วันนี้ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมสัมมนาที่เขาใหญ่ โครงการ ?ร่วมอนุรักษ์ มรดกโลก? ในวาระที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง (แห่งที่ 3)
(ขอเท้าความนิดนึงว่า มรดกโลก หรือ World?s Heritage Site มี 2 แบบ
1) มรดกทางวัฒนธรรม ในประเทศไทยมี 3 แห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร, อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
2) มรดกทางธรรมชาติซึ่งในประเทศไทยเคยได้รับการแต่งตั้งไปแล้ว 2 แห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง)
วิทยากรในการสัมมนาครั้งนี้ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆท่าน จากหน่วยงานต่างๆ หนึ่งในนั้นก็มีท่านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่รวมอยู่ด้วย และวันนี้ก็ได้มีโอกาสรับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจจากมุมมองของผู้ที่ทำงานในอุทยานมาเล่าสู่กันฟัง
ในการท่องเที่ยวแบบเดินป่านั้น การเตรียมตัวโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยวก็จะเป็นการตระเตรียม อุปกรณ์การเดินทาง อุปกรณ์การดำรงชีวิตขณะในป่า รวมถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพ แต่ทว่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองข้ามไปก็คือทำอย่างไรให้การไปเที่ยวนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า และสร้างสรรค์ที่สุด นักท่องเที่ยวบางราย (ส่วนใหญ่) ไม่ทราบแม้กระทั่งว่า เขาเหล่านั้นไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติกันทำไม บางรายบอกว่ามาเพราะเพื่อนชวนมา บางคนมาเพราะแค่อยากออกนอกบ้าน บางคนมาเพราะบริษัทจัดให้มา น้อยคนนักที่มาเพราะต้องการมาเก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากป่าที่อุดมสมบูรณ์นั้น ซึ่งคนเหล่านี้นั้นเองที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสภาพแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่เราเรียกว่า ?ฉิ่งฉาบทัวร์? ในอุทยานแห่งชาติที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ สัตว์เหล่านี้นอนแต่หัวค่ำ ส่วนพวกที่ไม่นอนนั้นก็จะออกมาหากินตอนกลางคืน การส่งเสียงดัง (ร้องรำทำเพลง) ในยามค่ำคืนนั้นเป็นการทำให้สัตว์ตื่นตระหนก อุทยานแห่งชาติส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมดก็ไม่แน่ใจ) จะห้ามนำถุงพลาสติกและกล่องโฟมเข้าในเขตอุทยาน ทำไม? เป็นเพราะมันย่อยสลายยากรึ? นั่นก็ใช่ส่วนหนึ่ง จากข้อมูลจากทางมูลนิธิเพื่อนป่า (Wild Aid) บอกว่า สัตว์จำนวนมาก (และหลายชนิด) เช่นกวาง หมาในต้องเสียชีวิตลงไปเนื่องจากกินถุงพลาสติกที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ ทำไมอุทยานแห่งชาติจึงต้องกำหนดความเร็วในการขับรถ? นั่นก็เพราะในแต่ละวัน สัตว์จำนวนนับสิบต้องถูกรถที่วิ่งเกิน 40 กม.ต่อ ชม. ทับตาย
ก่อนจะไปเที่ยวเดินป่า เราควรจะถามตัวเองก่อนว่า เรานั้นมีความรักป่ารึไม่ มีสำนึกในการอนุรักษ์แล้วรึยัง การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้สนุกนั้นเราควรจะมีความรู้ในเรื่องพืชและสัตว์ในสถานที่ที่จะไปบ้าง ในการเดินป่าแต่ละครั้งจะต้องมีการเหยียบย่ำพันธุ์พืชและสัตว์เล็กสัตว์น้อยทุกครั้ง ดังนั้นการที่เรามีความรู้ในเรื่องพืชและสัตว์จะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเหล่านั้น (ทั้งยังเป็นการป้องกันตัวเราเองจากพืชมีพิษอีกด้วย)
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะแต่ก่อนนั้น เราคิดว่านักถ่ายภาพสัตว์ทุกคนจะต้องเป็นคนที่มีความสำนึกในการอนุรักษ์ดีแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่นที่เขาใหญ่แห่งนี้ ทางอุทยานกันเขตสำหรับนกเงือกไว้โดยไม่ให้คนเข้าไปรบกวน แต่ก็มีนักถ่ายภาพนกบางคนพยายามใช้วิชามารเข้าไปดักซุ่มถ่ายภาพจนได้ ไฟแฟลช เสียงโทรศัพท์มือถือ เสียงพูดคุย ต่างๆ นานา นั้นทำให้แม่นกเงือกนั้นบินหนีไป ไม่ยอมกลับมาป้อนเหยื่อ ทิ้งให้ลูกนกเงือกนั้นต้องตายคารังเป็นจำนวนมาก อีกเหตุการณ์หนึ่ง ไกด์ชาวไทยพานักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศไปดูช้างในป่า ครั้นพอพบช้างเชือกหนึ่งก็เอาก้อนหินขว้างใส่ช้างเพื่อให้ช้างตกใจ ยกขา ชูงวง (ทั้งหมดนี้ก็เพียงเพื่อให้ลูกค้าของเค้าได้เก็บภาพสวยๆ) อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดจากความตั้งใจของคน คือมีครั้งหนึ่งที่มีนักถ่ายภาพคนหนึ่ง เข้ามาถ่ายภาพนกสวยงามหายากชนิดหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าเป็นนกอะไร) แม่นกกำลังป้อนเหยื่อให้ลูกนกที่กำลังอ้าปากรออยู่ในรัง ได้ภาพสวยงามนั้นแล้วช่างภาพคนนั้นก็จัดการโค่นต้นไม้ที่มีรังลูกนกนั้นอยู่ซะ เพื่อที่จะได้ไม่มีใครสามารถกลับมาเก็บภาพแบบเดียวกันได้อีก (ตัวเองจะได้เอารูปไปขายได้ราคาแพงๆ)
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะเตรียมก่อนไปเที่ยวป่า คือ ?เตรียมใจ? การไปเที่ยวป่านั้นหมายถึงการไปใช้ชีวิตให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด นักท่องเที่ยวบางคนต่อว่าท่านหัวหน้าอุทยานเรื่อง บ้านพักไม่มีแอร์, ฝักบัวน้ำไม่ร้อน, ห้องน้ำสกปรก, อาหารไม่อร่อย, ผ้าปูที่นอนไม่ตึง, ทิชชู่ไม่มี (และอื่นๆ อีกมากมาย) ท่านทั้งหลายโปรดทราบ ท่านหัวหน้าอุทยานนั้นจบวนศาสตร์และเป็นผู้ดูแลอุทยานไม่ใช่ผู้จัดการรีสอร์ต ท่านหัวหน้ามีภาระหน้าที่อยู่ในความรับผิดชอบมากมาย ไหนจะต้องทำวิจัยเรื่องพืชและสัตว์ แล้วยังจะต้องต่อสู้กับพวกลักลอบขโมยสัตว์ป่า ตัดไม้สงวนไปขายอีก โปรดเห็นใจท่านหัวหน้าด้วยเถอะ บางคนก็ต่อว่าว่าพนักงานของอุทยานหน้างอ ก็ไปฟ้องท่านหัวหน้า....โถ..พวกเขาคงจะมีเรื่องให้คิดมาก (ก็เงินเดือนของพนักงานอุทยานน่ะ 3 พันกว่าบาทต่อเดือนเท่านั้น)
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นคำบอกเล่าจากทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ, เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า และอีกมากมาย เห็นว่าได้ประโยชน์ดีจึงได้นำมาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จะช่วยกันนำไปคิด และ ช่วยกันปลุกจิตสำนึกของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อที่เราจะได้มี ?มรดกโลก? เอาไว้เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวไทยไปนานๆ
