รู้จักกับลมมรสุม พายุหมุน และร่องความกดอากาศต่ำ

กีฬาดำน้ำ นับเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวโยงกับธรรมชาติอย่างมาก คลื่นลมในทะเลอาจส่งผลกระทบต่อนักดำน้ำได้หลายประการ ตั้งแต่ฝนตกหนักน่าเบื่อหน่าย คลื่นสูงจนดำน้ำไม่สนุก เมาเรือ ไปจนถึง ลมหรือพายุรุนแรงที่ทำให้ต้องงดดำน้ำได้ ดังนั้น ความเข้าใจในสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักดำน้ำทุกคน โดยเฉพาะเมื่อเป็นที่รู้กันว่าทุกวันตลอดทั้งปีจะต้องมีสักแห่งหนึ่งในเมืองไทยที่คุณสามารถลงไปดำน้ำได้อย่างแน่นอน การวางแผนทริปท่องเที่ยวในแต่ละช่วงของปีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แผนการท่องเที่ยวของคุณราบรื่นสวยงาม

เอาเป็นว่ารอบนี้เรามาทำความรู้จักกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยกันก่อนดีกว่า ภูมิอากาศของประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือ ลมมรสุม (Monsoon), พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) และร่องความกดอากาศต่ำ ทั้ง 3 สิ่งนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ ระหว่างดาวเคราะห์ที่ชื่อว่า "โลก" และดาวฤกษ์ที่ชื่อว่า "ดวงอาทิตย์" เช่น มุมแกนหมุนของโลกที่ทำกับ ระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์, อุณหภูมิพื้นผิวโลกและมหาสมุทร, ความหนาแน่นของมวลอากาศในแต่ละพื้นที่, อุณหภูมิของมวลอากาศนั้น ฯลฯ อีกมากมาย แต่ถ้าจะเล่าถึงต้นตอขนาดนั้นคงจะยืดยาวเกินไป เอาเฉพาะ 3 สิ่งนี้ก่อนดีกว่าครับ

ลมมรสุม (Monsoon)

ทุกคนคงจะเคยได้ยินติดหูกันมาบ้างในสมัยวัยเยาว์ (แต่ตอนนี้ก็ยังเยาว์อยู่เหมือนกันนะครับ) ว่าลมมรสุม คือลมประจำฤดูของไทย เกิดขึ้นเพราะอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างมวลอากาศเขตพื้นดินกับพื้นน้ำในแต่ละฤดูกาล จึงเกิดการไหลเวียนของอากาศระหว่างพื้นน้ำกับพื้นดิน ลมมรสุมนี้มีกำลังอ่อนบ้างแรงบ้าง ขึ้นอยู่กับแนวร่องความกดอากาศต่ำ

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ประเทศไทยในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนตุลาคม หอบเอาความชื้นจากทะเลมาปะทะแนวเขา เกิดเป็นฝนตกชุกในแถบภาคใต้ฝั่งอันดามัน พัดผ่านไทยขึ้นเหนือสู่ประเทศจีนต่อไป

ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากแถบไซบีเรียและจีนในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ พาอากาศแห้งและเย็นลงมาปกคลุมตอนเหนือถึงตอนกลางของประเทศไทย แล้วหอบเอาความชื้นในไทยไปตกเป็นฝนในแถบภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย แต่ฝนจะน้อยลงมากในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)

พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อน หมายถึง พายุที่เกิดขึ้นเหนือมหาสมุทรในเขตร้อน (ละติจูดต่ำ หรือใกล้เส้นศูนย์สูตร) เนื่องจากกระบวนการถ่ายเทพลังงานของอากาศชื้นเหนือมหาสมุทร เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะเคลื่อนตัวไปตามกระแสลมรอบข้าง อาจมีกำลังแรงขึ้นหรืออ่อนลงตามแต่ลักษณะอากาศที่เคลื่อนผ่านไป แต่เมื่อเคลื่อนเข้าสู่แผ่นดินจะอ่อนกำลังลง เพราะไม่มีพลังงานจากไอน้ำมาเสริมกำลังต่อ

ปัจจุบัน เราแบ่งพายุหมุนเขตร้อนออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับความรุนแรง โดยวัดจากความเร็วลม ณ ศูนย์กลางพายุเป็นหลัก ดังนี้

