หินแดง หินม่วง

ผมเหลือบมองดูนาฬิกาที่ข้อมือซึ่งแสดงเวลาแปดโมงเช้า ก่อนที่จะก้าวเท้าออกจาก platform ของเรือลงไปสู่ความเย็นเฉียบของน้ำทะเลสีคราม ที่ใสแจ๋วเสียจนสามารถมองเห็นพื้นทรายและแนวปะการังจากพื้นผิวน้ำได้อย่างชัดเจน นักดำน้ำอีกห้าคนก็ก้าวเท้าลงจาก Platform ตามกันมาติดๆ พวกเราต่างก็ว่ายน้ำเข้าหาหินสองสามก้อนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาประมาณสองเมตร ดูจากบนผิวน้ำแล้ว คงไม่มีใครนึกออกว่าข้างล่างใต้หินสองสามก้อนนี้ คือสถานที่อันสวยงาม เป็นโลกใต้น้ำที่ดึงดูดให้ผู้คนหลากหลายทุกชาติทุกภาษา มาเยี่ยมเยียนในแต่ละปีอย่างมากมายมหาศาล

“หินแดง” แห่งน่านน้ำในเขตจังหวัดตรัง เป็นชื่อของแหล่งดำน้ำที่เราใช้ประเดิมทริปกลางฤดูกาลดำน้ำในทะเลอันดามันนี้ เมื่อคืนก่อนหน้านี้ นักดำน้ำทั้งหมดยี่สิบห้าชีวิต เดินทางมาด้วยวิธีการต่างๆ บางคนก็ขึ้นเครื่องบิน บางคนก็นั่งรถบัส และอีกหลายคนขับรถมาจากกรุงเทพฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการไปดำน้ำด้วยกัน เรือที่นำพวกเรามา ออกจากท่าเรือในจังหวัดภูเก็ตก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย โดยกัปตันได้แจ้งให้ทราบว่า ต้องการออกจากท่าในเวลาดึกสักหน่อย จะได้ไปถึงหินแดงหมายดำน้ำแห่งแรกของเราในเวลาเช้าพอดี

ผมหันหน้าเข้าหาบัดดี้ ให้สัญญาณกดหัวแม่โป้งลงสู่ผิวน้ำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่รู้กันในหมู่นักดำน้ำว่าเริ่มต้นการดำน้ำได้แล้ว หลังจากนั้น ทุกคนก็ตรวจสอบทิศทางที่จะไปใต้น้ำ ตั้งเวลาบนนาฬิกาข้อมือ เอาเร็กกูเลเตอร์เข้าปากเสร็จเรียบร้อย จึงเริ่มปล่อยลมออกจากเสื้อชูชีพที่มีชื่อทางเทคนิคว่า BCD (Buoyancy Control Device) เสื้อแบบนี้ สมัยก่อนนักดำน้ำรุ่นแรกๆ ไม่ได้ใช้กัน บางครั้งก็เลยมีปัญหาเวลาต้องการลอยตัวอยู่ที่ผิวน้ำนานๆ ก็จะเหนื่อยกันหน่อย หรือแม้กระทั่งเวลาอยู่ใต้น้ำก็ต้องคอยพยุงตัวไม่ให้จมลงไปกับพื้นมากเกินไป นักดำน้ำรุ่นก่อนๆ ที่ยังไม่มีเครื่องมือชนิดนี้ใช้ ก็จึงจำเป็นต้องเป็นคนที่มีทักษะการว่ายน้ำที่ค่อนข้างดีมากๆ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถมาเป็นนักดำน้ำได้ ผิดกับสมัยนี้ที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตครบครัน เราก็เลยได้เห็นกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย มาดำน้ำกันอย่างสนุกสนาน

