เขาหลัก

ประเภทการดำน้ำ Shore Dive, Boat Dive
ระดับการดำน้ำ ทุกระดับ (ขึ้นกับพื้นที่)
กระแสน้ำ นิ่ง - แรง
อุณหภูมิน้ำ 26-30C
จุดดำน้ำ
  • เขาหน้ายักษ์ (Khao Na Yak)
  • หาดโพไซดอน (Poseidon Beach)
  • หาดเมอร์ลิน (Merline Beach)
  • ต.13 (พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำ) (Artificail reef, Underwater Museum)
  • เรือจมบุญสูง, แพบุญสูง (Bangsak wreck, Boonsung Wreck)
  • เรือจมเปรมชัย (Premchai wreck)
  • เรือจมซีชาร์ท (Seachart wreck, The Teak Wreck)
  • เรือหลวงพระทอง (HTMS Pratong)
ฤดูท่องเที่ยว ตุลาคม-เมษายน
สิ่งที่น่าสนใจ ฉลามวาฬ กระเบนนก ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ทากทะเล  หนอนตัวแบน ปลาปักเป้า ปลาการ์ตูน ปลาไหลมอเรย์ ฯลฯ

ข้อมูลทั่วไป

“เขาหลัก” คือชื่อเรียกรวมๆ ของพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่บางส่วนของอำเภอท้ายเหมืองไปจนถึงบางส่วนของอำเภอตะกั่วป่า แต่หากพูดถึง “หาดเขาหลัก” จะหมายถึงชายหาดที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

บริเวณนี้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงธรรมชาติที่น่าสนใจ มีอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ทั้งทางบกและทางทะเล มีน้ำตกสวยๆ มากมาย บางแห่งแค่จอดรถก็มองเห็นน้ำตกแล้ว มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น ล่องแพไม้ไผ่กลางลำธาร และมีแลนด์มาร์กของพื้นที่คือ “หาดทรายดำ” ที่เกิดจากหางแร่่ ทำให้ผืนทรายมีสีดำสนิท

นอกชายฝั่งเขาหลักออกไปมีจุดดำน้ำที่น่าสนใจหลายแห่ง ทั้งแนวปะการังธรรมชาติและปะการังเทียม ทั้ง Boat Dive และ Shore Dive และถ้าไกลฝั่งออกไปอีกประมาณ 50 กิโลเมตร ก็คือหมู่เกาะสิมิลันที่โด่งดัง

จุดดำน้ำ (รายละเอียด)

เขาหน้ายักษ์ (Khao Na Yak)

เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือทับละมุ สามารถเช่าเรือประมงชาวบ้านมาได้ เป็นอ่าวที่สงบเงียบซ่อนตัวในเวิ้งผาหิน มีหาดทรายขาวละเอียดและน้ำทะเลสีฟ้าใส เหมาะทั้งดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก ความลึกสูงสุดแค่ 9 เมตร

ที่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งสวรรค์ของคนรักทากทะเล โดยมีทากทะเลไม่ต่ำกว่า 80 สปีชีส์ รวมถึงตัวเด็ดอย่าง Miamira spp.

นอกจากนั้น เรายังสามารถพบปลาสิงโต ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ปูแต่งตัว และหากโชคดีอาจได้เจอฉลามเสือดาวด้วย

หาดโพไซดอน (Poseidon Beach)

เป็นจุดดำน้ำแบบ Shore Dive อยู่หน้าโรงแรมโพไซดอนบังกะโล มีทากทะเลหลายชนิด โดยมีตัวเด่นๆ เช่น Thuridilla spp., Oxynoe spp. ฯลฯ รวมถึงหนอนตัวแบนสีสันจัดจ้าน

หาดเมอร์ลิน (Merline Beach)

เป็นจุดดำ Shore Dive เช่นกัน นอกจากจะมีทากทะเลหลายชนิดแล้ว ยังมีทั้งหมึกสาย ปลาการ์ตูน ปลาไหลมอร์เรย์ ปลาปักเป้า ฯลฯ

(นอกจากนั้น หากลงไปตอนใต้จนถึงอำเภอตะกั่วทุ่ง บริเวณหาดเขาปิหลายก็เป็นจุด Shore Dive สำหรับสายมาโครที่น่าสนใจไม่แพ้กัน)

ต.13 - พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำ (Artificail reef, Underwater Museum)

เป็นแนวปะการังเทียมหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่คอนกรีตทรงสี่เหลี่ยม รถบรรทุกทหารปลดประจำการ เรือตรวจการณ์ ต.13 รูปปั้้นเต่า มอเตอร์ไซค์ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ฯลฯ

