สถาบันสอนดำน้ำ และออกบัตรดำน้ำ (Dive Agency) คืออะไร

นักดำน้ำทุกคนคงคุ้นเคยกับชื่อ PADI, NAUI, SDI หรืออีกหลายๆ ชื่อที่รู้จักกันว่าเป็นสถาบันออกบัตรดำน้ำกันเป็นอย่างดี หลายคนเรียนดำน้ำแล้วเกิดความสงสัยว่า สถาบันเหล่านี้คืออะไร ทำไมจึงมีสิทธิ์ออกบัตรดำน้ำได้ และถ้าเลือกได้ เราควรเลือกเรียนกับหลักสูตรของสถาบันไหน หรือเลือกรับบัตรของสถาบันไหนดี

ต้องเกริ่นให้ฟังก่อนว่า สถาบันออกบัตรดำน้ำที่เป็นที่รู้จักกันอย่างเป็นสากล (คือร้านดำน้ำส่วนใหญ่ในโลก ยอมรับและพร้อมให้บริการ แก่นักดำน้ำที่ถือบัตรของสถาบันเหล่านี้) มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ACUC, BSAC, CMAS, IDEA, NASDS, NAUI, PADI, PDIC, PSS, SDI, SSI ซึ่งบางชื่อคุณคงไม่รู้จัก เหตุเพราะแต่ละแห่งก็โด่งดังอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น (แต่ร้านดำน้ำหรือรีสอร์ททั่วโลกยอมรับ) ที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางที่สุด ก็คือ PADI นั่นเองครับ

แล้วแต่ละสถาบันเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างไร จึงได้มีสิทธิ์ออกบัตรดำน้ำซึ่งเป็นที่ยอมรับในที่ต่างๆ ได้ทั่วโลก เรื่องนี้ต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์การดำน้ำกันนิดนึงครับ

แรกเริ่มเดิมที กิจกรรมการดำน้ำลึกแบบ scuba เป็นกิจกรรมที่รู้จักกันในวงจำกัด (ส่วนใหญ่ก็เป็นนักสำรวจกับพวกทหารเท่านั้น) อุปกรณ์ต่างๆ ยังประยุกต์ขึ้นมาทดลองและปรับปรุงแก้ไขกันไป ความรู้เรื่องผลกระทบจากการดำน้ำ ก็ยังสั่งสมกันไปเรื่อยๆ การฝึกหัดดำน้ำ ก็อาศัยวิธีการถ่ายทอดต่อๆ กันไป ครบบ้างไม่ครบบ้าง ตามแต่ว่าเรียนกับคนไหน จนถึงจุดหนึ่ง เมื่ออุปกรณ์ดำน้ำลึก ได้รับการพัฒนาจนมีความซับซ้อนน้อยลง ใช้งานได้ง่ายขึ้น เริ่มกลายเป็นกิจกรรมแบบสันทนาการ และมีคนสนใจฝึกหัดดำน้ำกันแพร่หลายมากขึ้น ก็เริ่มมีการตั้งกลุ่มเพื่อการสอนดำน้ำกันเป็นเรื่องเป็นราว และเมื่อกลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาการสอนดำน้ำให้เป็นระบบระเบียบ มีการรวบรวมความรู้ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ออกแบบการฝึกปฏิบัติให้ครบที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัย ออกแบบระดับของการเรียนต่อเนื่องให้เหมาะสมมากขึ้น จนในที่สุด กลุ่มที่มีรากฐานมั่นคง มีผลงานการสอนได้อย่างดีและปลอดภัย และมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ก็ตั้งตัวขึ้นเป็นสถาบันสอนดำน้ำนั่นเอง

หน้าที่หลักของสถาบันสอนดำน้ำ ก็คือ การออกแบบหลักสูตรการฝึกหัดคนที่ไม่เคยดำน้ำมาก่อน ให้ได้รู้จักและสามารถทำกิจกรรมนี้ได้อย่างปลอดภัย ส่วนคนที่เรียนมาแล้ว ก็สามารถเรียนรู้ทักษะหรืออุปกรณ์ขั้นสูงขึ้นไปได้ด้วย หลักสูตรการดำน้ำนี้ มีตั้งแต่เริ่มต้นการดำน้ำ (diver) การเป็นผู้ดูแลจัดการการดำน้ำให้คนอื่น (divemaster) การเป็นผู้ฝึกสอนนักดำน้ำหรือครูสอนดำน้ำ (diving instructor) ไปจนถึงการเป็นผู้พัฒนาหรือผลิตครูสอนดำน้ำ (course director) กันเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่า หลักสูตรที่ใช้ในการสอนของทุกขั้นก็จะอยู่บนแบบแผนที่ออกแบบมาให้แล้วโดยสถาบันที่สังกัดอยู่นั่นเอง ส่วนความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือการวิจัยนั้น แต่ละแห่งอาจจะอ้างอิงงานวิจัยต่างๆ หรืออาจสร้างหน่วยวิจัยเพื่อสั่งสมความรู้ มาออกแบบหลักสูตรของตัวเองก็ได้

