ผมเหลือบมองดูนาฬิกาที่ข้อมือ ซึ่งแสดงเวลาแปดโมงเช้า ก่อนที่จะก้าวเท้าออกจาก platform ของเรือ ลงไปสู่ความเย็นเฉียบ ของน้ำทะเสสีคราม ที่ใสแจ๋วเสียจนสามารถมองเห็นพื้นทราย และแนวปะการังจากพื้นผิวน้ำ ได้อย่างชัดเจน นักดำน้ำอีกห้าคน ก็ก้าวเท้าลงจาก Platform ตามกันมาติดๆ พวกเราต่างก็ว่ายน้ำเข้าหา หินสองสามก้อนที่โผล่พ้นน้ำ ขึ้นมาประมาณสองเมตร ดูจากบนผิวน้ำแล้ว คงไม่มีใครนึกออกว่า ข้างล่างใต้หินสองสามก้อนนี้ คือสถานที่อันสวยงาม เป็นโลกใต้น้ำที่ดึงดูดให้ผู้คน หลากหลายทุกชาติทุกภาษา มาเยี่ยมเยียนในแต่ละปี อย่างมากมายมหาศาล
“หินแดง” แห่งน่านน้ำ ในเขตจังหวัดตรัง เป็นชื่อของแหล่งดำน้ำ ที่เราใช้ประเดิมทริปกลางฤดูกาลดำน้ำ ในทะเลอันดามันนี้ เมื่อคืนก่อนหน้านี้ นักดำน้ำทั้งหมดยี่สิบห้าชีวิต เดินทางมาด้วยวิธีการต่างๆ บางคนก็ขึ้นเครื่องบิน บางคนก็นั่งรถบัส และอีกหลายคน ขับรถมาจากกรุงเทพฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการไปดำน้ำด้วยกัน เรือที่นำพวกเรามา ออกจากท่าเรือในจังหวัดภูเก็ต ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย โดยกัปตันได้แจ้งให้ทราบว่า ต้องการออกจากท่าในเวลาดึกสักหน่อย จะได้ไปถึงหินแดงหมายดำน้ำ แห่งแรกของเราในเวลาเช้าพอดี
ผมหันหน้าเข้าหาบัดดี้ ให้สัญญาณกดหัวแม่โป้งลงสู่ผิวน้ำ ซึ่งเป็นสัญญาณ ที่รู้กันในหมู่นักดำน้ำว่า เริ่มต้นการดำน้ำได้แล้ว หลังจากนั้น ทุกคนก็ตรวจสอบทิศทางที่จะไปใต้น้ำ ตั้งเวลาบนนาฬิกาข้อมือ เอาเร็กกูเลเตอร์เข้าปากเสร็จเรียบร้อย จึงเริ่มปล่อยลมออกจากเสื้อชูชีพ ที่มีชื่อทางเทคนิคว่า BCD (Buoyancy Control Device) เสื้อแบบนี้ สมัยก่อนนักดำน้ำรุ่นแรกๆ ไม่ได้ใช้กัน บางครั้งก็เลยมีปัญหา เวลาต้องการลอยตัวอยู่ที่ผิวน้ำนานๆ ก็จะเหนื่อยกันหน่อย หรือแม้กระทั่งเวลาอยู่ใต้น้ำ ก็ต้องคอยพยุงตัว ไม่ให้จมลงไปกับพื้นมากเกินไป นักดำน้ำรุ่นก่อนๆ ที่ยังไม่มีเครื่องมือชนิดนี้ใช้ ก็จึงจำเป็นต้องเป็นคน ที่มีทักษะการว่ายน้ำ ที่ค่อนข้างดีมากๆ ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่สามารถมาเป็นนักดำน้ำได้ ผิดกับสมัยนี้ ที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตครบครัน เราก็เลยได้เห็นกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย มาดำน้ำกันอย่างสนุกสนาน
