ไนตร็อกซ์ (Nitrox) ... อากาศพิเศษที่จะช่วยให้คุณดำน้ำได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

สรุป

  • ไนตร็อกซ์ หมายถึง อากาศที่มีส่วนผสมของออกซิเจนมากกว่าอากาศปกติ (ที่มีสัดส่วนออกซิเจน 21% ไนโตรเจน 78% และก๊าซอื่นๆ อีก 1%) คือตั้งแต่มากกว่า 21% ขึ้นไปถึง 40% โดยสัดส่วนที่นิยมใช้กันคือ 32% และ 36%
  • ข้อดีของอากาศไนตร็อกซ์ คือ ช่วยเพิ่มระยะเวลาดำน้ำได้ยาวนานขึ้น เมื่อเทียบกันที่ความลึกเดียวกัน
  • ข้อควรระวัง
    1. จะดำน้ำได้ที่ความลึกน้อยกว่าอากาศปกติ เนื่องจากออกซิเจนที่ความกดสูงจะเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง
    2. อากาศที่มีออกซิเจนในสัดส่วนสูงกว่าปกติจะทำให้ปอดบาดเจ็บได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง แต่ก็จำเป็นต้องตระหนักหากต้องดำไนตร็อกซ์ต่อเนื่องหลายไดฟ์

ไนตร็อกซ์ (Nitrox) อาจเป็นศัพท์ใหม่ที่นักดำน้ำบางท่านเพิ่งเคยได้ยิน และฟังดูน่าสนใจ ซึ่งก็น่าสนใจจริงๆ ล่ะครับ ทั้งกับนักดำน้ำใหม่และนักดำน้ำที่ดำน้ำมานาน หรือผ่านหลักสูตรขั้นอื่นๆ มาแล้ว แต่ยังไม่เคยสัมผัสกับอากาศแบบไนตร็อกซ์ที่ว่านี้เลย

อากาศแบบไนตร็อกซ์ หมายถึง อากาศที่มีส่วนผสมของออกซิเจนมากกว่าอากาศธรรมดาที่เรานำมาอัดใส่ถังเพื่อใช้ดำน้ำลึก (สัดส่วนของแก๊สชนิดต่างๆ ในอากาศปกติคือ ออกซิเจน 21% ไนโตรเจน 78% และแก๊สชนิดอื่นๆ อีก 1%) โดยใช้วิธีการเติมออกซิเจนบริสุทธิ์เพิ่มเข้าไป เพื่อให้มีสัดส่วนออกซิเจนมากขึ้นเกิน 21% ไปจนถึง 40% โดยสัดส่วนที่เป็นที่นิยมใช้กันมากก็คือ 32% และ 36%

ข้อดีของอากาศแบบไนตร็อกซ์

ด้วยอากาศที่มีออกซิเจนในสัดส่วนที่สูงขึ้นและไนโตรเจนที่ต่ำลง ส่งผลประการสำคัญคือ ทำให้อัตราการสะสมไนโตรเจนตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเราต่ำกว่าการใช้อากาศปกติ ลดผลกระทบจากไนโตรเจนในการดำน้ำ หรือแยกให้ชัดเจน ได้ว่า

  • ช่วยเพิ่มระยะเวลาการดำน้ำแบบสันทนาการ (NDL: No-Decompression Limit) ให้เราอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าอากาศปกติ ... ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับทั้ง นักดำน้ำทั่วไป นักดำน้ำที่ดำมานานและเริ่มใช้อากาศประหยัดขึ้น ไปจนถึง นักดำน้ำที่ชอบการถ่ายภาพใต้น้ำ ซึ่งมักจะใช้เวลาจดจ่ออยู่กับ subject แต่ละตัวค่อนข้างนานเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด
  • หรือถ้าดำน้ำนานเท่ากับเมื่อดำด้วยอากาศปกติ ก็จะช่วยให้ปลอดโปร่งโล่งสบาย ด้วยผลของอาการเมาไนโตรเจน (Nitrogen Narcosis) ที่ต่ำกว่า
  • ลดความเสี่ยงอันตราย หากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเร็ว เนื่องจากมีการสะสมไนโตรเจนในเนื้อเยื่อของเราไว้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการใช้อากาศปกติ

ข้อควรระวังในการใช้อากาศแบบไนตร็อกซ์

อากาศที่มีออกซิเจนในสัดส่วนที่สูงขึ้นและไนโตรเจนที่ต่ำลง ยังส่งผลในด้านอื่นด้วย ได้แก่

