แผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน

การบาดเจ็บจากการดำน้ำ และการปฐมพยาบาล

การบาดเจ็บในการดำน้ำนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นแล้ว ผลที่ตามมามักจะรุนแรง อาจนำไปสู่การบาดเจ็บสาหัส การพิการ หรือการเสียชีวิตได้ วิธีการหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการดำน้ำที่ดีที่สุดคือ การไม่ประมาท ดำน้ำด้วยความรอบคอบ ปฏิบัติตนตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อแนะนำ ของสถาบันดำน้ำที่เรียนมา ของ instructor และ divemaster อย่างเคร่งครัด ไม่ควรทำในสิ่งที่เกินความสามารถของตน ไม่ควรดำน้ำด้วยความคึกคะนอง อวดเก่ง หรือเพื่ออวดความสามารถของตน

นอกจากนั้น สิ่งที่ควรจะมีคือ การมีแผนปฏิบัติการสำหรับกรณีฉุกเฉินดังเช่นในเอกสารฉบับนี้ การมีแผนปฏิบัติการที่ดีนั้น จะทำให้นักดำน้ำนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติในเวลาวิกฤติ ไม่ต้องเสียเวลาทบทวนหรือเดาว่าสิ่งที่ตนจะกระทำนั้นถูกต้องหรือไม่ และนำไปสู่การกู้ภัยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง

การบาดเจ็บจากการดำน้ำนั้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน บางอย่างก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไป ขณะที่บางอย่างก็จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ดำน้ำด้วยอุปกรณ์ในการหายใจใต้น้ำเท่านั้น เอกสารฉบับนี้จะแนะนำถึงอุบัติเหตุ การบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาล การติดต่อสื่อสาร และวิธีการนำผู้ป่วยไปส่งแพทย์ในกรณีฉุกเฉินจากการดำน้ำ

สิ่งที่สำคัญในการรับมือกับกรณีฉุกเฉินนั้น คือการเตรียมพร้อม ทั้งความพร้อมด้านบุคลากร ข่าวสารข้อมูล และอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือในการดำเนินการ นั่นคือ บุคลากรที่จะรับมือกับกรณีฉุกเฉินในการดำน้ำนั้น ควรที่จะมีความพร้อมทั้งในด้านความรู้ ด้านร่างกาย และจิตใจ บุคลากรดังกล่าว ควรมีสมรรถภาพทางกายที่ดี มีทักษะในการดำน้ำและว่ายน้ำเป็นอย่างดี มีความรู้ความสามารถในเรื่องการกู้ภัยจากการดำน้ำ และมีจิตใจที่พร้อมในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติอันอาจจะเกิดขึ้น อันดับต่อมา ในการที่จะรับมือกับกรณีฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรจะต้องมีการเตรียมข้อมูลที่จะใช้ เช่น ข้อมูลวิธีการดำเนินการต่างๆ ข้อมูลวิธีการติดต่อกับบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลวิธีการขนส่งผู้ป่วยไปยังแพทย์ เส้นทางการเดินทาง ฯลฯ และสุดท้าย สำหรับการรับมือกับกรณีฉุกเฉิน ควรจะมีอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ที่คาดว่าน่าจะได้ใช้งานไว้ใกล้ๆ เช่น เครื่องมือช่วยคนตกน้ำ อุปกรณ์ปฐมพยาบาล เป็นต้น

อุปกรณ์ที่ควรมี ในกรณีฉุกเฉิน มีดังต่อไปนี้

  • กล้องส่องทางไกล
  • คลิปบอร์ด กระดาษ ปากกา ดินสอ
  • กระดานกู้ภัย หรือเซิร์ฟบอร์ด
  • เชือกขนาด และความยาวต่างๆ
  • สมอ สำหรับทำ Circular Sweep
  • เข็มทิศใต้น้ำ
  • เครื่องหมายสำหรับปักใต้น้ำ
  • ทุ่น Marker
  • ผ้าห่ม