ระหว่างทาง ในการลงไปสู่โลกสีครามที่สวยสดงดงาม ผมก็คอยตรวจสอบอาการของบัดดี้ ว่าเป็นปกติดีหรือไม่ ด้วยการทำวงกลม ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ และก็ได้รับสัญญาณตอบกลับมาเช่นเดียวกัน อันหมายความว่าบัดดี้ของผม ยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ฟองอากาศ จากเร็กกูเลเตอร์ของเราทั้งสอง ที่จ่ายอากาศให้เราอย่างซื่อสัตย์ ไม่ว่าเราจะลงไปลึก และได้รับแรงกดดัน จากน้ำมากมายแค่ไหน ไหลขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างสม่ำเสมอ ตามจังหวะการหายใจออกของเรา ในช่วงเวลานั้น เสียงฟองอากาศ เป็นเสียงเดียวที่เราได้ยิน อย่างชัดเจน เมื่อใกล้ถึงพื้น ผมก้มลงมองเข็มมาตรวัดความลึก เห็นว่าใกล้กับความลึกยี่สิบแปดเมตร ที่เราวางแผนไว้ก่อนจะลงดำน้ำ ก็หันไปให้สัญญาณกับบัดดี้ ให้หยุดที่ความลึกนี้ เพราะถึงแม้ว่าตามตารางดำน้ำ ที่เราใช้คำนวณ ปริมาณก๊าซไนโตรเจน ในร่างกายจากการดำน้ำ เราสามารถอยู่ที่ความลึกนี้ ได้ถึงยี่สิบนาที แต่เพื่อความปลอดภัย เราวางแผนไว้ว่า จะอยู่ที่ความลึกนี้ ไม่เกินสิบนาที แล้วจะขึ้นสู่ความตื้น ไปดำต่อในที่ลึกน้อยกว่านี้ต่อไป
การดำอยู่ใต้น้ำนานเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในที่ลึกแบบนี้ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ของนักดำน้ำได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากอากาศที่เราหายใจเข้าไป มีส่วนผสมของก๊าซไนโตรเจนอยู่ เกินสามในสี่ส่วน เมื่อเราลงสู่ความลึก และได้รับแรงกดดัน จากน้ำมากขึ้น ก๊าซไนโตรเจนก็จะถูกดูดซึม เข้าไปในกระแสเลือด และเนื้อเยื่อในร่างกายของเราได้ หากเราอยู่ในที่ลึก และนานเกินไป เราอาจจะมีก๊าซที่ถูกดูดซึม เข้าไปในร่างกายเรา มากเกินกว่าที่จะขึ้นมาสู่ผิวน้ำ โดยตรงได้ และก๊าซที่พยายาม ออกมาจากร่างกายเรา ส่วนที่ระบายออกไม่ทัน จะกลายเป็นฟองอากาศในเส้นเลือด และทำให้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อนักดำน้ำ
ในความลึกนี้ เราเห็นปะการังหลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นกิ่งเป็นก้าน เป็นก้อนเป็นโขด สัตว์ทะเลอื่นๆ ตามแนวปะการัง ก็มีหลากหลายสีสัน เหมือนกับอยู่ในโลกใบใหม่ ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับโลกเดิมๆ ที่คุ้นเคย ผมเอาไฟฉายใต้น้ำเล็กๆ ในมือ ส่องดูตามกอปะการัง เพื่อให้เห็นสีสันที่แท้จริงของมัน เนื่องจาก การลงไปอยู่ในความลึกมากๆ นี้ สีที่สวยสดทั้งหลายจะหายไป จากการดูดซับแสงของน้ำ สีแดง และสีส้มจะไม่สามารถมองได้เห็น อีกต่อไป กลายเป็นสีเทาทึมๆ แทน หากต้องการที่จะเห็น สีที่แท้จริงของสัตว์ทะเล และธรรมชาติใต้น้ำ ก็เลยจำเป็นต้องเอาไฟฉายมาส่องดู แสงจากไฟฉาย จะทำให้เราเห็นสีที่แท้จริงได้ครับ