ระหว่างทางในการลงไปสู่โลกสีครามที่สวยสดงดงาม ผมก็คอยตรวจสอบอาการของบัดดี้ว่าเป็นปกติดีหรือไม่ ด้วยการทำวงกลมด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ และก็ได้รับสัญญาณตอบกลับมาเช่นเดียวกัน อันหมายความว่าบัดดี้ของผมยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ฟองอากาศจากเร็กกูเลเตอร์ของเราทั้งสองที่จ่ายอากาศให้เราอย่างซื่อสัตย์ ไม่ว่าเราจะลงไปลึกและได้รับแรงกดดันจากน้ำมากมายแค่ไหน ไหลขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างสม่ำเสมอตามจังหวะการหายใจออกของเรา ในช่วงเวลานั้น เสียงฟองอากาศเป็นเสียงเดียวที่เราได้ยินอย่างชัดเจน เมื่อใกล้ถึงพื้น ผมก้มลงมองเข็มมาตรวัดความลึก เห็นว่าใกล้กับความลึกยี่สิบแปดเมตรที่เราวางแผนไว้ก่อนจะลงดำน้ำ ก็หันไปให้สัญญาณกับบัดดี้ให้หยุดที่ความลึกนี้ เพราะถึงแม้ว่าตามตารางดำน้ำที่เราใช้คำนวณปริมาณก๊าซไนโตรเจนในร่างกายจากการดำน้ำเราสามารถอยู่ที่ความลึกนี้ได้ถึงยี่สิบนาที แต่เพื่อความปลอดภัย เราวางแผนไว้ว่าจะอยู่ที่ความลึกนี้ไม่เกินสิบนาที แล้วจะขึ้นสู่ความตื้นไปดำต่อในที่ลึกน้อยกว่านี้ต่อไป

การดำอยู่ใต้น้ำนานเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ลึกแบบนี้ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของนักดำน้ำได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากอากาศที่เราหายใจเข้าไป มีส่วนผสมของก๊าซไนโตรเจนอยู่เกินสามในสี่ส่วน เมื่อเราลงสู่ความลึกและได้รับแรงกดดันจากน้ำมากขึ้น ก๊าซไนโตรเจนก็จะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดและเนื้อเยื่อในร่างกายของเราได้ หากเราอยู่ในที่ลึกและนานเกินไป เราอาจจะมีก๊าซที่ถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายเรามากเกินกว่าที่จะขึ้นมาสู่ผิวน้ำโดยตรงได้ และก๊าซที่พยายามออกมาจากร่างกายเราส่วนที่ระบายออกไม่ทัน จะกลายเป็นฟองอากาศในเส้นเลือดและทำให้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อนักดำน้ำ

ในความลึกนี้ เราเห็นปะการังหลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นกิ่งเป็นก้าน เป็นก้อนเป็นโขด สัตว์ทะเลอื่นๆ ตามแนวปะการังก็มีหลากหลายสีสัน เหมือนกับอยู่ในโลกใบใหม่ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลกเดิมๆ ที่คุ้นเคย ผมเอาไฟฉายใต้น้ำเล็กๆ ในมือ ส่องดูตามกอปะการัง เพื่อให้เห็นสีสันที่แท้จริงของมัน เนื่องจากการลงไปอยู่ในความลึกมากๆ นี้ สีที่สวยสดทั้งหลายจะหายไปจากการดูดซับแสงของน้ำ สีแดงและสีส้มจะไม่สามารถมองได้เห็นอีกต่อไป กลายเป็นสีเทาทึมๆ แทน หากต้องการที่จะเห็นสีที่แท้จริงของสัตว์ทะเลและธรรมชาติใต้น้ำ ก็เลยจำเป็นต้องเอาไฟฉายมาส่องดู แสงจากไฟฉายจะทำให้เราเห็นสีที่แท้จริงได้ครับ

เหลือบไปมองดูนาฬิกาที่ข้อมือซ้าย พบว่าเวลาสิบนาทีได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราจะต้องขึ้นจากความลึกที่เราอยู่นี้ ไปสู่ความลึกระดับที่สองตามแผนการดำน้ำ โดยไม่ให้ลึกเกินไปกว่าสิบแปดเมตร และในความลึกสิบแปดเมตรนี้ เราวางแผนไว้ว่าจะอยู่ที่นั่นอีกสิบห้านาที ก่อนจะขึ้นสู่ระดับที่สามต่อไป