อุปกรณ์ปฐมพยาบาล

อันประกอบไปด้วย

  • คู่มือการปฐมพยาบาล
  • สำลีทำแผล
  • แผนปฏิบัติการ และข้อมูลสื่อสาร
  • แผ่นซับแผล
  • เหรียญ สำหรับหยอดโทรศัพท์
  • เทปพันแผล และเทปทั่วไป
  • น้ำส้มสายชู
  • ที่กดลิ้น
  • ยา Sea Balm หรือ Bacitrincin
  • ที่วัดอุณหภูมิร่างกาย
  • Cortizone Cream
  • มีดโกน
  • ยาแก้ปวด ที่ไม่ใช่แอสไพริน
  • กรรไกร
  • สบู่
  • ไม้ขีดไฟ หรือไฟแช็ค
  • ถุงร้อน
  • ผ้าห่ม
  • ถุงเย็น
  • ไม้ทำเฝือก
  • แอลกอฮอล์
  • ไฟฉายขนาดเล็ก
  • แผ่นพลาสติก
  • ยาแก้เมาคลื่น
  • ผ้ากอซห้ามเลือด
  • Pocket Mask
  • ขวดบีบใส่น้ำเปล่า
  • อุปกรณ์ให้ออกซิเจน
  • ผ้าสามเหลี่ยม และผ้าพันแผลแบบม้วน

การบาดเจ็บจากการดำน้ำที่มีโอกาสเกิดขึ้น และการปฐมพยาบาล มีดังต่อไปนี้

โรคเบนด์ หรือ Decompression Sickness

เป็นการเจ็บป่วยอันเกิดจากก๊าซไนโตรเจนที่ถูกดูดซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกายเมื่อนักดำน้ำลงไปในความลึก ปลดปล่อยออกมาช้ากว่าอัตราการลดของความดันภายนอกร่างกายของนักดำน้ำเมื่อขึ้นมาสู่ผิวน้ำ อันจะก่อให้เกิดฟองอากาศในเนื้อเยื่อ และเข้าสู่กระแสเลือด เกิดการขัดขวางการไหลเวียนของเลือด และนำไปสู่อาการต่างๆ ของโรคเบนด์มากน้อยตามลักษณะ บริเวณ และปริมาณของฟองอากาศที่เกิดขึ้น

มีนักสรีรวิทยาจำนวนมากที่เชื่อว่าฟองอากาศนั้น เกิดขึ้นและอยู่ในร่างกายของนักดำน้ำหลังจากการดำน้ำทุกครั้ง หากฟองอากาศนี้มีจำนวนน้อยและมีขนาดเล็ก ก็จะไม่มีผลกระทบอันใดต่อนักดำน้ำ ในทางตรงกันข้าม หากฟองอากาศมีมากและมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ก็อาจทำให้เกิดอาการของโรคเบนด์ขึ้นมาได้

สาเหตุของโรคเบนด์นี้ มักเกิดจากการที่นักดำน้ำขึ้นจากความลึกสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป และจากการอยู่ใต้น้ำที่ความลึกและเวลาที่เกินกว่าร่างกายจะทนได้ สภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่เหมาะสม ความเหนื่อย ความเย็น สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งเทคนิคการดำน้ำ เช่น การไม่ทำ Safety Stop เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการเกิดโรคเบนด์จากการขึ้นเครื่องบินหรือขึ้นสู่ความสูงเกิน 300 เมตรภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมงหลังจากขึ้นสู่ผิวน้ำ อัตราความกดดันของอากาศที่น้อยกว่าที่ระดับน้ำทะเลอาจทำให้ก๊าซไนโตรเจนที่ยังตกค้างในร่างกายของนักดำน้ำขยายตัวขึ้นมา จนทำให้เกิดอาการของโรคเบนด์ขณะขึ้นเครื่องบินได้

เนื่องจากฟองอากาศนี้ สามารถก่อตัวขึ้นมาได้ทุกที่ในร่างกายของคน อาการและความรุนแรงของโรคเบนด์ จึงมีหลายระดับ หลายอาการ แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณของฟองอากาศที่เกิดขึ้นในร่างกายของผู้ป่วย โรคเบนด์นี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองชนิดใหญ่ตามลักษณะอาการที่เกิดขึ้น คือ

