หลีกเลี่ยงการ Panic กันดีกว่า

เรื่องของการ PANIC

เพื่อนๆ นักดำน้ำ คงเคยมีประสบการณ์ ที่หวาดเสียวกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อยใช่ไหมครับ บางคนคงเคย ผ่านเหตุการณ์เฉียดฉิว บางคนอาจเคยผ่านเหตุการณ์ แค่ตกอกตกใจเล็กๆ น้อยๆ อาจมีเพื่อนๆ หลายคน ที่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกกันว่า “Near Panic” หรือแม้กระทั่ง “Panic” กันมาบ้าง คงมีคนสงสัยอยู่เหมือนกันนะครับ ว่าคนที่ผ่านเหตุการณ์หวาดเสียว หรือน่ากลัวเวลาดำน้ำน่ะ จะ Panic เหมือนกันหมดทุกคนหรือไม่

ในความเห็นของผมนะครับ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากตำรา ทางจิตวิทยาการกีฬา ที่ผมต้องอ่านมากมาย เนื่องจากเป็นวิชาชีพ ผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนหรอกครับ ที่เจอเหตุการณ์น่ากลัว แล้วจะ panic (เหตุการณ์ที่ไม่น่ากลัวมากเกินไปนะครับ หากน่ากลัวสุดๆ เช่น ไม่มีอากาศจะหายใจ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนคง panic ทั้งนั้น) เนื่องจากว่าพฤติกรรมของมนุษย์ ในเรื่องของกิจกรรมทางกายนี้ จะต้องมีพื้นฐานมาจากนิสัย (Trait) และสถานการณ์ที่เขาเผชิญ (State) ประกอบกัน เช่น คนที่มีนิสัยตื่นเต้นตกใจ หรือวิตกกังวลง่าย ก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะ panic มากกว่าคนที่มีนิสัย ตื่นเต้นตกใจวิตกกังวลยาก ภายใต้สถานการณ์กดดันเดียวกัน

การวัดนิสัย ว่าเป็นคนวิตกกังวลง่าย หรือวิตกกังวลยากนั้น ผมเคยแต่เห็นแบบวัด สำหรับสถานการณ์ในชีวิตทั่วไป และแบบวัด ที่เฉพาะเจาะจง สำหรับการกีฬา แต่ยังไม่เคยเห็นแบบทดสอบ สำหรับนักดำน้ำเลยครับ น่าสนใจ ที่จะสร้างแบบทดสอบนี้เหมือนกัน นะครับ เพราะว่าหากสามารถวัดได้ ว่านักดำน้ำคนไหน มีแนวโน้มที่จะ panic มากกว่าคนทั่วไป ก็อาจจะหาวิธีฝึกทักษะทางจิตใจ (Psychological Skill Training) ให้กับเขา หรือไม่ก็เน้น การฝึกแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการดำน้ำ ให้มากกว่านักดำน้ำทั่วไป ให้กับบุคคลนั้นได้ แบบเดียวกับที่เรา ทำกับนักกีฬา ที่ต้องเผชิญหน้า กับความกดดัน ในการแข่งขัน และบางทีก็ Panic ขณะหรือก่อนแข่งขัน นั่นแหละครับ

อย่างไรก็ดี มันก็มีสถานการณ์บางอย่าง ที่ทำให้เกิดการ panic ได้ กับนักดำน้ำทุกคน ไม่ว่ามีลักษณะบุคลิกภาพ เป็นอย่างไร นะครับ อย่างการไปหลงอยู่ ในถ้ำมืดตึ๊ดตื๋อ แล้วอากาศก็ใกล้จะหมด หาทางออกก็ไม่ได้ เป็นต้น ผมเคยอ่านหนังสือบางเล่ม แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยง ที่จะพาตัวเอง ไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ว่าต้องทำอย่างนี้ครับ

  • ไม่ดำน้ำ เกินความสามารถของตัวเอง ต้องแน่ใจว่า เรามีประสบการณ์เพียงพอ ที่จะทำการดำน้ำ แบบที่วางแผนไว้ครับ นอกจากนั้น ประสบการณ์ของบัดดี้ ต่อให้ดีแค่ไหน ก็ไม่นับสำหรับตัวเราด้วยนะครับ และก็เช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ประสบการณ์ของเรา ถึงแม้จะระดับเซียนเหยียบเมฆ ก็ทดแทนให้บัดดี้ ที่มีประสบการณ์น้อย ทำการดำน้ำระดับเดียวกับเรา ไม่ได้ครับ
  • เราต้องหลีกเลี่ยง ที่จะไปตกอยู่ในสถานการณ์ ที่เราไม่มีอุปกรณ์ ในการรับมือ กับสถานการณ์นั้นครับ เช่น ไปดำน้ำ เวลาโพล้เพล้ กว่าจะดำเสร็จ ก็กลายเป็น Night Dive ไปซะแล้ว หรือการดำน้ำ เข้าไปในซากเรือจม โดยไม่มีอุปกรณ์ และการฝึกฝน ที่ดีมาก่อน เราอาจจะเข้าไปหลงทาง และหาทางออกไม่ได้ครับ
  • เราต้องฝึกฝนทักษะ กรณีฉุกเฉินที่เรียนมา ในระดับขั้นต้นของเรา ให้เฉียบคมอยู่เสมอครับ เพื่อนๆ ไม่ได้ฝึกทำ Alternate Air Source หรือการเคลียหน้ากาก การปลดตะกั่วด้วยมือเดียว มาเป็นเวลานานแค่ไหนแล้วล่ะครับ? หากเพื่อนๆ เป็นนักดำน้ำ โดยเฉลี่ยทั่วไป ก็คงไม่ได้ฝึกทักษะพวกนี้ นับแต่เรียนจบขั้น Open Water มาใช่ไหมล่ะครับ เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ที่จะต้องฝึกฝน ทักษะเหล่านี้อยู่เสมอ เพราะบางสถานการณ์ ชีวิต และสุขภาพของเรา ขึ้นอยู่กับทักษะพวกนี้ครับ
  • เราต้องไม่ดำน้ำ หากรู้สึกไม่ปกตินะครับ ต่อให้เราดำมา กี่พันไดฟ์แล้วก็ตาม มันจะไม่ปลอดภัยครับ หากรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ปกติ ให้ skip ไดฟ์นั้น ไปเลยดีกว่าครับ อย่าให้แรงกดดัน จากเพื่อนพ้อง (Peer Pressure) หรือแรงกดดันจากอัตตา ของเราเอง (Ego Threat) มาทำให้เราดำน้ำ ทั้งๆ ที่รู้สึกไม่อยากเลยครับ มีชีวิตอยู่ไว้ดำน้ำ ในวันต่อๆ ไป สนุกกว่าครับ
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
ปรับปรุงล่าสุด 02 ต.ค. 2550