ผมหันไปให้สัญญาณกับบัดดี้และคู่บัดดี้อีกสองคู่ในกลุ่มของเรา ว่าถึงเวลาต้องขึ้นสู่ความลึกระดับที่สองที่เราวางแผนกันไว้แล้ว เมื่อทุกคนพร้อม เราก็ค่อยๆ ระบายลมออกจากเสื้อชูชีพ ในขณะที่โบกตีนกบเบาๆ เพื่อนำตัวสู่ทิศทางของผิวน้ำ เมื่อมาถึงความลึกที่ต้องการ ตื้นกว่าสิบแปดเมตรสักเล็กน้อย เราก็เริ่มสำรวจโลกใต้น้ำที่เราหลงใหลกันต่อไป

ขณะที่กำลังเพลิดเพลินอยู่กับความสวยงามของปะการังและสัตว์เล็กน้อยหลากสีสัน ผมเห็นเงาอะไรวูบวาบทางขวามือหลังโขดหินก้อนใหญ่ที่เป็นชะง่อนผาใต้น้ำตรงที่เราลอยตัวอยู่ จึงหันไปพยักหน้าให้บัดดี้และให้สัญญาณ โดยการชี้นิ้วโป้งในทิศทางที่ต้องการจะไป เราสะบัดตีนกบเบาๆ เราทั้งสองก็ลอยลิ่วไปสู่อีกฟากหนึ่ง ของชะง่อนผาได้เหมือนใจคิด สำหรับนักดำน้ำที่มีความชำนาญแล้ว การปรับการจมลอยของร่างกายจะเป็นเหมือนกับสัญชาตญาณตามปกติ ทำให้เราอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักตลอดเวลาที่อยู่ใต้น้ำ การเคลื่อนไหวจึงง่ายดายผิดกับบนบกที่มีแรงโน้มถ่วงของโลกมากระทำกับตัวเรา นักดำน้ำที่ชำนาญหลายคนจึงเปรียบเทียบการดำน้ำคล้ายกับการบินไปในอากาศของนก เพียงแต่ขยับตีนกบเบาๆ เราก็เหมือนกับล่องลอยไปสู่จุดหมายที่ต้องการจะไปได้อย่างเหลือเชื่อ

เมื่อพ้นชะง่อนหินที่บังสายตาไว้จากเจ้าของเงาวูบวาบที่เห็นด้วยหางตาเมื่อนาทีที่แล้ว ผมกับบัดดี้ถึงกับตะลึง เพราะภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพในความใฝ่ฝันของนักดำน้ำอีกหลายคนที่ปรารถนาจะได้เห็นมัน ปลากระเบนราหู (Manta Ray) ลำตัวกว้างประมาณห้าเมตรสองตัว กำลังว่ายเล่นกันอยู่อย่างเพลิดเพลินด้วยอาการที่คล้ายกับการร่อนบินของยานบินอวกาศจากนอกโลก ดูเหมือนเจ้าสัตว์ยักษ์สองตัวนั้นจะไม่ได้ให้ความสนใจกับเรามนุษย์สองคนที่ลงมาเยี่ยมเยือนโลกใต้น้ำอันเป็นถิ่นของมันแต่อย่างใด

ผมนึกถึงคำบอกเล่าของอาจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้กรุณาเล่าให้ฟังไว้ว่า เมื่อมีโอกาสเผชิญหน้ากับสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่นักดำน้ำทุกคนใฝ่ฝันอยากพบ อย่างเช่น ปลาฉลามวาฬ หรือปลากระเบนราหู อย่างที่ผมกำลังลอยตัวจ้องมองมันอยู่โดยไม่ละสายตาอย่างนี้ หากต้องการจะให้เขาอยู่กับเรานานๆ ก็อย่าว่ายเข้าไปหา เพราะนักดำน้ำที่ไม่สามารถอดใจไว้ได้ และว่ายเข้าไปหา จะกลายเป็นไปว่ายไล่ให้เขาหนีไปไกลๆ ด้วยความรำคาญในที่สุด จึงส่งสัญญาณให้กับบัดดี้ว่าให้หยุดลอยนิ่งๆ อยู่กับที่และจ้องดูอยู่ ในขณะเดียวกัน ก็เคาะถังอากาศแรงๆ หลายๆ ครั้งติดต่อกันด้วยสันมีดดำน้ำ เพื่อเป็นสัญญาณให้นักดำน้ำในกลุ่มที่แยกไปกับคู่บัดดี้และกำลังสำรวจโลกสีครามอย่างเพลิดเพลินให้หันมาดู