  • แบบที่ 1 เป็นอาการที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง หรือตามข้อต่อต่างๆ โรคเบนด์แบบนี้ มักจะมีความรุนแรงน้อยกว่าแบบที่ 2 นักดำน้ำที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการคัน ชา เจ็บ ตามผิวหนัง หรือมีอาการปวดตามข้อต่างๆ เช่น ข้อนิ้ว ข้อศอก ข้อเข่า เป็นต้น
  • แบบที่ 2 เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับระบบอื่นๆ ของร่างกาย มักเป็นระบบสมอง ระบบประสาท ระบบการหายใจ ระบบการย่อยอาหาร เป็นต้น อาการของโรคเบนด์แบบนี้ มักเกิดความอ่อนเพลียผิดปกติอย่างมาก วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน เป็นอัมพาต เสียการทรงตัว ไม่สามารถกลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการหยุดหายใจ เจ็บหน้าอก หรือไออย่างมาก จนกระทั่งอาจหมดสติไปได้

โดยปกติ อาการของโรคเบนด์ทั้งสองแบบนี้ มักเกิดขึ้นหลังจากขึ้นสู่ผิวน้ำแล้ว ตั้งแต่ 5 นาที ถึง 12 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่ อาการของโรคเบนด์จะเกิดขึ้นช้า ผู้ป่วยมักไม่หมดสติทันที อาการมักเกิดขึ้นทั้งสองด้านของร่างกาย และมีการตอบสนองต่อการปฐมพยาบาลน้อย

เมื่อผู้ป่วยมีอาการแสดงให้เห็นว่าเป็นโรคเบนด์แล้ว วิธีการรักษาพยาบาลก็คือ การนำผู้ป่วยเข้า Recompression Chamber เพื่อให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ความดันที่ทำให้เกิดฟองอากาศในขั้นแรกก่อนที่จะเป็นโรคเบนด์ การกลับเข้าสู่ความดันดังกล่าวนี้ ยิ่งเร็วเท่าไรก็จะยิ่งลดแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ป่วยพิการมากเท่านั้น เนื่องจากการกลับเข้าสู่ความดัน จะทำให้ฟองอากาศซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคเบนด์นี้ หดตัวลงไป หรือกลับเข้าสู่สภาพของเหลว ซึ่งจะทำให้อาการเจ็บป่วยของโรคเบนด์นี้หายไป จากนั้นจึงค่อยๆ ลดความกดดันอย่างช้าๆ เพื่อให้ก๊าซไนโตรเจนค่อยๆ ออกจากร่างกายตามปกติอย่างปลอดภัย

วิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคเบนด์เบื้องต้นนั้น คือ การจัดกระบวนการกู้ชีวิตเบื้องต้น (Basic Life Support) แล้วจึงให้ผู้ป่วยหายใจเอาก๊าซออกซิเจน (หากเป็นไปได้ควร 100%) เข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมีอยู่ จนกระทั่งถึงมือแพทย์ การที่ผู้ป่วยหายใจเอาก๊าซออกซิเจนเข้าไปนั้น จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกำจัดเอาก๊าซไนโตรเจนออกจากร่างกายโดยเร็วและปลอดภัย

ขณะทำการปฐมพยาบาล ควรให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย เอามือซ้ายหนุนศีรษะไว้ ท่านอนท่านี้จะทำให้ทางเดินอากาศเปิดอยู่เสมอ หากผู้ป่วยจะอาเจียน ไม่ควรให้ผู้ป่วยนั่ง เนื่องจากเคยมีการศึกษาพบว่าการขึ้นมานั่ง จะทำให้อาการของโรคหนักไปกว่าเดิม สำหรับผู้ป่วยที่ไม่หายใจ ควรให้นอนหงายเพื่อรับการปฐมพยาบาลและการผายปอดปั๊มหัวใจ