  1. ขีดจำกัดความลึกสูงสุดที่ดำน้ำได้ จะน้อยกว่าอากาศปกติ
    เนื่องจากออกซิเจนที่ความกดสูงจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) ได้อย่างรวดเร็ว จึงมีการกำหนดขีดจำกัดความลึกสูงสุดที่ดำน้ำได้ตามสัดส่วนออกซิเจนไว้ด้วย ถ้าใช้อากาศปกติ (O2 21%) จะดำน้ำได้ลึกสูงสุดประมาณ 66 เมตร และถ้าใช้ Nitrox 32% จะดำน้ำได้ลึกสูงสุดประมาณ 40 เมตร โดยคำนวณได้จากค่าความดันเฉพาะส่วน (partial pressure) ของออกซิเจนสูงสุดที่แนะนำเพื่อการดำน้ำอย่างปลอดภัยจะอยู่ระหว่าง 1.3 - 1.6 ATA
  2. ขีดจำกัดระยะเวลาการหายใจด้วยออกซิเจนความเข้มข้นสูง (Oxygen Exposure Limit)
    การหายใจด้วยออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงกว่าปกติเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อปอดได้ รวมถึงลดความสามารถในการส่งถ่ายออกซิเจนไปสู่เม็ดเลือดด้วย และแม้ว่าสิ่งนี้มีผลน้อยมากขนาดที่ว่า สำหรับการดำน้ำด้วยออกซิเจน 100% กว่าจะเห็นผลในเรื่องนี้ก็ยังต้องใช้เวลาเป็นหลายๆ ชั่วโมงก็ตาม แต่นักดำน้ำที่จะใช้อากาศไนตร็อกซ์ (ไม่เกิน 40%) ก็จำเป็นต้องรู้และคำนวณขีดจำกัดที่ว่านี้ได้ด้วย เพื่อความปลอดภัยในการดำไนตร็อกซ์ต่อเนื่องกันหลายไดฟ์ในแต่ละวัน

การเตรียมการเพื่อการใช้ไนตร็อกซ์

  • แน่ใจว่าอุปกรณ์ดำน้ำที่ใช้ เช่น เร็กกูเลเตอร์ สามารถใช้งานกับอากาศที่มีออกซิเจนเข้มข้นสูงกว่าปกติได้
  • ถังอากาศแบบไนตร็อกซ์จะไม่ใช้ร่วมกับอากาศปกติ
  • มีตารางคำนวณ NDL สำหรับไนตร็อกซ์ และตารางคำนวณ Oxygen Exposure Limit เพื่อวางแผนการดำน้ำในแต่ละไดฟ์ และต่อเนื่อง
  • หรือใช้ไดฟ์คอมพิวเตอร์ (dive computer) ที่สามารถคำนวณการดำน้ำด้วยไนตร็อกซ์ได้
  • ตรวจสอบสัดส่วนออกซิเจนของอากาศในถังด้วยตนเอง โดยใช้เครื่อง Oxygen Analyzer ที่เชื่อถือได้

การบันทึก roster เพื่อการดำน้ำไนตร็อกซ์

ข้อมูลที่ควรจดบันทึกไว้ใน roster สำหรับการดำน้ำไนตร็อกซ์ ได้แก่

ชื่อนักดำน้ำ, ลำดับที่ไดฟ์ในทริป, วันที่, ลำดับที่ของถังไนตร็อกซ์ในทริป, สัดส่วนออกซิเจน, ความลึกสูงสุดที่ดำได้ (ขึ้นกับค่า partial pressure ที่เลือกใช้) และลายเซ็นนักดำน้ำ

เพื่อเป็นการยืนยันว่า นักดำน้ำได้เข้าใจ ตรวจสอบ เตรียมพร้อม สำหรับการดำน้ำในไดฟ์นั้นๆ ด้วยอากาศไนตร็อกซ์แล้วจริงๆ

สำหรับนักดำน้ำที่สนใจใช้อากาศแบบไนตร็อกซ์ จำเป็นต้องผ่านการอบรมหลักสูตร Nitrox Diver (ชื่อหลักสูตรของ SDI) หรือ Enriched Air Diver (ชื่อหลักสูตรของ PADI) ก่อน ซึ่งจะมีเนื้อหาที่จำเป็นต้องเรียนรู้มากกว่าที่เล่าไปข้างต้นนี้ และทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างครบถ้วน จึงจะสามารถไปใช้บริการอากาศไนตร็อกซ์จากผู้ให้บริการดำน้ำต่างๆได้

สำหรับตัวผมเองแล้ว ก่อนหน้านี้ได้เรียนและได้รับบัตรไนตร็อกซ์มาตั้งหลายปีแล้ว แต่ไม่ค่อยมีโอกาสใช้ ช่วงหลังนี้เรือ liveaboard หลายลำ เริ่มติดตั้งเครื่องอัดอากาศแบบไนตร็อกซ์ ทำให้มีโอกาสได้ใช้มากขึ้น รู้สึกเลยว่าตัวเองกำลังติดใจการดำน้ำด้วยไนตร็อกซ์ทั้งใต้น้ำและบนผิวน้ำ เพราะช่วยให้หัวโล่งโปร่งสบายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทั้งเมื่อคิดดูแล้วก็ไม่รู้ในชีวิตนึง มีโอกาสบ่อยแค่ไหน ที่จะได้หายใจด้วยอากาศที่มีออกซิเจนสูงกว่าอากาศทั่วไปรอบตัวเรา ก็รู้สึกว่า เป็นโอกาสดีที่ได้เรียนและได้ใช้อากาศไนตร็อกซ์จริงๆ

เขียนโดย ศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล
นำเสนอ 18 เม.ย. 2555
ปรับปรุงล่าสุด 01 ก.ค. 2561