วิธีการป้องกันการหลงทางใต้น้ำ

เพื่อนๆ ที่ไปดำน้ำกัน เคยนึกกังวลใจว่าจะหลงทางใต้น้ำกันบ้างไหมครับ เขาว่ากันว่า การกลัวการหลงทางนี้เป็นเรื่องเครียดที่สำคัญในการดำน้ำทีเดียวเลย ถึงแม้ว่าการหลงทางใต้น้ำจะไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำอันตรายร้ายแรง แต่ก็มักจะทำให้การดำน้ำหมดสนุกลงไปเยอะเชียวครับ

หากเราหัดเทคนิควิธีการ navigation ให้ดีแล้ว ก็จะเป็นเรื่องที่ดีนะครับ แต่อย่างว่า บางคนก็หัดได้รวดเร็ว บางคนก็หัดได้ช้า ก็อย่าไปวิตกกับมันมากเกินไปนักก็แล้วกันครับ ตอนหัดใหม่ๆ จะหลงบ้างไม่หลงบ้าง ก็คิดซะว่าไม่เป็นไร พยายามศึกษาไปเรื่อยๆ ก็จะเก่งเองโดยไม่รู้ตัวเชียวนะครับ

ก่อนอื่นเลย เราคงสงสัยนะครับว่าทำไมเราจึงหลงทาง ทั้งๆ ที่สถานที่ดำน้ำก็ไม่ได้กว้างใหญ่ไพศาลแต่อย่างใดเลย ทีไปชอปปิ้งตามห้างต่างๆ ใหญ่โตแถมยังมีหลายชั้นยังไม่เห็นจะเคยหลง ตามตำราเขาว่ากันว่า เป็นเพราะเราไม่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมใต้น้ำ เขาว่ากันว่า พวกกุ้งหอยปูปลานี่ไม่เคยหลงทางกันเลย ไม่แน่ใจว่าจริงหรือเปล่านะครับ วันหลังลองพาคนชื่อกุ้งไปดำน้ำดูนะครับ ว่าจะหลงไหม

ส่วนมาก นักดำน้ำที่หลงทางใต้น้ำ เนื่องจากเวลาเราเรียนตั้งแต่ขั้น Open Water จนกระทั่งถึงขั้น Advanced Open Water เราจะเรียนวิธีการ navigate จากการใช้เข็มทิศเป็นหลัก จริงอยู่นะครับ ถึงแม้ว่าเข็มทิศจะเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ยิ่งในการดำน้ำ แต่การเรียนแบบนั้น อาจจะทำให้นักดำน้ำส่วนมากต้องคอยดูเข็มทิศตลอดเวลา หากจะป้องกันไม่ให้หลง แถมยังต้องดำน้ำไปตามคอร์ส จะไปดูทางซ้ายทางขวาออกนอกเส้นทางหน่อยก็หลงซะแล้ว อีกประการหนึ่งก็คือ นักดำน้ำส่วนมากจะตาม dive leader อย่างเดียวเลย ไม่ได้สังเกตหรือดูเข็มทิศของตัวเอง ว่าไปคอร์สไหน เวลาจำเป็นต้องนำทางเองก็เลยหลงซะให้เข็ด เหมือนกันกับเวลาเรานั่งรถโดยไม่ได้ขับนั่นแหละครับ หากเขาปล่อยเราไว้ข้างทางเมื่อไรก็รับรองหาทางกลับบ้านไม่ถูก สู้แมวยังไม่ได้เลยนะครับ เอาไปปล่อยกี่ครั้ง มันหาทางกลับบ้านถูกทุกครั้ง เก่งกว่าเราอีก

เวลาดำน้ำ เราลองจินตนาการหรือสร้างภาพในใจ ถึงเส้นทางที่เราเดินทางซิครับ จะช่วยให้เราจำทางกลับได้ง่ายกว่าเดิมเยอะเลยครับ ส่วนเรื่องที่เรียนในชั้นเรียน Advanced ก็เอามาประยุกต์ใช้ร่วมกันกับเทคนิคนี้ ผมเคยใช้แล้วก็ได้ผลดีมากเลยครับ

การสร้างภาพในใจหรือจริงๆ แล้วก็คือ การสร้างแผนที่ของ dive site ในใจของเรา นั่นแหละครับ เราอาจจะวาดภาพออกมาจริงๆ เลยก็ยังได้ นอกจากนั้น สิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจทิศทางใต้น้ำของเราได้ดีกว่า ก็คือ การฟัง Divemaster เขาบรรยายสรุป (brief) แล้วเราก็วาดภาพแผนที่ตามไปด้วยใน slate ของเราก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เราดูมันได้ใต้น้ำ อย่าลืมถามเรื่องความลึกของสถานที่ดำน้ำ แล้วอย่าลืมกำหนดจุดที่เรืออยู่ไว้ด้วยนะครับ

