เรือจม "เพชรบุรีเบรเมน"

เรือจมเพชรบุรีเบรเมน (Petchburi Bremen) เป็นเรือกลไฟเหล็กของบริษัท Nordd Lloyd Bremen ประเทศเยอรมัน โดยทางบริษัทได้มีเรือลักษณะนี้หลายลำ นำมาดำเนินธุรกิจในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และทำการตั้งชื่อเรือตามจังหวัดของประเทศที่เรือจะประจำการ

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กองทัพเรือไทยได้ยึดเรือของบริษัทประเทศผู้แพ้สงครามทั้งหมด รวมถึงกลุ่มเรือ Bremen หลายลำ และนำไปขายทอดตลาด เรือเพชรบุรีเบรเมนถูกนำไปใช้ในกองทัพเรือ และทำการเปลี่ยนชื่อเป็นเรือ "แก้วสมุทร"

เรือเพชรบุรีเบรเมนจมลงเมื่อประมาณ พ.ศ. 2463 เนื่องจากเพลิงไหม้ขณะบรรทุกข้าวเปลือก บริเวณร่องครามห่างจากเกาะอีร้าประมาณ 2.7 ไมล์ทะเล เรือจมลงที่ความลึกประมาณ 22 เมตร หัวเรือลึก 14 เมตร ตัวเรือยาวประมาณ 88 เมตร วางตั้งตรง ยกเว้นบริเวณท้ายเรือที่ตะแคงลงทางกราบขวา หัวเรือหันไปทางทิศตะวันตก ท้ายเรือหันไปทางทิศตะวันออก

จุดน่าสนใจของเรือลำนี้มีอยู่มากมาย ถึงแม้จะมีร่องรอยการพังทลายลงของเรือให้เห็นในบางส่วน บริเวณท้ายเรือจะมีหางเสือและเพลาใบจักรขนาดยักษ์ให้เห็นชัดเจน มักจะมีเต่าตัวใหญ่ๆ มาอาศัยอยู่ประจำ ห้องระวางและรอกกว้านสินค้าสามชุดยังคงตั้งอยู่อย่างสมบูรณ์ Boiler อยู่บริเวณกลางลำเรือ และข้างใต้จะมีห้องเก็บถ่านหินซึ่งยังมีถ่านหินอยู่มากมายในปัจจุบัน

สัตว์ทะเลมีมากมายหลายชนิด มากกว่าเรือจมลำอื่นๆ ที่นักดำน้ำนิยมไปดำกัน อาจจะเนื่องจากนานๆ ครั้งจึงจะมีนักดำน้ำไปเยือน นอกจากเต่าตัวใหญ่ๆ ที่มีให้เห็นเรื่อยๆ บริเวณท้ายเรือแล้ว ยังมีปลากระเบน Marble Ray ตัวยักษ์ๆ ให้ชมอีกหลายตัว ปลาหางเหลืองและปลาสากฝูงใหญ่ๆ ปลากระพง ปลานกแขกเต้า (Tusk Fish หรือ ไอ้กู่) ก็มีอยู่อย่างชุกชุม และมีทากทะเล มากมายหลายชนิด

ข้อควรระวังในการดำน้ำที่เรือจมเพชรบุรีเบรเมน คือ การเกี่ยวติด เนื่องจากเรือจมลำนี้เป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุม จึงมีเรือตกปลาจากบางเสร่ สัตหีบ และแสมสาร จำนวนมากมาตกปลาที่นี่ บริเวณตัวเรือจึงมีสายเอ็น Monofilament จำนวนมาก รวมถึงอวนซึ่งปัจจุบันมีน้อยลงกว่าเดิม นักดำน้ำจึงควรมีประสบการณ์และมีมีดคมๆ ติดตัวไปด้วยเสมอ เวลาไปชมเรือจมที่สวยงามลำนี้

ในขณะเดียวกัน การวางแผนการดำน้ำที่รอบคอบก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากความลึก 22 เมตรเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ควรระวังปลาหินและเม่นทะเล รวมถึงเพรียงคมๆ ที่ติดอยู่ตามตัวเรือทั่วไป

 
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDive
นำเสนอ 25 พ.ค. 2548
ปรับปรุงล่าสุด 21 ส.ค. 2550