การบาดเจ็บจากปอดขยายตัวมากเกินไป (Lung Overexpansion)

เกิดจากการขยายตัวของอากาศในปอดของนักดำน้ำซึ่งถูกปิดกั้นไว้ไม่ให้ระบายออกนอกร่างกายด้วยสาเหตุต่างๆ ทำให้เนื้อเยื่อหรือถุงลมในปอดขยายตัวเกินกว่าที่จะรับได้ และเกิดการรั่วของอากาศไปยังที่ต่างๆ หรือสู่กระแสโลหิต โดยส่วนมาก การบาดเจ็บชนิดนี้มักเกิดจากการกลั้นหายใจขณะขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น การขัดขวางทางเดินของระบบหายใจขณะขึ้นสู่ผิวน้ำ จากของเหลว เสมหะ เนื่องจากการเป็นหวัด ติดเชื้อในปอด หรือการปิดของท่อ Alveolus ของ Bronchioulus เพราะสารเคลือบท่อเหล่านั้นสูญหายไปเนื่องจากการสูบบุหรี่ เป็นต้น

การบาดเจ็บของปอดนี้ อาจเกิดขึ้นได้จากการขยายตัวของอากาศเพียงน้อยนิดเท่านั้น นักดำน้ำอาจจะเกิดการบาดเจ็บได้ หากกลั้นหายใจและขึ้นมาเพียงสองหรือสามฟิตเท่านั้นเอง

การบาดเจ็บดังกล่าว ไม่ได้ทำให้ปอดฉีกขาดในลักษณะเดียวกับลูกโป่งแตก แต่จะฉีกขาดภายใน อาการบาดเจ็บนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด คือ

  • Air Emblism เป็นอาการปอดขยายตัวมากเกินไป ที่ร้ายแรงที่สุดและมักพบบ่อยที่สุดด้วย เนื่องจากอากาศที่ขยายตัว ทำให้ถุงลม (alveoli) ในปอดฉีกขาด อากาศรั่วเข้าไปในกระแสเลือด เกิดฟองอากาศในเส้นเลือดที่หัวใจ อาจเกิดการขัดขวางทางเดินโลหิตที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง มักทำให้เกิดอาการตามัว เวียนศีรษะ หมดสติกระทันหัน ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น ไอ น้ำลายเป็นฟองเลือด อาจหยุดหายใจหรือเสียชีวิตได้ อาการนี้มักเกิดขึ้นภายใน 5 นาทีหลังจากขึ้นสู่ผิวน้ำ
  • Mediastinal Emphysema เกิดจากอากาศรั่วเข้าสู่แกนกลางของปอด และสะสมจนกระทั่งกดหัวใจ และหลอดเลือด รบกวนการไหลเวียนโลหิต ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บใต้กระดูกหน้าอก หยุดหายใจ หายใจติดขัด ต้องพยายามกลืนอากาศ เป็นลม หมดสติ ช็อค
  • Subcutaneous Emphysema เกิดจากอากาศรั่วไปสู่ฐานของคอ จะรู้สึกว่ามีลมอยู่ภายใต้ผิวหนัง บริเวณคอ เสียงเปลี่ยน รู้สึกหายใจติดขัด
  • Pneumothorax เกิดจากการขยายตัวจนปอดฉีกขาด อากาศรั่วเข้าไปในบริเวณระหว่างปอดและผนังของปอด ทำให้เกิดการยุบตัว (Collapse) ของปอดข้างนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกมาก หายใจติดขัด หายใจไม่ออก ชีพจรเต้นผิดปกติ

ถึงแม้ว่าอาการปอดขยายตัวมากเกินไปนี้ จะมีเพียงแบบ Air Embolism ชนิดเดียว ที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่การขยายตัวของปอดแบบอื่นๆ ก็อาจเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า Air Embolism อาจเกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้เอง หากมีอาการปอดขยายตัวมากเกินไป ผู้ป่วยจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับแบบ Air Embolism ไม่ว่าจะมีอาการแบบใดก็ตามที