หากเราดำน้ำบริเวณชายฝั่งหรือเกาะ สภาพที่เราเห็นด้านบนเหนือผิวน้ำนั้นจะคล้ายคลึงกับสภาพใต้น้ำเสียส่วนมากนะครับ หากเราเห็นกำแพงดิ่งลงไปบนผิวน้ำใต้น้ำก็น่าจะมีกำแพงอยู่คล้ายๆ กันครับ สุดท้าย ก็ลองดูซิว่า กระแสน้ำไหลไปทางไหน ดวงอาทิตย์อยู่ทิศทางใด สิ่งเหล่านี้ จะช่วยในการ navigate ให้เราได้เวลาอยู่ใต้น้ำนะครับ

นอกจากนั้น หากเราสามารถเห็นสภาพใต้น้ำจากบนเรือได้ก็จะช่วยได้เยอะนะครับ เช่น เห็นกองหินหรือยอดหินโผล่ขึ้นมา เราก็วาดภาพสิ่งเหล่านี้ลงใน slate ของเราด้วย วิธีการวาดภาพ ควรจะให้ทิศเหนืออยู่ด้านบนสุดนะครับ เวลาเราไปเปรียบเทียบดูใต้น้ำจะง่ายขึ้น หากเราสามารถกำหนดได้ว่า มีสิ่งสังเกตให้เห็นใต้น้ำ เช่น กองหิน หรือแนวปะการัง เราอาจจะตั้ง bearing เข็มทิศไว้ เวลาเราพบกับสิ่งสังเกตเหล่านั้นใต้น้ำ เราจะได้กลับมาที่เรือได้อย่างง่ายๆ ครับ เอาละ คงจะพร้อมที่จะลงน้ำได้แล้วนะครับ

วางแผนเส้นทางใต้น้ำ

หากเรากลัวว่าจะหลงทางใต้น้ำ ก็ควรจะวางแผนว่า เราจะดำน้ำไปในเส้นทางใดบ้างใน dive site และก็พยายามที่จะดำน้ำไปตามเส้นทางที่วางแผนไว้ แทนที่จะดำน้ำเรื่อยเปื่อยไปอย่างไม่มีจุดมุ่งหมายนะครับ ในช่วงแรกๆ เราก็น่าจะวาดเส้นทางที่เราจะไปลงไปใน slate และบันทึกจุดที่สามารถสังเกตได้ (landmark) ลงไปด้วย เมื่อเราเดินทางกลับ เราจะหลงได้ยาก เพราะเราจะผ่านจุดสังเกตต่างๆ ที่เราจดเอาไว้นั่นเองครับ

ส่วนมากแล้ว เรือที่ใช้ไปดำน้ำมักจะไม่จอดเหนือ dive site เพราะอาจจะทำให้มีผลต่อแนวปะการังได้ เวลาเราดำน้ำลงไปก็ควรจะบันทึกจุดที่สามารถสังเกตได้ (landmark) ตรงที่เราดำน้ำ จากสายสมอมาพบกับแนวปะการัง และจะเป็นจุดเดียวกับที่เราจะดำน้ำกลับไปที่เรือ อย่าลืมบันทึก bearing เข็มทิศด้วยนะครับ ไม่เช่นนั้น เราจะกลับมาถึงแนวปะการังที่ใกล้กับเรือมากที่สุด แต่ไม่รู้ว่าจะหันไปทางทิศไหนถึงจะเจอเรือครับ

แต่หากแนวปะการังที่เราพบนั้นไม่มีจุดเด่นอะไร และเราไม่พบจุดที่สามารถสังเกตได้ (landmark) เราก็สามารถสร้างจุดสังเกตได้ด้วยตัวเอง เช่น ทำหินกองไว้ หรือวางตะกั่วสำรองทิ้งไว้ (ระวังพรรคพวกนึกว่าใครทำตกไว้นะ) บันทึกความลึกไว้ด้วย จุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการที่จะจับทิศกลับไปที่เรือครับ

อย่างไรก็ดี การทำแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเดินทางใต้น้ำเป็นเส้นตรงเหมือนกับ การจับเข็มทิศนะครับ เพราะเราสามารถตามแนวกำแพง แนวปะการัง หรือแนวจุดสังเกต (landmark) ได้ จะเห็นได้ว่า วิธีแบบนี้เป็นวิธีการที่จะใช้เข็มทิศเฉพาะบางเวลาที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนมากเราจะใช้ natural navigation แบบเดียวกับที่เรียนในคอร์ส Advanced Open Water ในส่วนของ underwater navigation ครับ อย่าลืมว่าการบันทึกลงใน slate นั้นอาจจะดูยุ่งยาก แต่ก็จะเป็นเฉพาะในช่วงแรกๆ ของการฝึกหัดครับ พอคล่องแล้วก็จะชิน และส่วนมากจะไม่ต้องบันทึกหรือบันทึกนิดหน่อยก็เพียงพอ สำหรับคนที่มีทักษะในการนำทางใต้น้ำแบบนี้ครับ

เมื่อลงไปในน้ำแล้ว

ให้หยุดและมองไปรอบๆ ก่อนที่จะเริ่มดำน้ำไปเลยนะครับ ลองเปรียบเทียบทิศทางกับสิ่งที่เราบันทึกไว้ในแผนที่ใต้น้ำ ตามที่ Divemaster ได้บรรยายสรุปให้เราฟังก่อนลงมา บันทึกความลึกของทุ่นหรือสายสมอที่เราดำลงมา และทิศทางของแนวลาดใต้น้ำ ทางไหนไปลึก ทางไหนไปตื้น อย่าลืมบันทึก ทิศทางของกระแสน้ำด้วยนะครับ จากนั้นลองจินตนาการถึงภาพใหญ่ๆ ของ dive site และรายละเอียดของมันด้วยนะครับ จะช่วยให้เราจำทิศทางต่างๆ ได้ดีขึ้นกว่าเดิมครับ เวลาที่เราหยุดสักนิดหนึ่ง หลังจากดำน้ำลงมาถึงพื้นแล้วนี่ ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะสำรวจตรวจตราอุปกรณ์ต่างๆ หายใจลึกๆ ให้หายตื่นเต้นสักหน่อย และก็ปรับการจมลอย (buoyancy) เสียหน่อย ก็จะทำให้การดำน้ำราบรื่นขึ้นเยอะครับ

เวลาดำลงไป เอาขาลงไปก่อน หรือให้ขาอยู่ต่ำกว่าศีรษะจะดีกว่านะครับ อย่าลืมหันหน้าไปในทิศทางที่เราจะไป ตลอดการดำลงด้วย ก็จะทำให้เรารู้ทิศทางได้ดีกว่าหมุนไปรอบๆ ครับ การหมุนไปรอบๆ น่ะ เอาไว้ใช้ตอนดำขึ้น เพื่อจะได้เห็นสิ่งที่อยู่เหนือศีรษะและรอบๆ ตัวเราครับ

จากสายสมอไปยังแนวปะการัง ให้นับ fin kick ด้วยก็จะดีนะครับ ขากลับ หากเราดำมาตามเข็มทิศแล้ว ตามจำนวน kick ที่เราบันทึกไว้ แต่ไม่เจอเรือ เราจะได้รู้ว่าเราหลงไงล่ะ

เมื่อดำน้ำ ให้ตามแนวของจุดสังเกต

เราจะต้องสังเกตสิ่งแวดล้อมของเรานะครับ อย่างที่บอกไว้แล้ว ช่วงแรกๆ จะรู้สึกรำคาญหน่อย แหม … จะดำน้ำเล่นเพลินๆ หน่อย ต้องมาคอยสังเกตโน่นสังเกตนี่ แต่เวลาเราชำนาญแล้ว เราจะไม่รู้สึกอะไรหรอกนะครับ เพราะมันจะชินไปเอง คราวนี้ การที่เราจะสังเกตอะไรให้รู้เรื่องใต้น้ำนั้นน่ะ เราจะว่าย (ดำ) น้ำอยู่ตลอดเวลาโดยไม่หยุดนิ่งเลยก็ไม่ได้นะครับ เพราะเราจะสังเกตเห็นแต่สิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เราควรจะวางจุด เช่น ดำน้ำจากจุด ก. ไปยังจุด ข. หยุดสักนิดหนึ่ง แล้วสังเกตทิศทางที่จะไปต่อ (หรือจุด ค.) และหันกลับมาดูจุดที่เรามา (ก.) ว่าภาพนั้นเป็นอย่างไร เวลาดำย้อนกลับมาทางเดิม เราจะจำหมายต่างๆ ได้ง่ายขึ้นครับ หากทำอย่างนี้ ไปตลอดเส้นทางการดำน้ำ การหลงก็จะยากครับ และเมื่อเราชำนาญกับทักษะนี้แล้ว ต่อไปเราจะทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ จะไม่รู้สึกว่าเราทำแบบนี้ด้วยซ้ำไปครับ