เมื่อมีคนมาดูหลายคนเข้า เจ้าปลากระเบนราหูตัวหนึ่งก็ลอยตัวขึ้นสูงเหมือนกับจะรำคาญพวกเรา ในขณะที่อีกตัวหนึ่งกลับว่ายวนรอบๆ ตัวพวกเราเหมือนกับจะเล่นด้วย ผมจำได้ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง ยังเห็นเขาโก่งตัวและพลิกปีกทั้งสองเล่นไปมา และก็ยังนึกสงสัยอยู่ว่าอาการแบบนี้เป็นการแสดงความรำคาญหรือการเล่นกับเรา น่าเสียดายที่มีนักดำน้ำคนหนึ่งในกลุ่มของเราอดใจไม่ไหวและว่ายเข้าไปหา พร้อมทั้งทำท่าเหมือนจะยื่นมือไปจับต้องตัวของปลากระเบนราหูตัวนั้น ทำให้เขาว่ายห่างจากกลุ่มของเราออกไปเรื่อยๆ และลับสายตาหายไปในที่สุด

เมื่อปลากระเบนราหูทั้งสองตัวไม่อยู่ในสายตาของเราอีกต่อไปแล้ว กลุ่มของเราก็ดำน้ำต่อไปตามแผนการดำน้ำที่ตั้งไว้ เราได้ผ่านพบดอกไม้ทะเลหลายอย่าง มีปลาการ์ตูนที่มีหลากหลายลวดลายอาศัยอยู่ในกอดอกไม้ทะเลนั้น ดอกไม้ทะเลนี้ มีความสวยงามก็จริงอยู่ แต่ก็คงเป็นอย่างที่มีคนเคยกล่าวกันมาแล้วว่า “ดอกไม้งามย่อมมีหนามแหลมคม” เพราะหากเราไปสัมผัสเข้ากับดอกไม้ทะเลที่สวยงามเหล่านี้เมื่อไร เข็มพิษของดอกไม้ทะเลเหล่านี้ก็จะทำความปวดแสบปวดร้อนให้กับเราอย่างมากมาย

นอกจากดอกไม้ทะเลที่ประดับแหล่งดำน้ำแห่งนี้ให้สวยงามแล้ว ยังมีสิ่งที่ทำให้แหล่งดำน้ำแห่งนี้มีชื่อว่า “หินแดง” นั่นก็คือ ปะการังอ่อนที่ปกคลุม แทบจะเรียกได้ว่าครอบคลุมหินแดงทั้งหมดนั่นเองที่มีสีแดงสดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณที่ตื้นพอที่การดูดซับแสงของน้ำทะเลยังไม่มากเกินกว่าที่จะดูดซับเอาสีแดงไป อันที่จริงปะการังอ่อนในบริเวณนี้มีหลากหลายสีมาก ทั้งสีแดง สีขาว สีม่วง แต่ในบริเวณหินแดง เราจะเห็นปะการังอ่อนสีแดงในปริมาณมากกว่าสีอื่นๆ ไกลออกไปประมาณสองร้อยเมตร จะเป็นแหล่งดำน้ำอีกแหล่งหนึ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากผิวน้ำ นั่นคือ “หินม่วง” ซึ่งชื่อของสถานที่ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าปะการังอ่อนที่นี่ต้องเป็นสีม่วงในปริมาณมากกว่าสีอื่นอย่างแน่นอน นอกจากสีที่แตกต่างกันแล้ว หินม่วงยังมีความลึกมากกว่าหินแดงอีกด้วย ยอดหินม่วงจะลึกจากผิวน้ำมากกว่าสิบเมตร การดำน้ำที่หินม่วงนี้ จึงต้องอาศัยความชำนาญในการดำน้ำ มากกว่าที่หินแดง