เหลือบไปมองดูนาฬิกา ที่ข้อมือซ้าย พบว่าเวลาสิบนาที ได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราจะต้องขึ้น จากความลึกที่เราอยู่นี้ ไปสู่ความลึกระดับที่สอง ตามแผนการดำน้ำ โดยไม่ให้ลึกเกินไปกว่าสิบแปดเมตร และในความลึกสิบแปดเมตรนี้ เราวางแผนไว้ว่า จะอยู่ที่นั่น อีกสิบห้านาที ก่อนจะขึ้นสู่ระดับที่สามต่อไป
ผมหันไปให้สัญญาณกับบัดดี้ และคู่บัดดี้อีกสองคู่ ในกลุ่มของเรา ว่าถึงเวลาต้องขึ้น สู่ความลึกระดับที่สอง ที่เราวางแผนกันไว้แล้ว เมื่อทุกคนพร้อม เราก็ค่อยๆ ระบายลมออกจากเสื้อชูชีพ ในขณะที่โบกตีนกบเบาๆ เพื่อนำตัวสู่ทิศทาง ของผิวน้ำ เมื่อมาถึงความลึกที่ต้องการ ตื้นกว่าสิบแปดเมตรสักเล็กน้อย เราก็เริ่มสำรวจโลกใต้น้ำ ที่เราหลงใหลกันต่อไป
ขณะที่กำลังเพลิดเพลิน อยู่กับความสวยงามของปะการัง และสัตว์เล็กน้อยหลากสีสัน ผมเห็นเงาอะไรวูบวาบทางขวามือ หลังโขดหินก้อนใหญ่ ที่เป็นชะง่อนผาใต้น้ำ ตรงที่เราลอยตัวอยู่ จึงหันไปพยักหน้าให้บัดดี้ และให้สัญญาณ โดยการชี้นิ้วโป้ง ในทิศทางที่ต้องการจะไป เราสะบัดตีนกบเบาๆ เราทั้งสองก็ลอยลิ่วไปสู่อีกฟากหนึ่ง ของชะง่อนผาได้เหมือนใจคิด สำหรับนักดำน้ำ ที่มีความชำนาญแล้ว การปรับการจมลอยของร่างกาย จะเป็นเหมือนกับสัญชาตญาณตามปกติ ทำให้เราอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก ตลอดเวลาที่อยู่ใต้น้ำ การเคลื่อนไหวจึงง่ายดาย ผิดกับบนบกที่มีแรงโน้มถ่วงของโลก มากระทำกับตัวเรา นักดำน้ำที่ชำนาญหลายคน จึงเปรียบเทียบการดำน้ำ คล้ายกับการบินไปในอากาศของนก เพียงแต่ขยับตีนกบเบาๆ เราก็เหมือนกับล่องลอยไปสู่จุดหมาย ที่ต้องการจะไปได้อย่างเหลือเชื่อ
เมื่อพ้นชะง่อนหินที่บังสายตาไว้ จากเจ้าของเงาวูบวาบที่เห็นด้วยหางตา เมื่อนาทีที่แล้ว ผมกับบัดดี้ถึงกับตะลึง เพราะภาพที่เห็นนั้น เป็นภาพในความใฝ่ฝัน ของนักดำน้ำอีกหลายคน ที่ปรารถนาจะได้เห็นมัน ปลากระเบนราหู (Manta Ray) ลำตัวกว้างประมาณห้าเมตรสองตัว กำลังว่ายเล่นกันอยู่อย่างเพลิดเพลิน ด้วยอาการที่คล้ายกับการร่อนบิน ของยานบินอวกาศ จากนอกโลก ดูเหมือนเจ้าสัตว์ยักษ์สองตัวนั้น จะไม่ได้ให้ความสนใจกับเรา มนุษย์สองคน ที่ลงมาเยี่ยมเยือนโลกใต้น้ำ อันเป็นถิ่นของมัน แต่อย่างใด
ผมนึกถึงคำบอกเล่า ของอาจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชื่อดัง แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้กรุณาเล่าให้ฟังไว้ว่า เมื่อมีโอกาสเผชิญหน้ากับสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ ที่นักดำน้ำทุกคนใฝ่ฝันอยากพบ อย่างเช่น ปลาฉลามวาฬ หรือปลากระเบนราหู อย่างที่ผมกำลังลอยตัวจ้องมองมันอยู่ โดยไม่ละสายตาอย่างนี้ หากต้องการจะให้เขาอยู่กับเรานานๆ ก็อย่าว่ายเข้าไปหา เพราะนักดำน้ำที่ไม่สามารถอดใจไว้ได้ และว่ายเข้าไปหา จะกลายเป็นไปว่ายไล่ ให้เขาหนีไปไกลๆ ด้วยความรำคาญในที่สุด จึงส่งสัญญาณให้กับบัดดี้ ว่าให้หยุดลอยนิ่งๆ อยู่กับที่ และจ้องดูอยู่ ในขณะเดียวกัน ก็เคาะถังอากาศแรงๆ หลายๆ ครั้งติดต่อกัน ด้วยสันมีดดำน้ำ เพื่อเป็นสัญญาณให้นักดำน้ำในกลุ่ม ที่แยกไปกับคู่บัดดี้ และกำลังสำรวจโลกสีคราม อย่างเพลิดเพลินให้หันมาดู
