หากมีสิ่งผิดพลาดในการดำน้ำครั้งต่อไป
คุณจะเป็นวีรบุรุษ/วีรสตรี หรือผู้เฝ้าดูอยู่เฉยๆ
สถิติจากผู้อ่าน
คำถาม: ท่านเคยจำเป็นต้องกู้ภัยให้กับนักดำน้ำคนอื่นหรือไม่
คำตอบ: เคย 57 % ไม่เคย 43%
แหล่งข้อมูล: Diver-to-Diver Message Board at www.scubadiving.com (11/15-11/16/00).
พวกเราโชคดีที่ได้เล่นกีฬาซึ่งมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด แต่เราต้องยอมรับความจริง ถึงความเสี่ยง ที่แฝงอยู่ใน การดำน้ำ ซึ่งทำให้อุบัติเหตุ หากเกิดขึ้นแล้ว มักจะรุนแรง และเมื่อเหตุการณ์แย่ลง มันจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว การตอบสนองต่อปัญหา อย่างเร็ว เยือกเย็น และมีประสิทธิภาพ มักจะทำให้เกิดข้อแตกต่าง ระหว่างการรอดพ้นอย่างฉิวเฉียด กับการบาดเจ็บอย่างรุนแรง หรือแย่ยิ่งไปกว่านั้น
ก็จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาข้อหนึ่งว่า จะเตรียมตัวรับมือ กับปัญหาในการดำน้ำ อย่างไร และสำหรับบัดดี้ คืออะไร มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูป เพราะสถานการณ์แต่ละอย่าง จะแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือ การดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่สำคัญยิ่งกว่า คือการสามารถคิดอย่างชัดเจน ก่อนที่จะดำเนินการอย่างไรลงไป ต่อไปนี้คือขั้นตอนเบื้องต้น ห้าขั้นตอน ที่นักดำน้ำควรทราบ
Get Rescue-Certified
ทั้งทางนิตยสาร รวมทั้งสถาบันดำน้ำหลักๆ เกือบทุกแห่ง แนะนำว่า การเรียนจบชั้น Rescue เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับนักดำน้ำ ที่ดำน้ำอย่างจริงจัง ทุกท่าน เพราะว่าการเรียนเท่านั้น ที่จะทำให้นักดำน้ำ มีความพร้อมที่จะ สังเกต ป้องกัน และจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุได้
จะได้เรียนอะไรบ้าง
คอร์สจะรวมไปถึงเทคนิคการกู้ภัยต่างๆ บางส่วนจะได้กล่าวถึงในที่นี้ รวมถึงหัวข้อเกี่ยวกับการให้ออกซิเจน และการจัดการอุบัติเหตุ สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ มันจะให้การฝึกฝนการกู้ภัยในน้ำโดยใช้ “เหยื่อ” สมมติ คุณจะได้มีโอกาสเริ่มการฝึก ในเหตุการณ์ฉุกเฉินจริง คุณมักจะจำได้ ในสิ่งที่คุณเคยทำ มากกว่าสิ่งที่คุณเคยอ่าน
อะไรที่ต้องมีก่อน
แตกต่างกันไประหว่างองค์กร แต่ส่วนมากคุณจะต้องเรียนการทำการผายปอดปั๊มหัวใจ และการปฐมพยาบาลก่อนหรือพร้อมๆ กับคอร์สเรียนวิชากู้ภัย ในองค์กรบางองค์กร ให้นักเรียนจบขั้น Advanced ก่อน บางองค์กรก็ไม่จำเป็น
มีคุณค่าอย่างไร
นอกจากการเรียนเทคนิคการกู้ภัย โดยเฉพาะเจาะจงแล้ว คุณจะมีความคุ้นเคย กับสัญญาณของความเครียด ที่นักดำน้ำท่านอื่นๆ มี และคุณจะมีความเชื่อมั่น ในความสามารถ ในการช่วยเหลือผู้อื่น และการช่วยเหลือตนเองด้วย
ขั้นตอนที่ 1: Get Air
คุณต้องแน่ใจว่าเหยื่อมีอากาศที่จะหายใจ หากเหยื่อไม่มีอากาศหายใจ สมองจะถูกทำลายภายใน 6-10 นาที นอกจากนั้นยังต้องป้องกันการ panic ผู้อำนวยการฝึกขององค์กร SSI Mr. Dennis Pulley กล่าวไว้ว่า “ไม่สำคัญว่า คุณดำน้ำมานานแค่ไหน หากคุณไม่มีอากาศที่จะหายใจ การ panic จะเกิดขึ้น มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์” เมื่อเหยื่อมีอากาศหายใจแล้ว ทั้งสองคน จะต้องใช้เวลาสักนาทีหนึ่ง ในการหายใจ และผ่อนคลายตัวเอง
การรักษาแหล่งอากาศหายใจของเหยื่อ เป็นขั้นตอนสำคัญ ตลอดการกู้ภัย อย่ากังวลกับขั้นตอนต่อๆ ไปมากเกินไป เช่นสนใจกับการให้สัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือการลาก จนกระทั่ง ลืมป้องกันทางเดินหายใจ จากการสาดน้ำ และจมน้ำ
เทคนิคที่มีประสิทธิภาพ
- ใต้น้ำ ให้หาแหล่งอากาศสำรองของคุณ ขณะที่เข้าหาเหยื่อ และเตรียมพร้อมที่จะให้กับเหยื่อ หากเรื่องอากาศไม่ใช่ปัญหา คุณสามารถไปสู่ขั้นตอนที่สองได้เลย คือการป้องกันการ panic
- บนผิวน้ำ ให้หมุนตัวเหยื่อให้นอนหงาย โดยศีรษะแหงนไปด้านหลัง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ
ปัญหา
- คุณพบกับนักดำน้ำนอนอยู่ที่พื้นทะเล เห็นได้ชัดว่าไม่หายใจ คุณจะทำอย่างไร หากเร็กกุเลเตอร์ยังอยู่ในปาก ให้จับไว้ด้วยมือ หากไม่อยู่ในปาก อย่าเสียเวลาพยายามเอาใส่ปาก สิ่งสำคัญอยู่ที่การนำเหยื่อขึ้นสู่ผิวน้ำโดยเร็ว
- หากเห็นนักดำน้ำที่มีอากาศหายใจ และกำลัง panic ข่าวดีก็คือ เขายังมีสติ และยังสามารถหายใจได้ อันตรายก็คือ เขาอาจจะคว้าท่อหายใจของคุณ ให้เข้าหาเหยื่อ โดยถือแหล่งอากาศสำรองที่ตั้งใจจะให้ เอาไว้ด้านหน้าของคุณ เพราะมันจะเป็นสิ่งแรกที่เขาจะคว้า หากเขาไม่สนใจสิ่งที่เสนอให้ และยังจะคว้าท่อหายใจในปากของคุณ ท่อหายใจสำรองก็ยังอยู่ในมือของคุณ พร้อมที่จะให้ใช้ได้อยู่ดี
ขั้นตอนที่ 2 Get to the surface
ให้พาเหยื่อขึ้นสู่ผิวน้ำทันที แต่อย่าลืมเรื่องการขึ้นเร็วเกินไป คุณคงไม่ต้องการ ที่จะทำให้เกิดปัญหาปอดขยายตัวมากเกินไป ทั้งสองคน เพิ่มขึ้นมา จากปัญหาการจมน้ำ
ความเร็วในการขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในสถานการณ์อากาศเหลือน้อย ให้ขึ้นด้วยความเร็วปกติ เพียงแต่ให้แน่ใจว่า มีอากาศพอที่จะหายใจ สำหรับทั้งสองคน แต่หากเหยื่อหมดสติแล้ว คงต้องขึ้นให้เร็วที่สุด เท่าที่คุณกล้าจะทำ ขณะที่ให้เปิดทางเดินหายใจเอาไว้
วิธีการที่มีประสิทธิภาพ
- ให้เหยื่อมีการลอยตัวเป็นกลางหรือลอยนิดหน่อย ตัวคุณเองให้เป็นกลาง จากนั้นให้ใช้ BCD ของเหยื่อ ยกตัวคุณทั้งสอง ด้วยวิธีนี้ หากคุณต้องปล่อยเหยื่อ เหยื่อก็จะขึ้นสู่ผิวน้ำได้ ให้สงวนพลังงานของคุณ โดยใช้การลอยตัวในการขึ้น แทนที่จะใช้ฟิน
- ให้จับเหยื่อที่ BCD หรือที่รักแร้ มองดูว่าเหยื่อหายใจต่อหรือเปล่า หากเหยื่อ panic ให้จับจากทางด้านหลัง ด้านถังอากาศ โดยที่คุณสามารถเติม หรือปล่อยลม ของเขาได้ และหากจำเป็น ให้จับเร็กกุเลเตอร์ไว้ในปากเขา
