Free Diving ตอนที่ 3

วันรุ่งขึ้นก็ตื่นแต่เช้า ทำการฝึกหายใจและเหยียดยืดกล้ามเนื้อตามที่ครูสอนมา ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเห็นจะได้ ที่สามารถทำได้ก็เพราะครูสั่งห้ามไม่ให้ไปวิ่งตอนเช้าตามปกติที่ผมทำ เพราะมันจะมีผลกับการดำน้ำ ทำให้เราไม่เข้ากับน้ำเท่าที่ควร อะไรทำนองนั้นน่ะครับ ไว้กลับไปหาความรู้เพิ่มเติม แล้วจะมาอธิบายให้ละเอียดกว่านี้นะครับ

เดินทางด้วยเรือไปเกาะห้าใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ จากเกาะลันตา ทั้งเรือมีแต่ฝรั่ง ลูกทัวร์ประมาณสิบคน สต๊าฟอีกสี่ห้าคนครับ น่าแปลกใจจริงๆ คือ ยกเว้นครูฟรังซัวของผมแล้ว พวกครูสอนดำน้ำฝรั่งทั้งหลายสูบบุหรี่กับเป็นปล่องควันโรงงานเลย ไดเวอร์ที่มาดำเที่ยวกันไม่มีใครสูบสักคน

นี่ก็เป็นข้อสังเกตที่เห็นว่าแปลกครับ ผู้สอนดำน้ำฝรั่งเกือบทั้งหมด สูบบุหรี่จัด กินเหล้ากินเบียร์กันทุกคืน แล้วก็ไม่ค่อยออกกำลังกาย ทุกที่ครับ พัทยา เกาะเต่า ภูเก็ต

บนเรือเลยฝึกหายใจและผ่อนคลายได้ไม่ดี ชั้นบนก็ควันของพวกผู้สอนดำน้ำ ชั้นล่างก็กัปตันกับลูกเรือ เป็น Smoking Boat กันไปเลย

ถึงเกาะก็ดีใจที่ได้ลงน้ำซะทีครับ ใต้น้ำไม่มีควันบุหรี่แน่ๆ ครูก็เอาเรือยางไปจัดการทำสถานีฝึกกันเลย ตรงข้างๆ เกาะเล็กๆ ด้านซ้าย หากหันหน้าไปทางเกาะห้าเหนือนั่นแหละครับ ความลึกของน้ำประมาณ 18 เมตร

ตรงนั้นครูได้จัดสถานี No Limits ขึ้น ซึ่งการดำแบบนี้จะใช้ Sled ให้เราขี่ลงไป ขาขึ้นใช้ Lift Bag โดยมีถังอากาศไว้เติมเข้าถุงยกดังกล่าว เราจะพุ่งขึ้นมาด้วยความเร็ว... ไปดำเข้าจริงๆ แล้ว สนุกมากครับ เหมือนฝันเลย

แต่ก่อนจะดำแบบนี้ ต้องหัดดำแบบ Constant Weight ซะก่อน การดำแบบนี้ก็เหมือนกันกับที่เรานึกภาพการฟรีไดวิ่งไว้นั่นเองครับ คือ การใส่เข็มขัดตะกั่วหรือไม่ใส่ก็ได้แล้วแต่คน ช่วงแรกผมก็ไม่ใส่ แต่ระยะหลังก็ใส่ลงไปครับ ที่ไม่ใส่ช่วงแรกเพราะเป็นโรคปอดน่ะครับ (ปอดแหกน่ะครับ)

ดำลงไป ครูบอกว่า วิธีการเคลียร์หูที่ไม่ควรใช้ คือ วิธีการกลืนน้ำลาย เพราะจะทำให้เราอยากหายใจและเกิดอาการสะอึก ซึ่งเป็นเพราะกระบังลมหดตัว ฟังแล้วมึนตึ้บเลยครับ เพราะเป็นวิธีเดียวที่ผมจะทำได้หากปักหัวลง ถ้าเป็นการลงแบบสกูบ้านี่ วิธีไหนก็ใช้ได้ แต่หากลงแบบปักหัวลงแล้วมีวิธีเดียว คือ กลืนน้ำลายครับ

มุดหัวลงไปได้แค่สองสามเมตรก็เคลียร์ไม่ออกแล้ว ติดสนิทเลยครับ ทำให้เข้าใจนักเรียนสกูบ้าที่เคลียร์หูไม่ได้ขึ้นอีกเยอะเลย อืม... ต่อไปนี้ ต้องปลอบใจนักเรียนเราให้มากกว่านี้ซะแล้ว

กลับขึ้นมา ครูบอกให้ลองสาวเชือกลงไปด้วยท่าหัวตั้งตามปกติ จะได้เคลียร์หูได้ ลองทำดูก็ง่ายดีครับ ลงไปได้สิบกว่าเมตรไม่มีปัญหาอะไรเลย สักพักก็พยายามปักหัวลงใหม่ ผลออกมาเหมือนเดิม ได้แค่สองสามเมตรหากไม่กลืนน้ำลาย

นี่ละน้า... พวกรูปไม่หล่อมาดำฟรีไดวิ่ง ท่าทางจะเอาดีไม่ได้ซะแล้ว

ครูก็ให้ลองพยายามต่อไปเรื่อยๆ ดำลงไปอีกหลายครั้ง ผลก็ยังเหมือนเดิม คือ หากไม่ใช้วิธีกลืนน้ำลายแล้วจะไม่สามารถลงไปได้เลย

แต่ก่อนนี้ ผมก็เคยดำลึกสิบกว่าเมตรมาแล้ว ด้วยการเคลียร์หูแบบกลืนนะครับ เพียงแต่กลืนไปได้สองสามครั้ง จะรู้สึกอยากหายใจมาก จนกระบังลมเกิดอาการกระตุก ทำให้ต้องรีบขึ้น แล้วก็จะเกิดอาการไม่สบาย ไม่ผ่อนคลาย หรือบางทีก็กลัวเลย ทำให้ไม่กล้าดำลึกกว่าสิบเอ็ด สิบสองเมตร มาตลอดเวลาที่ผ่านมา

ครั้งนี้ไปเรียน ผลออกมาแย่กว่าเดิม ไม่ผ่านห้าเมตรด้วยซ้ำ หากใช้วิธี Valsava ปกติ โดยไม่กลืนน้ำลาย

ครูเห็นว่าไม่ได้เรื่องแน่แล้ว ก็พาไปนั่งบนเรือยาง แล้วก็ให้ยืดกล้ามเนื้อคอเพื่อยืดท่อยูสเตเชี่ยนนั่นแหละครับ แล้วก็แนะนำว่า ให้ลองดำลงแต่ก้มหน้าขึ้นมามองที่ผิวน้ำหรือมองครูนั่นแหละครับ ท่าทางการดำน้ำจะไม่ตัวตรงเงยหน้าเหมือนที่เคย แต่จะกลายเป็นก้มหน้ามองไม่เห็นทางข้างหน้าไป

ปรากฏว่าได้ผลครับ เคลียร์หูออกสบายกว่าเดิมเยอะ ลงไปได้สิบห้าเมตร ลึกที่สุดที่เคยทำได้มา ถึงแม้ว่าจะต้องกลืน ในช่วงเมตรที่สิบห้าก็ตามทีครับ แต่ยังมีอาการที่ไม่ควรจะเป็นอีก ก็คือ กระบังลมกระตุก ซึ่งครูอธิบายว่า เป็นเพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นมา ทำให้ปฎิกิริยาตอบสนองของร่างกายแสดงออกมา จุดมุ่งหมายเพื่อให้หายใจนั่นเองครับ เพียงแต่ปฎิกิริยานี้ บนบกก็คือ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ใต้น้ำ จะทำให้เราหายใจเอาน้ำเข้าไปในปอดเท่านั้น