พายุดีเปรสชั่น
(Tropical Depression)
มีความเร็วลมไม่เกิน 63 km/h (ประมาณ 17 m/s) มองจากดาวเทียม จะเห็นเป็นกลุ่มเมฆหนาทึบเป็นวงกลม ยังไม่มีแนวขดเป็นเกลียว หรือ ตาพายุชัดเจน

พายุโซนร้อน
(Tropical Storm)
มีความเร็วลมสูงกว่าดีเปรสชั่น แต่ไม่เกิน 118 km/h (ประมาณ 32 m/s) จากภาพถ่ายดาวเทียม อาจเริ่มเห็นเกลียวแขนของกลุ่มเมฆบ้าง พายุระดับนี้ จะได้รับการกำหนดชื่อให้โดยหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยานานาชาติ (ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ จะเริ่มตั้งชื่อพายุที่เข้ามาในเขตประเทศตั้งแต่ยังเป็นดีเปรสชั่น)

พายุระดับรุนแรงที่สุด เรียกกันง่ายๆ ว่า Tropical Cyclone (เพียงเพื่อให้แตกต่างจากพายุ 2 กลุ่มแรกเท่านั้น) แต่จะมีชื่อเรียกหลากหลายชื่อตามแต่พื้นที่ที่เกิดพายุ เช่น ในแถบแปซิฟิค เรียกว่า ไต้ฝุ่น (Typhoon) แถบอเมริกากลาง เรียกว่า เฮอร์ริเคน (Hurricane) แถบมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า ไซโคลน (Cyclone) ส่วนในแถบมหาสมุทรอินเดียใกล้ออสเตรเลีย เรียกว่า วิลลี่ วิลลี่ (Willi Willi) พายุระดับนี้มักจะเกิด "ตาพายุ" ขึ้นตรงใจกลางซึ่งเป็นบริเวณที่อากาศมีความกดน้อยที่สุด และลมในบริเวณนั้นค่อนข้างสงบนิ่ง อาจมีขนาดตาพายุตั้งแต่ 16 - 80 km เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ในแถบอื่นของโลกซึ่งโดนพายุหมุนระดับที่รุนแรงมากกว่านี้ ยังมีการจัดระดับเพิ่มเติมอีกจนถึงระดับ Super Typhoon ซึ่งมีความเร็วลมสูงกว่า 239 km/h เลยทีเดียว นับว่าเป็นโชคดีของเราที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตที่โดนพายุหมุนน้อยที่สุดในบรรดาประเทศเขตร้อนที่มีพายุหมุนทั้งหมดครับ (ถ้าอ่านจากชื่อไทยและชื่ออังกฤษอาจจะดูสับสนเล็กน้อย เพราะ Tropical ก็แปลว่า เขตร้อน แต่เราเรียกเฉพาะ Tropical Storm ว่าพายุโซนร้อน ในขณะที่ Storm แปลว่า พายุ ส่วน Depression แปลว่า ความกดอากาศต่ำ แต่เราเรียกว่า "พายุ" ทั้งคู่)

พายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมาได้จาก 2 ทาง คือ จากอ่าวเบงกอลเข้าสู่ภาคตะวันตกของประเทศในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่มีจำนวนน้อยกว่าอีกทางหนึ่ง คือพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ทางตะวันออก ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม และแนวที่พายุเคลื่อนเข้าก็จะสอดคล้องกับแนวร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านในแต่ละช่วงเดือนนั่นเอง ตามสถิติโดยกรมอุตุฯ เดือนที่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด (ดูที่ศูนย์กลางพายุเป็นหลัก) คือเดือนตุลาคม รองลงมาคือเดือนกันยายน

ร่องความกดอากาศต่ำ

เป็นคำที่ได้ยินผู้ประกาศข่าวพูดถึงอยู่เสมอ แต่หลายคนก็ยังไม่ค่อยรู้จักกับมันเท่าไหร่นัก แต่เจ้าสิ่งนี้กลับทำให้เกิดอะไรๆ กับภูมิอากาศบ้านเราได้มากมาย ขออธิบายลักษณะของมันสั้นๆ ว่า ร่องความกดอากาศต่ำ ก็คือ แนวของมวลอากาศที่มีความหนาแน่นต่ำ (มีอุณหภูมิสูง) เกิดขึ้นตามธรรมชาติของอากาศที่ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ และมีมวลอากาศที่มีความกดสูงกว่า (ความหนาแน่นมากกว่า) กระจายอยู่รอบแนว 2 ด้าน ร่องความกดอากาศต่ำมักจะเกิดในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นหลัก (เพราะเป็นแนวที่โลกหมุนรอบตัวเอง และหมุนรอบดวงอาทิตย์) อาจจะมีเฉียงเหนือหรือใต้เล็กน้อยตามฤดูกาล และกำลังของลมอื่นๆ ที่มากระทบ เช่น ลมมรสุม เป็นต้น

เมื่อมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน มวลอากาศความกดสูงกว่า ที่อยู่รอบๆ ก็จะเคลื่อนเข้ามาพบกันในแนวนี้ เมื่อไม่มีที่ให้พาอากาศ ไปไหนต่อแต่มีปริมาณมากพอ ก็รวมตัวตกลงมาเป็นฝนนั่นเอง

นอกจากนี้ ร่องความกดอากาศต่ำก็จะทำหน้าที่ เป็นทางเดินให้กับพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นทางทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย จึงพบว่าพายุหมุนส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยตามแนวร่องความกดอากาศต่ำนี้

ดังนั้น การเคลื่อนตัวของร่องความกดอากาศต่ำในแต่ละช่วงของปี จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราคาดคะเนสภาพอากาศดีร้ายได้ล่วงหน้าระดับหนึ่ง และสามารถวางแผนเลือกสถานที่ท่องเที่ยวได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ปกติร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนธันวาคม แต่จะส่งผลให้เกิดฝนตกชุกจริงก็ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่เคลื่อนมาถึงตอนกลางของประเทศ และเมื่อถึงเดือนมิถุนายน ก็ไปพาดเอาแถวตอนเหนือของประเทศไทย แล้วหายไปอยู่ทางตอนเหนือสุดของเวียดนามและทางใต้ของจีนพักหนึ่งราวเดือนกรกฎาคม ก่อนจะเริ่มเคลื่อนกลับเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้งในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม ไล่ลงจากเหนือมาใต้ตามลำดับ

พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุก ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม โดยทิ้งช่วงไปพักหนึ่งราวเดือนกรกฎาคม และกลับมาตกชุกจนถึงตกหนักอีกครั้งตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป แต่คราวนี้ หากมีพายุหมุนเขตร้อน เฉียดเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนเข้ามาด้วย ก็จะทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก หรือเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

นอกจาก 3 สิ่งนี้แล้ว ก็ยังมีช่วงเดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายน ที่ลมตะเภา หรือลมว่าว ซึ่งพัดมาจากทิศใต้หรือตะวันออกเฉียงใต้ อาจปะทะเข้ากับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ที่บังเอิญหลงทางในบางโอกาส ทำให้เกิดเป็น "พายุฤดูร้อน" มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง หรือมีลูกเห็บตกลงมาด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทางตอนเหนือของประเทศ

สรุปย่อช่วยจำ

ร่องความกดอากาศต่ำ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยคาดคะเนพื้นที่ที่จะเกิดฝนตกชุกในแต่ละเดือน จำง่ายๆ โดยเริ่มไล่จากเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน จากใต้สุดไปเหนือสุดแล้วไล่กลับลงมาอีกครั้ง จากเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม จากเหนือสุดมาใต้สุด ส่วนว่าจะไปเที่ยวที่ไหนได้บ้างนั้น ต้องลองเปิดแผนที่ประเทศไทยประกอบด้วยแล้วล่ะ

สำหรับลมมรสุม คงจะจำกันได้ไม่ยากเพราะเรียนกันมาแต่เด็กแล้วหรือไม่ ก็ลองย้อนกลับไปอ่านด้านบนอีกรอบนะครับ

จากข้อมูลเหล่านี้ น่าจะช่วยให้ทุกท่านสามารถวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวล่วงหน้าในแต่ละเดือนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความถึงทริปดำน้ำเท่านั้นนะครับ แต่หมายรวมถึงทุกการเดินทางในทุกสถานที่ท่องเที่ยวที่คุณเลือกเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับวันหยุดพักผ่อนเพื่อความสุขสนุกสนานของผู้ร่วมทริปทุกคน

ท่านที่ต้องการทราบข้อมูลพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เกี่ยวกับคลื่นลมในทะเลบริเวณที่ต้องการจะไปดำน้ำ สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้า พยากรณ์อากาศล่วงหน้า

ภาพและข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สาระวิทยาศาสตร์ทางทะเล, พ.ศ. 2546
Wikipedia: Tropical cyclone
เขียนโดย ศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล (FreedomDIVE.com)
นำเสนอ 06 ธ.ค. 2549
ปรับปรุงล่าสุด 20 ส.ค. 2555