ประเภทการดำน้ำ | boat dive, reef dive, muck dive |
---|---|
ระดับการดำน้ำ | สำหรับมือใหม่ไปจนถึงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ |
ความลึก | 5 - 20 เมตร |
ทัศนวิสัยใต้น้ำ | 5 - 20 เมตร |
กระแสน้ำ | Mild - Strong |
อุณหภูมิน้ำ | 27-31 ๐C |
จุดดำน้ำ | เกาะผึ้ง, หินขาว, เกาะหลีเป๊ะ, เกาะปาลัย, เกาะสาวัง, หินแปดไมล์, Pattaya Corner, กองหินตาลัง (Stonehenge), เกาะตาลัง, เกาะอุเสน, เกาะกระ, เรือจม Yong Hua, Honeycomb reef, หน้าน้ำตก (Adang Waterfall), เกาะทะลุ, ร่องน้ำจาบัง, เกาะยาง, อ่าวเรือใบ, เกาะสาวัง, เกาะผึ้ง และเกาะดง |
ฤดูท่องเที่ยว | พ.ย. - กลาง พ.ค. |
สิ่งที่น่าสนใจ | ปะการังอ่อน 7 สี ฉลามวาฬ กระเบนราหู กระเบนนก กระเบนปีศาจ กระเบนจุดฟ้า ฉลามเสือดาว เต่าทะเล ปลากบ ปลากะรังผี (demon stinger) ปลาปากขลุ่ย ปลาปากแตร ทากทะเล ปลาการ์ตูน ปลาจิ้มฟันจระเข้ ฯลฯ |
เกาะทั้ง 3 แห่งนี้ คือส่วนหนึ่งของหมู่เกาะมากมายในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา โดยเฉพาะเกาะหลีเป๊ะที่ถือเป็น “ที่สุดของปะการังอ่อน” ด้วยปะการังอ่อน 7 สีที่ทำให้ใต้น้ำดูเหมือนทุ่งดอกไม้หลากสีสัน
นอกจากทัศนียภาพใต้น้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว วิวบนฝั่งก็สวยงามตรึงใจไม่แพ้กัน ด้วยหาดทรายขาวละเอียด น้ำทะเลสีฟ้าใส
การดำน้ำบริเวณหมู่เกาะนี้ สามารถดำได้ทั้งสน็อกเกิลและสกูบา มีจุดดำน้ำมากมายหลายสิบแห่ง นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อแพ็กเกจดำน้ำบนเกาะได้
การพักค้างบนเกาะ สามารถพักได้บนเกาะอาดังและเกาะหลีเป๊ะ โดยเกาะอาดังมีทั้งบ้านพักของอุทยานฯ ลานกางเตนท์ รวมถึงรีสอร์ทของเอกชน 1 แห่ง ส่วนบนเกาะหลีเป๊ะ จะเป็นที่พักของเอกชนทั้งหมด ซึ่งมีให้เลือกหลายแห่ง
บนเกาะหลีเป๊ะมี 3 หาดหลัก คือหาดพัทยา หาดซันไรส์ และหาดซันเซ็ต เดินถึงกันได้ หรือจะนั่งมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างท้องถิ่นก็ได้ โดยหาดพัทยาจะเป็นจุดจอดเรือหางยาวรับส่งนักดำน้ำ สำหรับคนที่ชอบความสงบ หาดอีกสองแห่งที่เหลือจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
นอกจากจุดเด่นเรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติแล้ว บนเกาะหลีเป๊ะยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ โดยมีชุมชนชาวเลท้องถิ่นหรือชาวอูรักลาโว้ยที่ยังคงวิถีชีวิตตามประเพณีดั้งเดิม เช่น พิธี “ลอยเรือปลาจั๊ก” เพื่อลอยบาปและเสี่ยงทาย ซึ่งจะมีปีละ 2 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคมและพฤจิกายน ตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ จนถึงวันแรม 1 ค่ำ ที่มีตั้งแต่การตั้งโต๊ะบูชา การร่ายรำ การต่อเรือ พิธีบูชาเรือ การแสดงรองเง็ง พิธีลอยเรือ และพิธีปักไม้กันผี
Pattaya Corner : แนวปะการังชายฝั่งที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ทั้งปะการังแข็ง ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ปลาแนวปะการังมากมาย เช่น ปลาปากขลุ่ย ปลาปากแตร ปลาปักเป้า ปลาสินสมุทร หอยมือเสือหลากสีสัน ดาวขนนก รวมถึงทากทะเลตัวเด่นอย่าง Miamira sinuata
