พล.ร.ท.ฆนัท ทองพูล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 นายพินิจ เจริญพานิช ผวจ.ชุมพร พร้อมด้วยนายลือชัย วงศ์สิระสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ร่วมกันประกอบพิธีวางพวงมาลาไว้อาลัยให้ “เรือหลวงปราบ741” ที่จอดทอดสมอและจะถูกจมลงไปอยู่ใต้ทะเลที่พิกัดละติจูด 10 องศา 29.013 ลิปดาเหนือ และลองจิจูด 99 องศา 25.167 ลิปดาตะวันออก ลึกจากผิวน้ำประมาณ 30 เมตร เพื่อใช้เป็นศูนย์ศึกษาเรือหลวงไทย ตามโครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ท้องทะเลชุมพร
สำหรับโครงการดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือกันของกองทัพเรือ จ.ชุมพร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. โดยเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นปะการังเทียมและแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำใต้ทะเล ทั้งยังเป็นจุดดำน้ำแห่งใหม่สำหรับนักดำน้ำ และเป็นแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล มีข้าราชการ ประชาชน ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ในอ่าวชุมพรขณะนี้ มีเรือของหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองตำรวจน้ำ ตลอดจนเรือนำเที่ยว และเรือประมงนับร้อยลำ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการจมเรือหลวงปราบ 741 ลงไปอยู่ใต้ท้องทะเล
ด้านพล.ร.ท.ฆนัท กล่าวว่า สำหรับเรือหลวงปราบ741 เป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดเล็ก มีความยาว 48.46 เมตร สูง 16.90 เมตรสามารถบรรทุกกำลังพลได้ 54 นาย เดิมชื่อเรือ USS LCI (M) - 670 เป็นเรือที่กองทัพสหรัฐสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2487 ที่รัฐแมซซาชูเสท เคยเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 15 ส.ค.-16 ก.ย. 2487
เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาได้มอบเรือลำนี้แก่ไทยในปีพ.ศ.2489 โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า “เรือหลวงปราบ” สังกัดกองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ และปลดระวางเมื่อปีพ.ศ.2449 ก่อนจะถูกนำมาวางใต้ท้องทะเลชุมพร โดยมี “เรือ บี.ที.ซี.จัสมิน” ลากจูงมาจากอู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.54 และใช้เวลาในการจมเรือด้วยการเปิดวาล์วให้น้ำเข้าจากด้านท้ายเรือตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนกระทั่งเวลา 09.59 น. เรือหลวงปราบ 741 จึงจมลงสู่ใต้ทะเลหมดทั้งลำ" พล.ร.ท.ฆนัท กล่าว
ที่มาข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์