- จับศีรษะของเหยื่อให้ตั้ง จะช่วยให้อากาศที่ขยายตัว ออกมาโดยธรรมชาติได้ หากเหยื่อหมดสติ
- ปลดเข็มขัดตะกั่วหากจำเป็น เช่นในกรณีที่เหยื่อหนักมากเกินไป หรือ BCD ไม่ทำงาน นอกจากนั้น หากปลดตะกั่ว อาจทำให้เกิดผลร้าย เพราะจะควบคุมอัตราความเร็วในการขึ้นไม่ได้
- อย่าปลดตะกั่วของตัวคุณเอง เพราะคุณจะได้จมลงใต้เหยื่อ หากเขาพยายามจะจับคุณ จากอาการ panic และหากหลุดจากการควบคุม คุณก็ยังสามารถเป็นกลางได้
ปัญหาที่เกิด
- คุณช่วยเหยื่อในการขึ้น ขณะที่เขาหยุดเป่าฟองอากาศ ชี้ให้เห็นว่าเขาหยุดหายใจ คุณจะทำอย่างไร
คุณจะต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างปัญหาปอดขยายมากเกินไป กับการขาดออกซิเจน เหยื่อหยุดหายใจเพราะ panic หรือหมดสติ สิ่งที่จะบ่งชี้ได้อย่างหนึ่ง คือการดูว่า เขาดิ้นรนอยู่ หรือตัวอ่อนลงไป หากเขา panic ให้พยายามหยุดการขึ้น โดยการกางมือเท้าออก ขณะที่จับเขา ทำอย่างนี้ไม่นานเขาจะต้องหายใจ แต่หากเขาหมดสติ สิ่งสำคัญคือต้องพาขึ้นโดยเร็ว ในกรณีนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ ปลดตะกั่วของเขาทิ้งเสีย เติมลมให้เขา และปล่อยให้ขึ้นไป โดยมีคุณตามไป ในอัตราปกติ - บัดดี้ของคุณพุ่งขึ้นกะทันหัน คุณจะทำอย่างไร
หากคุณสามารถคว้าเขาได้ที่ขาหรือ BCD คุณอาจจะกางแขนกางขาขณะจับ และทำให้เขาขึ้นช้า พอที่จะป้องกันปอดขยายมากไป หรือการเป็น DCS นอกจากนั้นแล้ว คุณคงต้องปล่อยเขาไป และตามขึ้นด้วยอัตราปกติ หน้าที่แรกของคุณ คือรักษาสุขภาพของตัวเองเอาไว้ก่อน เพื่อสามารถช่วยเขาได้ที่ผิวน้ำ
ขั้นตอนที่ 3 Get Buoyant
เมื่อคุณมาถึงผิวน้ำ ให้จัดการให้เกิดการลอยตัวสำหรับเหยื่อ ควรพร้อมที่จะช่วยเติมลม และปลดตะกั่วออก และที่แน่นอน เวลานี้ก็เป็นเวลาเหมาะสม ที่จะปลดถุงใส่ของและ brass porthole ด้วยเสียเลย
วิธีการที่ถูกต้อง
ให้จับเหยื่อหมุนนอนหงาย โดยให้ศีรษะเงยไปด้วยหลัง ทำให้ใบหน้าของเหยื่อสูงที่สุด และน้ำจะสาดเข้าไป ในทางเดินหายใจ ได้ยากกว่า และทำให้เหยื่อพัก โดยไม่ต้องว่ายน้ำ
ปัญหาที่จะเกิด
- นักดำน้ำที่ panic บนผิวน้ำทำการตะกุยน้ำด้วยแขน และพยายามปีนขึ้นจากน้ำ คุณควรทำอย่างไร
เหยื่อนั้นอาจจะปีนขึ้นบนตัวคุณ เพื่อให้ตัวพ้นจากน้ำ ให้รักษาระยะห่าง และใช้เสียงทำการกล่อมให้เหยื่อสงบลง พยายามพูดช้าๆ อย่างเยือกเย็น “ไม่เป็นไร ผมจะช่วยคุณ เติมลม ปลดตะกั่วทิ้ง” พยายามบอกให้เหยื่อ หายใจจากเร็กกุเลเตอร์ หากเหยื่อไม่ตอบสนอง และกลืนน้ำเข้าไป คุณต้องปลดตะกั่วให้เขา ให้ดำน้ำลงไป และเข้าหาจากข้างใต้ เหยื่อจะไม่สนใจ - นักดำน้ำที่ผิวน้ำไม่หายใจ คุณจะทำอย่างไร