การให้การรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยปอดขยายตัวมากเกินไปแบบ Air Embolism นั้นคือ การเข้าสู่ความกดดันใน Chamber เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเบนด์ เพื่อให้ฟองอากาศที่เกิดขึ้นในร่างกายของผู้ป่วยหดลดขนาด หรือกลับเข้าสู่ภาวะของเหลว และถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยปอดขยายตัวมากเกินไปแบบอื่นๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องกลับเข้าสู่ความกดดัน

ผู้ป่วยแบบ Pneumothorax จะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาอากาศที่เกิดขึ้นระหว่างปอดที่ยุบไปกับผนังปอดออกมา จากนั้นจะต้องเติมลมเข้าไปในปอด สำหรับผู้ป่วยแบบ Mediastinal Emphysema และ Subcutaneous Emphysema นั้น จะหายกลับเป็นปกติเองหลังจากเลือดได้ดูดซับเอาอากาศที่ถูกกักอยู่ออกไป

โดยปกติแล้ว อาการปอดขยายตัวมากเกินไปนี้ มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีหลังจากขึ้นสู่ผิวน้ำ ผู้ป่วยมักหมดสติทันที และมีอาการของร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง รวมทั้งมีการตอบสนองที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วต่อการปฐมพยาบาล โดยเฉพาะการได้รับออกซิเจน 100%

หากมีเหตุฉุกเฉินซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคเบนด์ หรือมีอาการปอดขยายตัวมากเกินไป ให้ข้ามขั้นตอนวินิจฉัยนี้ไป และทำการปฐมพยาบาลเลย เนื่องจากขั้นตอนในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยทั้งสองโรคนี้เป็นวิธีการเดียวกัน

การปฐมพยาบาล สำหรับโรคเบนด์ และปอดขยายตัวมากเกินไป ควรดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • เรียกผู้ป่วย เพื่อตรวจสอบปฏิกริยาตอบสนอง
  • เปิดทางหายใจ ตรวจดูว่ามีสิ่งมาขัดขวาง การเดินทางของลมหายใจ ตรวจเสียงที่ผิดปกติ
  • ตรวจสอบลมหายใจ ด้วยการดู ฟัง และสัมผัส หากพบว่าผู้ป่วยไม่หายใจ ให้ทำการผายปอดช่วยชีวิต โดยการเป่าอากาศเข้าสู่ปอดของผู้ป่วยช้าๆ สองครั้ง และเป่าต่อไปอีก ในอัตราห้าวินาทีต่อหนึ่งครั้ง
  • ตรวจสอบการไหลเวียนของโลหิต ตรวจสอบอัตราการเต้นของชีพจรที่บริเวณลำคอของผู้ป่วย หากพบว่าผู้ป่วยไม่มีการเต้นของชีพจร ให้ทำการปั๊มหัวใจให้ผู้ป่วย โดยการใช้สันมือกดที่กระดูกหน้าอกตรงที่ซี่โครงทั้งสองด้านเข้ามาบรรจบหากัน และสูงขึ้นมาทางศีรษะผู้ป่วยประมาณ 1 นิ้ว ให้ทำการกดกระดูกดังกล่าวลงไปลึกประมาณ 1-2 นิ้วฟุต ในอัตรา 80-100 ครั้งต่อนาที ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีทั้งลมหายใจและไม่มีชีพจร ให้ทำการเป่าปากสองครั้ง สลับกับการปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง และกลับไปเป่าปากอีก 2 ครั้งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้ป่วยมีการเต้นของหัวใจ และสามารถหายใจได้เอง หรือจนกระทั่งถึงมือแพทย์
  • ตรวจสอบอาการไหลของโลหิตว่ามีหรือไม่ หากมีต้องทำการห้ามเลือด
  • ตรวจสอบอาการช็อก หากพบอาการ ให้ควบคุมอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วย ให้นอนกับพื้น ยกขาขึ้น 8-12 นิ้วฟุต และทำการตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนแรก วนเวียนกันจนถึงขั้นตอนนี้อย่างต่อเนื่อง
  • จากนั้น ให้ทำการสอบถามผู้ป่วยเพื่อดูว่าอาการป่วยเกิดจากโรคเบนด์หรือโรคปอดขยายตัวมากเกินไป โดยให้ถามผู้ป่วยว่า ได้ทำการหายใจด้วยอากาศอัดใต้น้ำหรือไม่ ขึ้นสู่ผิวน้ำกระทันหันหรือไม่ ดำน้ำลึกเท่าไร ใช้เวลาใต้น้ำนานเท่าใด รู้สึกอ่อนเพลียอย่างมากหรือไม่ รู้สึกเจ็บปวดตามข้อ ตามหลัง หรือบริเวณท้องหรือเปล่า รู้สึกเวียนศีรษะหรือไม่ รู้สึกชา หมดความรู้สึก หรือเป็นอัมพาตหรือเปล่า มีอาการหายใจติดขัดหรือไม่
  • หากพบว่าผู้ป่วย มีอาการจากโรคเบนด์ หรือปอดขยาย ให้ปลอบผู้ป่วยไม่ให้ตกใจ ให้ความเชื่อมั่นกับผู้ป่วย ว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายลงไปได้ และคอยตรวจดูอาการหายใจและการไหลเวียนโลหิตของผู้ป่วย
  • ให้ผู้ป่วยนอนลงในท่าที่สบาย ในกรณีผู้ป่วยหมดสติ ให้นอนหงาย อย่าให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งหรือยืน หากผู้ป่วยอาเจียน ให้เอียงตัวผู้ป่วย รักษาทางเดินหายใจให้เปิดไว้ และทำความสะอาดให้กับผู้ป่วย
  • ให้ผู้ป่วยหายใจจากถังออกซิเจนฉุกเฉินที่เตรียมไว้ ในกรณีผู้ป่วยหมดสติ ให้ใช้เครื่องแบบ Continuous Flow และให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจน 60-100% ดังนี้ จนถึงมือแพทย์
  • สามารถให้ผู้ป่วยดื่มน้ำที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนได้
  • ติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉิน

จมน้ำ น้ำเข้าปอด

กรณีจมน้ำ และผู้ป่วยยังไม่เสียชีวิตนั้น น้ำที่เข้าไปในปอดจะไปขัดขวางการขนส่งออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาดออกซิเจน (Hypoxia) อาการนั้น มีความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ป่วยจมน้ำ หากผู้ป่วยจมน้ำไม่นานเกินไป เช่น น้อยกว่า 4 นาที หากได้รับการปฐมพยาบาลและการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจกลับเป็นปกติได้ ในขณะเดียวกัน หากผู้ป่วยจมน้ำอยู่นาน เช่น 6-10 นาที ก็มีแนวโน้มว่า ผู้ป่วยอาจไม่กลับมาสู่สภาวะเดิม อาจพิการหรือเสียชีวิตในที่สุด

อาการที่มักเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการไอ หยุดหายใจ หายใจถี่ ชัก หมดสติ หัวใจวาย หรือเสียชีวิต ผู้ป่วยมักมีริมฝีปากและปลายเล็บม่วงคล้ำ

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ป่วยจมน้ำนั้น คือ การทำให้ผู้ป่วยหายใจและมีการเต้นของหัวใจกลับคืนมา ด้วยการผายปอดและปั๊มหัวใจ ในกรณีไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยหายใจด้วยก๊าซออกซิเจน (100%) หากเป็นไปได้

ข้อควรคำนึงในการให้การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่จมน้ำ ก็คือ ในบางกรณี ผู้ป่วยกลับฟื้นคืนสติและมีอาการดีขึ้นมา ก็ยังจำเป็นต้องดูแลให้การปฐมพยาบาลต่อจนกระทั่งถึงมือแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดน้ำท่วมปอดได้อีกภายในระยะเวลาอันสั้น