หินแดง - หินม่วง” จึงกลายมาเป็นชื่อแหล่งดำน้ำคู่แฝด ที่มีความสวยงามทัดเทียมกันและยังอยู่ใกล้ๆ กันอีก พวกเราจึงวนเวียนดำน้ำระหว่างสองแหล่งนี้อย่างเพลิดเพลินกันได้ตลอดวัน ในช่วงของวันที่มีกระแสน้ำรุนแรง เราก็จะดำน้ำกันอยู่บริเวณหินแดง เพราะว่าที่นี่จะมียอดหินให้เราหลบหลีกจากกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้โดยง่าย แต่หากช่วงใดน้ำไม่มีกระแส เราก็จะลงไปดำสำรวจหินม่วงกัน

หลังจากที่เราขึ้นมาสู่ระดับความลึกที่สาม ที่เป็นความลึกที่น้อยที่สุดของการดำน้ำที่หินแดง ในการดำน้ำครั้งแรกของวันนั้น เราวางแผนไว้ว่า จะอยู่ที่ความลึกสิบสองเมตรนานถึงสิบห้านาที ผมพากลุ่มของเรามาวนเวียนอยู่บริเวณเชือกที่ผูกไว้กับทุ่นลอยสีแดงลูกใหญ่ เชือกเส้นนี้ถูกผูกไว้อย่างถาวรในฤดูกาลดำน้ำ เพื่อให้เรือที่พานักดำน้ำมาได้ผูกเรือไว้กับทุ่น จะได้ไม่ต้องทิ้งสมอซึ่งอาจจะเสี่ยงกับการทิ้งสมอลงบนแนวปะการังได้

ที่ความลึกสิบสองเมตรนี้ แสงอาทิตย์สามารถสาดส่องมา ทำให้ทัศนียภาพใต้น้ำสว่างไสวขึ้นกว่าเดิม เรามองเห็นฝูงปลาใหญ่น้อยว่ายวนเวียนไปมารอบๆ ยอดหินแดง ปลาหลากหลายชนิด เช่น ฝูงปลาสาก ตัวโตขนาดท่อนขาผู้ใหญ่หลายสิบตัวลอยนิ่งๆ อยู่กลางน้ำ เป็นภาพที่สวยงามและน่ากลัวในเวลาเดียวกัน เราเห็นฝูงปลาหูช้าง ซึ่งตามปกติจะค่อนข้างเชื่องกับนักดำน้ำ และบางครั้งก็ว่ายวนเวียนมาดูพวกเราอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ปลาเศรษฐกิจ พวกปลากะพง ปลาอินทรี ปลาช่อนทะเล ก็จะรวมฝูงวนเวียนอยู่ห่างๆ

ผมได้ยินเสียงเคาะถังอากาศจากบัดดี้ของผม หันไปดูก็พบว่าเขากำลังจ้องมองดูปลาสิงโตคู่หนึ่ง กำลังกางครีบแผ่ขยายออกอย่างภาคภูมิใจ ปลาสิงโตนี่เป็นปลาที่สวยงามมากชนิดหนึ่งที่มักอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และเช่นเดียวกับดอกไม้ทะเล ที่เล่าให้ฟัง คือความสวยงามจะแฝงไว้ด้วยพิษภัยที่ร้ายแรง ปลาสิงโตนี้ หากเราไปสัมผัส และถูกพิษจากหนามปลายครีบที่แหลมคมของเขาเข้า จะเป็นอันตรายร้ายแรงอย่างมากกับนักดำน้ำ ร้ายแรงกว่าแมงกะพรุน หรือดอกไม้ทะเลหลายสิบเท่านัก พวกเราเฝ้าดูปลาสิงโตคู่นั้นอย่างตื่นตาตื่นใจ ขณะที่นักดำน้ำในกลุ่มของเราที่เป็นช่างภาพ ก็นำเอากล้องถ่ายภาพใต้น้ำไปถ่ายรูปปลาสิงโตคู่นั้นอย่างเอาจริงเอาจัง เข็มนาฬิกาเดินมาถึงเลขสี่สิบห้าบนวงล้อที่หน้าปัด บอกให้รู้ว่าถึงเวลาที่จะต้องกลับไปสู่โลกใบเดิมที่เราคุ้นเคยอีกครั้ง ผมทำสัญญาณให้กับพรรคพวกในกลุ่มให้ไปจับเชือกทุ่นที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อเตรียมตัวทำการพักน้ำเพื่อความปลอดภัย (Safety Stop) ที่ความลึกห้าเมตรเป็นเวลาสามนาที โดยครั้งนี้เราจะทำการพักน้ำด้วยการเกาะอยู่ที่เชือก