ก่อนที่จะเดินทางออกจากหมายที่บันทึกไว้ หันกลับมาดูชัดๆ สักครั้งหนึ่งก็จะดีนะครับ จุดที่เราสังเกตได้อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ เช่น เศษกระป๋อง ฯลฯ จะเป็นการดี หากเราบันทึกความลึกไว้ด้วย และการดำน้ำในความลึกเดียว ไม่เปลี่ยนความลึกบ่อยๆ ก็จะทำให้การนำทางใต้น้ำง่ายขึ้นนะครับ ลองดูนะครับว่า การที่เราดำจากจุด ก. ไป ข. และไป ค. น่ะ bearing ของเข็มทิศ เป็นอย่างไร บางทีเราก็จะได้รู้ว่า เราไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงอย่างที่คิดไว้นะครับ ส่วนมากแนวปะการังหรือแนวกำแพงหรือแนวทางตามธรรมชาติใต้น้ำก็มักจะไม่เป็นเส้นตรงหรือรูปเรขาคณิตเสมอไปหรอกครับ

หากหลงแล้ว ทำอย่างไรล่ะ ?

บางทีเราดำน้ำเพลินไป ลืมบันทึก หรือตามสิ่งน่าดู เช่น ปลาต่างๆ ไปแล้ว มารู้อีกทีก็หลงซะแล้ว จะทำอย่างไรดีนะครับ สิ่งแรกก็ผ่อนคลายตัวเองซะก่อน อย่าตื่นเต้นจนเกินไป ส่วนมาก เราจะหลงไปไม่ไกลจากจุดเดิมเท่าไรหรอกครับ จากนั้น ก็ลองตรวจสอบปริมาณอากาศที่เรามีอยู่ไว้ด้วย แล้วค่อยหาทางกลับ

ส่วนมากเราก็จะรู้ว่า น้ำลึกไปทางทิศไหนและน้ำตื้นไปทางไหน สมมติว่า น้ำตื้นไปทางตะวันตก และน้ำลึกไปทางตะวันออกนะครับ หากในขณะที่เรารู้ตัวว่าหลง เราอยู่ในน้ำลึกกว่า บริเวณที่เราดำเล่นอยู่ตอนยังไม่หลง ก็ให้กลับไปทางตะวันตก หากเราอยู่ตื้นกว่า ก็ให้ไปทางตะวันออกครับ จุดมุ่งหมายของเรา ก็คือ พยายามหาความลึกที่เราดำน้ำเล่นอยู่ ก่อนที่เราจะหลงทางไงล่ะครับ เมื่อพบความลึกที่ต้องการแล้ว ก็ให้เดินทางกลับไปตามทิศทางที่เรามา เช่น ให้แนวปะการังอยู่ทางซ้ายแทนที่จะเป็นอยู่ทางขวาแบบที่ดำน้ำขามา จนกระทั่ง เราพบกับจุดสังเกตที่เราบันทึกไว้ตอนขามาครับ

หากดำน้ำกลับไปสักพักหนึ่งแล้ว ยังไม่พบอะไรที่สามารถสังเกตได้เลย ลองหยุดสักครู่ หายใจลึกๆ และทบทวนดูนะครับ ว่าเรากลับมาถูกทางหรือเปล่า ความลึกถูกต้องหรือไม่ หากยังหลงต่อไปก็ให้ขึ้นมาช้าๆ อย่าลืมทำ Safety Stop นะครับ เมื่อมาถึงผิวน้ำก็จะเห็นเรือครับ

เมื่อเห็นเรือแล้ว ดูให้ดีนะครับ ว่าเป็นเรือของเราที่เรามาดำน้ำด้วย หลายคนว่ายผิดไปเรือคนอื่น เหนื่อยแรงต้องว่ายกลับอีกครับ หมุนตัวไปรอบๆ เพื่อจะสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวเราบนผิวน้ำก่อนนะครับ แล้วเล็งทิศทางที่จะกลับไปที่เรือ หากเรืออยู่ไกล ก็ดำน้ำลงไปที่ความลึกประมาณ 5 เมตร แล้วก็ดำน้ำกลับไปที่เรือจะดีกว่าว่ายบนผิวน้ำครับ

เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
ปรับปรุงล่าสุด 24 ส.ค. 2550