เมื่อมีคนมาดูหลายคนเข้า เจ้าปลากระเบนราหูตัวหนึ่ง ก็ลอยตัวขึ้นสูง เหมือนกับจะรำคาญพวกเรา ในขณะที่อีกตัวหนึ่ง กลับว่ายวนรอบๆ ตัวพวกเรา เหมือนกับจะเล่นด้วย ผมจำได้ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง ยังเห็นเขาโก่งตัว และพลิกปีกทั้งสองเล่นไปมา และก็ยังนึกสงสัยอยู่ว่าอาการแบบนี้ เป็นการแสดงความรำคาญ หรือการเล่นกับเรา น่าเสียดาย ที่มีนักดำน้ำคนหนึ่ง ในกลุ่มของเรา อดใจไม่ไหว และว่ายเข้าไปหา พร้อมทั้งทำท่าเหมือนจะยื่นมือ ไปจับต้องตัวของปลากระเบนราหูตัวนั้น ทำให้เขา ว่ายห่างจากกลุ่มของเรา ออกไปเรื่อยๆ และลับสายตาหายไปในที่สุด
เมื่อปลากระเบนราหูทั้งสองตัว ไม่อยู่ในสายตาของเราอีกต่อไปแล้ว กลุ่มของเราก็ดำน้ำต่อไป ตามแผนการดำน้ำที่ตั้งไว้ เราได้ผ่านพบดอกไม้ทะเลหลายอย่าง มีปลาการ์ตูนที่มีหลากหลายลวดลาย อาศัยอยู่ในกอดอกไม้ทะเลนั้น ดอกไม้ทะเลนี้ มีความสวยงามก็จริงอยู่ แต่ก็คงเป็นอย่างที่มีคนเคยกล่าวกันมาแล้วว่า “ดอกไม้งามย่อมมีหนามแหลมคม” เพราะหากเราไปสัมผัส เข้ากับดอกไม้ทะเล ที่สวยงามเหล่านี้เมื่อไร เข็มพิษของดอกไม้ทะเลเหล่านี้ ก็จะทำความปวดแสบปวดร้อน ให้กับเราอย่างมากมาย
นอกจากดอกไม้ทะเล ที่ประดับแหล่งดำน้ำแห่งนี้ ให้สวยงามแล้ว ยังมีสิ่งที่ทำให้แหล่งดำน้ำแห่งนี้ มีชื่อว่า “หินแดง” นั่นก็คือ ปะการังอ่อนที่ปกคลุม แทบจะเรียกได้ว่า ครอบคลุมหินแดงทั้งหมดนั่นเอง ที่มีสีแดงสดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณที่ตื้น พอที่การดูดซับแสงของน้ำทะเล ยังไม่มากเกินกว่าที่จะดูดซับเอาสีแดงไป อันที่จริง ปะการังอ่อนในบริเวณนี้ มีหลากหลายสีมาก ทั้งสีแดง สีขาว สีม่วง แต่ในบริเวณหินแดง เราจะเห็นปะการังอ่อนสีแดง ในปริมาณมากกว่าสีอื่นๆ ไกลออกไปประมาณสองร้อยเมตร จะเป็นแหล่งดำน้ำอีกแหล่งหนึ่ง ที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากผิวน้ำ นั่นคือ “หินม่วง” ซึ่งชื่อของสถานที่ ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า ปะการังอ่อนที่นี่ ต้องเป็นสีม่วงในปริมาณมากกว่าสีอื่น อย่างแน่นอน นอกจากสีที่แตกต่างกันแล้ว หินม่วงยังมีความลึกมากกว่า หินแดงอีกด้วย ยอดหินม่วงจะลึกจากผิวน้ำ มากกว่าสิบเมตร การดำน้ำที่หินม่วงนี้ จึงต้องอาศัยความชำนาญในการดำน้ำ มากกว่าที่หินแดง