ผมมองไปยังหินแดงที่เห็นอยู่ลิบๆ ข้างหน้า ด้วยความรู้สึกยากที่จะบรรยาย ถึงแม้รู้ว่าจะต้องกลับมาดำน้ำที่นี่อีกในวันนี้ และตามแผนแล้วเราก็จะดำกลางคืน (Night Dive) ที่นี่อีกด้วยซ้ำ แต่ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์กับความสวยงามและความตื่นเต้นที่ได้รับ ก็ยังไม่จางหายไปจากใจ ขณะที่จ้องมองอยู่นั้น ผมก็เห็นความเคลื่อนไหวของอะไรบางอย่างอยู่ไกลๆ และดูเหมือนว่ากำลังจะใกล้เข้ามาหากลุ่มพวกเราที่กำลังเกาะอยู่บนเชือกที่ความลึกห้าเมตรนี้ เมื่อใกล้เข้ามาจนสามารถมองเห็นและแยกแยะออกได้ว่าอะไรเป็นอะไร พวกเราทุกคนก็แทบจะร้องออกมาดังๆ ด้วยความดีใจ ก็เจ้าปลากระเบนราหูสองตัวที่เราเห็นช่วงกลางไดฟ์นั่นเอง อุตส่าห์ว่ายกลับมาอำลาเราก่อนที่จะขึ้นเรืออีก มันทั้งสองบินวนอยู่รอบตัวเราหนึ่งรอบ แล้วก็ดำดิ่งลงสู่ความลึกด้านล่าง เหมือนกับจะเยาะเย้ยว่าพวกเราไม่มีทางตามติดมันลงไปได้แน่นอน

เวลาครบสามนาที เราทุกคนกลับขึ้นมาสู่ผิวน้ำอย่างปลอดภัย เรือของเราก็ลอยลำอยู่ห่างๆ ในวันที่กระแสน้ำไม่รุนแรงแบบนี้ เรือสามารถลอยลำรอนักดำน้ำได้อย่างสบายๆ หลังจากกลับขึ้นมาบนเรือ เราคิดไว้ว่าจะคุยทับเพื่อนๆ กลุ่มอื่นๆ บนเรือเสียให้หนำใจ แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะทุกกลุ่มก็ได้พบกับเพื่อนขนาดยักษ์ใต้โลกสีคราม ครบถ้วนกันทุกคน วันนั้นเราทำการดำน้ำกลางวันกันต่ออีกสองไดฟ์ที่หินม่วง ในการดำครั้งที่สองและกลับมาหินแดงในการดำครั้งที่สาม เราก็พบกับปลากระเบนราหูทั้งสองตัวทุกครั้ง และที่พิเศษยิ่งไปกว่านั้น เราได้พบกับพรรคพวกของมันอีกสองตัว รวมกันเป็นสี่ตัวที่หินม่วงในการดำน้ำครั้งที่สอง ซึ่งทำให้ทุกคนบนเรือของเรารู้สึกตื่นเต้นยินดีและอิ่มอกอิ่มใจในการมาดำน้ำครั้งนี้เป็นอย่างมาก

คืนนั้น หลังจากการดำน้ำกลางคืนที่แสนจะสวยงามที่หินแดง ขณะที่เรือกำลังวิ่งมุ่งหน้าลงทิศใต้ สู่เกาะอาดัง ราวีในเขตท้องทะเลจังหวัดสตูลเพื่อพาเราไปดำน้ำกันที่ “หินแปดไมล์” ในเช้าวันรุ่งขึ้น ผมได้มานั่งครุ่นคิดอยู่คนเดียวที่หัวเรือว่า อาจเป็นเพราะการที่เราได้มีโอกาสมาดำน้ำและได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดนี่เอง ทำให้เรารู้สึกผูกพันและมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะปกป้องชีวิตและธรรมชาติทั้งหมดใต้ท้องทะเล ให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
นำเสนอ 11 ก.ย. 2546
ปรับปรุงล่าสุด 02 ต.ค. 2550