หมู่เกาะสุรินทร์

ประเภทการดำน้ำ Boat dive
ระดับการดำน้ำ ทุกระดับ
ทัศนวิสัยใต้น้ำ 25 - 30 เมตร
กระแสน้ำ เล็กน้อย - แรง
อุณหภูมิน้ำ 26-31 C
จุดดำน้ำ
  • อ่าวไม้งาม
  • อ่าวแม่ยาย
  • อ่าวจาก
  • อ่าวสุเทพ
  • อ่าวเรือปู
  • อ่าวเต่า
  • อ่าวผักกาด
  • อ่าวบอน
  • อ่าวสับปะรด
  • อ่าวช่องขาด
  • อ่าวกระทิง
  • เกาะรี (เกาะสตอร์ค, เกาะไฟแว็บ)
  • เกาะไข่ (เกาะตอริลลา, กองเหลือง)
  • เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา, เกาะมังกร)
  • หินกอง (หินแพ)
ฤดูท่องเที่ยว 15 ตุลาคม – 15 พฤษภาคม (อุทยานฯ มักปิดการท่องเที่ยวในฤดูมรสุมระหว่าง 16 พฤษภาคม – 14 ตุลาคม แต่บางปีอาจมีวันที่ต่างออกไป ขึ้นกับมรสุมในปีนั้น)
สิ่งที่น่าสนใจ ปะการังแข็งที่อุดมสมบูรณ์, ปลาหลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ที่หายาก, เต่าหลากหลายชนิด, ฉลามวาฬ, แมนต้าเรย์, ฝูงโลมา, บางครั้งมีโอกาสพบวาฬเพชรฆาต วาฬบรูด้าด้วย

ข้อมูลทั่วไป

เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามตั้งแต่บนชายหาดไปจนถึงใต้ผืนน้ำ หากเกาะหลีเป๊ะคือสุดยอดแห่งปะการังอ่อน หมู่เกาะสุรินทร์ก็คือสุดยอดแห่งปะการังแข็ง ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งในแง่ชนิด รูปทรง สีสัน จนหลายคนยกให้เป็นแนวปะการังแข็งในประเทศไทยที่สวยที่สุด

หมู่เกาะนี้ประกอบด้วย 5 เกาะ โดยมีเกาะหลัก 2 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ (ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ บริเวณอ่าวช่องขาด) และเกาะสุรินทร์ใต้ (ซึ่งมีชุมชนชาวมอร์แกน) มีเกาะหินเล็กๆ อีก 3 เกาะ คือ เกาะรี (เกาะสตอร์ค) เกาะไข่ (เกาะตอริลลา) และเกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) รวมถึงกองหินใต้น้ำที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของไทยคือกองหินริเชลิว

ส่วนทัศนียภาพบนเกาะก็สวยงามไม่แพ้ใต้น้ำ ด้วยน้ำทะเลสีฟ้าใส หาดทรายขาวละเอียด นักท่องเที่ยวสามารถพักค้างแรมบนเกาะได้ โดยมีบ้านพักของอุทยานฯ และจุดกางเตนท์ โดยบนเกาะมีร้านค้าสวัสดิการและน้ำดื่มบริการ

การดำน้ำตื้น สามารถเช่าเรือท่องเที่ยวกับทางอุทยานฯ ซึ่งมีเรือรอบเช้าและรอบบ่าย หรือจะซื้อแพ็กเกจทัวร์เอกชนจากบนฝั่งก็ได้ ซึ่งมีทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับและแบบพักค้างคืน ส่วนการดำน้ำลึกมักนิยมเดินทางแบบ liveaboard

ระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ มีระยะห่างเพียง 200 เมตร ทำให้ได้ชื่อว่า “อ่าวช่องขาด” โดยช่วงน้ำลงสามารถเดินลุยน้ำข้ามไปอีกเกาะ (แต่ไม่แนะนำเนื่องจากกระแสน้ำแรง และมีแนวปะการังเขากวางที่กำลังก่อตัว)

อย่างไรก็ตาม บริเวณอ่าวช่องขาดถือเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก แต่ต้องระวังลิงกังที่อาจมาขโมยอาหาร