“หินแดง - หินม่วง” จึงกลายมาเป็น ชื่อแหล่งดำน้ำคู่แฝด ที่มีความสวยงามทัดเทียมกัน และยังอยู่ใกล้ๆ กันอีก พวกเราจึงวนเวียน ดำน้ำระหว่างสองแหล่งนี้ อย่างเพลิดเพลินกันได้ตลอดวัน ในช่วงของวัน ที่มีกระแสน้ำรุนแรง เราก็จะดำน้ำกันอยู่บริเวณหินแดง เพราะว่าที่นี่จะมียอดหินให้เราหลบหลีก จากกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้โดยง่าย แต่หากช่วงใดน้ำไม่มีกระแส เราก็จะลงไปดำสำรวจหินม่วงกัน
หลังจากที่เรา ขึ้นมาสู่ระดับความลึกที่สาม ที่เป็นความลึกที่น้อยที่สุด ของการดำน้ำที่หินแดง ในการดำน้ำครั้งแรกของวันนั้น เราวางแผนไว้ว่า จะอยู่ที่ความลึกสิบสองเมตร นานถึงสิบห้านาที ผมพากลุ่มของเรา มาวนเวียนอยู่บริเวณเชือก ที่ผูกไว้กับ ทุ่นลอยสีแดงลูกใหญ่ เชือกเส้นนี้ถูกผูกไว้อย่างถาวร ในฤดูกาลดำน้ำ เพื่อให้เรือที่พานักดำน้ำมา ได้ผูกเรือไว้กับทุ่น จะได้ไม่ต้องทิ้งสมอ ซึ่งอาจจะเสี่ยงกับ การทิ้งสมอลงบนแนวปะการังได้
ที่ความลึกสิบสองเมตรนี้ แสงอาทิตย์สามารถสาดส่องมา ทำให้ทัศนียภาพใต้น้ำ สว่างไสวขึ้นกว่าเดิม เรามองเห็นฝูงปลาใหญ่น้อย ว่ายวนเวียนไปมารอบๆ ยอดหินแดง ปลาหลากหลายชนิด เช่น ฝูงปลาสาก ตัวโตขนาดท่อนขาผู้ใหญ่ หลายสิบตัว ลอยนิ่งๆ อยู่กลางน้ำ เป็นภาพที่สวยงาม และน่ากลัวในเวลาเดียวกัน เราเห็นฝูงปลาหูช้าง ซึ่งตามปกติจะค่อนข้างเชื่องกับนักดำน้ำ และบางครั้งก็ว่ายวนเวียน มาดูพวกเราอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ปลาเศรษฐกิจ พวกปลากะพง ปลาอินทรี ปลาช่อนทะเล ก็จะรวมฝูง วนเวียนอยู่ห่างๆ
ผมได้ยินเสียงเคาะถังอากาศ จากบัดดี้ของผม หันไปดูก็พบว่า เขากำลังจ้องมองดูปลาสิงโตคู่หนึ่ง กำลังกางครีบแผ่ขยายออก อย่างภาคภูมิใจ ปลาสิงโตนี่เป็นปลาที่สวยงามมากชนิดหนึ่ง ที่มักอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และเช่นเดียวกับดอกไม้ทะเล ที่เล่าให้ฟัง คือความสวยงาม จะแฝงไว้ด้วยพิษภัยที่ร้ายแรง ปลาสิงโตนี้ หากเราไปสัมผัส และถูกพิษจากหนามปลายครีบที่แหลมคมของเขาเข้า จะเป็นอันตรายร้ายแรงอย่างมากกับนักดำน้ำ ร้ายแรงกว่าแมงกะพรุน หรือดอกไม้ทะเลหลายสิบเท่านัก พวกเราเฝ้าดูปลาสิงโตคู่นั้น อย่างตื่นตาตื่นใจ ขณะที่นักดำน้ำในกลุ่มของเรา ที่เป็นช่างภาพ ก็นำเอากล้องถ่ายภาพใต้น้ำ ไปถ่ายรูปปลาสิงโตคู่นั้น อย่างเอาจริงเอาจัง เข็มนาฬิกาเดินมาถึงเลขสี่สิบห้า บนวงล้อที่หน้าปัด บอกให้รู้ว่าถึงเวลา ที่จะต้องกลับไปสู่โลกใบเดิม ที่เราคุ้นเคยอีกครั้ง ผมทำสัญญาณให้กับพรรคพวกในกลุ่ม ให้ไปจับเชือกทุ่นที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อเตรียมตัวทำการพักน้ำ เพื่อความปลอดภัย (Safety Stop) ที่ความลึกห้าเมตร เป็นเวลาสามนาที โดยครั้งนี้ เราจะทำการพักน้ำ ด้วยการเกาะอยู่ที่เชือก