การผายปอดแบบปากต่อปากนั้น ยากมากที่จะทำในน้ำ คุณจะทำมันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณเคยฝึกฝนมาหรือเปล่า และนานแค่ไหน กว่าคุณจะพาเหยื่อขึ้นจากน้ำได้ หากเรือหรือฝั่ง อยู่ไกลกว่าที่จะถึงได้ ภายในสองสามนาที อย่างน้อยควรพยายามเป่าปาก rescue breaths สองครั้ง หมุนศีรษะของเหยื่อเข้าหาคุณ แทนที่จะปีนขึ้นไปด้านบนของเหยื่อ ปล่อยลมออกจาก BCD สักเล็กน้อย อากาศที่มากเกินไป จะทำให้ยาก ต่อการที่จะเป่าปาก ได้อย่างถูกต้อง
ขั้นตอนที่ 4: Get Help
ก่อนที่จะเริ่มว่ายน้ำไปยังเรือหรือฝั่ง ให้ใช้เวลาสองสามวินาทีในการเรียกให้คนช่วย เรือหรือเรือยาง อาจจะสามารถมารับได้ หรือนักว่ายน้ำคนอื่น อาจจะเข้ามาช่วยลากระหว่างทาง ขณะเดียวกันคนอื่นๆ ก็อาจจะจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลไว้ให้
วิธีการที่ถูกต้อง
เป่านกหวีดหรือแตร ตะโกน เติมลมเข้า sausage โบกฟินไปมา เมื่อได้รับความสนใจแล้ว ให้ไปสู่ขั้นตอนที่ห้าได้เลย
ขั้นตอนที่ 5: Get Out
พยายามนำเหยื่อขึ้นจากน้ำ คุณจะต้องทำเช่นนี้ ก่อนที่จะทำการปฐมพยาบาล CPR ไม่สามารถทำได้ในน้ำ นั่นหมายความว่า คุณจะต้องลากเหยื่อ โดยการดึงหรือดัน
วิธีการที่ถูกต้อง
- บอกเหยื่อว่าคุณจะทำอะไร (ผมจะช่วยคุณว่ายน้ำกลับไปที่เรือ) เริ่มนำเหยื่อกลับโดยใช้วิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ การทำเช่นนี้จะช้าและเหนื่อย เพราะฉะนั้นควรสงวนกำลังไว้ให้ดี หากคุณเหนื่อยมากเกินไป และจำเป็นต้องช่วยตัวเอง อาจจะทำให้เหยื่อ เป็นอันตรายได้
- ระวังแหล่งอากาศของเหยื่อ หากเขาหายใจด้วยเร็กกุเลเตอร์ ให้แน่ใจว่า มันอยู่ในปากของเขา และมีอากาศเพียงพอ หากเขาหายใจ โดยไม่ใช้เร็กกุเลเตอร์ หรือสนอร์เกิ้ล ให้แน่ใจว่าเขาไม่กลืนน้ำเข้าไป
ปัญหาที่อาจเกิด
- หากชายหาดอยู่ใกล้กว่าเรือที่ใช้ไปดำน้ำ ชายหาดอาจจะดีกว่า โดยเฉพาะ เวลาที่เหยื่อ จำเป็นต้องได้รับการทำ CPR คุณอาจเริ่มทำ CPR ขณะที่นักดำน้ำคนอื่น นำอุปกรณ์ปฐมพยาบาล มาจากเรือ แต่หากว่า มีคลื่นรุนแรงหรือมีหิน มันอาจจะยาก ที่จะนำเหยื่อเข้าสู่ฝั่ง ได้อย่างปลอดภัย
- คุณจะยกคนหมดสติขึ้นเรืออย่างไร เรื่องนี้อาจจะยาก ถึงแม้จะมีคนหลายคน มันอาจจะยากที่จะคว้า เมื่อแขนของเหยื่อไม่มีแรง นักดำน้ำมักจะได้รับการบอก ให้ปลดอุปกรณ์ของเหยื่อ เพื่อทำให้เขาเบาลง แต่วาล์วถังอากาศและ BCD จะทำให้จับได้ง่ายขึ้น หากว่ามีคนช่วยที่แข็งแรง สักสองคนบนเรือ ทางที่ดีควรให้เหยื่อใส่ BCD ไว้ ในทุกกรณี ควรระวังทางเดินหายใจของเหยื่อ ขณะยกขึ้นจากน้ำ
สาเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดำน้ำเจ็ดอย่าง
- หัวใจวาย จากข้อมูลของ DAN (Divers Alert Network) ปัญหาเรื่องระบบหัวใจ การไหลเวียนโลหิต เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของการจมน้ำในนักดำน้ำ ความเครียด และความเหนื่อย มักเป็นต้นเหตุ
- เหนื่อย ตามธรรมดา นักดำน้ำที่ว่ายต้านกระแสน้ำรุนแรงกว่าที่คิดไว้ จะหมดแรง และไม่สามารถช่วยตัวเอง อย่างมีประสิทธิภาพ