จุดเด่นสำคัญของหมู่เกาะสุรินทร์ ได้แก่

  • มีแนวปะการังที่ได้ชื่อว่าเป็นแนวปะการังน้ำตื้นที่สวยเป็นอันดับต้นๆ ของไทย มีทั้งปะการังแข็ง ปะการังอ่อน กัลปังหา ปากกาทะเล ฯลฯ  
  • มีดอกไม้ทะเลและปลาการ์ตูนจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาการ์ตูนส้มขาวขวัญใจมหาชน จนบางคนตั้งฉายาให้ว่าเป็น “นีโม่พาราไดซ์”
  • มีเต่าทะเลถึง 4 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า มีชายหาดที่สงวนไว้สำหรับให้เต่าวางไข่โดยเฉพาะ ซึ่งไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นมา คือชายหาดของอ่าวเต่าบนเกาะสุรินทร์ใต้
  • สามารถเจอพี่ใหญ่อย่างฉลามวาฬ กระเบนราหู และฉลามหูดำได้บ่อยครั้ง
  • ส่วนคนชื่นชอบสัตว์เล็ก ที่นี่ก็เป็นสวรรค์ของคนรักทากทะเลเช่นกัน โดยจากฐานข้อมูลในกลุ่ม Sea Slug Thailand Group พบว่า มีทากทะเลที่มีรายงานการพบในหมู่เกาะแห่งนี้มากกว่า 200 สปีชีส์
  • ในบางปี จะมีข่าวฮือฮาการพบสัตว์ทะเลหายากที่โผล่มาโชว์ตัวข้างเรือ ไม่ว่าจะเป็นฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ (False killer whale) วาฬบรูด้า แม้แต่วาฬเพชฌฆาต (วาฬออร์ก้า) ซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยพบในเขตร้อน และล่าสุดในเดือนมีนาคม 2566 ก็มีการพบฝูงโลมากระโดด (Spinner dolphin)
  • ส่วนปลาที่น่าสนใจอื่นๆ ก็มีหลากหลาย และหลายชนิดก็เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ เช่น ปลานกแก้ว ปลาสินสมุทร ปลาผีเสื้อ ปลาสร้อยนกเขา ปลากะรัง ปลาวัว ปลาปักเป้า ปลากะพง ปลาไหลริบบิน ม้าน้ำ ฯลฯ

จุดดำน้ำ (รายละเอียด)

เกาะสุรินทร์เหนือ

อ่าวไม้งาม : ฝั่งตะวันตกของอ่าวมีแนวปะการังที่เหมาะกับการดำน้ำตื้น ในช่วงฤดูร้อนอาจได้เห็นลูกปลาฉลามครีบดำบริเวณป่าโกงกางสุดปลายชายหาด

อ่าวแม่ยาย : ปลายอ่าวใกล้ๆ แหลมแม่ยาย มีปะการังหลากหลายชนิด และฝูงปลานกแก้ว เหมาะทั้งการดำน้ำลึกและดำน้ำตื้น

อ่าวจาก : มีแนวปะการังสมบูรณ์เช่นกัน เหมาะกับการดำน้ำตื้น

เกาะสุรินทร์ใต้

อ่าวสุเทพ : มีแนวปะการังสุดอลังการราวกับเป็นอาณาจักรใต้ทะเลในการ์ตูนของพิกซาร์ เต็มไปด้วยความหลากหลายของรูปทรง มีโอกาสเจอฉลามหูดำได้ไม่ยาก รวมถึงฝูงปลาน้ำดอกไม้ ปลานกแก้ว แต่ปัจจุบันเปิดสำหรับการดำน้ำตื้นเท่านั้น

อ่าวเรือปู : มีแนวปะการังที่สวยงาม ส่วนบริเวณพื้นทราย ก็เหมาะแก่การดำ Night Dive เพื่อหาตัวเล็ก โดยมีทากทะเลตัวเด่นอย่างทากปิกาจูลายเสือและทากปิกาจูเขาม่วง (Thecacera sp.) ส่วนบริเวณเชือกทุ่น หากดูดีๆ ก็อาจเจอทากทะเลตัวจิ๋วๆ หลายชนิด เช่น Lobiger sp., หรือทากทะเลในกลุ่ม sea hare

อ่าวเต่า : เป็นแนวปะการังลาดชันลงสู่ที่ลึก 20-25 เมตร โดยในที่ลึกเป็นจุดที่สามารถเจอสัตว์ใหญ่อย่างฉลาม ฉลามวาฬ กระเบนราหู รวมถึงเต่ากระ

อ่าวผักกาด : เป็นอ่าวเล็กๆ ที่มีแนวปะการังลาดชันสู่ความลึก 15-20 เมตร บริเวณผืนทรายมีกระเบนจุดฟ้าหลายตัวและปลาไหลสวน รวมถึงกระเบนหางหนาม และเป็นจุดที่มีโอกาสลุ้นปลาโรนัน ส่วนแนวปะการังก็มีทั้งปลานกแก้วตัวใหญ่สีสด ปลาขี้ตังเบ็ดหลายตัว ปลาปักเป้ากล่องเหลืองลายจุด ฉลามหูดำ ฯลฯ

อ่าวบอน : มีแนวปะการังที่สวยงาม และถ้าโชคดีอาจได้เจอม้าน้ำ เหมาะทั้งการดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก

อ่าวสับปะรด : เป็นจุดที่เหมาะกับการดำน้ำตื้น เต็มไปด้วยปะการังเขากวาง และบางทีอาจมีงูทะเลเข้ามาให้เห็นได้

