พัทยา

พัทยา
ประเภทการดำน้ำ boat diving, wreck diving, drift diving
ระดับการดำน้ำ สำหรับนักเรียน, นักดำน้ำใหม่ และนักดำน้ำที่มีประสบการณ์
ความลึก 5 - 18 เมตร (ยกเว้นเรือจม 34 เมตร)
ทัศนวิสัยใต้น้ำ 3 - 15 เมตร
กระแสน้ำ None - Strong
อุณหภูมิน้ำ 26-31
จุดดำน้ำ จุดดำน้ำบริเวณหมู่เกาะใกล้ เช่น เกาะสาก, เกาะครก, เกาะล้าน, เรือหลวงกูด
จุดดำน้ำบริเวณหมู่เกาะไกล เช่น เกาะริ้น, เกาะมารวิชัย, เกาะไผ่, กลึงบาดาล, เรือหลวงคราม, ยักษ์กระโดง, ลอมฟาง
ฤดูท่องเที่ยว สามารถดำได้ตลอดทั้งปี
สิ่งที่น่าสนใจ มีแนวปะการังสมบูรณ์และหลากสีสันกว่ากลุ่มเกาะใกล้ ทั้งปะการังแข็งและปะการังอ่อนหลากสี

เต่าทะเล ทากทะเล กุ้งปะการัง ปลาปักเป้า หมึกกระดอง ม้าน้ำ ปลาการ์ตูนอานม้า ปลากระเบน ปลาลิ้นหมา หอยสังข์จุกพราหมณ์ กุ้งดอกไม้ทะเล หอยกระต่าย และปลาผีเสื้อกลางคืน ฯลฯ

ข้อมูลทั่วไป

พัทยา มีแหล่งดำน้ำอยู่มากมายหลายเกาะ โดยแบ่งออกเป็น 2 โซน คือเกาะใกล้ เช่น เกาะล้าน เกาะครก เกาะสาก และเกาะไกล เช่น เกาะริ้น เกาะลอมฟาง เกาะมารวิชัย ฯลฯ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิด จุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อที่สุดในทะเลพัทยา คือ เกาะริ้นที่ความลึกไม่มากนัก จะพบปะการังอ่อนสีสวยหลากสีสัน หน้าตาไม่เหมือนฝั่งอันดามัน เพราะมันจะเรืองแสงดูสวยแปลกตา

จุดดำน้ำ (รายละเอียด)

เกาะล้าน : จุดดำน้ำที่ได้รับความนิยมคือทางตอนใต้ เช่น หาดนวลและ South Point รวมถึงทางฝั่งตะวันตกของเกาะ เช่น แหลมทอง สามารถพบม้าน้ำ ปลาการ์ตูนอานม้า ปลากระเบน เต่าทะเล และกัลปังหาสีชมพูสวยงาม

เกาะสาก : มีจุดดำน้ำทางตะวันตกและทางตะวันออกของเกาะ น้ำนิ่ง เหมาะสำหรับนักดำน้ำมือใหม่ อาจได้เจอปลาจิ้มฟันจระเข้ ส่วนฝั่งตะวันออกเป็นจุดที่มีโอกาสเจอเต่าทะเลสูง

เกาะครก : จุดดำน้ำเด่นอยู่ทางฝั่งตะวันตก ลากยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ เป็นเกาะที่พบเต่าทะเลบ่อยที่สุดแห่งหนึ่งของพัทยา กระแสน้ำแรงกว่าเกาะสาก

เกาะนก : เป็นเกาะเล็กๆ ทางตอนเหนือของเกาะสากที่ยังไม่มีใครไปดำน้ำมากนัก แต่มีแนวปะการังน้ำลึกฝั่งตะวันตกและฝั่งใต้ของเกาะ ถ้าโชคดีอาจได้เจอปลาฉลามกบ (bamboo shark) ในแนวปะการังที่นี่  

เรือหลวงกูด (HTMS Kood Wreck) : เป็นเรือรบหลวงที่ปลดระวางแล้ว และกองทัพเรือร่วมกับเมืองพัทยาจมเรือลำนี้เพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์ทะเลใน พ.ศ. 2549 ความลึกสูงสุด 30 เมตร

เรือหลวงมัตโพน (HTMS Mattapon Wreck) อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะล้าน ถูกจมลงเมื่อพ.ศ. 2555 เพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์ทะเล ความลึกสูงสุด 22 เมตร

เกาะไผ่ : เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในโซนนี้ อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ จุดดำน้ำที่ได้รับความนิยมคือฝั่งตะวันตกและฝั่งใต้ ส่วนบริเวณหน้าหาดฝั่งตะวันออกมีหอยมือเสือจำนวนมากจากโครงการปล่อยหอยมือเสือสู่ธรรมชาติ

เกาะริ้น : เป็นจุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อที่สุดในแถบนี้ มีสัตว์ทะเลหลากหลายที่สุดเมื่อเทียบกับเกาะรอบข้าง รวมถึงปะการังอ่อนหลากชนิดที่มีสีสันต่างจากฝั่งอันดามัน มีแนวปะการังหนาแน่นสุดทางหัวแหลมตอนใต้ และตรงนี้ก็เจอเต่าทะเลได้บ่อยๆ