หินแปดไมล์ : เป็นกองหินอยู่ทางตอนใต้ของเกาะหลีเป๊ะ ห่างจากเกาะหลีเป๊ะราว 8 ไมล์ทะเล ความลึก 16-45 เมตร กระแสน้ำค่อนข้างแรง แต่ก็ตามมาด้วยโอกาสเจอพี่ใหญ่อย่างฉลามวาฬสูง รวมถึงกระเบนราหูและกระเบนปีศาจ แต่ต่อให้ไม่เจอพี่ใหญ่ ก็ยังมีฉลามเสือดาวให้ดูปลอบใจ รวมถึงปลาเก๋าตัวใหญ่ ปลาหูช้างฝูงใหญ่ ไปจนถึงปลากลางน้ำอื่นๆ และทากทะเลตัวเล็กตัวน้อย
กองหินตาลัง (Stonehenge) : หนึ่งในจุดดำน้ำลึกระดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยสีสันอลังการที่มีแทบทุกเฉดสี ตั้งแต่ปะการังอ่อนสีขาว น้ำเงิน ม่วง ชมพู เหลือง ส้ม แดง สลับกับกัลปังหาสีเหลืองอมส้มสดใส ดอกไม้ทะเลพลิ้วไหว ปะการังต้นไม้สีเขียว ปะการังเขากวางรูปโต๊ะขนาดใหญ่ ฟองน้ำครกขนาดใหญ่ที่เป็นนักกรองน้ำของแนวปะการัง นอกจากสีสันที่ชวนตะลึงแล้ว ยังสามารถเจอเต่าทะเล ฉลามเสือดาว ฉลามครีบขาว ปลาสิงโต และฝูงปลาอีกมากมาย รวมถึงนักพรางตัวอย่างปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ส่วนลานทรายทางด้านใต้จนถึงความลึก 20 เมตร ก็มีทากทะเลมากมายให้ตามส่อง
เกาะตาลัง : มีจุดดำน้ำที่ได้รับความนิยม 2 จุด คือ Talang Steps (ฝั่งตะวันตก) และ Talang Wall ซึ่งทั้ง 2 แห่งมีความลึกสูงสุดที่ราวๆ 25 เมตร สามารถเจอทากทะเลได้หลากหลาย รวมทั้งปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ม้าน้ำ ส่วนตามซอกหินให้ลองมองดีๆ อาจเจอฉลามกบ ส่วนกลางน้ำก็มีฝูงปลามากมาย ส่วนตามแนวพื้นทรายด้านนอกอาจเจอกระเบนจุดฟ้ามุดทรายอยู่ หรือฉลามเสือดาวนอนพักผ่อน
เกาะอุเสน : เป็นเกาะขนาดเล็กที่มีแนวปะการังสวยงาม ความลึกตั้งแต่ 5-25 เมตร สัตว์ที่เจอได้ง่ายก็มีตั้งแต่ปลาปักเป้า ปลาไหลมอเรย์ ปลาขี้ตังเบ็ด หมึกสาย กั้งต๊กแตน รวมถึงหากมองดีๆ ก็อาจเจอนักพรางตัวขั้นเทพอย่างปลากะรังผี (demon stinger) หรือปลาหายากอย่างปลานกฮูก (flying gurnard)
เกาะกระ : มีแนวปะการังตั้งแต่โซนน้ำตื้นที่สามารถสน็อกเกิลได้ ซึ่งมีปลาการ์ตูนส้มขาวขวัญใจมหาชน ไปจนถึงแนวปะการังที่ความลึก 20 เมตร ซึ่งมีทั้งปลากบ กุ้งตัวตลก ปลาจิ้มฟันจระเข้ รวมถึง Bent-Stick Pipefish
เรือจม Yong Hua : เป็นซากเรือประมงลำใหญ่ซึ่งจมลงในปี 1996 ความยาว 75 เมตร ความลึกสูงสุด 40 เมตร
Honeycomb reef : เป็นลานทรายที่ลาดชันสู่ที่ลึก หากมองหาให้ดีตามไฮดรอยด์และสาหร่าย จะพบทากทะเลตัวจิ๋วหลายชนิด รวมถึง hairy shrimp ที่หน้าตาเหมือนสาหร่ายสีแดงใสๆ ไปจนถึงปลากบ
หน้าน้ำตก (Adang Waterfall) : อยู่บริเวณหน้าน้ำตกบนเกาะอาดัง จุดสังเกตคือหินสามเหลี่ยมก้อนใหญ่หน้าน้ำตก เป็นจุดดำ Muck Dive สำหรับสายมาโครที่ดีอีกแห่ง โดยตามกิ่งไฮดรอยด์และสาหร่ายจะเจอทากทะเลหลายชนิด เช่น Trinchesia spp., Doto spp., Thecacera spp. ฯลฯ
เกาะทะลุ : ดาวเด่นของที่นี่ต้องยกให้เจ้าปลา Rhinopias (หนึ่งในกลุ่มปลาแมงป่อง) ที่เป็นสุดยอดนักพรางตัว ดูแล้วเหมือนเศษสาหร่ายมากกว่าปลา ส่วนลานทรายบริเวณที่ลึกก็มีทากทะเลให้ตามหาหลายชนิด