ครูบอกว่า เป็นเพราะตอนดำลงไปเราเกร็ง ไม่ผ่อนคลายเท่าที่ควร ทำให้กระบังลมกระตุก และทำให้เราสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่ควรจะเป็น ฉะนั้น เมื่อเคลียร์หูพอได้แล้ว ก็ให้ลองดำด้วยความผ่อนคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกระบังลมเกิดอาการกระตุก ให้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นไปอีก เวลาขึ้นจะรู้สึกดีขึ้นครับ

ก็ลองฝึกหัดดู กว่าจะทำได้ก็นาน บางที ครูถึงกับต้องดำตามลงไป ทำท่าเตือนให้ผ่อนคลาย ถึงจะทำได้ครับ

พอทำได้แล้วทีนี้ เวลาดำน้ำ มันรู้สึกดีมากๆ เลยครับ เหมือนกับภาพในฝัน โดยเฉพาะเวลาที่เราขึ้น ตีฟินเบาๆ ตัวก็พุ่งทะยานขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็ว ร่างกายทุกส่วน กล้ามเนื้อทุกมัด ผ่อนคลาย ยากที่จะบรรยายให้รับทราบได้ง่ายๆ ครับ

ที่ว่าชอบๆ การดำน้ำแบบฟรีไดวิ่งอยู่มาตั้งแต่เด็กแล้วนี่ วินาทีหลังจากนั้นมา กลายเป็นหลงใหลเสียแล้วละครับ

ตอนนี้ ผมเริ่มเข้าใจหนังสือที่อ่านมาก่อนหน้านี้แล้วครับ เขาว่าการดำน้ำแบบฟรีไดวิ่งนี่ ความลึกไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความลึกที่ทำได้เป็นผลจากการแสดงความสามารถด้านอื่นๆ เช่น การปรับสมดุล การผ่อนคลาย การหายใจ ฯลฯ หากเราทำทุกอย่างได้สมบูรณ์แล้ว ความลึกจะเพิ่มขึ้นเอง

ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำง่ายๆ นะครับ การปรับสมดุลให้ได้ดีขณะที่ผ่อนคลายร่างกายทุกส่วน ตีฟินขึ้นมาจากความลึกที่น่ากลัวเหลือเกินว่าจะไปไม่ถึงผิวน้ำ แล้วยังต้องบังคับให้ใจนิ่งกายผ่อนคลายอีกด้วยนี่ เป็นเรื่องไม่ง่ายจริงๆ ครับ แต่ตอนไหนที่ทำได้ ความรู้สึกจะยอดเยี่ยมมากๆ ครับ

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะพุ่งขึ้นสู่ผิวน้ำ หลังจากทำความลึกได้ดังประสงค์ไว้นั้น คล้ายๆ กับเวลาที่อยู่บนวินด์เซิร์ฟ ขณะที่กินลมเต็มที่ เรือเพลน และวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่สามารถจะทำได้ นั่นแหละครับ เหมือนกับอยู่บนยอดของโลก ทั้งๆ ที่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเลเลยครับ เวลาตอนนี้นั้น เมื่อก่อนที่จะมาเรียน เป็นเวลาที่จะกลัวมาก กลัวว่าจะไปไม่ถึง จะสำลักน้ำ จะหมดลมซะก่อน แต่พอเรียนไปแล้ว กลายเป็นเวลาที่ดีที่สุดไป

ถึงตรงนี้ ที่เคยคิดว่าจะมาเรียนเล่นๆ กลับกลายเป็นว่า จะต้องจบสี่ดาวให้ได้ภายในเดือนเมษายนหน้า ก่อนที่ครูจะกลับฝรั่งเศสซะแล้วครับ