ความยอมรับอย่างเป็นสากล

จากที่เล่ามาข้างต้น แสดงว่า หลักสูตรดำน้ำของแต่ละที่ก็ขึ้นอยู่กับว่า สืบทอดกันมาอย่างไร หรือพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งด้านทฤษฎีวิทยาศาสตร์ หรือการจัดการเรียนการสอน ขึ้นมาได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น การยอมรับอย่างเป็นสากล ก็ย่อมไม่มีมาตรฐานตายตัว ขึ้นกับว่า ร้านใด รีสอร์ทไหน จะเลือกยอมรับนักดำน้ำที่ผ่านการฝึกฝนจากสถาบันไหนบ้าง

สำหรับการดำน้ำเพื่อสันทนาการ ได้มีการรวมตัวของสถาบันสอนดำน้ำ ก่อตั้งเป็น World Recreational Scuba Training Council (WRSTC) เมื่อ ค.ศ. 1999 โดยมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสุดของหลักสูตรการเรียนดำน้ำ ที่จำเป็นต่อการดำน้ำอย่างปลอดภัย และรับรองหลักสูตรของสถาบันดำน้ำต่างๆ เมื่อได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ว่านี้ หมายความว่า สถาบันสอนดำน้ำใด ที่ได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกของ WRSTC ก็ถือได้ว่าเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลนั่นเอง

อีกองค์กรหนึ่งที่ออกแบบมาตรฐานขั้นต่ำสุดของการจัดการสอนดำน้ำ ก็คือ ISO นั่นเอง ซึ่งก็ครอบคลุมเฉพาะการดำน้ำเพื่อการสันทนาการเท่านั้น เช่นเดียวกับ WRSTC แต่เนื่องจาก ไม่เป็นที่ทราบในรายละเอียดมากนัก จึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ครับ

แล้วสถาบันไหนมีหลักสูตรที่ดีกว่ากัน

ต้องเรียนตามตรงว่า ผมเองก็ได้สัมผัสหลักสูตรดำน้ำมาไม่กี่สถาบัน เท่าที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่คนไทยเท่านั้น ก็เพียงบอกได้ว่า เนื้อหาและทักษะที่ต้องฝึกฝนของ 2 - 3 สถาบันที่คุ้นชื่อกันในหมู่นักดำน้ำคนไทย เหมือนกันเกือบทั้งหมด แม้แต่ในรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนที่แตกต่างกันมีเพียง 1 - 2 เรื่องซึ่งไม่ว่าเรียนแบบใด ก็ให้ผลด้านความปลอดภัยไม่ต่างกัน (และต่างก็เป็นสมาชิกของ WRSTC ทั้งนั้นด้วย) ส่วนที่แตกต่างกัน และมีผลต่อความสนุกสนาน หรือหงุดหงิดน่ารำคาญ ก็เห็นจะเป็นเรื่อง ความรวดเร็วและความถูกต้องเรียบร้อยในการดำเนินการต่างๆ (เช่น การออกบัตร) และการคิดค่าใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ (เช่น การออกบัตร อีกนั่นล่ะครับ) สำหรับข้อมูลทั่วไป หลักการพื้นฐานหรือแนวคิดการออกแบบหลักสูตร ของสถาบันที่เป็นที่รู้จักกัน ผมขอสรุปสั้นๆ จากที่รู้จักกันและที่สถาบันนั้นๆ ได้แถลงไว้ต่อสาธารณะ มาให้อ่านกัน ดังนี้ครับ

PADI (Professional Association of Diving Instructors)

  • ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1966 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ California สหรัฐอเมริกา ส่วนสำนักงานที่ดูแลประเทศไทย คือ PADI Asia Pacific ตั้งอยู่ที่ Australia
  • เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก มีนักดำน้ำถือบัตรของ PADI เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก
  • ก่อตั้งหน่วยงานวิจัยเกี่ยวกับการดำน้ำชื่อ Diving Science and Technology หรือ DSAT ภายใต้ทุนสนับสนุนของ PADI เอง และออกหลักสูตรสำหรับ Technical Diver เมื่อปี 2001 (ปัจจุบันกลับมารวมเป็นองค์กรเดียวกับกับ PADI เมื่อปีค.ศ. 2010)
  • มีแนวคิด Performance-Based Learning ซึ่งหมายถึง การที่คุณจะผ่านหลักสูตรแต่ละขั้นได้ จากการฝึกฝนทักษะและได้แสดงให้ผู้สอนดำน้ำ เห็นว่าคุณมีความชำนาญในทักษะนั้นๆ อย่างเพียงพอที่จะใช้งานได้ในการดำน้ำจริง
  • มีแนวคิด Continuing Diver Education ซึ่งหมายถึง พัฒนาทักษะใหม่ๆ ด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผ่านหลักสูตรเฉพาะทาง (Specialty) ซึ่งมีให้เลือกมากมาย จาก PADI
  • ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Responsibility) โดย PADI ได้ก่อตั้ง Project AWARE ในการระดมทุน เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
  • มีการส่งเสริมการตลาดอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ ผ่านสื่อทั้งนิตยสาร Undersea Journal, เว็บไซต์ สำหรับสื่อสารและแนะนำร้านดำน้ำและครูผู้สอนทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอน การจัดทริป และการตลาด
  • มีระบบ eLearning ที่เริ่มเปิดใช้เมื่อปี ค.ศ. 2007

SDI (Scuba Diving International)

  • ก่อตั้งเมื่อปี 1999 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Florida สหรัฐอเมริกา ส่วนสำนักงานที่ดูแลประเทศไทยคือ SDI Asia ตั้งอยู่ที่ Singapore
  • มีสถาบันแม่คือ TDI (Technical Diving International) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1993 และเป็นสถาบันสอน การดำน้ำแบบ technical diving ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้พัฒนาเทคนิคการดำน้ำใหม่ๆ มากมาย ได้รับความไว้วางใจให้เป็นนักดำน้ำผู้ช่วยในการทำสถิติโลกเกี่ยวกับการดำน้ำลึก และการถ่ายทำภาพยนตร์ทางทะเลมากมาย
  • มีแนวคิดในการสอนดำน้ำโดยเน้นที่การฝึกฝนทักษะการดำน้ำ ร่วมกับการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อประสบการณ์การดำน้ำที่มีความสุขและสะดวกสบาย โดยมิได้ลดทอนด้านความปลอดภัยแต่ประการใด
  • เป็นสถาบันเดียวที่กำหนดให้ใช้ dive computer เป็นอุปกรณ์บังคับในการเรียนดำน้ำตั้งแต่ไดฟ์แรก
  • เป็นรายแรกที่เปิดใช้ระบบ eLearning ที่ใช้งานง่ายและตรงไปตรงมา โดยผู้เรียนสามารถเริ่มต้นการเรียนดำน้ำได้ทุกที่ที่สะดวก และมีอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นจึงมาฝึกทักษะกับครูผู้สอนต่อไป
  • เป็นสถาบันแรกและสถาบันเดียวในปัจจุบัน (มกราคม 2012) ที่มีหลักสูตร solo diving สำหรับนักดำน้ำสันทนาการ (แน่นอนว่า ต้องการประสบการณ์, อุปกรณ์ และฝึกทักษะเพิ่มเติมอย่างมาก) ซึ่งแต่เดิมมีเรียนกันในกลุ่ม technical diving เท่านั้น
  • มีระบบ eLearning ที่เริ่มเปิดใช้เมื่อปี ค.ศ. 2003

แล้วไว้ถ้าพอมีเวลาอีก จะไปค้นคว้ามาเพิ่มให้ครับ

หากท่านสนใจใคร่รู้แนวคิด ปรัชญา การออกแบบหลักสูตรของสถาบันสอนดำน้ำต่างๆ แบบลึกซึ้ง ถึงแก่น ขอแนะนำให้ท่านลองศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของสถาบันเหล่านั้น ดังที่แสดงไว้ด้านล่างนี้ ประกอบกับการรับฟังจากเพื่อนร่วมทริป หรือครูสอนดำน้ำของท่าน เพื่อพิจารณาให้เห็นชัดเจนต่อไป