เกาะอื่นๆ และจุดดำน้ำใกล้เคียง

อ่าวช่องขาด : เป็นอ่าวที่อยู่ระหว่างเกาะเหนือกับเกาะใต้ โซนน้ำตื้นมีปลาการ์ตูนส้มขาวจำนวนมาก ส่วนในโซนน้ำลึกบริเวณเศษซากปะการังแตกหักที่มีสาหร่ายใบมะกรูด (Halimeda spp.) สามารถพบเจอทากทะเลได้หลายชนิด โดยมีตัวเด่นคือ Cyerce spp. หรือเจ้าของฉายา “น้อง Bat Wing”

อ่าวกระทิง : ได้ชื่อจาก “ต้นกระทิง (สารภีทะเล)” จำนวนมากบนหาด สามารถว่ายน้ำอ้อมโขดหินมาจากทางอ่าวช่องขาดได้ พบเต่าทะเลได้บ่อย

เกาะรี (เกาะสตอร์ค, เกาะไฟแว็บ) : เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีกระโจมไฟของกรมอุทกศาสตร์ ทางเหนือของเกาะเป็นหลืบหินขนาดใหญ่ที่มีสัตว์มากมายซ่อนตัวอยู่ ทางฝั่งตะวันตกมีแนวปะการังแข็ง สามารถเจอเต่าทะเลได้บ่อยครั้ง มีทากทะเลหลากสีสัน รวมถึงหมึกกระดอง ปลาสิงโต และนานๆ ทีอาจมีฉลามหูดำแวะมาบ้าง

เกาะไข่ (เกาะตอริลลา, กองเหลือง) : มีทั้งแนวปะการังสมบูรณ์และกองหินใต้น้ำ มีปลาสวยงามกว่า 20 ชนิด เช่น ปลาไหลริบบิ้น ฉลามเสือดาว ปลากะรังหน้างอน ปลาสินสมุทรจักรพรรดิ ปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อหลากชนิด และที่เป็นจุดเด่นคือมีปลากระโทงแทงกระโดดให้เห็นบ่อยๆ

เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา, เกาะมังกร) : มีหาดทรายขาวละเอียดที่เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล มีปะการังแข็งกระจัดกระจาย ปัจจุบันยังไม่เปิดให้ดำน้ำลึก

หินกอง (หินแพ) : เป็นกองหินที่โผล่พ้นน้ำ มีทุ่งปะการังเขากวางและปลาชุกชุม

การเดินทาง

เรือไปกลับจากหมู่เกาะสุรินทร์ทั้งหมดเป็นของเอกชน ซึ่งออกจากท่าเรือต่างๆ กันในจังหวัดพังงา เช่น ท่าเทียบเรือคุระบุรี (อ.คุระบุรี) ท่าเรือทับละมุ (อ.ท้ายเหมือง) ท่าเรือบ้านน้ำเค็ม (อ.ตะกั่วป่า) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยนักท่องเที่ยวสามารถซื้อแพ็กเกจได้ 2 ประเภทคือ

  1. เฉพาะตั๋วเรือไปกลับ โดยติดต่อที่พักและเรือนำเที่ยวดำน้ำตื้นจากทางอุทยานฯ เอง
  2. ซื้อแพ็กเกจนำเที่ยว ซึ่งรวมทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่ค่าเรือ ค่าอาหาร ค่าดำน้ำตื้น ฯลฯ ซึ่งมีทั้งแบบ one-day trip และแบบพักค้างคืนบนเกาะ
 พังงา (เขาหลัก, ทับละมุ)

การเดินทางมายังพังงา (เขาหลัก, ทับละมุ)

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดพังงาได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง

  • รถประจำทางรถโดยสารประจำทางบริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ กรุงเทพฯ-พังงา บริการทุกวัน ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2874 6122 และบริษัทเดินรถเอกชน คือ บริษัท ลิกไนท์ทัวร์ โทร. 0 2894 6151-2 สถานีพังงา ถนนเพชรเกษม (หลังธนาคารนครหลวงไทย) โทร. 0 2641 2300, 0 7641 2014
  • รถยนต์เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง จากนั้นจึงเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดพังงา รวมระยะทาง 788 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 12 ชั่วโมง เส้นทางที่สอง จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงจังหวัดชุมพร และจากจังหวัดชุมพรให้ตรงไปใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 จนถึงอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 415 ผ่านอำเภอทับปุดเข้าสู่ตัวเมืองพังงา
  • ส่วนการเดินทางโดยรถไฟจะค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และต้องต่อรถตู้มาอีก

จังหวัดพังงาไม่มีสนามบิน หากต้องการเดินทางมาทางเครื่องบิน สามารถลงได้ 2 สนามบิน คือ

  • สนามบินระนอง (ห่างจากท่าเรือคุระบุรีประมาณ 88 กิโลเมตร) หรือ
  • สนามบินภูเก็ต (ห่างจากท่าเรือคุระบุรี 169 กิโลเมตร)

การรักษาพยาบาล

สถานพยาบาลบริเวณใกล้เคียงที่มีเครื่อง Recompression Chamber

โรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 (ฐานทัพเรือทับละมุ) ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ. พังงา โทร 076 453 342