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ป่วยจมน้ำ

ควรดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • เรียกผู้ป่วย เพื่อตรวจสอบปฏิกริยาตอบสนอง
  • เปิดทางหายใจ ตรวจดูว่ามีสิ่งมาขัดขวางการเดินทางของลมหายใจ ตรวจเสียงที่ผิดปกติ
  • ตรวจสอบลมหายใจ ด้วยการดู ฟัง และสัมผัส หากพบว่าผู้ป่วยไม่หายใจ ให้ทำการผายปอดช่วยชีวิต โดยการเป่าอากาศเข้าสู่ปอดของผู้ป่วยช้าๆ สองครั้ง และเป่าต่อไปอีกในอัตราห้าวินาทีต่อหนึ่งครั้ง
  • ตรวจสอบการไหลเวียนของโลหิต ตรวจสอบอัตราการเต้นของชีพจร ที่บริเวณลำคอของผู้ป่วย หากพบว่าผู้ป่วยไม่มีการเต้น ของชีพจร ให้ทำการปั๊มหัวใจให้ผู้ป่วย โดยการใช้สันมือกดที่กระดูกหน้าอกตรงที่ซี่โครงทั้งสองด้านเข้ามาบรรจบหากัน และสูงขึ้นมาทางศีรษะผู้ป่วยประมาณ 1 นิ้ว ให้ทำการกดกระดูกดังกล่าวลงไปลึกประมาณ 1-2 นิ้วฟุต ในอัตรา 80-100 ครั้งต่อนาที ในกรณีที่ ผู้ป่วยไม่มีทั้งลมหายใจและไม่มีชีพจร ให้ทำการเป่าปากสองครั้ง สลับกับการปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง และกลับไปเป่าปากอีก 2 ครั้งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้ป่วยมีการเต้นของหัวใจ และสามารถหายใจได้เอง หรือจนกระทั่งถึงมือแพทย์
  • ตรวจสอบอาการไหลของโลหิตว่ามีหรือไม่ หากมีต้องทำการห้ามเลือด
  • ตรวจสอบอาการช็อก หากพบอาการ ให้ควบคุมอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วย ให้นอนกับพื้น ยกขาขึ้น 8-12 นิ้วฟุต และทำการตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนแรก วนเวียนกันจนถึงขั้นตอนนี้อย่างต่อเนื่อง
  • ให้ผู้ป่วยนอนลงในท่าที่สบาย ในกรณีผู้ป่วยหมดสติ ให้นอนหงาย อย่าให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งหรือยืน หากผู้ป่วยอาเจียน ให้เอียงตัวผู้ป่วย รักษาทางเดินหายใจให้เปิดไว้ และทำความสะอาดให้กับผู้ป่วย
  • ให้ผู้ป่วยหายใจจากถังออกซิเจนฉุกเฉินที่เตรียมไว้ ในกรณีผู้ป่วยหมดสติ ให้ใช้เครื่องแบบ Continuous Flow และให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจน 60-100% ดังนี้ จนถึงมือแพทย์
  • ติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉิน
  • ให้ทำการปฐมพยาบาลอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงมือแพทย์ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นจนเป็นปกติแล้วก็ตาม

การให้ออกซิเจนสำหรับผู้ป่วย

เรือที่ไปดำน้ำ ควรจะต้องเตรียมถังออกซิเจนฉุกเฉินไว้ในปริมาณที่เพียงพอต่อการนำผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล สำหรับในกรณีของการดำน้ำที่บริเวณเกาะจวงและอ่าวสัตหีบนั้น เวลาในการเดินทางจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยใช้เวลาในการเดินทางทางเรือประมาณ 40 นาที และการเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 20 นาที

ปริมาณออกซิเจนที่ควรเตรียมไว้ในเรือสำหรับกรณีฉุกเฉิน ควรมีถังปริมาตร 50 C .ft. และอัดอากาศที่ความดัน 150 BAR จำนวน 2 ถัง เนื่องจากถังหนึ่งจะสามารถหายใจได้ในอัตราการหายใจปกติประมาณ 40 นาที

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
ปรับปรุงล่าสุด 20 ต.ค. 2566