ถึงตอนนี้ เริ่มนึกถึงฟินฟรีไดวิ่งกับหน้ากากแล้วละครับ เพราะหน้ากากที่เหมาะ จะทำให้เคลียร์ง่าย ส่วนฟินฟรีไดวิ่งจะทำให้เราออกแรงได้ผลมากแต่ใช้พลังงานน้อย เวลาขึ้นจะทำให้ใช้ออกซิเจนที่มีเหลืออยู่น้อยกว่าฟินธรรมดาครับ เท่าที่ทราบ ไม่มีขายในเมืองไทย ต้องหาหรือสั่งจากต่างประเทศ แย่หน่อยครับ

หลังจากฝึกแบบ Constant Weight ไปได้ครึ่งวัน ก็กลับไปพักบนเรือ เพื่อย้ายหมายไปที่เกาะห้าใหญ่ หน้าถ้ำใหญ่นั่นแหละครับ ครูไปตั้งสถานีเพื่อฝึก No Limits กันตรงที่ลึกประมาณ 20 เมตรครับ

ครูบอกว่า คราวนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยนะครับ ที่มีการใช้ Diving Sled สำหรับฟรีไดวิ่งกัน อันที่จริง อุปกรณ์นี้ ครูก็ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อมาหรอกนะครับ เจ้าตัว Sled นี้ เป็นท่อที่ร้อยเชือก ที่เราใช้ดำน้ำธรรมดาทั่วไปนี่แหละครับ ท่อนี้จะเชื่อมเหล็กให้เป็นที่นั่ง ที่ถ่วงน้ำหนัก ที่ล๊อคถังอากาศ และถุงลมเอาไว้ โดยจะมีคันโยก เพื่อปลดล็อคเชือก เวลาต้องการดำลงไป เมื่อจะหยุด ก็กดคันโยก หรือไปหยุดที่ความลึกสูงสุด ที่มีแท่นปูนกั้นไว้ เมื่อจะขึ้น ก็เปิดลมจากถังอากาศออกไปเข้าถุงยก ถุงก็จะยกเราขึ้น ด้วยความเร็วสูงมากครับ

ดำแบบนี้ ง่ายกว่าปักหัวลงเยอะ แค่นั่งผ่อนคลายแล้วเคลียร์หูให้ทัน ลงไปยี่สิบเมตรง่ายมากๆ ครับ ยิ่งเวลาขึ้น ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่

แต่ความรู้สึกซาบซึ้งกับการดำน้ำ สู้แบบ Constant Weight ไม่ได้ครับ เหมือนเล่นวินด์เซิร์ฟ กับเล่นเจ็ตสกีนั่นแหละครับ โลดแล่นไปบนผิวน้ำเหมือนกัน แต่ลึกซึ้งต่างกันเยอะ

เล่นกับ Sled นี่พักใหญ่ก็เก็บอุปกรณ์กลับเข้าฝั่งครับ ยังไม่หายสนุกเลย ต้องเลิกซะแล้ว จบหลักสูตรการดำน้ำแบบฟรีไดวิ่ง ระดับหนึ่งดาวเพียงแค่นี้ครับ ครูบอกให้กลับไปฝึกฝนร่างกาย และฝึกดำน้ำฟรีไดวิ่งให้ดี เตรียมตัวก่อนมาเรียนระดับสูงต่อไปครับ

สรุปว่าในหลักสูตรนี้ ผมทำสแตติคได้หนึ่งนาทีสี่สิบวินาที ไดนามิคได้ห้าสิบเมตร คอนสแตนท์เวทได้สิบห้าเมตร และโนลิมิตได้ยี่สิบเมตร

ไม่น่าเชื่อว่า กลับมาฝึกซ้อมที่สัตหีบเพียงไม่กี่วัน จะมีการพัฒนาขึ้นเร็วกว่าที่คิดไว้ครับ

กลับมาฝึกต่อไม่นาน การพัฒนาการก็เพิ่มขึ้นครับ คงเป็นเพราะฝึกแล้ว รู้จักวิธีการผ่อนคลายในน้ำมากกว่าเดิม ทำให้สามารถกลั้นหายใจได้ง่ายขึ้น มีหลายครั้งที่ไปได้ถึงสองนาทีนิดๆ ตอนนั้นจะรู้สึกว่าไม่นาน เริ่มจะเข้าใจว่าคนที่ทำได้นานๆ คงจะผ่อนคลายมากจึงจะทำได้ครับ