เกาะลอมฟาง : เป็นกองหินโผล่พ้นน้ำทางทิศเหนือของเกาะริ้น ขึ้นชื่อเรื่องปะการังอ่อนสีพาสเทลที่โดดเด่นกว่าเกาะรอบข้าง อาจพบฉลามกบที่มักนอนนิ่งอยู่ใต้เพิงหิน รวมถึงสัตว์ทะเลอื่นๆ เช่น ปลากระเบน ปลาสาก ทากทะเล โดยมีแนวปะการังหนาแน่นที่สุดในฝั่งตะวันออกของเกาะ

เกาะยักกระโดง : เป็นกองหินเหนือน้ำทางใต้ของเกาะริ้น ซึ่งนอกจากสัตว์น้ำแล้ว เราจะได้เห็นลูกปืนใหญ่มากมายเกลื่อนพื้นน้ำ ซึ่งเป็นหลักฐานหลงเหลือจากการซ้อมรบของกองทัพเรือ

เกาะกลึงบาดาล : เป็นเกาะเล็กๆ ที่น้ำค่อนข้างนิ่งและใส สามารถเจอปลาฉลามกบ ปลาปักเป้า ม้าน้ำ หรือหมึกสาย

เกาะมารวิชัย : เป็นเกาะแคบๆ เรียวยาววางตัวในทิศเหนือ-ใต้ น้ำมักนิ่งและใส จุดดำน้ำที่นิยมคือปลายแหลมตอนใต้

เรือหลวงคราม (HTMS Khram Wreck) เป็นเรือรบที่ปลดระวางแล้ว และถูกจมลงใน พ.ศ. 2546 เพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์น้ำ อยู่ใกล้เกาะไผ่ ความลึกสูงสุด 30 เมตร

การเดินทาง

1. ขับรถจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
2. นั่งรถกรุงเทพฯ - พัทยา จากสถานีขนส่งเอกมัย เวลาประมาณตี 5 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง รถจะมาจอดที่ท่ารถ แล้วนั่งรถสองแถวไปท่าเรือบาลีฮาย
3. รถตู้ อนุสาวรีย์ชัยฯ, สายใต้ - พัทยา ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

หากเดินทางมาทางรถตู้ สามารถลงที่สถานีขนส่งพัทยา หากมาทางรถไฟ สามารถลงที่สถานีพัทยาหรือสถานีพัทยาใต้ ภายในตัวเมืองพัทยามีรถแท็กซี่และ Grab ให้บริการ เพื่อมายัง ท่าเรือแหลมบาลีฮาย
การเดินทางสู่เกาะทั้ง 4 แห่ง ขึ้นเรือที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย

การเดินทางมายังชลบุรี

  • รถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดชลบุรีได้หลายเส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 ใช้เส้นทางสายบางนา-ตราด ทางหลวงหมายเลข 34 เข้าสู่จังหวัดชลบุรี
    เส้นทางที่ 2 
    ใช้เส้นทางสายกรุงเทพฯ-มีนบุรี ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา-บางปะกง เข้าสู่จังหวัดชลบุรี
    เส้นทางที่ 3 ใช้เส้นทางสายเก่า ถนนสุขุมวิท ทางหลวงหมายเลข 3 ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ ไปจนถึงแยกอำเภอบางปะกง และให้แยกเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 34 ไปจนถึงจังหวัดชลบุรี

    เส้นทางที่ 4 ใช้เส้นทางหลวงพิเศษ (MOTOR WAY) สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา โทร. 1193, 0 3839 2001
  • รถประจำทาง สถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) มีบริการรถประจำทางปรับอากาศไปชลบุรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 5.30-21.00 น.รถออกทุก 40 นาที โทร. 0 2391 9829 รถประจำทาง ปรับอากาศชั้น 2 มีบริการระหว่างเวลา 5.00 – 21.00 น. ออกทุก 30 นาที โทร. 0 2391 2504 รถประจำทาง ธรรมดามีบริการตั้งแต่เวลา 5.00 - 21.00 น. ออกทุก 30 นาที โทร. 0 2391 2504
  • รถไฟ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีบริการรถไฟไปจังหวัดชลบุรีทุกวัน ๆ ละ 1 เที่ยว ไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟพลูตาหลวง สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ : 1690, 0 2223-4334, 0 2220-4444 หรือเว็บไซท์ www.railway.co.th

ที่พักระหว่างทาง

พัทยามีที่พักให้เลือมากมายในทุกระดับราคาตั้งแต่ระดับเกสท์เฮาส์ ไปจนถึงโรงแรมหรูระดับโลก

การรักษาพยาบาล

สถานพยาบาลที่มีเครื่อง Recompression Chamber

โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา : ถ.สุขุมวิท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โทร 038-259-986 , Call Center 1719, เรียกรถฉุกเฉิน โทร. 038-259-911