- อากาศน้อย หากนักดำน้ำต้องใช้อากาศ มากกว่าที่เร็กกุเลเตอร์จะให้ได้ ปัญหาจะยิ่งแย่ลง จากอากาศในถังที่น้อย อยู่ที่ลึกมากๆ และเร็กกุเลเตอร์ที่ไม่ค่อยดี
- การถูกมัดและถูกบีบ ถูกมัดในสาหร่าย เกิดขึ้นบ่อยแต่ไม่ค่อยอันตราย สายเอ็นตกปลานั้นยากที่จะมองเห็น และไม่สามารถใช้มือดึงให้ขาดได้ นักดำน้ำบางทีเข้าถ้ำ และหลงทางอยู่ข้างใน
- ไม่สามารถควบคุมอัตราการลอยขึ้นได้ ปัญหาการควบคุมการจมลอย นำไปสู่การขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ จะทำให้นักดำน้ำปอดขยาย และจมน้ำ
- การ panic บนผิวน้ำ นักดำน้ำจมน้ำเสียชีวิตที่ผิวน้ำ เพราะขณะที่ panic เขาลืมปลดตะกั่ว เติมลม หรือปล่อยของหนักที่ถือไว้
- อุปกรณ์เสียหาย ยากที่จะเกิดขึ้น ส่วนมากปัญหาเกิดจากปัญหาเล็กๆ เช่นสายรัดขาด และหน้ากากที่มีน้ำเข้าไป เพิ่มความเครียด นำไปสู่การ panic และสูญเสียการควบคุม
ปัจจัยเรื่องการ Panic
อันตรายร้ายแรงที่สุดของการดำน้ำกู้ภัย คือการ panic กระแสความกลัว จะเปลี่ยนปัญหาเล็กน้อย ไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ และไม่นาน แม้กระทั่งนักดำน้ำที่เก่งมากๆ อาจจะสูญเสีย ความสามารถในการคิด อย่างมีเหตุผล และไม่ให้ความร่วมมือ ในการช่วยเหลือเขาได้
- อะไรนำไปสู่การ panic มักเกิดจากความเครียด ทางร่างกาย และจิตใจ เหนื่อยล้า หนาว งานมากเกินไป ปัญหาจากอุปกรณ์ และการมองไม่ค่อยเห็น อาจจะรวมตัวกัน จนนักดำน้ำรับไม่ไหว
- จะหยุดมันอย่างไร การ panic เหมือนกับม้าที่กำลังวิ่งหนี มันยากที่จะหยุดหากเกิดขึ้นแล้ว ควรป้องกันก่อนดีกว่า ให้มองหาสัญญาณของความเครียด
- ก่อนการดำน้ำ ตื่นเต้นกระวนกระวาย พูดมากไป เงียบเกินไป อารมณ์ขันที่ไม่เข้าเค้า หงุดหงิด ทำผิดพลาดโง่ๆ บ่อยๆ แกว่งไปมา เป็นสัญญาณของความเครียด
- ในน้ำ สัญญาณทั่วไปคือการ “รักษาการเกาะติด” ไม่ยอมปล่อยจากสายสมอ ไม่ยอมดำลงไป ไม่ยอมแยกจากบัดดี้ บางคนดูเกจบ่อยมากไป จับปุ่มปล่อยลมเติมลม และอยู่ในท่าศีรษะเงยขึ้น แทนที่จะอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง อากาศปล่อยออกมาตลอดเวลา บ่งชี้ให้เห็นถึงการหายใจตื้น ซึ่งเป็นสัญญาณของความเครียดอีกอย่างหนึ่ง หากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้ ให้ตรวจสอบปริมาณอากาศของเขา หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ หากคุณไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ (เช่นโดยการแก้ไขปัญหาอุปกรณ์) ให้เลิกจากการดำน้ำครั้งนั้น
- เมื่อเกิด panic ขึ้นแล้ว นักดำน้ำที่อยู่ใต้น้ำจะพยายามพุ่งขึ้นสู่ผิวน้ำ หากคุณไม่สามารถคว้าขา และหยุดให้เขาช้าลงได้ ให้ตามขึ้นในอัตราปกติ และพร้อมที่จะช่วยเขาบนผิวน้ำ หากเหยื่อ panic บนผิวน้ำ ให้รักษาระยะเอาไว้จนเขาเหนื่อย หากเหยื่อมุ่งเข้าหาคุณ ให้ถอยหลังไปสู่เรือหรือฝั่ง ทำให้เขาเข้าหาความปลอดภัยมากขึ้น