ส่วนการดำแบบ Constant Weight นั้น ค่อยๆ เพิ่มความลึกทีละนิด ซึ่งก็พอทำได้ โดยเฉพาะเวลาที่สามารถผ่อนคลายได้ดีๆ ความลึกจะเพิ่มขึ้นเองครับ ตอนที่ผ่อนคลายได้ไม่ดีนั้น จะมีปัญหาเรื่องการเคลียร์หู ทำให้เกร็งมากขึ้น และลงไปลึกไม่ได้ แต่ตอนไหนที่ผ่อนคลายสบายๆ จะเคลียร์หูง่าย และลงไปได้ลึกขึ้นเรื่อยๆ ความกล้าที่จะลงลึกโดยไม่กลัวว่าจะขึ้นไม่ถึง ก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ (ถึงแม้ยังปอดแหกอยู่ก็ตามนะครับ)

สรุปว่า การไปเรียนฟรีไดวิ่งนี่ ทำให้รู้สึกลึกซึ้งกับการดำน้ำมากขึ้นเยอะเลยครับ รวมถึงว่า รู้สึกว่าได้ศึกษาตัวตนและจิตใจของเราเองโดยใช้ความลึกเป็นสื่อได้เป็นอย่างดี ในความเห็นของผม ผมคิดว่าการไปเรียนครั้งนี้คุ้มค่ามากๆ อยากให้เพื่อนๆ ที่สนใจต้องลองไปทำดูด้วยตนเองครับ

ประโยชน์ที่ได้จากการเรียนฟรีไดวิ่ง ที่ให้ผลโดยตรงกับการดำน้ำแบบสกูบ้า

  1. ผ่อนคลายในน้ำมากขึ้น ดำน้ำสบายกว่าเดิม
  2. หายใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดอากาศเห็นได้ชัด
  3. มั่นใจมากกว่าเดิมเวลาอยู่ใต้น้ำ
  4. รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของทะเล แทนที่จะเอาชนะธรรมชาติด้วยอุปกรณ์
  5. สนุกมากขึ้น ไม่รู้เพราะอะไร

คงต้องจบเรื่องการของไปเรียนฟรีไดวิ่งเบื้องต้น แต่เพียงเท่านี้นะครับ เอาไว้ไปเรียนในขั้นสูงต่อไป แล้วจะมาเขียนให้อ่านกันอีก

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจ และพอจะหาเวลาได้ ผมแนะนำว่าต้องลองนะครับ สำหรับผมเองไปเรียนมาแล้ว ก็ดีใจที่ได้ไปครับ นึกถึงกลอนบทหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า

ชีวิตคือการเดินทางไปข้างหน้า
ดังสำเภานาวาจากตลิ่ง
เวิ้งทะเลกว้างไกลไร้หลักอิง
จะจอดเรือหลบนิ่งกำบังลม

สลาตันปั่นป่วนคำรามคลื่น
ลมอุกาโครมครืนมาขู่ข่ม
เพียงนายท้ายอ่อนไหวใจระทม
เรือชีวิตคงล่มอัปปางไป

ไม่ออกเรือแล้วเมื่อไรจะได้รู้
ว่าคลื่นร้ายลมอู้เป็นไฉน
ไม่ขึ้นภูแล้วจะรู้ได้อย่างไร
ว่าโลกนี้กว้างใหญ่ละลานตา

ประพันธ์โดย คุณไพฑูรย์ ธัญญา

 
เขียนโดย ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษร ทีมงาน FreedomDIVE
ภาพจาก Pixabay.com
นำเสนอ 09 ก.ย. 2546
ปรับปรุงล่าสุด 24 ก.ค. 2561