ร่องน้ำจาบัง : เป็นกองหินใต้น้ำใกล้เกาะจาบัง เป็นจุดดำน้ำเด่นที่มาหลีเป๊ะแล้วไม่ควรพลาด ขึ้นชื่อเรื่องปะการังอ่อน 7สี จนบางคนบอกเหมือนเป็นทุ่งซากุระใต้น้ำ เหมาะทั้งการดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก แต่ข้อควรระวังคือกระแสน้ำค่อนข้างแรง การดำน้ำตื้นจึงควรจับเชือกไว้ตลอดเวลา
เกาะยาง : มีจุดดำน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก บริเวณน้ำตื้นมีแนวปะการังทอดยาวและดอกไม้ทะเล สามารถดำสน็อกเกิลได้ ส่วนบริเวณน้ำลึกตั้งแต่เชือกทุ่นลงไป เหมาะแก่การดำน้ำลึกสายมาโคร โดยเป็นพื้นทรายสลับเศษซากปะการังแตกหักและไฮดรอยด์
อ่าวเรือใบ : เหมาะสำหรับนักดำน้ำ open water เนื่องจากความลึกไม่เกิน 18 เมตร แต่ก็เต็มไปด้วยสัตว์ทะเลน่าสนใจ ทั้งปะการังแข็ง ปะการังอ่อน กัลปังหา ไปจนถึงปลาสิงโต ปลาแมงป่อง ทากทะเลหลายชนิด กระเบนจุดฟ้า รวมถึงบางทีอาจมีปลาหูช้างว่ายตามเป็นบัดดี้ตลอดไดฟ์
เกาะสาวัง : บริเวณน้ำตื้นมีปะการังอ่อนหนาแน่น ส่วนน้ำลึกบริเวณเศษซากปะการังแตกหัก เป็นจุดดำหาตัวเล็กที่น่าสนใจอีกแห่ง
เกาะผึ้ง : ตามโขดหินใต้น้ำมีปะการังอ่อนหลากสี แต่กระแสน้ำค่อนข้างแรง
เกาะดง : มีจุดดำน้ำทั้งทางหัวแหลมฝั่งเหนือ (Koh Dong Corner) และทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ที่เรียกว่า Sail Rock ทั้งสองจุดนี้เป็นแนวปะการังชายฝั่ง สามารถเจอปลาแมงป่อง ปลาปากขลุ่ย ปลาปากแตร ปลาสิงโต ฯลฯ
นอกจากจุดดำน้ำดังกล่าวแล้ว ยังมีจุดอื่นๆ อีกหลายแห่งเช่น เกาะหินงาม, เกาะเหล็ก, เกาะบิสซี่ (Bitsi), หินขาว (White Rock) ซึ่งเป็นคนละแห่งกับกองหินขาวของหมู่เกาะเภตรา, Expressway, แหลมฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะอาดัง (Adang N/W Corner), ชายฝั่งตะวันตกของเกาะอาดัง, Adang Big Rocks, หัวแหลมฝั่งตะวันตกของเกาะราวี, หาดราวี ฯลฯ
การเดินทางไปเกาะอาดังและหลีเป๊ะ ต้องขึ้นเรือที่ท่าเทียบเรือปากบารา ซึ่งมีให้เลือกทั้งเรือเฟอรรีและสปีดโบ้ท ใช้เวลาเดินทางราวๆ 2 ชั่วโมง โดยจะมีเรือประมาณ 2-4 รอบต่อวัน ขึ้นกับปริมาณนักท่องเที่ยวในฤดูนั้น หากต้องการแวะเกาะตะรุเตาและเกาะไข่ จะต้องเลือกรอบ 11.30 เท่านั้น
หากเริ่มต้นในจังหวัดสตูล จะต้องไปขึ้นเรือที่ท่าเทียบเรือปากบารา โดยจะมีเรือรับส่งจากท่าเรือสู่เกาะตะรุเตา และเกาะหลีเป๊ะ ทุกวัน
การมาที่ท่าเทียบเรือปากบารา หากเดินทางโดยเครื่องบิน สามารถเลือกลงสนามบินหาดใหญ่หรือสนามบินตรัง ซึ่งระยะทางพอๆ กัน แต่จากหาดใหญ่ใช้เวลาน้อยกว่า โดยมี airport bus จากสนามบินหรือรถตู้ประจำทางจากตลาดเกษตร หาดใหญ่ ไปถึงท่าเรือปากบาราโดยตรง ส่วนจากสนามบินตรังก็มีรถตู้โดยสารไปท่าเรือปากบาราเช่นกัน
หากเดินทางด้วยรถไฟ สามารถลงที่สถานีหาดใหญ่และต่อรถตู้ต่อมาที่ท่าเรือปากบารา หากมาทางรถทัวร์ ให้ลงที่จุดจอดอำเภอละงู สตูล แล้วนั่งสองแถวหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้ามาท่าเรือได้