สัตว์ทะเลที่นี่มีตั้งแต่ตัวที่ได้เจอแน่ๆ เช่น ฝูงปลาเฉี่ยวหิน (Silver moony) ปลาหูช้าง ปลาปักเป้า ฯลฯ รวมถึงทากทะเล ซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 70 ชนิด

ส่วนใครที่แต้มบุญสูง อาจได้เจอตัวหายาก ที่ผ่านมาก็เคยมีคนเจอปลากระเบนหางหนาม (Jenkins Ray) ปลาวัวดาบ (Bearded filefish) กระเบนลายหินอ่อน (Marble Ray) เป็นต้น

เรือจมบุญสูง, แพบุญสูง (Bangsak wreck, Boonsung Wreck)

เป็นแพดูดแร่ดีบุกที่จมลงด้วยอุบัติเหตุในปี 1985 ปัจจุบันอยู่ในสภาพผุผังและมีชิ้นส่วนกระจัดกระจายที่ความลึก 18-20 เมตร

ปัจจุบัน ที่นี่เป็นแหล่งรวมตัวของปลามากมาย บางทีอาจมีนับพันๆ ตัว รวมถึงสัตว์ทะเลอื่นๆ ตั้งแต่ทากทะเลหลากหลายสปีชีส์ ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ไปจนถึงพี่ใหญ่อย่างกระเบนนกหรือฉลามวาฬ นอกจากนั้น ในมีบางปีเคยมีคนพบโลมากว่า 30 ตัว กระโดดน้ำเล่นใกล้จุดนี้ด้วย

เรือจมเปรมชัย (Premchai wreck)

เป็นเรือขุดแร่ดีบุกใต้พื้นทะเลเช่นกัน แต่หลังจากยุคเฟื่องฟูของการทำเหมืองแร่แถบนี้จบลง เรือลำนี้ก็ไม่ได้ถูกใช้งาน และทางการก็ตัดสินใจจมลงเพื่อให้เป็นปะการังเทียมในปี 2001

เรือจมซีชาร์ท (Seachart wreck, The Teak Wreck)

เป็นเรือขนไม้จากพม่าสู่เวียดนาม ซึ่งจมลงจากพายุในปี 2009 ปัจจุบันอยู่ที่พื้นทะเลที่ความลึก 42-45 เมตร ส่วนสูงสุดของเรืออยู่ที่ความลึก 24 เมตร

เรือหลวงพระทอง (HTMS Pratong)

ในอดีตเป็นเรือรบของสหรัฐฯ ที่ผ่านสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งต่อมาได้ขายต่อให้กองทัพเรือไทย และเมื่อปลดระวางก็ได้ถูกจมลงเพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์น้ำในปี 2014

การเดินทาง

สำหรับการดำน้ำที่เขาหน้ายักษ์ เรือจม และ ต. 13 มักเป็น day-trip ออกจากท่าเรือทับละมุ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา หรือถ้าเป็น liveaboard อาจเป็นไดฟ์ท้ายๆ ของวันเดินทางกลับเข้าฝั่ง

 พังงา (เขาหลัก, ทับละมุ)

การเดินทางมายังพังงา (เขาหลัก, ทับละมุ)

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดพังงาได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง

  • รถประจำทางรถโดยสารประจำทางบริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ กรุงเทพฯ-พังงา บริการทุกวัน ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2874 6122 และบริษัทเดินรถเอกชน คือ บริษัท ลิกไนท์ทัวร์ โทร. 0 2894 6151-2 สถานีพังงา ถนนเพชรเกษม (หลังธนาคารนครหลวงไทย) โทร. 0 2641 2300, 0 7641 2014
  • รถยนต์เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง จากนั้นจึงเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดพังงา รวมระยะทาง 788 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 12 ชั่วโมง เส้นทางที่สอง จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงจังหวัดชุมพร และจากจังหวัดชุมพรให้ตรงไปใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 จนถึงอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 415 ผ่านอำเภอทับปุดเข้าสู่ตัวเมืองพังงา
  • ส่วนการเดินทางโดยรถไฟจะค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และต้องต่อรถตู้มาอีก

จังหวัดพังงาไม่มีสนามบิน หากต้องการเดินทางมาทางเครื่องบิน สามารถลงได้ 2 สนามบิน คือ

  • สนามบินระนอง (ห่างจากท่าเรือคุระบุรีประมาณ 88 กิโลเมตร) หรือ
  • สนามบินภูเก็ต (ห่างจากท่าเรือคุระบุรี 169 กิโลเมตร)

การรักษาพยาบาล

สถานพยาบาลบริเวณใกล้เคียงที่มีเครื่อง Recompression Chamber

โรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 (ฐานทัพเรือทับละมุ) ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ. พังงา โทร 076 453 342