ผมมองไปยังหินแดงที่เห็นอยู่ลิบๆ ข้างหน้า ด้วยความรู้สึกยากที่จะบรรยาย ถึงแม้รู้ว่าจะต้องกลับมาดำน้ำที่นี่อีกในวันนี้ และตามแผนแล้วเราก็จะดำกลางคืน (Night Dive) ที่นี่อีกด้วยซ้ำ แต่ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์กับความสวยงาม และความตื่นเต้น ที่ได้รับ ก็ยังไม่จางหายไปจากใจ ขณะที่จ้องมองอยู่นั้น ผมก็เห็นความเคลื่อนไหว ของอะไรบางอย่างอยู่ไกลๆ และดูเหมือนว่า กำลังจะใกล้เข้ามาหา กลุ่มพวกเรา ที่กำลังเกาะอยู่บนเชือก ที่ความลึกห้าเมตรนี้ เมื่อใกล้เข้ามาจนสามารถมองเห็น และแยกแยะออกได้ว่า อะไรเป็นอะไร พวกเราทุกคน ก็แทบจะร้องออกมาดังๆ ด้วยความดีใจ ก็เจ้าปลากระเบนราหูสองตัว ที่เราเห็นช่วงกลางไดฟ์นั่นเอง อุตส่าห์ว่ายกลับมาอำลาเรา ก่อนที่จะขึ้นเรืออีก มันทั้งสองบินวนอยู่รอบตัวเราหนึ่งรอบ แล้วก็ดำดิ่งลงสู่ความลึกด้านล่าง เหมือนกับจะเยาะเย้ยว่า พวกเราไม่มีทางตามติดมันลงไปได้แน่นอน
เวลาครบสามนาที เราทุกคนกลับขึ้นมาสู่ผิวน้ำ อย่างปลอดภัย เรือของเราก็ลอยลำอยู่ห่างๆ ในวันที่กระแสน้ำไม่รุนแรงแบบนี้ เรือสามารถลอยลำ รอนักดำน้ำได้อย่างสบายๆ หลังจากกลับขึ้นมาบนเรือ เราคิดไว้ว่าจะคุยทับเพื่อนๆ กลุ่มอื่นๆ บนเรือเสียให้หนำใจ แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะทุกกลุ่ม ก็ได้พบกับเพื่อนขนาดยักษ์ ใต้โลกสีคราม ครบถ้วนกันทุกคน วันนั้น เราทำการดำน้ำกลางวันกันต่อ อีกสองไดฟ์ที่หินม่วง ในการดำครั้งที่สอง และกลับมาหินแดงในการดำครั้งที่สาม เราก็พบกับปลากระเบนราหูทั้งสองตัวทุกครั้ง และที่พิเศษยิ่งไปกว่านั้น เราได้พบกับพรรคพวกของมันอีกสองตัว รวมกันเป็นสี่ตัวที่หินม่วง ในการดำน้ำครั้งที่สอง ซึ่งทำให้ทุกคน บนเรือของเรารู้สึกตื่นเต้น ยินดีและอิ่มอกอิ่มใจ ในการมาดำน้ำครั้งนี้เป็นอย่างมาก
คืนนั้น หลังจากการดำน้ำกลางคืน ที่แสนจะสวยงามที่หินแดง ขณะที่เรือกำลังวิ่งมุ่งหน้าลงทิศใต้ สู่เกาะอาดัง ราวี ในเขตท้องทะเลจังหวัดสตูล เพื่อพาเราไปดำน้ำกันที่ “หินแปดไมล์” ในเช้าวันรุ่งขึ้น ผมได้มานั่งครุ่นคิด อยู่คนเดียวที่หัวเรือว่า อาจเป็นเพราะการที่เราได้มีโอกาสมาดำน้ำ และได้สัมผัสกับธรรมชาติ อย่างใกล้ชิดนี่เอง ทำให้เรารู้สึกผูกพัน และมีความปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะปกป้องชีวิต และธรรมชาติทั้งหมด ใต้ท้องทะเล ให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป