นี้อาจจะทำให้เสียเวลาเปล่า

ผมจะสังเกตมุมของแสงอาทิตย์ คลื่นลม กระแสน้ำ และภูมิทัศน์เหนือน้ำครับ เมื่อดำน้ำไปนานๆ จนชำนาญแล้ว ผมก็จะพอมองออกว่า ใต้น้ำน่าจะมีลักษณะเป็นเช่นไร จากการมองแบบนี้นั่นเองครับ ยกตัวอย่างนะครับ อย่างเวลาเราไปดำน้ำที่เกาะห้าใหญ่ จังหวัดกระบี่น่ะ เราจะไปหาถ้ำใต้น้ำที่มีอยู่ด้วยกันสามถ้ำ ถ้ำใหญ่คู่นั้นสามารถมองเห็นได้จากบนผิวน้ำเลย หากรู้จักสังเกตครับ พอเรารู้ว่ามันอยู่บริเวณไหน เราก็สามารถใช้เข็มทิศของเรากำหนดองศา (mark bearing) ของถ้ำนั้นได้โดยง่ายครับ เวลาลงไปอยู่ใต้น้ำ เราก็จะไม่งุนงง และนำทางไปยังถ้ำดังกล่าวได้ โดยไม่เสียเวลาครับ

การสังเกตกระแสน้ำก็สำคัญสำหรับการนำทางเหมือนกันนะครับ เพราะมันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า เราจะต้องเผื่อขนาดไหน เวลาเราดำไปแล้ว มีกระแสน้ำมาพัดต้านหรือพัดไปทางด้านข้างของเรา หากไม่เผื่อตรงนี้ไว้ ส่วนมากก็จะหลงครับ

ใช้ธรรมชาติใต้น้ำ

การนำทางโดยใช้ธรรมชาตินั้น ก็จะใช้สิ่งที่เราสังเกตตั้งแต่อยู่บนเรือหรืออยู่บนฝั่งนั่นแหละครับ มาเป็นประโยชน์ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ใช้ประจำ ก็เช่น ก่อนลงน้ำสังเกตกระแสน้ำว่าไหลไปทางทิศไหน หากรู้จักใช้เข็มทิศโดยกำหนดหมายเลของศาแบริ่งด้วยก็จะยิ่งดี เช่น สังเกตว่าน้ำไหลไปทางทิศ 150 องศา อย่างนี้เป็นต้นนะครับ หรือไม่เช่นนั้น เอาแค่กำหนดไว้ในใจว่า น้ำไหลไปทางหัวเกาะหรือทางท้ายเกาะ แค่นี้ก็พอจะใช้ได้แล้วครับ

เสียงก็เป็นเครื่องมือในการนำทางอันหนึ่งที่ผมเคยใช้มาหลายต่อหลายครั้ง บางทีเราดำไป ได้ยินเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ก็แปลว่า เราเข้าไปใกล้แหล่งเสียง ในทางตรงกันข้าม หากได้ยินเสียงเบาลง ก็แปลว่าเราห่างออกมา ตัวอย่างที่ใช้ก็มี เช่น มีครั้งหนึ่ง ผมไปดำน้ำดูเรือรบหลวงชลบุรี ที่จมลงเมื่อครั้งยุทธนาวีที่เกาะช้าง (จำได้ว่าตอนหลัง เขาขอร้องไม่ให้ดำแล้ว เพราะเป็นสุสานของวีรบุรุษผู้กล้าของกองทัพเรือ) หาเรือไม่เจอ เพราะไม่มีหมายอะไรเลยครับ ไต๋เรือก็บอกว่าจมอยู่แถวๆ นี้แหละ แหม ก่อนจะออกมา บอกว่ารู้หมายชัดเจน มาถึงหมายบอกว่าอยู่แถวๆ นี้ ก็เลยต้องใช้วิชา Search and Recovery เข้าช่วย ไม่งั้น เราจะโดนคนที่เราพาไป ด่าขรมแน่ ตอนที่กำลังทำ Expanding Square หาเรืออยู่น่ะครับ ก็ได้ยินเสียง ที่มักได้ยินจากแนวปะการัง ดังขึ้นเรื่อยๆ (เสียงปู ปลา กุ้ง หอย มันคุยกันน่ะครับ ใครไม่เคยได้ยิน จะพาไปฟังทีหลัง) ผมก็ตัดสินใจ เลิกทำสี่เหลี่ยมขยายตัวที่ว่า แล้วว่ายเข้าหาแหล่งเสียงเลย ว่ายวนไปมา จนแน่ใจว่าทิศนี้ เป็นต้นกำเนิดเสียงแล้ว ก็เข้าไป เจอเรือจมที่หาอยู่ง่ายๆ เลยครับ นี่แหละครับ เสียงก็ใช้นำทางได้ หลังจากนั้นก็ใช้กับการดำน้ำ Night Dive อีกหลายครั้ง โดยกำหนดเสียงเครื่องปั่นไฟในเรือ เป็นหมายหลัก ก็ใช้ได้ดีเช่นกันครับ

เมื่ออยู่ใต้น้ำ

เมื่อเราดำลงไป ก็ลองวัดความลึก ณ จุดที่ต้องการจะกลับมาซะก่อนเลย เช่น ความลึกที่โคนทุ่นที่เราผูกไว้ หรือความลึกที่สมอเรือ จากนั้นก็ต้องจดจำไว้ หรือเขียนเอาไว้ใน Slate ด้วยก็ดีนะครับ ดำน้ำไปสักพักหนึ่ง สมองมันจะเบลอๆ มึนงง และอาจจะจำไม่ได้เวลากลับมา :-)

เมื่อเราดำน้ำไปเที่ยว เราก็ต้องกำหนดไว้ว่าจะไปในทิศทางใด เช่น จะสวนกระแสน้ำไปก่อน ซึ่งก็จะเป็นการไปทางหัวเกาะ เนื่องจากกระแสน้ำที่เราสังเกตไว้บนเรือ มันไหลจากหัวเกาะไปทางท้ายเกาะ ไงล่ะครับ เวลาดำน้ำไป ส่วนมากก็เกาะแนวปะการังไปอยู่แล้ว พอเราดำน้ำไปสักพัก เช่น ประมาณครึ่งหนึ่งของเวลาดำน้ำที่วางแผนไว้ เราก็กลับไปในทิศทางที่เรามา นั่นก็คือ แนวปะการรังจะต้องกลับด้าน เช่น ตอนมา แนวปะการังอยู่ด้านขวา ขากลับ ต้องอยู่ด้านซ้าย ต่อมาก็สังเกตกระแสน้ำ ว่าต้องกลับกันกับตอนที่เรามา หากตอนมาสวนกระแส ขากลับก็น่าจะตามกระแส (ยกเว้นซวยจริงๆ กระแสน้ำเปลี่ยนทิศขณะกำลังดำอยู่ ไปก็สวน กลับก็สวน อย่างนี้ก็ต้องทำใจหน่อยครับ) ขามาแสงอาทิตย์ส่องทางซ้าย ขากลับก็ต้องส่องทางขวา (ยกเว้นดำน้ำตอนเที่ยงตรง)

ขณะที่กลับมา ก็เริ่มดำกลับมาที่ความลึกที่เรากำหนดไว้ตั้งแต่แรก เช่น เมื่อลงมาตอนแรก สมอเรืออยู่ที่ห้าเมตร ตอนกลับก็ค่อยๆ กะระยะเวลาให้ไปถึงความลึกห้าเมตรตรงที่สมออยู่ เผื่อไว้นิดหนึ่งก็จะดี เพราะส่วนมากเราจะตามกระแสน้ำกลับ

หากทำตามนี้ โดยส่วนมากก็จะเจอกับจุดที่เราเริ่มดำโดยไม่ยากเย็นอะไรครับ ครั้งหน้ามาคุยกันเรื่องการประเมินระยะทางใต้น้ำกันดีกว่าครับ เพราะน่าจะเอามาประยุกต์ใช้กับการนำทางโดยใช้ธรรมชาติ ดังที่กล่าวมานี้ ได้อย่างดีเลยครับ

การประเมินระยะทางใต้น้ำ

การประเมินระยะทางที่เดินทางไปใต้น้ำ ก็เป็นทักษะที่สำคัญในการนำทางใต้น้ำอันหนึ่ง ที่ผู้ที่ต้องการไปกลับหรือเดินทางให้เก่ง ต้องเชี่ยวชาญเสียก่อน การรู้ว่าเราเดินทางไปได้ไกลแค่ไหนแล้ว หรือมีระยะทางอีกไกลแค่ไหนจึงจะถึงที่หมายนั้น สำคัญมากครับ

สำหรับการเรียนในขั้นนั้น ในส่วนของการกะระยะทาง ส่วนมากเราจะเอาเชือกมาขึงไว้ เช่น ลากเชือกยาว 30 เมตร ไว้ใต้น้ำ แล้วก็ลองว่ายดูว่าเราใช้การเตะฟินไปกี่ทีจึงจะได้ระยะทางดังกล่าว หรือเราจะลองจับเวลาดูว่าเราใช้เวลากี่วินาทีจึงจะได้ระยะทางเท่านั้น ก็ได้เหมือนกันครับ พอเราได้ตัวเลขมาแล้ว ก็เอามาหารดูว่า หนึ่งเมตร เราใช้กี่ Fin Kick หรือหนึ่งเมตร เราใช้เวลากี่วินาที

บางคนใช้วิธีการ วัดแรงดันอากาศในถัง แต่มันมีปัจจัยเกี่ยวข้องที่ทำให้ข้อมูลเบี่ยงเบนได้ เยอะเกินไป เช่น ความลึก ความเหนื่อย ความตื่นเต้น ผมว่าใช้ Fin Kick หรือเวลาน่าจะใช้การได้ดีกว่าครับ ยกเว้นว่า จะต้องการระยะทางที่แน่นอนชัดเจน ก็เอาเทปวัดสนามฟุตบอลลงไปวัดเลย หรือใช้ช่วงแขนของเราวัดเอาก็ยังได้ครับ แต่มันก็จะเอิกเกริกไปนิดหนึ่งนะครับ

คราวนี้หากเราอยากรู้ว่า ส่วนหัวของเรือจมที่เราไปดำยาวกี่เมตร เราก็วัดด้วยวิธีนับจำนวนครั้งของการเตะฟินหรือจับเวลาในการว่ายตามความยาวของสิ่งที่เราจะวัด ก็จะได้ความยาวหรือระยะทางโดยประมาณครับ

วิธีนี้ผมใช้บ่อยๆ เช่น พานักดำน้ำไปดำน้ำเล่น ใช้เวลาในการไป 20 นาที ขากลับก็ประมาณได้ว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาทีเช่นกัน (หากไม่มีปัจจัยเรื่องกระแสน้ำ) ทำให้คำนวณเวลาในการดำน้ำให้ได้ตามแผนที่วางไว้โดยง่ายครับ

หรือบางที ยืนอยู่บนเรือ เล็งเข็มทิศไปยังหัวเกาะ ที่เป็นจุดหมายที่จะไปดู แล้วประมาณระยะทางด้วยสายตาไว้ พอลงไปในน้ำ เราก็พอจะนึกได้ว่า ควรจะต้องว่ายน้ำไป กี่นาทีหรือกี่ Fin Kick ???ทิศทางที่เรา Mark Bearing ไว้ จึงจะถึงจุดหมาย และก็ยังสามารถ กลับมาถึงเรือได้อย่างสบาย อีกด้วยครับ

จะเห็นได้ว่า เรื่องการใช้เข็มทิศให้ชำนาญ ก็สำคัญมากเหมือนกัน ไว้ค่อยมาคุยกันเรื่องนี้ ทีหลังนะครับ ใครมีข้อคิดเห็น หรือเทคนิคอะไร เอามาแบ่งปันกันก็ดีนะครับ

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
นำเสนอ 14 ธ.ค. 2546
ปรับปรุงล่าสุด 06 พ.ย. 2550